คุณอาจจะเห็นคนที่น่ารัก เป็นคนไนซ์ๆ ดีกับเรา รักธรรมชาติ ปลูกป่า ถ้ามองในมุมแบบไทยๆ ก็เป็นคนอยู่ในศีลในธรรม พูดจาสุภาพเรียบร้อย แต่ในขณะเดียวกัน คนที่มีอัธยาศัยดีนั้นก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง อยู่ร่วมกับระบบที่เต็มไปด้วยการกดขี่ รับรู้หรือเห็นด้วยกับการล่าสังหาร การกดขี่ และการทำลายชีวิตอย่างไม่มีมนุษยธรรม
ฟังดูคุ้นๆ แต่เรากำลังพูดถึงกรณีของ อาด็อล์ฟ ไอช์มัน (Adolf Eichmann) นายทหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาซีเยอรมัน ชายผู้เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กลายเป็นอาชญากรรมและเรื่องตกตะลึงไปในระดับโลก ประเด็นของไอช์มันนั้นไม่ได้อยู่ที่แค่การลงมือกระทำ แต่โด่งดังไปทั่วโลกจากการขึ้นให้การไต่สวนที่เมืองเยรูซาเลม และที่สำคัญคือรายงานของ ฮันนา อาเรินท์ (Hannah Arendt) นักหนังสือพิมพ์และนักปรัชญาชาวยิวหญิง
ความน่าตกใจของการไต่สวน ส่วนหนึ่งมาจากงานของอาเรินท์เอง คือแน่นอนว่าไอช์มันยอมรับการกระทำของตัวเองในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้รู้เห็น และทำให้เกิดอาชญากรรมกับมนุษยชาติในฐานะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาซี การฆ่าของนาซีถือว่าช็อกโลกมากเพราะกระทำไปด้วยวิธีคิดและกระบวนการแบบสมัยใหม่ คือมีแนวคิดรองรับ มีการวางระบบ จัดการ และส่งกลุ่มเป้าหมายไปกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่สิ่งหนึ่งไอช์มันปฏิเสธคือแรงจูงใจในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เขาเองไม่ได้มีเจตนา หรือความเกลียดชังโดยเฉพาะต่อชาวยิว สิ่งที่ทำไปคือทำไปตามระบบ และหน้าที่การงานของการเป็นเจ้าหน้าที่นาซี หรือกระทั่งตามกฎหมายเท่านั้น
สิ่งที่ฮันนา อาเรินท์รายงาน คือเธอเองก็ไม่ได้แค่รายงานการไต่สวน หรือกระทั่งใช้ความรู้สึกของการเป็นเหยื่อร่วมประณามไอช์มัน แต่เธอกลับให้ความสนใจและขบคิดกับลักษณะอันย้อนแย้งของตัวไอช์มันที่แสนจะเป็นคนธรรมดา ค่อนไปทางน่ารัก กับการกระทำดังที่เธอนิยามไอช์มันว่าเป็น ‘Banality of Evil’ ตามชื่อหนังสือ ‘Eichmann in Jerusalem: A Report on the Banality of Evil’ ในปี ค.ศ.1963 โดยก่อนจะออกตัวเล่มในปีเดียวกันเธอก็เขียนเป็นบทความลง New Yorker ซึ่งก็ทำให้เธอถูกโจมตีอย่างหนักจากข้อวิจารณ์ดังกล่าว ทำนองว่าไปนิยามว่าเจ้าปีศาจมันไม่เป็นพิษเป็นภัยได้ยังไง แต่จากการครุ่นคิดของอาเรินท์ทำให้เราเข้าใจมนุษย์ อำนาจและความชั่วร้ายในมิติที่ซับซ้อนขึ้นไปกว่าการประณามแต่อย่างเดียว
คำให้การที่เมืองเยรูซาเรม
ไอช์มันเป็นชาวเยอรมัน พื้นเพก็เป็นคนธรรมดา ทำงานให้บริษัทเหมืองของพ่อที่เมืองออสเตรีย จนกระทั่งนาซีเริ่มเรืองอำนาจ ไอซ์มันหลังจากย้ายงานจากเหมืองไปสู่เซลล์ขายน้ำมัน ก็ไปร่วมกับนาซีและกลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือ SS ในที่สุด ตัวไอช์มันนั้นรับหน้าดูแลเรื่องชาวยิวโดยตรง เฉพาะการวางแผนขนถ่าย พัก และนำชาวยิวเข้าสู่เก็ตโตอย่างเป็นระบบ หลังสงครามสิ้นสุดไอชช์มานก็หลบหนีและถูกจับได้ที่อาร์เจนตินาในปี ค.ศ.1960 ถูกนำขึ้นศาลและแขวนคอที่กรุงเยรูซาเรม ในปี ค.ศ.1962
สำหรับอาเรินท์ เธอเองเป็นปัญญาชนชาวยิวในเยอรมัน ได้รับการศึกษาระดับสูง นับได้ว่าตัวเธอนั้นเป็นนักปรัชญาการเมืองคนหนึ่ง นอกจากการศึกษาและผลงานแล้ว ชีวิตของเธอยังโลดโผนยิ่งทั้งในฐานะนักคิด และชาวยิวคนหนึ่ง เธอมีความสัมพันธ์กับมาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ (Martin Heidegger) ครูและคนรักที่สอนการคิดให้กับเธอที่ในที่สุดรักนั้นเป็นรักต้องห้ามทั้งในสถานะและเชื้อชาติ ไฮเด็กเกอร์กลายเป็นหนึ่งในนักปรัชญาของฝ่ายเยอรมัน มีความคิดบางส่วนที่สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว
แน่นอนว่าด้วยความที่เป็นยิว อาเรินท์จึงต้องหนีออกจากเยอรมัน เธอพาแม่หนีไปฝรั่งเศส เสร็จฝรั่งเศสก็ทำท่าจะถูกตี เธอเองก็เลยค่อยๆ หนีออกจากยุโรป จนลี้ภัยไปถึงนิวยอร์กและเริ่มทั้งงานวิชาการ และงานวิชาชีพในฐานะนักหนังสือพิมพ์ที่นั่นต่อในช่วงปี ค.ศ.1941 หลังจากหนีมาได้อาเรินท์ก็มีงานวิชาการหลายชิ้นที่สืบเนื่องกับเหตุการณ์โลกในขณะนั้น ทั้งการเกิดขึ้นของเผด็จการ ไปจนถึงการใช้วิธีคิดเชิงปรัชญาซึ่งอาเรินท์สนใจเรื่อง ‘การคิด’ เป็นพิเศษตั้งแต่สมัยเรียน
ทีนี้งานที่เด่นมากของเธอ ก็คือข้อเขียนเกี่ยวกับการไต่สวนที่เยรูซาเรมนี่แหละ ในปี ค.ศ.1960 หลังจากที่เธอได้ยินว่าการไต่สวนกำลังจะเกิดขึ้น ตอนนั้นเป็นช่วงหลังจากที่เธอเผยแพร่งาน The Origins of Totalitarianism ในปี ค.ศ.1951 ว่าด้วยการเกิดขึ้นของนาซี ของระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ เธอเองก็คงอยากจะไปเจอภาคปฏิบัติด้วยตัวเอง ความเก๋และความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับผู้กดขี่ของเธอ กอปรกับความสงสัยของนักปรัชญา เธอก็เลยเสนอตัวกับทาง The New Yorker ว่าเธอจะเดินทางไปที่เยรูซาเรม และเขียนงานให้กับทางนิตยสาร เธอใช้โอกาสนี้เพื่อเผชิญหน้าและเรียนรู้จาก ‘เอเจ้น’ ของเผด็จการที่เธอเขียนถึง กระทั่งเป็นหนึ่งในคนที่ส่งผลกับชีวิตของเธอโดยตรง
‘ธรรมดาอย่างน่ากลัว’ กับภาพไร้พิษสงของปีศาจ
นึกภาพคนที่มันวางระบบการขนมนุษย์จำนวนนับพัน ออกแบบการขนส่งเพื่อให้คนพวกนี้ถูกกำจัด มีจุดพัก วางระบบค่ายกักกัน และอีกสารพัดระบบเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายถูกเผาทำลายออกจากโลกนี้ไปให้ได้อย่างเร็ว สะอาดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เราต้องเห็นภาพที่มันรับรู้และดำเนินเรื่องเหล่านี้ว่าต้องปีศาจ เป็นคนโรคจิต ชอบความรุนแรง
แต่ไม่ครับ
ภาพของอาด็อล์ฟ ไอช์มันนั้นตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่ SS แห่งจักรวรรดินาซีอันแสนเบ็ดเสร็จผู้สร้างอาชญากรรมให้กับโลกปรากฏตัวในลักษณะที่แสนจะธรรมดา เป็นชายวัยกลางคน หัวล้านนิดๆ ใส่แว่น ใส่สูท หน้าตาเหมือนเซลแมน หรือพนักงานธนาคารที่เราพบเจอได้ทั่วๆ ไป เป็นคนสุขุมคัมภีรภาพ ดูทรงแล้วอัธยาศัยดีน่าคบหาคนหนึ่ง
อาเรินท์เอง เมื่อเห็นและรับฟังการไต่สวนแล้ว เธอเองก็แสนจะสนใจและพยายามขบคิดเรื่องความย้อนแย้งระหว่างความธรรมดา ที่เธอนิยามว่าไอช์มันนั้นไม่ใช่ทั้ง ‘คนวิตถาร หรือคนซาดิส (neither perverted nor sadistic)’ แต่เขากลับเป็นคนที่ ‘ธรรมดาจนน่ากลัว (terrifyingly normal)’ ในการไต่สวนและรายงานของอาเรินท์นั้นเธอเองก็เขียนถึงไอช์มันอย่างรอบตัว และขบคิดถึงความเป็นไปของมนุษย์ และการทำตามระบบ เธอบอกว่าจริงๆ แล้วไอช์มันถูกไต่สวนอย่างถี่ถ้วน มีจิตแพทย์มาประเมินก็บอกว่าคนนี้ปกติมาก แถมยังเป็นคนน่ารัก (desirable) ซะด้วยซ้ำไป (คุ้นๆ เลย)
ข้อถกเถียงอาเรินท์จึงอยู่ที่ว่า ไอช์มันกลายเป็นคนที่ ‘ทำสิ่งชั่วร้าย (act evil deed)’ โดยที่ไม่มีเจตนาร้าย (without evil intention) ไอช์มันเองยอมรับว่าทำ แต่ทำไปตามหน้าที่ ตัวเองโดยส่วนตัวไม่ได้เกลียดชาวยิวเลย แถมยังจะมีความสัมพันธ์ มีความชอบพอเป็นการส่วนตัวกับคนยิวจากการทำงาน การสมาคมเองด้วยซ้ำ
ปัญหาสำคัญที่ไอช์มันให้การและอาเรินท์สนใจมาก คือไอช์มันไม่สามารถ ‘คิด’ ได้เลยว่า การฆ่าคนจำนวนเป็นแสนๆ ล้านๆ คน มันผิด เพราะตัวเขาเองก็คิดไปตามระบบ ไปตามลำดับชั้นของนาซี หรือกระทั่งรัฐที่ทั้งสอนและสั่งลงมาอย่างเป็นระบบ ตัวเขาเองเป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งที่ทำให้การใดใด ที่ใหญ่กว่าตัวเขาดำเนินไปได้ โดยไม่สามารถ และไม่จำเป็นต้องคิดใดใด
ระบบ การขบคิด และความรู้สึก
ไอ่การที่คนคนหนึ่งจะเป็นคนที่แสนดี เป็นคนปกติไม่มีพิษภัย แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่นำไปสู่ความตาย การกดขี่ การหมิ่นแคลนไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ในนามของเผด็จการ หรือระบบใดก็ตาม ไอ่คำว่าความไร้พิษของความชั่วร้าย banality of evil เลยกลายเป็นหนึ่งในการถกเถียงและการคิดเชิงปรัชญาที่สำคัญของศตวรรษหลังทั้งในมิติการเมืองและจริยธรรม ด้านหนึ่งนำมาซึ่งคำถาม รวมถึงข้อทบทวนว่า ในที่สุดแล้ว ‘เรา’ เอง ถ้าหากว่าเราไม่สามารถคิดนอกเหนือไปจากระบบ หรือสิ่งที่วางไว้ให้เราคิด เราเองก็มีศักยภาพที่จะเป็นอาชญกรได้ไม่ต่างกับไอชช์มานน์นั่นเอง
คงด้วยความที่อาเรินท์เป็นนักปรัชญา และเธอเองก็ให้ความสำคัญกับการคิด (จริงๆ ซับซ้อนกว่านั้น มันนำไปสู่ความจริง การกระทำ ความเข้าใจโลก) บางคนก็บอกว่าให้พลังกับการคิดจนเกินไปหน่อย แต่ทีนี้ อาเรินท์อภิปรายการกระทำชั่วร้ายของไอช์มันว่าขาดความสามารถในการคิด ไอ่การครุ่นคิดถกเถียงที่ปรากฏในงานเขียนของเธอก็เลยทำให้เธอ ‘งานเข้า’ เพราะผู้คนเอง ตอนนั้นคงโกรธแค้นนะ มีคนตายห้าล้านคน โลกเต็มไปด้วยการพลัดพรากและการสูญเสีย ศรัทธาในมนุษยชาติสูญสิ้น แต่เธอดันมานั่งคิดว่า ทำไมมันทำยังงี้ มันไม่คิดยังไง แถมยังไปเรียกว่า banality ซึ่งกลายเป็นลดทอนความเป็นปีศาจของมันไปอีก
สิ่งที่เราพอจะเห็นได้ ส่วนหนึ่งคืออาเรินท์นั้นแทบจะตัดความรู้สึกของตัวเองออกจากสิ่งที่เธอกำลังศึกษา อ่านได้จากในนิวยอร์กเกอร์ออนไลน์ยังเผยแพร่งานในปี ค.ศ.1963 ของเธออยู่ แต่ก็เดาได้ว่าเธอเองต้องมีความรู้สึกโดยตรงในฐานะเหยื่อ ในฐานะผู้ถูกกดขี่ และเธอเองก็ต้องเผชิญหน้ากับผู้ที่ร่วมฆ่าพี่น้องของเธอ แต่สิ่งที่อาเรินท์ทำก็คือการขบคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเท่าที่เธอจะพึงทำได้ในฐานะนักปรัชญา เพื่อหาคำตอบว่าอะไรที่ทำให้มนุษย์ทำต่อกันได้ถึงเพียงนี้ แทนการก่นด่าประณาม ไม่แน่ใจว่าเธอเองอาจจะพยายามแยกการคิดออกมาเพื่อหลีกเลี่ยงการตกอยู่ในภาวะ ‘ไม่คิด’ เช่นที่ไอช์มันเป็นหรือไม่
ถือว่าเป็นกรณีซับซ้อนที่น่าใคร่ครวญ ทั้งภาวะไร้พิษสงของปีศาจ และการพยายามแยกการคิดออกจากเรื่องต่างๆ แน่นอนว่าแนวคิดเรื่องการเป็นปีศาจ และทำแบบปีศาจที่อาเรินท์เตือนเราทุกคน กระทั่งแสดงออกในงานของเธอเองที่พยายามใช้การคิด โดยไม่ให้ตัวเองหลงเข้าสู่ภาวะหยุดคิดและอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ที่อาจจะเป็นอีกหนึ่งระบบที่เพียงยืนอยู่คนละด้าน หรือการคิดของเธอนั้นก็ไม่ได้เป็นการแก้ต่าง หรือซักฟอกให้แก่กันแต่อย่างใด
จริงๆ อาเรินท์ค่อนข้างวิจารณ์ทั้งการไต่สวน และวิจารณ์ตัวไอช์มันเอง ซึ่งจริงๆ แล้วข้อวิจารณ์ของเธอต่อไอช์มันรุนแรงพอๆ กับการด่าว่าไอ้ปีศาจ คือเธอมองว่าไอช์มันขาดคุณสมบัติสำคัญคือ ‘การคิด’ ซึ่งทำให้เขาตกคุณสมบัติของการเป็นมนุษย์ไปโดยปริยาย
ในที่สุด การขบคิดของเธอ อย่างน้อยก็ทำให้เราๆ เริ่มมองเห็นความยอกย้อนของความชั่วร้าย และการทำสิ่งชั่วร้าย ทำให้เราหยุด คิด ทบทวนว่า เราเอง ในความสามัญของเรานั้น เรากำลังอยู่ในระบบแห่งความชั่วร้าย ทำเรื่องเลวร้ายโดยไม่รู้ตัวบ้างรึเปล่า
อ้างอิงข้อมูลจาก