“สิ่งที่ฉันชอบทำที่สุดคือ การ ‘ไม่ทำอะไร’”
“การไม่ทำอะไรที่ว่ามันทำยังไง?”
– พูห์
หน้าร้อนเราก็บอกว่า ความร้อนทำให้เราไม่อยากทำอะไร พอหน้าหนาวเราก็บอกอีกว่า อากาศเย็นสบายทำให้อยากนอนซุกตัวอยู่ในผ้าห่ม ในข้อสังเกตนี้ ไม่ว่าตอนไหนเราก็อาจจะหาเรื่องขี้เกียจกันได้ ในแง่ที่ว่าถ้าเราจะขี้เกียจต้องพยายามหาคำอธิบาย แปลว่าความขี้เกียจเป็นสิ่งที่เราควรหลีกเลี่ยงอย่างหนึ่ง
ทีนี้ บรรยากาศหยุดยาวของเรา ความขี้เกียจ ความอยากไม่ทำอะไร หรือความว่างไม่มีอะไรทำ เป็นอีกหนึ่งความรู้สึกที่ค่อนข้างซับซ้อน คือในความขี้เกียจและการเฝ้ารอคอยวันหยุด พอหยุดจริงๆ แล้วเราอยู่ในจังหวะว่าง หรือวันหยุดไปสักสามสี่วัน เราก็จะเริ่มรู้สึกว่างเกินจนเบาหวิว เพราะในความไม่ได้ทำอะไร เราจะเริ่มมีความรู้สึกผิดเจือปนจากการไม่ทำอะไรนั้น และเริ่มอยากกลับมาทำอะไรๆ อย่างที่เคยทำ
ดังนั้น ในบทสนทนาข้างต้นซึ่งยกมาจากวินนี่ เดอะ พูห์ เป็นช่วงที่เด็กน้อยคริสโตเฟอร์ โรบิน บอกกับพูห์ว่า สิ่งที่ตัวเองชอบทำที่สุดคือการไม่ทำอะไร ซึ่งในบทสนทนานั้น เจ้าพ่อการไม่ทำอะไรอย่างพูห์ยังสงสัยว่าไอ้การไม่ทำอะไรที่ว่ามันทำยังไง เรื่องราวในวินนี่ เดอะ พูห์แทบจะทั้งเรื่อง จึงพูดถึงความหมายอีกด้านที่ตรงข้ามกับโลกสมัยใหม่ โลกอันวันวุ่นวายที่ต้องทำอะไรให้ได้เรื่องได้ราวของเหล่าผู้ใหญ่
‘not’ to do list ได้ไม่รู้สึกผิด
ในโลกความเป็นจริง การใช้ชีวิตของเราว่าด้วยการทำมาหากิน การพัฒนาตัวเอง การบริหารจัดการเวลาและทรัพยากรต่างๆ เป็นเรื่องธรรมดา แต่แนวคิดเรื่องการทำและพัฒนาตัวเองเมื่อดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง อาจนำไปสู่การบังคับ กะเกณฑ์ และตัดสินคนอื่น กระทั่งนำไปสู่การตัดสินตัวเอง เช่นการประสบความสำเร็จหรือความหมายของชีวิต เกิดจากการที่คนคนหนึ่งทำหรือได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ความขี้เกียจถูกโยงเข้ากับความยากจนและความล้มเหลว
ชีวิตของเราส่วนใหญ่จึงอยู่ที่การจัดการตารางเวลา การเติมกิจกรรมต่างๆ ลงไปให้เต็มและคุ้มค่าที่สุด เราจึงมีลิสต์ที่เรียกว่า To-do list ในระดับวันหนึ่งว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ไปจนถึงการว่างในชีวิตหนึ่งต้องทำอะไรถึงจะใช้ชีวิตได้คุ้ม ในทำนองเดียวกันคำถามที่เรามักถามคนอื่นคือ เวลาว่างชอบทำอะไร? ภายหลังเราก็มีมุกที่อาจขบคิดอย่างจริงจังได้ว่า ถ้าว่างก็ไม่ชอบทำอะไร ไม่งั้นก็จะกลายเป็นไม่ว่าง
บทสนทนาในวินนี่ เดอะ พูห์ เองก็เป็นทำนองเดียวกัน คือเล่นกับคำว่า ‘ทำ’ ในการ ‘ไม่ทำ’ ซึ่งบทสนทนาของพูห์นี้ คริสโตเฟอร์ โรบินเองก็ให้คำตอบว่า “การไม่ทำอะไร คือการปล่อยตัวเองไปกับสิ่งต่างๆ รับฟังสิ่งที่เราไม่เคยได้ยิน และไม่ไปรบกวนพวกมัน (It means just going along, listening to all the things you can’t hear and not bothering)”
ตรงนี้เองที่พูห์เริ่มมีความเป็นปรัชญาในการใช้ชีวิต ซึ่งไม่ได้กำลังพูดกับแค่เด็กๆ แต่เป็นอีกด้านของการใช้ชีวิต เพราะวินนี่ เดอะ พูห์ เขียนขึ้นโดยทหารผ่านศึกในโลกสมัยใหม่ที่เมืองและการใช้ชีวิตเต็มไปด้วยความรวดเร็ว โลกที่ว่าด้วยการทำสิ่งต่างๆ การผลิต และบริโภคสิ่งต่างๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
ความซับซ้อนและความยากของการไม่ทำอะไร
ในโลกของการต้องทำ การไม่ทำอะไรจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ยาก และอาจมีประโยชน์ในตัวมันเอง การแยกแยะสำคัญคือ การพิจารณารายละเอียดของความขี้เกียจ (laziness) และการไม่ทำอะไร (idleness) การไม่ทำอะไรในฐานะกิจกรรม จึงนับเป็นอีกหนึ่งการกระทำที่นักคิดให้ความสำคัญ เพราะเป็นการให้เวลากับความว่างและการหยุดการกระทำ
บทความใน aeon พูดถึงความสำคัญและความเข้าใจกิจกรรมของการไม่ทำอะไร ซึ่งอาจเป็นคนละเรื่องกับความขี้เกียจ การไม่ทำอะไรอาจเป็นการหยุดนิ่งของการกระทำและการผลิต นอกจากกระแสของเหล่านักบริหารเวลา นักคิด และนักบริหารบางคน กลับใส่ความว่างลงในตารางเวลา เช่นนายกรัฐมนตรีคนแรกในรัชสมัยของพระราชินีวิคตอเรีย ลอร์ด เมลบอร์น (Lord Melbourne) มีปรัชญาและห้วงเวลาที่เรียกว่า masterful inactivity คือการฝึกทักษะในการอยู่เฉยๆ ผู้บริหารและนักธุรกิจอเมริกันอย่าง จอห์น ฟรานซิส เวลช์ จูเนียร์ (John Francis Welch Jr.) ก็มีช่วงเวลานั่งมองหน้าต่าง (looking out of the window time) การไม่ทำอะไรจึงสัมพันธ์กับหลายการค้นพบ และค้นเจออะไรบางอย่างระหว่างการนั่งเฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไร
ความยอกย้อนของการไม่ทำอะไรในตัวมันเองก็มีความน่าปวดหัว โดยทั่วไปเรามักจะตั้งใจทำงานหนัก เพราะปรารถนาความว่าง อยากที่จะอยู่เฉยๆ แต่จริงๆ การไม่ทำอะไรสำหรับเรากลับเป็นเรื่องที่แสนยากเย็น คำแปลกๆ ที่อาจพอจะขบคิดได้เช่นคำว่า ‘ขี้เกียจรอ’ ทั้งๆ ที่การรอก็คือการไม่ต้องทำอะไร ในแง่พฤติกรรมที่เราอาจเข้าใจได้อย่างการติดไฟแดง หรือการติดอยู่บนถนน สิ่งที่เรามักเลือกทำคือการหนีไปในทางอื่น ซึ่งสุดท้ายแล้วเราอาจจะใช้เวลามากกว่าด้วยซ้ำ บางครั้งด้วยเงื่อนไขของโลกสมัยใหม่ เราเองนี่แหละที่เป็นคนหาความยุ่งมาใส่ในกิจกรรมทุกๆ วัน โดยไม่มีสักนาทีที่เราจะยอมทิ้งเวลาให้ว่างเปล่าไป
กระแสที่คล้ายกันและกลับมาในช่วงก่อนโควิดราวปี 2017-2019 เป็นการกลับมาของแนวคิดที่เรียกว่า niksen คำนี้เป็นภาษาดัตช์แปลว่า การไม่ทำอะไร (to do nothing) และการไม่ทำอะไรนี้ก็มีหนังสือชื่อว่า ศิลปะที่หายไปของการไม่ทำอะไร หรือ The Lost Art of Doing Nothing เป็นคำอธิบายที่น่าสนใจของการกลับไปทบทวนความสำคัญของการว่าง
ในบทความ ‘Niksen Is the New Mindfulness’ พูดถึงการทำให้เวลาว่างถูกถมจนเต็มด้วยกิจกรรมต่างๆ ว่าในที่สุดอาจไม่เป็นผลดีเท่าไร ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า การมีช่วงว่างหรือการหยุดซึ่งสอดคล้องกับการมีจังหวะว่างของนักคิด ว่าเวลาของความว่างที่ว่าเป็นช่วงเวลาที่เราได้เปิดโอกาสให้สมอง และให้เวลากับตัวเราในการใคร่ครวญ ขบคิด และจัดการข้อมูลต่างๆ ไปจนถึงเป็นการกลับไปสู่ความรู้สึกของเราว่า ตัวเรานั้นกำลังต้องการอะไร และอยากไปทางไหน
ในแง่นี้การปล่อยให้มีเวลาว่าง และการกลับไปสำรวจสิ่งที่เราเคยซุกซ่อนไว้ผ่านความยุ่งเหยิงของการทำสิ่งต่างๆ อย่างไม่รู้จบ จึงอาจนับเป็นศิลปะที่เราได้กลับไปทำความเข้าใจ และอาจต้องอาศัยการฝึกฝน เพื่ออยู่กับเวลาว่างและการไม่ทำอะไรโดยแท้จริง
จากประเด็นเรื่องความว่างที่ว่างเกิน ความขี้เกียจที่สุดท้ายเราเองก็อาจทนกับการไม่มีอะไรทำอย่างแท้จริงได้ยาก ทั้งความว่างอาจเป็นกิจกรรมทางการคิด เป็นศิลปะของการใช้เวลา ไปจนถึงว่าถ้าเรามองชีวิต เช่น ชีวิตในป่าร้อยเอเคอร์ คือการปล่อยให้ตัวเองว่างบ้างก็ได้ ไม่ทำอะไรบ้างก็ได้ ปล่อยให้เวลาไหลผ่านไป การฝันกลางวัน หรือมองเห็นความสวยงามของความบังเอิญ
ความว่างชนิดที่ว่างจริงๆ จึงเป็นอีกหนึ่งความน่าปวดหัวของชีวิต ความว่างที่เราปรารถนา สุดท้ายอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เราทนมันไม่ได้ ความว่างและการทำตัวให้ว่างอย่างแท้จริง บางครั้งอาจกำลังเป็นอีกศิลปะที่ขาดหายไปตามชื่อบทความ อาจเป็นสิ่งที่ต้องคิดและนิยามเหมือนที่พูห์พยายามเข้าใจ
วลีธรรมดาๆ เช่นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จึงอาจพ้นไปจากแค่การบริหารเวลาเพื่ออรรถประโยชน์ต่างๆ ว่าเราทำอะไรมากน้อยแค่ไหน แต่อาจเป็นการได้ ‘ไม่ทำอะไร’ เพื่อกลับมาเข้าใจและใช้เวลาของการทำ ซึ่งอาจหมายถึงการมองเห็นความหมาย และจุดมุ่งหมายของชีวิตในมุมอื่นๆ อีกครั้ง
อ้างอิงจาก