มีใครเป็นเหมือนกันบ้างมั้ย? ตื่นมาแล้วรู้สึกล่องลอย ไร้เป้าหมาย จับทิศจับทางไม่ถูก ไม่รู้จะจัดการชีวิตให้เข้าที่เข้าทางยังไง หรือบางครั้งก็มีอะไรในหัวมากมายเต็มไปหมด จนไม่รู้จะเริ่มทำอะไรก่อนดี
แต่ถ้าหากตอนนี้ใครมีสมุดเล่มหนึ่งอยู่ข้างๆ ล่ะก็ เราอยากจะชวนมาจดบันทึกสิ่งที่เรียกว่า ‘Bullet Journal’ เพื่อขจัดความรู้สึกที่ว่านี้ไปด้วยกัน
Bullet Journal หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า บูโจ (BUJO) ถูกคิดค้นโดย ไรเดอร์ คาร์โรล (Ryder Carroll) นักเขียนและนักออกแบบชาวอเมริกัน คาร์โรลอธิบายวัตถุประสงค์คร่าวๆ ของการจดบันทึกบูโจไว้ว่า “เป็นการจดบันทึกที่ช่วยให้เราติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต จัดระเบียบสิ่งที่อยู่ในปัจจุบัน และวางแผนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ผ่าน module หรือโครงสร้างหลักทั้ง 3 ได้แก่
future log การวางแผนสิ่งที่ต้องทำ เพื่อเตือนความจำและสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง
monthly log การบันทึกแบบรายเดือน คล้ายกับการจดบันทึกบนปฏิทิน แต่เราจะวาดปฏิทินขึ้นมาใหม่ และจดบันทึกกิจกรรมต่างๆ ลงในแต่ละช่อง เพื่อให้เห็นเป้าหมายระยะยาวหรือเดดไลน์ได้ชัดเจนขึ้น
weekly log / daily log การบันทึกแบบรายสัปดาห์หรือรายวัน หากใครมีรายละเอียดที่เยอะและยิบย่อยมากขึ้น ก็สามารถจดบันทึกแบบรายสัปดาห์หรือรายวันก็ได้ เพื่อให้เห็นเป้าหมายระยะสั้นหรือเดดไลน์อันใกล้ที่จะมาถึง
โดยโครงสร้างที่ว่านี้ เราสามารถนำมาจับมิกซ์กันได้ตามใจชอบ บางคนอาจจะจดบันทึก monthly log หรือ daily log แล้วมี future log อยู่ข้างๆ ด้วยก็ได้ ซึ่งจริงๆ เราไม่จำเป็นจะต้องเขียนตามที่ไกด์ไว้เสมอไป อยากจดอะไร อยากบันทึกอะไร หรืออยากเขียนอะไรก็แล้วแต่ใจต้องการ อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ใจฟู เช่น เพลงใหม่ที่เพิ่งค้นพบ คำพูดจากหนังที่เพิ่งดู หนังสือที่เพิ่งอ่าน อาหารที่กินแล้วอร่อย หรือบันทึกอารมณ์ในแต่ละวัน (mood tracker) เพื่อย้อนกลับมาดูภาพรวมของสุขภาพจิตตัวเองในช่วงนี้ก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญเพื่อให้การจดบันทึกบูโจออกมากระชับ เข้าใจง่าย ก็คือหลักการจดบันทึก (rapid logging) ซึ่งประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่
topics การตั้งหัวข้อเรื่อง เพื่อให้ง่ายต่อการจัดหมวดหมู่
page number การใส่เลขหน้า คล้ายกับสารบัญหนังสือ เพื่อให้ค้นหาหัวข้อเรื่องได้ง่ายขึ้น
short sentences การใช้ประโยคสั้นๆ เพื่อให้กระชับ เช่น สิ่งที่ต้องทำ นัดหมายสำคัญ หรือสิ่งที่ต้องซื้อ
bullets การใช้สัญลักษณ์แสดงสถานะ ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการจดบันทึกบูโจ เพื่อให้เห็นสถานะของเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างชัดเจน อันไหนสำเร็จลุล่วงแล้ว อันไหนที่ยังทำไม่เสร็จ อันไหนที่ต้องรีบทำให้เสร็จ อันไหนที่ยังไม่ต้องทำก็ได้ เป็นต้น ซึ่งใครอยากใช้สัญลักษณ์อะไรก็ได้ จะเป็นหัวใจ วงกลม กากบาท หรือดอกไม้ก็ไม่ว่ากัน ขอแค่เราดูแล้วเข้าใจคนเดียวก็พอ
สำหรับใครที่ไม่ชอบการจัดบันทึกยาวๆ องค์ประกอบที่ว่านี้นับว่าเป็นตัวช่วยที่ดี อีกทั้ง ยังช่วยกระตุ้นความทรงจำได้ด้วย เนื่องจากมีผลการศึกษาพบว่า การวาดรูปหรือใช้สัญลักษณ์ ช่วยให้จดจำข้อมูลได้ดีกว่าการเขียนลงไปเพียงอย่างเดียว ด้วยองค์ประกอบดังกล่าว จึงทำให้บูโจสามารถจัดระเบียบชีวิตเราได้อย่างเป็นระบบ ทั้งยังช่วยให้เราติดตามและสังเกตภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้น หรือกำลังจะเกิดขึ้นได้เข้าใจง่ายกว่าเดิม
อิสระและความสนุกของการจดบันทึกบูโจยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะเราสามารถตกแต่งและออกแบบสมุดจดได้ตามใจชอบ เพื่อเป็นการกระตุ้นต่อมความคิดสร้างสรรค์ไปในตัว อีเจ มาซีแคมโป (EJ Masicampo) นักจิตวิทยากล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้การวาดรูปลงบูโจไม่ใช่สิ่งที่ทำแล้วเสียเวลาเปล่า เพราะมีผลการวิจัยระบุว่า เพียงแค่เราละจากงานตรงหน้าสักพัก แล้วปล่อยให้ใจได้ล่องลอยไปบ้าง อาจจะเป็นการวาดรูป ฟังเพลง หรือเหม่อออกไปนอกหน้าต่าง เหล่านั้นถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้เราสามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง
“เมื่อเรามีกระดาษอยู่ตรงหน้า มันจะกระตุ้นให้เราขยายขอบเขตมุมมองและจินตนาการของตัวเองออกไปมากขึ้น” อีเจเสริม เพราะฉะนั้น ใครอยากจะแปะภาพ วาดรูป ระบายสี ติดสติ๊กเกอร์ โรยกากเพชร ปั๊มแสตมป์ หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น ขอแค่เรามองแล้วรู้สึกพอใจ จนอยากหยิบมันขึ้นมาเขียนบ่อยๆ ก็พอแล้ว
เดิมทีการจดบันทึกหรือการเขียนอะไรก็แล้วแต่ถือเป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาที่มีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะการปลดปล่อยความคิดหรือแสดงความรู้สึก เพราะเปรียบเสมือนเราได้เอาสิ่งที่คิดวนอยู่ในหัวหรืออัดอั้นอยู่ในใจออกมา จากนั้นก็ย้ายมันไปอยู่บนกระดาษ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น จนเห็นรูปแบบบางอย่าง และรู้ว่าจะต้องจัดการกับมันอย่างไร ดีกว่าการคิดวนไปวนมาอยู่ในหัว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเครียด ความหงุดหงิด หรือความรู้สึกท่วมท้นในใจ
การเขียนยังช่วยให้เราเข้าใกล้เป้าหมายได้เร็วขึ้นอีกด้วย หากใครต้องการลดน้ำหนัก เลิกบุหรี่ หรือเปลี่ยนแปลงบางอย่างในตัวเอง การเขียนจะช่วยให้เห็นความคืบหน้า หรือความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ ความคิด สถานการณ์ สภาพแวดล้อม และพฤติกรรม เพื่อที่จะเราจะได้นำไปปรับปรุง หรือหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในอนาคตได้
และเมื่อเราทำอะไรบางอย่างสำเร็จลุลวง เราจะเกิด sense of accomplishment หรือความรู้สึกถึงความสำเร็จ เวลาที่ได้ขีดฆ่ารายการนั้นออกจาก to-do list นำมาสู่ความภาคภูมิใจในตัวเอง และเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำสิ่งต่อไปให้สำเร็จ แต่บางคนอาจจะเกิดการกลัว to-do list ของตัวเอง หรือที่เรียกว่า lists daunting เนื่องจากไปโฟกัสตรงรายการที่ยังทำไม่เสร็จมากกว่ารายการที่ทำเสร็จแล้ว จนรู้สึกกดดันและหนักใจ ฉะนั้นแล้ว เพื่อให้ to-do list เป็นตัวกระตุ้นแรงบันดาลใจ เราอาจจะแยกหัวข้อสิ่งที่ทำสำเร็จออกมาไว้ต่างหาก เวลามองไปเห็นจะได้รู้สึกถึงความสำเร็จ และมีกำลังใจอีกครั้ง
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงแค่แนวทางคร่าวๆ เท่านั้น บูโจไม่มีกฎตายตัว ไม่มีผิด ไม่มีถูก เพราะอยากให้ทุกคนได้ปลดปล่อยจินตนาการและใส่ความเป็นตัวเองลงไปให้ได้มากที่สุด ขอให้สนุกกับการจดบันทึก และเรียกแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตกลับมาได้อีกครั้งนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก