“คนขี้เกียจมักไม่เจริญ” เราถูกปลูกฝังกันมาอย่างนมนานว่าความขยันคือหนทางสู่ความสำเร็จ และมองเห็นแต่ภาพรางวัลของคนที่กระตือรือร้น ทำงานหามรุ่งหามค่ำอยู่ตลอดเวลา แม้แต่คำขวัญวันเด็กหลายๆ ปีก็มักจะมีคำว่า ‘ขยัน’ ประกอบอยู่ในนั้นตลอด จนเป็นค่านิยมแฝงว่าถ้าเราเป็นคนขี้เกียจไม่ทำอะไรเลย ก็จะถูกมองไม่ดี ไม่มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
ด้วยเหตุนี้ ความเกียจคร้านซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามและเป็นศัตรูของความสำเร็จจึงมีภาพลักษณ์ที่ติดลบไปโดยทันที แต่มันก็เป็นสิ่งที่อยู่ติดตัวมนุษย์แบบแยกออกจากกันไม่ได้ แม้จะขยันแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องมีจุดๆ หนึ่งที่อยากหยุดอยู่นิ่งๆ หรือนั่งพักอยู่เฉยๆ เพราะฉะนั้นลองมาใช้ความขี้เกียจหรือห้วงเวลาว่างๆ ของการไม่ทำอะไรเลยตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ดูกันดีมั้ย
ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และอุดมคติของสังคม
เราอาจจะเคยเห็นร้อยพันวิธีตามโทรทัศน์ พอดแคสต์ ช่อง youtube หรือบนชั้นหนังสือ ที่จะช่วยให้เราบริหารเวลาในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดลำดับความสำคัญของงานได้ดียิ่งขึ้น กินอิ่ม นอนหลับ บาลานซ์การทำงานและการใช้ชีวิตให้สมดุล แจกแจงออกมาให้เข้าใจง่าย แบ่งเป็นข้อๆ หนึ่ง สอง สาม สี่ โดยที่ไม่รู้ตัวว่าชีวิตกำลังถูกกำหนดคุณค่าด้วยคำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ อยู่หรือเปล่า
วิธีเหล่านี้อาจเป็นเครื่องการันตีว่าเมื่อคุณทำตามได้ คุณก็สามารถทำงานออกมาได้จำนวนมาก โดยที่ทุกวินาทีที่หมดไปนั้นใช้อย่าง ‘คุ้มค่า’ ด้วยเช่นกัน แต่ก็เหมือนเป็นดาบสองคม ที่วันหนึ่งหากเราไม่สามารถประสบผลสำเร็จตามที่เราตั้งเป้าไว้ได้ ขนาดที่ว่ามีฮาวทูมากมายมาซัพพอร์ตแล้วก็ตามมันก็ยังไม่สำเร็จสักที ก็จะทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นคนไม่มีประสิทธิภาพเอาเสียเลย และเข้าสู่ภาวะหมดไฟ (burnout) ในการทำงานได้เช่นกัน
แถมเทคโนโลยีสมัยนี้ยังเอื้อให้คนเราต้องกลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพและมีประโยชน์ตลอดเวลา จากความก้าวหน้าที่ทำให้การเชื่อมต่อกันแบบ 24 ชั่วโมงเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้น เลยทำให้หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานเกิดความคาดหวังว่าเราจะต้องว่างและพร้อมตอบแชทงานทั้งวันทั้งคืน ส่งผลให้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพนั้นเปลี่ยนแปลงไป และถูกกำหนดขึ้นมาใหม่ตามคุณสมบัติการเปิดใช้งานของอุปกรณ์ เพราะถ้าหากอะไรเหล่านั้นมันทำให้คุณสามารถทำงานได้และเกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้น คุณก็ควรจะออนไลน์ตลอดทั้งวัน
แต่เมื่อคนไม่ใช่เครื่องจักรที่สามารถผลิตงานออกมาได้ตลอดเวลาโดยไม่เหน็ดเหนื่อย ขณะเดียวกันก็มีความอ่อนล้าเข้ามาแทรกแซง การขจัดความขี้เกียจออกไปจึงเป็นเรื่องที่ยากและฝืนธรรมชาติ ดังนั้นสิ่งที่ทำให้คนเราไม่มีประสิทธิภาพอาจไม่ใช่การที่เราไม่มีความสามารถในจัดสรรเวลาเพื่อให้ได้งานมากที่สุด จัดลำดับความสำคัญของงานไม่ได้ หรือไม่มีสมาธิกับงานตรงหน้า แต่อาจเป็นอุดมคติของคนในสังคม ที่ตีกรอบว่าการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์นั้นคือสิ่งที่ไม่ควรทำ ซึ่งวิธีที่ได้ผลอาจเป็นการอยู่ร่วมกับความขี้เกียจให้เป็นเห็นจะดีกว่า
ศิลปะของความขี้เกียจ
ในขณะที่เราถูกสอนมาว่า ‘สมาธิ’ จะช่วยให้เราจดจ่อหรือสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้ามากยิ่งขึ้น ช่วยให้ทำงานเสร็จไว ช่วยให้บทสนทนามีพลัง หรือช่วยให้ชีวิตก้าวหน้าไปได้ไกล แต่ ‘การโฟกัส’ (hyperfocus) ไม่ได้แปลว่าจะทำให้เราประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะถึงเราจะโฟกัสนานๆ แต่ถ้าหากไม่ถูกจุดมันก็เท่านั้น ซึ่งนักวิจัยออกมาเผยว่า ‘การไม่โฟกัส’ (scatterfocus) หรือไม่จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนี่แหละที่มีพลังมหาศาล เพราะแม้ว่าการโฟกัสจะช่วยให้เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็จริง แต่การไม่โฟกัสจะทำให้เราทำงานออกมาได้อย่าง ‘สร้างสรรค์’ มากขึ้น
การไม่โฟกัสก็คือการปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน หรือที่หลายคนจะมองว่าเป็น ‘ความขี้เกียจ’ แต่ความขี้เกียจในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำให้ช่วงเวลาอันว่างเปล่านั้นเต็มไปด้วยความว้าวุ่นใจ แต่มันต้องเป็นการขี้เกียจอย่างชาญฉลาด หรือการเลือกที่จะ ‘ไม่ทำอะไร’ ในขณะที่โลกกำลังเต็มไปด้วยความวุ่นวาย โดยการใช้เวลาว่างเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเองออกมาจากกิจกรรมหลายๆ อย่างที่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยมากกว่าเดิม อย่างการเช็คอีเมล อ่านข่าว และไถมือถือเล่นเฟซบุ๊คไปด้วยพร้อมๆ กัน
การอยู่เฉยๆ ที่เรามักจะมองว่าเป็นความขี้เกียจ แต่ความจริงมันเป็นการให้เวลากับความคิดได้โลดแล่นอย่างอิสระ อย่างการ ‘ฝันกลางวัน’ ที่ทำให้มนุษย์เราเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่แตกต่างจากสปีชีส์อื่นๆ จากการสำรวจของนักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เดเนียล กิลเบิร์ท (Daniel Gillbert) และแมทธิว คิลลิงสเวอร์ธ (Matthew Killingsworth) พบว่าผู้คนร้อยละ 47 มักจะปล่อยให้ความคิดตัวเองเตร็ดเตร่ไปเรื่อยเปื่อยในขณะที่กำลังตื่นอยู่ แม้จะดูสวนทางกับสังคมที่หมกมุ่นอยู่แต่กับการใช้ชีวิตให้มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา แต่หารู้ไม่ว่าน้ำพุทางปัญญากำลังพุ่งทะลักออกมาแบบไม่รู้ตัว เพราะการฝันกลางวันเปรียบได้กับการแอบฟังความคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากจิตไร้สำนึกของเรา ที่อาจหาไม่ได้ในขณะที่กำลังมีสติอยู่
ไม่ทำอะไรอาจช่วยให้ได้งาน
แม้จะดูเสียเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ แต่การอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรเลยอาจช่วยให้งานออกมาดีกว่าที่คิด เพราะอย่างน้อยมันก็คือ ‘การได้หยุดพัก’ จากความเหนื่อยล้า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราปล่อยให้จิตใจได้ล่องลอยหรือที่เรียกว่า ‘การไม่โฟกัส’ โดยกระจายความสนใจของตัวเองไปในหลายๆ จุด จะทำให้จิตใต้สำนึกของเราทำงานได้รวดเร็วกว่าการจดจ่อที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหมือนเวลาเราเดินเล่นไปเรื่อยๆ ยื่นแช่ในห้องน้ำนานๆ หรือวิ่งออกกำลังกายโดยไม่ฟังเพลง จู่ๆ ก็มักจะมีความคิดบางอย่างผุดขึ้นมาในหัว เป็นการ ‘ค้นพบไอเดียใหม่ๆ’ แบบคาดไม่ถึง เพราะขณะที่หัวเรากำลังโล่งๆ เราจะสามารถเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้ชัดเจนมากขึ้น
“If you want to solve a difficult problem, ask the lazy people”
มีสุภาษิตของฝรั่งที่ว่า “ถ้าคุณอยากแก้ปัญหายากๆ ลองไปถามคนขี้เกียจดูสิ” เพราะความคิดของคนขี้เกียจมักจะโลดแล่นไปเรื่อย ไม่ถูกตีกรอบ จนไปพบกับทางออกของปัญหาในที่สุด อย่างการนอนมองเพดานอยู่เฉยๆ แล้วนึกถึงไอเดียที่เคยได้อ่านจากหนังสือเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ที่สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับงานในปัจจุบันได้ แถมวิธีนี้ยังเป็นการ ‘ฟื้นฟูพลังงาน’ ในร่างกาย ช่วยให้เรากลับมามีสมาธิกับงานตรงหน้ามากขึ้น หรือเรียกโหมดการไม่โฟกัสนี้ว่าเป็นการ ‘ชาร์จแบต’ ให้กับโหมดโฟกัสนั่นเอง ซึ่งเราควรจะมีการสลับใช้สองโหมดนี้ควบคู่กันไป
การทำอะไรเยอะแยะเต็มไปหมดส่งผลให้สมองหนักอึ้งและคิดอะไรไม่ออก แต่การนั่งเฉยๆ จะช่วยให้เราสามารถ ‘วางแผนได้ดียิ่งขึ้น’ มีผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า เมื่อเราอยู่เฉยๆ ปล่อยให้จิตใจว่างเปล่า เราจะคิดถึงเรื่องของ ‘อนาคต’ ถึง 14 ครั้งต่อวัน เมื่อเทียบตอนที่เราจดจ่อไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง และตอนที่เราได้พักผ่อน เราจะนึกถึง ‘เป้าหมายระยะยาว’ ในอนาคตถึง 7 ครั้งด้วยกัน ส่วนเรื่องที่จะทำตามเป้าหมายหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันก็ทำให้ได้เห็นว่าบางครั้งการเกียจคร้านของคนเรา ก็ช่วยให้เราสามารถกำหนดความตั้งใจของตัวเองได้ดีมากขึ้น
มีหนังสือเรื่อง Stillness is the key แต่งโดย ไรอัน ฮอลิเดย์ (Ryan Holiday) ได้ให้เหตุผลว่าทำไมคนเราถึงควร ‘อยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไร’ บ้าง ด้วยการศึกษากลยุทธ์ที่ช่วยให้บุคคลชื่อดังมากมายบรรลุถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ อย่าง ประธานาธิบดีสหรัฐ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ที่สามารถยุติวิกฤตการณ์ขีปนาวุธในประเทศคิวบาได้ด้วยการไม่เข้าไปบุกรุกหรือโจมตีอีกฝ่าย เพื่อแลกกับการที่สหภาพโซเวียตยอมถอนฐานยิงขีปนาวุธออกไป จักรพรรดินโปเลียน ใช้เวลานานเป็นสัปดาห์กว่าจะส่งจดหมายตอบโต้ เพราะเชื่อว่าปัญหาส่วนใหญ่จะสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวมันเอง และจะเก็บความสนใจของเขาไว้ให้เฉพาะเรื่องที่สำคัญจริงๆ หรือ มาริน่า อบราโมวิช ศิลปินชาวเซอร์เบียที่นั่งเงียบๆ อยู่บนเก้าอี้เป็นเวลา 750 ชั่วโมง ระหว่างการแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ เพื่อสบตาและสร้างปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์กับผู้เข้าชมที่ผ่านไปผ่านมา โดยฮอลิเดย์ได้จัดวางเรื่องราวทั้งหมดในหนังสือให้อยู่ในกรอบของ ‘ความสงบนิ่ง’ โดยพยายามปลูกฝังว่า ความนิ่งท่ามกลางโลกที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จะทำให้คนเรามีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
โลกทุนนิยมและอุดมคติของสังคมกำลังบีบให้คนเราต้องดิ้นรนเพื่อความสำเร็จ เกิดการแข่งขันกันตลอดเวลาจนแทบไม่มีช่องว่างให้พักหายใจ การลองออกมานั่งนิ่งๆ แบบคนขี้เกียจ และปล่อยให้สมองได้โลดแล่นไปอย่างไร้จุดหมายดูบ้าง แม้จะเป็นแนวคิดที่สวนทางกับการทำงานให้มีประสิทธิภาพอย่างที่หลายๆ คนแนะนำ แต่ไม่แน่ว่าไอเดียใหม่ๆ อาจจะมาจากช่วงเวลาว่างเหล่านั้นก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก