ในวัย 55 ปี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังคงมีแผ่นหลังที่กำยำ บ่งบอกถึงความแข็งแรงที่ไม่แพ้คนหนุ่มฉกรรจ์ และตอกย้ำข้อความ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ที่เขียนบนเสื้อสีดำของเขาเข้าไปอีก
2 ปีกว่าคือระยะเวลาที่เขาเปิดเผยผ่านสื่อสาธารณะว่าจะลงชิงชัยตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ทั้งที่ช่วงนั้นยังไม่มีข่าวคราวของการเลือกตั้ง
9 ดี – 200 นโยบาย คือแผนงานทั้งหมดที่เขาเปรียบว่ามันคือ ‘สัญญา’ ต่อคน กทม.
และ “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” คือสโลแกนที่ชูขึ้นเป็นหมุดหมายว่า ถ้าได้เป็นผู้ว่า กทม. เขาจะนำพาเมืองไทยของไทยในไปทิศทางใด
ในวัย 55 ปี ทำไมอดีตอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีต รมว.คมนาคม เจ้าของเมกะโปรเจ็กต์โครงสร้างขนส่งสาธารณะ 2 ล้านล้านบาท และเจ้าของมีมมัดกล้ามถือถุงข้าวแกง ถึงยังอยากอาสาลงมาเป็นเจ้าเมือง กทม. เขาคาดหวังอะไรกับการลงชิงชัยครั้งนี้ แล้วหลายร้อยนโยบายที่หาเสียงไว้จะทำได้จริงหรือ
แพ้ชนะไม่รู้ ขึ้นอยู่กับปากกาในมือชาว กทม. แต่สำหรับเจ้าของฉายา ‘รัฐมนตรีที่แกร่งที่สุดในปฐพี’ เขาบอกกับเราว่าเตรียมใจแพ้ไว้แล้ว และถ้าออกแง่นั้นนี่จะเป็น “สนามการเมืองสุดท้าย” ในชีวิตของเขา
หากใครยังไม่ตัดสินใจ นี่คือบทสนทนาขนาดยาวที่สะท้อนแนวคิดอันคมคายของเขา และหากใครตัดสินใจได้แล้ว หวังว่าบทสัมภาษณ์นี้จะชวนทบทวนการตัดสินใจของคุณให้มากขึ้น เพราะนี่คือครั้งแรกในรอบ 6 ปี ที่คนกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสจับปากกา เข้าคูหา เลือกผู้ว่าฯ กทม. อีกครั้ง
ก่อนมานั่งคุยกัน คุณชัชชาติไปที่ออฟฟิศทีม eSports และได้พูดคุยกับน้องนักกีฬา มีอะไรที่เซอร์ไพรส์บ้างไหม
จริงๆ เราเห็นลูกเราเล่นเกมอยู่นะ แต่เราไม่ได้คิดว่ามันจะมี ecosystem ที่มีคนเกี่ยวข้องเยอะขนาดนี้ เราไม่นึกว่าจะมีคนทำอาชีพเล่นเกมเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่เฉพาะนักกีฬา มีโค้ช มีผู้จัดการทีม มีคนแคสต์เกม มีวางกลยุทธ์ วิเคราะห์แผน เพราะงั้นแต่ก่อนที่เราเห็นว่า “เฮ้ย เล่นเกมมีประโยชน์อะไร” มันอาจจะเป็นอาชีพได้ ถึงแม้ไม่เยอะเหมือนกับคนเล่นฟุตบอลที่มีไม่ถึง 1% ไปเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ แต่มันก็เป็น ecosystem ที่น่าสนใจ
เห็นระหว่างที่คุยกับน้องๆ เห็นตกใจหลายสถิติเลย มีตัวไหนบ้าง
โห อย่างเกม ROV มีแอคเคาต์ในเมืองไทย 35 ล้าน ขณะที่คนไทยมี 65 ล้านคนนะ จะบอกว่าคนนึงอาจจะมีหลายแอคคาต์ แต่มันก็ต้องมันมีคนเล่นเกมนี้อย่างน้อยเป็นล้านถูกไหม อันนี้ก็อันนึงนะ และรายได้ของนักกีฬา eSports หลัก 40,000 – 50,000 บาท/เดือน ถือว่าไม่น้อยนะ เทียบกับเด็กจบปริญญาตรียังดีกว่าอีก
โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว แต่บางทีเราตามไม่ทัน เราก็ต้องหาข้อมูลให้มันทันสมัยขึ้น
ชวนคิดแบบเร็วๆ ถ้าสมมติได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีนโยบายช่วยเหลือวงการ eSports อย่างไรบ้าง
อาจจะส่งเสริมให้มีการแข่งขัน eSports ในเขต ออกแบบแบบพื้นที่สาธารณะที่เขามาแข่ง eSports จัดอารีน่ากลางอะไรอย่างนี้ หรือไม่ก็คงร่วมมือกับเอกชน เช่น อาจจะจัดเป็นเฟสติวัล eSports ดึงคนทั่วโลกให้มาเที่ยว กทม. หรือเราทำ กทม. เป็นศูนย์กลาง eSports ของโลกได้ไหม และเรามีแนวคิดจะทำ ‘12 Festivals ของ กทม.’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว eSports จะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมด้วยได้ไหม ช่วงไหนที่มีทัวร์นาเมนต์ใน กทม. เชิญนักกีฬาจากทั่วโลก หรือให้มีการแคสต์ออนไลน์ไปทั่วโลกก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ผมว่าต้องลองดู โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราจะไปยึดติดแต่อะไรเดิมๆ อย่างเดียวอาจจะไม่ทันสมัยครับ
ปกติแล้ว ใน 1 สัปดาห์ ออกกำลังกายกี่วัน
อย่างน้อย 6 วันมั้ง สัปดาห์ละ 6-7 วันไรงี้
จริงเหรอครับ
(หัวเราะ) ผมว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนะ เวลาออกกำลังกายผมหายเครียดด้วย ผมออกกำลังกายตอนเช้าๆ ตื่นมาแปรงฟัน กินกาแฟ ดูข่าว เช็คอีเมล ออกกำลังกายวิ่งบ้าง ขี่จักรยานบ้าง ประมาณ 1 ชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง แล้วก็เริ่มทำงาน
เลยทำให้คุณชัชชาติแข็งแกร่งมาก ทำงานหนักมาก เสื้อยังเขียนเลยว่า “ทำงาน ทำงาน ทำงาน”
ไม่แข็งแกร่งหรอก เมื่อกี้งัดข้อยังแพ้น้องๆ เลย
สิ่งที่เป็นจุดแข็งที่สุดของตัวเองคืออะไร
ผมว่าน่าจะเป็นระเบียบวินัยมั้ง ผมว่าระเบียบวินัยคือสิ่งที่สำคัญมากๆ อย่างหนึ่งของนิสัยคนเลยนะ มันมีนักวิ่งชื่อคิปโชเก (Eliud Kipchoge เจ้าของสถิติโลกวิ่งมาราธอนคนปัจจุบัน) เขาบอกว่า “ระเบียบวินัยสำคัญ ถ้าไม่มีระเบียบวินัย คุณจะตกเป็นทาสของ passion” เหมือนคุณอยากเป็นโน่นเป็นนี่ แต่ถ้าไม่มีระเบียบวินัยไม่มีทางไปถึงจุดที่คุณอยากเป็นได้
แล้วคิดว่า ตัวเองมีจุดอ่อนที่ตรงไหนที่แย่ที่สุด
จุดอ่อนหรือ.. ผมรู้สึกว่าผมมีความ empathy เยอะ เราเข้าใจจิตใจคนอื่นและพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา เหมือนกับบางทีเราคิดอะไรเยอะว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไร มันเลยอาจจะทำให้บางครั้งเราดูไม่ค่อยเด็ดขาด
จริงๆ แล้ว คุณชัชชาติก็เล่นการเมืองมานานมาก..
(ตอบเร็ว) ไม่นาน!
ตั้งแต่เป็นที่ปรึกษาให้รัฐมนตรีให้กับรัฐบาลพรรคไทยรักไทย
ก็เคยทำบ้าง ใช่ แต่อันนั้นไม่ใช่ที่ปรึกษาทางการเมือง เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ ด้านเทคนิคมากกว่า
ตอนที่คุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ชวนมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ยังจำความรู้สึกตัวเองได้ไหม
มันไม่ได้เวลาอะไรตัดสินใจมาก มันก็งงนะ แต่ผมคิดว่า เฮ้ย เราเคยบอกคนอื่นว่าทำไมทำการเมืองให้ดีไม่ได้หรอ แบบนี้พอมีโอกาส แล้วเราไม่ทำเนี่ย เราจะไปว่าคนอื่นได้ยังไงอะ มันมีโอกาสแล้วเราก็ลองทำดู จริงๆ เราไม่ได้คิดแบบละเอียดมากนะ เวลามันสั้น ก็คิดว่าโอกาสมาก็ลองทำให้ดีที่สุดแหละ
เป็นช่วงเวลาที่การเมืองกำลังระอุ เจอแรงกระทบกระแทกทางการเมืองในช่วงนั้น ตกใจหรือแปลกใจไหม
มันก็แรงนะ แต่ว่าเราก็ตัดสินใจไปแล้ว มันก็ต้องลุยต่อครับ ซึ่งมันก็เป็นทั้งประสบการณ์และบทเรียนนะ ทุกคนก็คงมีเหตุผลของตัวเองทั้งนั่นแหละ
หลังจากนั้น ก็หายจากการเมืองไปพักใหญ่
ใช่ ผมเป็นนักการเมืองสั้นนะ 2 ปีกว่าเอง (เป็นทั้ง รมว.และ รมช.คมนาคม ระหว่างปี 2555-2557) แล้วก็มาเป็นนักธุรกิจอยู่ตั้ง 4 ปี
การมาลงผู้ว่าฯ กทม. สำหรับคุณชัชชาติ passion ที่ลงมาทำการเมืองคืออะไร
ผมไม่เคยถามตัวเองเลยว่า passion ของตัวเองคืออะไร จนอายุ 50 กว่าต้องไปสอนนักศึกษาเรื่องทำงาน พอมาทบทวนถึงรู้ว่า passion ของผมคือ การทำให้คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขขึ้นนิดๆ หน่อยๆ นี่คือ passion ของผมแล้ว
สำหรับผม passion มันไม่ใช่เรื่องรายละเอียดของเนื้องาน แต่มันคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบข้างมากกว่า
กับงานที่เราทำมาตลอดไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ก็ได้ทำให้เด็กมีความรู้ขึ้น มีการงานที่ดีขึ้น ตอนเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมก็ทำให้คนเดินทางสะดวกขึ้น กลับบ้านอยู่กับลูกได้เร็วขึ้น มาทำอสังหาฯ ก็ทำให้คนได้มีบ้าน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งมันสอดคล้องกับการมาลงผู้ว่าฯ กทม. ด้วยไง ถ้าเราทำได้อยากจะเห็นคน กทม. มีชีวิตดีขึ้น มีความสุขขึ้น ถึงมันอาจจะไม่ได้เยอะมาก นิดหน่อยมันก็เป็นแพสชั่นของผมแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นโชคดี เพราะไม่ว่าผมอยู่ในบทบาทไหน ผมก็ตาม passion แบบนี้ได้ไง
มีเสียงวิจารณ์ว่าตอนที่เป็น รัฐมนตรีก็ไม่ค่อยมีผลงาน ที่โดดเด่นที่สุดดูจะเป็นมีม (meme) ถือถุงข้าวแกงมากกว่า
ถ้าไปดูจริงๆ ผมทำงานเยอะนะ อย่างไอ้โครงการ 2 ล้านล้านบาท ด้านในมันมีตั้งเกือบ 98 โครงการแยกออกมา แล้วอะไรหลายๆ อย่างมันก็ทำเป็นรูปธรรมเยอะแยะแล้ว เช่น รถไฟฟ้าหรือรถไฟความเร็วสูง
อีกอย่างผมว่างานคมนาคมมันเป็นงานที่มีความต่อเนื่อง เพราะงั้นเราก็ไม่ได้เคลมว่า ทุกอย่างเป็นผลงานเราหรอก งานคมนาคมมันไม่ใช่งานที่ทำคนเดียวได้ มันเป็นเรื่องของทีม และบางโครงการมันต่อเนื่องกันหลายปี ไม่ใช่ว่าทำแล้วมันออกดอกผลตอนนี้เลย ซึ่งถ้าให้ลิสต์อย่างน้อยเราก็ทำเต็มที่ตลอดเหมือนกัน
ส่วนเรื่องมีมเนี่ย ผมว่ามันเป็นเรื่องขำๆ แล้วเป็นธรรมดาที่คนจะจำเรื่องขำได้มากกว่าเรื่องซีเรียส
หลายคนมองว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน แอบเอาแนวคิด–นโยบายของคุณชัชชาติมาใช้
ผมก็เอาของคนอื่นมาใช้เหมือนกันแหละ ถูกปะ งั้นอย่าไปเคลมว่าอะไรเป็นของใครเลย ถ้าเขาเอาไปใช้ก็ยิ่งดีแสดงว่ามันความคิดที่เป็นประโยชน์ ผมว่ามันไม่มีปัญหาเลย และเราก็ไม่ได้คิดทุกอย่างเอง มันมีคนก่อนหน้าเราทำไว้ก่อนแล้ว มันเหมือนกับส่งไม้ต่อเรื่อยๆ มันไม่ได้มีใครลอกใครหรอก เพราะงานคมนาคมมันเป็นโครงการยาว ครับ
รู้สึกยังไงบ้างเวลามีคนเอารูปไปทำมีม บางทีเป็นรูปเดินแล้วพื้นแตก
ผมว่า มีมมันมีประโยชน์อย่างหนึ่งที่ทำช่วยให้คนรู้จักเรา อย่างตอนที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม หลังรับตำแหน่งประมาณ 2-3 เดือน เขาจะมีให้โหวตรัฐมนตรีโลกลืม แล้วผมก็ได้ แต่พอหลังจากมีมีมถุงแกงออกมา คนเริ่มสนใจเรามากขึ้น มีคนมาดูเฟซบุ๊กเราเยอะขึ้น อย่างโครงการ 2 ล้านล้านที่ทำตอนนั้น มันก็ได้มีมตัวนี้แหละคอยช่วยสื่อสารนโยบายออกไป
แล้วก็ชอบในความครีเอทีฟของน้องๆ นะ ผมชอบที่เขาสามารถคิดคำคิดอะไรแบบนี้ออกมาได้ ซึ่งบางอันเราคิดไม่ถึงหรอก และบางอันมันก็ตลกจริงๆ นะ ไม่ได้ซีเรียสอะไรเลยครับ เรื่องของมีมเนี่ย
มีคนเคยบอกว่าตอนปี 2557 ที่ คสช. ยึดอำนาจ คุณชัชชาติที่อยู่ในห้องประชุมด้วยตกใจมาก กลัวจนเข่าอ่อนเลย
โอ้ย ไม่ตกใจ เอาเฉพาะคนที่อยู่ในห้องประชุมใช่ไหม ไม่มี๊..ไม่มีใครเข่าอ่อนหรอก ทหารถือปืนเข้ามาในห้องประชุมแล้วพาพวกเราออกไปแค่นั้นเอง เหตุการณ์มันธรรมดา อย่าเอามาดิสเครดิตกันเลย และผมว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่น่าเสียใจมากกว่า ที่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยต้องมาลงเอยอย่างนี้
คุณชัชชาติมักจะยกตัวเลข ‘1 กับ 98’ มาพูดว่า กทม. เป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับ 1 ของโลก แต่กลับน่าอยู่อันดับ 98 ของโลก ทำไมมันถึงห่างกันขนาดนั้น
เมืองน่าเที่ยวคือคนมาอยู่ไม่ต้องนาน 1-2 อาทิตย์กำลังสนุก กทม. คงต้องมีไอเดียอะไรที่ทำให้คนอยากมาเที่ยว มันต้องมีของที่ดี มีเสน่ห์ มีอะไรที่คนรู้สึก unseen หรือว่าเป็น amazing Thailand แต่ถ้าจะให้อยู่นานๆ มันเหนื่อยทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต รถติด มลภาวะ ขยะ น้ำเสีย ทางเดินเท้าไม่สะดวก มันก็คือเรื่องที่เราเจอในชีวิตประจำวันเนี่ยแหละ ที่ทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้อ เหนื่อย!
แต่ถ้าเกิดเราพลิกได้จริงๆ ซึ่งมันอาจจะไม่ยากมากนะ มันอาจจะเป็นทั้งเมืองน่าเที่ยวและเมืองน่าอยู่พร้อมๆ กันได้
เคยพูดว่า “ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นคาแรกเตอร์ของเมือง” ทำไมถึงคิดเช่นนี้
หมายถึงความเหลื่อมล้ำมันมากับเมือง ยังไงเมืองก็มีความเหลื่อมล้ำ เพราะว่าเมืองมันต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะสำหรับงาน ถ้าคุณอยู่ต่างจังหวัด คุณไม่ต้องเชี่ยวชาญ ทุกคนทำหลายหน้าที่ได้ เช่น ทำนา, ปลูกผัก, ทำกับข้าว แต่พอเป็นเมือง สภาพเศรษฐกิจทำให้เราต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น นักบัญชี, วิศวกร, ผู้บริหาร, แม่บ้าน, รปภ. ซึ่งความเชี่ยมชาญมันก็ส่งผลต่อรายได้
การจัดการเมืองจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังไงได้บ้าง
หน้าของผู้บริหารเมืองคือต้องดูแลความเหลื่อมล้ำตรงนี้ ซึ่งวิธีหนึ่งคือการกระจายทรัพยากร เอาภาษีมาช่วยคนที่เปราะบางกว่า แต่ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติเลย ความเหลื่อมล้ำมันไม่แก้ไขด้วยตัวมันเองได้ มันต้องแก้ไขด้วยการดูแลจากหน่วยงานหรือรัฐบาล เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำมันไม่รุนแรงมากเกินไป แต่มันคงไม่สามารถทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันได้หมดหรอก เพราะว่าเมืองมันต้องการหลายหน้าที่
ความเหลื่อมล้ำแปลว่าทุกคนมีโอกาสไม่เท่าเทียมกัน ถ้าเกิดเรามีรายได้น้อย เราก็เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่แย่ การศึกษาที่แย่ มันก็เกิดวงจรแห่งความชั่วร้ายอะ ความจนทำให้เรามีสุขภาพไม่ดี การศึกษาไม่ดี แล้วสุดท้ายเรายังติดกับดักไม่สามารถขยับฐานะขึ้นมาได้ อันนี้คือปัญหาของความเหลื่อมล้ำ
แต่ถ้าเกิดเมืองสามารถลดปัญหานี้ได้ เช่น สร้างระบบการรักษาพยาบาลพื้นฐานที่ดีขึ้น สร้างงานที่ดีขึ้น สร้างระบบการศึกษาที่ดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำอาจลดลง คนที่ติดอยู่ในวงจรแห่งความชั่วร้ายอาจดีขึ้นได้ และรุ่นลูกอาจดีกว่าพ่อแม่ และอย่างที่บอกว่ามันเกิดโดยธรรมชาติไม่ได้ แต่เมืองต้องเข้ามาช่วยดูแลเพื่อลดปัญหาตรงนี้
วิสัยทัศน์ของเราคือ “สร้างเมืองที่น่าอยู่ สำหรับทุกคน” มันมี keyword อยู่ 2 ตัว หนึ่ง เมืองน่าอยู่ สอง สำหรับทุกคน ผมเชื่อว่าตอนนี้ กทม. เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับบางคน คนที่สบาย นั่งรถไฟฟ้าไปทำงานไม่ต้องเดือดร้อนอะไร แต่ก็มีคนเยอะมากๆ ที่ต้องอยู่กับความยากลำบาก ผมว่าตรงนี้เมืองต้องเข้าไปดูแล สร้างโอกาสให้คนขยับเขยื้อน แล้วก็ลดความเหลื่อมล้ำลงไป
ใน กทม. มีคนอยู่ประมาณ 5 ล้านคน
5 ล้านนี่คือตามทะเบียน จริงๆ แล้วอาจจะมีถึง 10 ล้านคน
..ซึ่งเป็นประชากรแฝง ทีนี้มันเลยเกิดภาวะที่เรียกว่า ‘เมืองแออัด’ แย่งกันกินแย่งกันใช้ ยังไม่นับรวมถึงปัญหาสังคม หรืออาชญากรรม มองปัญหาตรงนี้อย่างไรบ้าง
นี่คือปัญหาพื้นฐานแหละ คือหัวใจของเมืองคือความหนาแน่นนะ แล้วถามว่าทำไมเราต้องมีชุมชนแออัดอยู่ในเมือ’ เพราะว่ามันอยู่ใกล้งานไง เช่น ถ้าคุณทำงานอยู่ในตึกนี้ อาจจะมีคนทำงานเป็นแม่บ้าน รปภ. พนักงานออฟฟิศอยู่รอบๆ แถวนี้ เพราะทุกคนไม่อยากอยู่ไกลงานหรอก มันเลยเกิดชุมชนกระจายอยู่ทั่วและเกิดความหนาแน่นในชุมชน
ผมว่าอันนี้คือเรื่องพื้นฐานที่รัฐต้องเข้ามาดูแลเลย
อย่างเรามีนโยบาย ‘9 ดี’ คือ ปลอดภัยดี, สุขภาพดี, สิ่งแวดล้อมดี, เรียนดี, บริหารจัดการดี, เดินทางดี, โครงสร้างดี, เศรษฐกิจดี และสร้างสรรค์ดี เราจะเห็นได้ว่า 9 ดีเนี่ยถ้าทำได้มันช่วยสภาพชีวิตพวกเขาทั้งนั้นเลย ถ้าทำระบบเรียนพื้นฐานให้ดี มีดูแลเด็กอ่อนตั้งแต่เกิด มันก็ช่วยให้เศรษฐกิจของเขาดีขึ้นใช่ไหม สาธารณสุขดีหรือสิ่งแวดล้อมดีก็ทำให้สภาพชีวิตเขาดีขึ้น หรือเรื่องที่อยู่อาศัย ในกรณี กทม. เราทำอะไรได้บ้าง สร้างบ้านให้เขาได้ไหม มันไม่ใช่หน้าที่เรา 100% ดังนั้น อาจต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) เพราะถ้าทำให้คนมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่งได้ คนจะเกิดความภูมิใจในเมือง ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ
ปัญหาใหญ่คือ ‘คนจนเมือง’ ที่เห็นชัดๆ คือ หาบเร่แผงลอย จะเข้าไปจัดการอย่างไร
เป็นเรื่องที่ต้องละเอียดอ่อนนะ แต่ผมว่าหัวใจของเมืองคือเศรษฐกิจ ทำไมเราต้องมาอยู่ในเมือง เพราะเมืองคือแหล่งงาน ถ้าไม่มีแหล่งงานก็ไม่ต้องมีเมืองหรอก ที่ผ่านมา กทม. อาจจะไม่ได้เน้นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ไปเน้นเรื่องทำความสะอาด ดังนั้น ผมว่า กทม. ต้องพยายามคิดเรื่องเศรษฐกิจให้มากขึ้น ทั้งการสร้างงานที่มีคุณภาพ หรือจัดสรรทรัพยากรให้ทั่วถึงมากขึ้น สร้างเศรษฐกิจ-รายได้ให้คนในเมือง
สำหรับหาบแร่แผงลอย มันเป็นปัญหาที่มีความขัดแย้งกันอยู่ว่าไปเบียดพื้นที่คนเดินบนฟุตบาท แต่ในมิติเศรษฐกิจ ผมว่ามันเป็นเศรษฐกิจพื้นฐานของคน กทม. นะ เหมือนระบบที่ช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านการใช้ทรัพยากรของรัฐ คือพื้นที่สาธารณะในการขาย ดังนั้น หาบเร่แผงลอยมันก็ยังมีความจำเป็นอยู่ แต่มันจะต้องไม่ไปเบียดเบียนสิทธิของคนเดินเท้า อันนี้สำคัญเลย กทม. ต้องจัดระเบียบให้ดี
แล้วเราหวังว่านอกจากจัดระเบียบแล้ว เราต้องให้ความรู้เขาเพื่อสุดท้ายเขาจะไม่ต้องเป็นหาบเร่ไปตลอดชีวิต ได้ขยับขึ้นมามีร้านค้าของตัวเองตามมาตรฐานได้ อันนี้คือหัวใจ รัฐต้องดูแลคนที่เปราะบางด้วยความยุติธรรม แล้วต้องสนับสนุนให้ระยะยาวเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
สมมติได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. เรายังจะเห็นหาบเร่แผงลอยอยู่ใช่ไหม
เราเคยลองทำแบบสำรวจถามความเห็นคนถึงเรื่องหาบเร่แผงลอยนะ คนก็บอกว่ายังมีความจำเป็น โดยเฉพาะในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ คนกินในห้างไม่ได้ตลอด หาบเร่แบบนี้ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีอยู่ แต่ต้องมีคุณภาพมากขึ้น ต้องมีการลงทะเบียน ต้องไม่กีดขวางทางเดิน ต้องสะอาด ต้องถูกสุขลักษณะ ไม่มีการทิ้งแกงลงในท่อ ปัจจุบันก็มีตัวอย่างที่ทำได้ดีนะ เช่น แถวซอยอารีย์ที่ธนาคารออมสินเข้ามาช่วยเหลือ เราอาจจะเอาตรงนี้มาเป็นต้นแบบได้ แล้วเราขยายผลออกไปพื้นที่อื่น แต่ยังต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เบียดเบียนสิทธิคนใช้ทางเท้า ตรงนี้มันเป็นความยากในการบริหารให้สมดุลครับ
คนจนเมืองกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหารุนแรงและซับซ้อนที่สุดคือ ‘กลุ่มคนไร้บ้าน’ ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ช่วยพวกเขาได้อย่างไรบ้าง
น่าตกใจนะ เพราะว่าคนไร้บ้านกำลังเพิ่มขึ้นจาก COVID-19 ตอนนี้อาจจะมีถึง 3,000 – 5,000 คนเลย ต้องบอกว่าเราปล่อยเขาไม่ได้นะ เพราะมันมี 2 มิติในประเด็นนี้ หนึ่ง พวกเขาอยู่บนถนน มันอาจมีอันตรายต่อตัวเขาเอง สอง มันอาจทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ปลอดภัย
ขั้นแรก กทม. ต้องเข้าไปลงทะเบียนพวกเขาให้หมด แล้วแจ้งสิทธิให้เขาทราบว่ามีอะไรบ้าง ไม่ใช่บอกว่าเป็นหน้าที่ พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) คนไร้บ้านทุกคนมีสิทธิพื้นฐานไม่ต่างจากเรานะ ทุกคนมีสิทธิจะได้วัคซีน มีสิทธิบัตรทองเหมือนกับเราทุกคนนั่นแหละ เพราะเขาคือคนไทย
ขณะเดียวกัน กทม. ต้องมีจุดพักพิงชั่วคราว คล้ายๆ บ้านอุ่นใจที่ กทม. เคยมีตรงแยกแม้นศรี คนไร้บ้านส่วนหนึ่งคือคนที่เข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำ แต่ว่าพอไม่ได้อาบน้ำสักคืนสองคืน มันก็สกปรกรุงรังแล้ว แต่ถ้าเรามีที่ให้เขาอาบน้ำ เขาอาจจะไปหางานทำได้และไม่ต้องเป็นคนไร้บ้าน หรืออาจต้องช่วยส่งเขาไปศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อหางานให้เขาทำ ซึ่งถ้าทำให้เป็นกระบวนการครบถ้วนเนี่ย ผมว่ามันจะแก้ปัญหาได้
ที่สำคัญ กทม. ต้องดูแลพวกเขาให้เหมือนประชาชนคนหนึ่ง แจ้งสิทธิให้เขาทราบ ดูแลเขาชั่วคราว แล้วติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแลต่อ แล้วปัญหานี้ต้องอย่าปล่อยให้มันลาม เพราะถ้าปล่อยให้คนไร้บ้านเพิ่มขึ้น ปัญหาจะยิ่งแก้ยากขึ้น เราควรเริ่มทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย อย่าคิดว่าไม่ใช่หน้าที่เรา
ผมรวมถึง ‘ขอทาน’ ด้วยนะ ผมเห็นว่าขอทานเยอะมากเลย ยิ่งถ้าไปแถวสยามมีขอทานเด็กด้วย ถึงแม้หลายคนบอกว่าเขาทำเป็นขบวนการ ไม่ใช่คนไทยด้วย แต่ กทม. จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ต้องเข้าไปดูแล ถ้าเกิดมันผิดก็ต้องดูแลแล้วส่งเขากลับไป แต่อย่าให้มีเด็กถูกทรมานอยู่กลางสะพานลอยเลยครับ
คุณชัชชาติเสนอนโยบายเยอะมากเลยนะ 9 ดี รวมกว่า 200 นโยบาย มีดีไหนอยากเน้นเป็นพิเศษไหม
9 ดีเนี่ยจุดกลางมันคือเรื่องการบริหาร มันจะส่งผลกระทบกับทั้ง 8 ดีที่เหลือ จริงๆ หน้าที่ของเมืองมีแค่ 2 อย่างเอง หนึ่ง ทำคุณภาพชีวิตให้ดี สอง สร้าง productivity หรือผลิตผลของเมืองให้ดี ซึ่งการบริหารต้องทำตรงนี้ให้ได้
มีคนถามผมเยอะแยะเลยว่า “เราควรย้ายเมืองหลวงไหม กทม. มันไม่ไหวแล้ว” ผมบอกว่า “ใช่ เราควรจะย้าย แต่ย้ายไปอยู่บน cloud ให้หมด” เอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ เริ่มจากเรื่อง open Data หรือ electronic goverment เห็นไหมพอมีแอพฯ เป๋าตัง เราไม่ได้สนใจว่าภาครัฐอยู่ที่ไหน แต่เขาโอนตังค์มาให้เราได้ใช่ไหม หรือไฟล์ภาษีที่เป็น e-tax ก็ไม่ต้องรู้ว่ากรมสรรพากรตั้งอยู่ที่ซอยราชครูแล้ว ต่อไปเมืองหลวงอยู่ที่ไหนไม่สำคัญแล้ว ถ้าเราสามารถเข้าถึงภาครัฐผ่านระบบออนไลน์ได้ กทม. เองก็เหมือนกัน ผมว่าก็ต้องสร้าง e-government เพื่อให้ กทม. เข้มแข็งขึ้น โปร่งใส่ขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วมันจะส่งผลกับ 8 ดีที่เหลือครับ
พูดเรื่องย้ายเมืองหลวง มีหลายคนทำนายว่าไม่เกินปี 2050 กทม. จะจมลงใต้น้ำ
ถามว่าจะจมเพราะอะไร มันมี 2 ปัจจัยคือ กทม. ทรุดลง และน้ำทะเลสูงขึ้น เรื่องทรุดลงไม่เยอะแล้วเพราะหยุดสูบน้ำบาดาลกันไปแล้ว อาจจมีะทรุดแบบปีละเซนฯ ไม่มีผลมาก แต่ปัจจัยที่คนกลัวคือ น้ำทะเลสูงขึ้นจากโลกร้อน ซึ่งถามว่า กทม. แก้ปัญหาเองได้ไหม ต้องบอกว่า กทม. แก้เองไม่ได้ เพราะจริงๆ กทม. มีพื้นที่ติดชายทะเลแค่ตรงบางขุนเทียน ประมาณ 4 กิโลเมตรเท่านั้นเอง ดังนั้น เป็นภาพใหญ่ที่รัฐบาลที่ต้องดูมากกว่าว่าจะทำอย่างไร
แต่จริงๆ มันก็ไม่ได้ยากนะ เพราะว่าถ้าเราดูจริงๆ ถนนเลียบชายทะเลยาวมีสุขุมวิทสายเก่า ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็ถนนทางหลวงชนบท แล้วก็แถวพันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเราสามารถยกระดับถนนตรงนี้ให้เป็นเขื่อน เหมือนในเนเธอร์แลนด์ได้ ตรงปากแม่น้ำก็ทำเป็นประตูน้ำ เหมือนกับแม่น้ำเทมส์ที่มีประตูน้ำกั้น มันก็จะได้เแนวกั้นน้ำที่กั้นน้ำทะเลหนุนสูงได้ เป็นแนวยาวเลย
มันเป็นเรื่องที่ กทม. ต้องคุยกับรัฐบาล เพราะว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ใน กทม. แต่ดูจากกายภาพมันไม่ได้ยาก แค่ต้องเริ่มคิด เริ่มลงทุน เริ่มทำตั้งแต่วันนี้แล้ว
ถามเรื่องน้ำท่วมต่ออีกนิดหนึ่ง ไม่มีปีไหนที่ กทม. น้ำไม่ท่วม สาเหตุมันมาจากอะไร และมีนโยบายแก้ไขเรื่องนี้ไหม
มันเป็นวิทยาศาสตร์นะ ถามว่าทำไมน้ำท่วม มันมี 4 สาเหตุ
1.น้ำเหนือที่ปล่อยลงมาเจ้าพระยา อย่างปี 2554 ที่น้ำท่วมหนักๆ ตอนนั้นเขื่อนปล่อยน้ำเหนือลงมาเยอะมาก เดิมเจ้าพระยาก็รับน้ำประมาณ 3,000 CMS (ลูกบาศก์เมตร/วินาที) ถ้าไหลเกินก็จะเอ่อท่วม ฉะนั้นปัญหาแรกคือน้ำเหนือ ที่อาจจะไม่ได้มาจากฝนในกรุงเทพฯ แต่เป็นด้านเหนือ
2.น้ำทะเลหนุน ถ้ามันมาพร้อมน้ำเหนือมันก็จะท่วมได้ วิธีแก้คือต้องทำคันกั้นน้ำริมแม่น้ำให้ดี ซึ่งปัจจุบันเรามีอยู่แล้ว แต่อาจจะทำให้สูงขึ้น บวกกับตอนนี้จะมีฟันหลออยู่ เช่น จุดที่คนขึ้นเรือ หรือบ้านเรือน ถ้าฟันหลอไม่ได้รับการอุดมันจะทะลักเข้ามาท่วม ซึ่งผมว่าก็ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง
3.น้ำทุ่ง ทางซ้ายมีทุ่งฝั่งซ้าย (คลองชัยนาท-ป่าสัก) ทางเหนือมีทุ่งเจ้าเจ็ด ลงมาจาก จ.สุพรรณบุรี แล้วข้ามมาทางคลองมหาสวัสดิ์ ทางขวามีทุ่งรังสิตมาออกคลองรังสิต แต่ปี 2554 น้ำเหนือมาปุ๊บ ประตูน้ำพัง น้ำทุ่งก็เข้าท่วม แต่ตอนนี้เราได้ทำแนวกั้นน้ำ 600 กิโลเมตรล้อมไว้แล้ว ดังนั้นน้ำทุ่งน่าจะน้อยลง
4.น้ำฝน อันนี้ตัวหนัก ฝนตกก็จะตกใน กทม. นี่แหละ แต่ตกแล้วไปไหน มีทางเดียวนะเว้ยคือออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วออกไปอย่างไร ก็ไหลลงท่อระบายน้ำแล้วลงคลองไปประตูน้ำ ก่อนสูบออกแม่น้ำเจ้าพระยา หรือไม่ก็อาจจะมีทางด่วนน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ แล้วถามว่าทำไมฝนตกแล้วน้ำขังล่ะ ก็มันเอาออกไม่ทันเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเนี่ยหัวใจคือต้องทำให้น้ำฝนที่ตกใน กทม. ออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้ทัน วิธีหลักคือต้องไม่พึ่งอุโมงค์ระบายน้ำอย่างเดียว แต่ต้องดูแลท่อระบายน้ำ ดูแลคลอง ดูแลประสิทธิภาพปั๊มน้ำในการดูดให้ดี ตรงนี้คือต้องใส่ใจไง อย่าไปนึกแต่เมกะโปรเจ็กต์ ดูเส้นเลือดฝอยพวกนี้แหละ ผมว่ามันช่วยแก้น้ำท่วมได้ น้ำท่วมเป็นวิทยาศาสตร์ จุดไหนที่ท่วมซ้ำซากก็ต้องเอาเทคโนโลยีเข้าไปจับ
แม้จะพยายามวางนโยบายไว้ให้ครอบคลุม แต่ความท้าทายอย่างหนึ่งของ กทม. คือการประสานงาน กฎหมาย และระเบียบราชการต่างๆ นานา
ผมว่าทุกงานในโลกนี้ไม่มีอะไรที่มาโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ถ้าเราตระหนักในเงื่อนไขที่เรามี ผมว่าเราจะทำงานด้วยความเป็นจริงและสอดคล้องไปกับมัน ถ้าเรายอมจำนนต่อข้อจำกัด มันก็ไม่มีประโยชน์
ดังนั้นหัวใจอันแรกคือ ยอมรับเงื่อนไขที่มี แล้วพยายามหาคำตอบที่มันสอดคล้องกับเงื่อนไข ไม่ใช่ไปบ่นไปก่นด่าเงื่อนไข อย่างน้อยยอมรับ และหัวใจที่สองคือ ต้องพูดความจริงว่า ในความเป็นจริงมันทำได้แค่ไหน realistic แล้วก็หาวิธีดีที่สุด อย่างรถติดเราก็รู้ว่าไม่ใช่แก้ง่ายๆ หรอก เราเลยไม่เคยพูดว่าเราจะทำให้รถหายติด แต่จะทำให้มันคล่องตัวขึ้น
เราจะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. เราต้องยอมรับว่ามันมีเงื่อนไขอะไรบ้าง ไม่ใช่มาเป็นผู้ว่าฯ แล้วบอก “โอ๊ย! กทม.ไม่มีอำนาจเลย” มันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น
สมมติได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. แล้วต้องมีการทำงานร่วมกับรัฐบาลที่อยู่ขั้วการเมืองตรงข้าม จะเป็นปัญหาไหม
อดีตเราอาจจะเป็นพรรคเพื่อไทย แต่ถ้าปัจจุบันเราเป็นผู้ว่าฯ กทม. หน้าที่เราคือรับใช้คน กทม. ก็ต้องประสานงานกับคนทุกคนให้ได้ ผมว่าเราต้องรู้จักบทบาทของเรานะ ผู้ว่า กทม. เองก็ไม่ได้อิสระ เราก็ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลให้ได้ เแต่ไม่ใช่ทำงานแบบไม่ลืมหูลืมตา ต้องเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เราจะร่วมมือกับรัฐบาลในข้อสำคัญตรงนี้แหละ
ผมว่าถ้าทุกคนเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง มันไม่มีปัญหาหรอก เหมือนกับที่ผมไม่ได้ส่ง ส.ก. เพราะเชื่อว่าคนสมัคร ส.ก. ก็มีคนดีๆ เยอะแยะอยู่แล้ว เราต้องทำงานกับ ส.ก. ทุกคนให้ได้ มันเป็นเรื่องที่เราตั้งใจไว้อยู่แล้ว
อยากเปลี่ยนให้ กทม. เป็นอะไรสำหรับทุกคน
ขอให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ รู้สึกว่าอยู่แล้วมีความสุขสำหรับทุกคนจังอะ จริงๆ กทม. มีอะไรดีๆ เยอะมาก ตอนผมลงพื้นที่ไปดูมันมีความสวยงามที่แทรกอยู่ทุกมิติ
ผมว่าประชาชนไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมายเลย ขอให้พื้นฐานชีวิตเขาดีขึ้น ใส่ใจเขามากหน่อย เก็บขยะให้ตรงเวลา อย่าให้น้ำท่วมขัง ให้เขาเดินทางสะดวกนิดหนึ่ง ลูกเขามีที่เรียนที่มีคุณภาพ ผมว่าแค่นี้มันก็เปลี่ยนชีวิตคนให้มีความสุขขึ้นแล้ว
แล้วอย่าให้เขาเสียเวลาในชีวิต ผมจำได้ตอนอยู่คมนาคม เคยไปดูรถไฟสายสีแดงที่เขากำลังไล่รื้อที่อยู่ ผมเดินไปคนเดียวนะ เจอเด็กสองขวบเหมือนกำลังอาบน้ำในกาละมัง แล้วครอบครัวเขากำลังโดนไล่ที่อะ เขากำลังเสียชีวิตช่วงหนึ่งซึ่งเขาไม่สามารถเอาคืนมาได้อีกแล้ว ช่วงเวลาชีวิตทุกคนมีความหมาย ถูกไหม ดังนั้น ความทุกข์ความไม่น่าอยู่ของเมืองเป็นสิ่งที่เรารอไม่ได้ เราหวังให้ชีวิตเขาดีขึ้นไม่มากก็น้อยในบางมิติ
มันเป็นเหตุผลที่ต้องมี 200 นโยบาย ถ้าเรามีแค่ 5 นโยบาย มันจะมีคนจำนวนมากที่ไม่ได้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผมเชื่อว่าใน 200 นโยบายมันต้องตอบโจทย์ทุกคนในบางเรื่อง ทำชีวิตเขาดีขึ้นนิดหน่อยก็ยังดี
ได้แอบคิดกับตัวเองไว้ไหมว่า 200 นโยบาย มันต้องเสร็จสักกี่นโยบาย
ม้นไม่ยากหรอกนะ ทั้ง 200 นโยบายเนี่ยมันเหมือนกับเป็น ‘สัญญา’ ของเรา ถ้าได้รับเลือกปุ๊ป 200 นโยบายมันไม่ได้เยอะหรอก เพราะ กทม. มีตั้ง 14-15 สำนัก สำนักหนึ่งดูแลแค่ประมาณ 8 นโยบายเอง แล้วเราก็ขึ้นเลยสมมติว่า 100 วันแรกควรจะมี movement อะไรบ้าง และก็ต้องมาตอบประชาชนทุกเดือนแหละว่าแต่ละนโยบายก้าวหน้าอย่างไร ทำไม ทำได้-ทำไม่ได้
ในการเลือกตั้งครั้งนี้เราจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกถึงกว่า 7 แสนเสียง มีนโยบายที่จะดึงดูดเสียงของพวกเขาไหม
สำหรับผม first voter เขาจะเป็นคนที่อยู่กับเมืองนี้นานที่สุด ไปอีก 40-50 ปี ซึ่งในอนาคตพวกเขาจะเป็นคนอยู่กับเมือง ขับเคลื่อนเมือง ดูแลเมืองมากที่สุด เขาจะเป็นกำลังสำคัญของเมืองเลย สิ่งที่จะทำวันนี้มีผลกับเขาเยอะ ฉะนั้นหัวใจคือต้องฟังเขาเยอะๆ ถามเขาเยอะๆ ว่าต้องการอะไร อยากให้เมืองเป็นอย่างไร
ถ้าดู first voter จะมี 2 กลุ่ม คือ first jobber กลุ่มที่เพิ่งเริ่มชีวิตทำงาน อายุสัก 22 ปีขึ้น กับกลุ่มที่ยังเรียนหนังสืออยู่ ซึ่งผมว่าคนรุ่นใหม่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี คนรุ่นใหม่ต้องการพื้นที่สีเขียว ผมว่านโยบายสิ่งแวดล้อมดีของเราสำคัญเลยแหละ เช่น ‘กทม. 15 นาทีพื้นที่สีเขียว’ และผมว่าคนรุ่นใหม่ต้องการอิสระในการแสดงความเห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง ศิลปะ หรืองานสร้างสรรค์ แต่ว่า กทม. ไม่ค่อยมีพื้นที่แบบนั้น เพราะงั้นต้องจัดพื้นที่พวกนี้แหละให้เขามาเจอกัน มาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เป็น co-working Space ให้เขาสามารถมาครีเอตงานสร้างสรรค์ด้วยกันได้
และผมว่าเราต้องฟังเขาให้เยอะๆ เราจะทำ ‘สภาคนรุ่นใหม่’ ให้มีตัวแทนที่แท้จริงของกลุ่มคนรุ่นใหม่มาเจอกัยผู้ว่าฯ กทม. ได้ทุกเดือน มาสะท้อนฟีดแบค หรือมีแพลตฟอร์มให้เขาแสดงความเห็น เพราะว่าเราต้องฟังเขา อย่าไปคิดเอง ถึงบอกว่าจะชนะใจเขาได้ต้องฟังเขา เอาเขามาเป็นแนวร่วมในการทำกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ไปด้วยกันครับ
การที่ลงสมัครชิงผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ มันมีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง
ข้อดีคือผมได้คนช่วยเยอะเลย อย่างเด็กพวกนี้ถ้าผมลงในนามพรรค เขาอาจจะไม่ช่วยก็ได้ เพราะว่าหลายคนอยากทำงานเมือง แต่ไม่อยากทำการเมือง ไม่อยากไปยุ่งกับความขัดแย้ง พอเราอิสระปุ๊บ โอ้โห ผมมีอาสาสมัครตอนนี้ประมาณ 10,000 คนแล้ว ซึ่งถ้าลงในนามพรรคคนไม่ค่อยอยากมายุ่งหรอก มันมีเรื่อง identity ที่เข้ามาอยู่
แล้วผมว่าข้อดีอีกข้อก็คือ เราทำงานได้อย่างอิสระ อย่างตอนผมตอนอยู่พรรค เวลาทำนโยบายอะไรมันต้องคิดหลายขั้น ต้องมีกรรมการมีอะไรแบบนี้ แต่พอเราเป็นอิสระปุ๊บเราคิดนโยบายเองเลย ทำได้เลย กระบวนการตัดสินใจมันสั้นลง
ข้อเสียคือ เราไม่มีฐานเสียง บางชุมชนที่เขาไม่ได้เล่นโซเชียล มีเดีย หรือต้องทำพื้นที่เยอะๆ เขาก็ไม่รู้จักเรา เรียกว่าเราไม่มีฐานเสียงจัดตั้งก็ได้ บวกกับเราและทีมงานอ่อนการเมืองมาก เราทำงานกันเป็นแนววิชาการ มันก็เป็นจุดอ่อนที่ไม่ได้ลงนามพรรคเหมือนกัน
มันก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย มันอาจจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดนะ แต่ keyword ของผมเลยคือความสนุกอะ แต่เราสนุกกับการทำงานแบบอิสระมากกว่าก็เลยเดินมาทางนี้
เวลาลงพื้นที่นี่ยังมีใครยังไม่รู้จักไหม แบบ “อุ๊ย คนนี้ใคร”
มีอยู่เยอะแยะ! เคยมีคนทักว่าผมเป็นบัวขาวด้วย (หัวเราะ) ถามเป็นนักมวยหรือเปล่า เราก็ เออ ไม่เป็นไร
บางคนเขายังทักว่าเราอยู่เพื่อไทยอยู่เลย บางคน อึ๋ย เพื่อไทย บางคนเพื่อไทยสู้ อะไรแบบนี้ แต่บางคนที่ไม่รู้จักเราก็มีเยอะแยะ เชื่อดิ เพราะบางคนอาจทำงานหนักจนไม่ได้ดูโซเชียลมีเดีย แล้วเราก็ไม่สามารถลงทุกพื้นที่ได้ เนี่ยคือจุดอ่อนที่เราไม่ได้ลงในนามของพรรค แต่ไม่เป็นไรหรอก ประชาธิปไตยมันก็งี้แหละ เราคงทำให้ทุกคนรู้จักเราไม่ได้
มีเยอะไหมคนที่ยังติดภาพจำว่าคุณชัชชาติยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย
โอ๊ย เยอะแยะเลย
แล้วจารย์มองว่ามันจะส่งผลต่อผลการเลือกตั้งครั้งนี้ไหม เพราะว่า กทม. ดูไม่ใช่พื้นที่หลักของพรรคเพื่อไทย
ผมว่าไม่เป็นไรเลย เพื่อไทยเขาก็ได้ ส.ส. ใน กทม. นะ และอดีตของเราเป็นข้อเท็จจริง และผมว่าผมมาอยู่ตรงนี้ได้ก็เริ่มจากเพื่อไทยอะ ถ้าไม่มีเพื่อไทยผมก็ไม่มีวันนี้เหมือนกันนะ ต้องยอมรับตรงนี้แหละ มันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเราไม่เคยปกปิด แค่วันนี้บทบาทผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ มันรับใช้ประชาชนได้ดีกว่าเราเลยมาทางนี้
ผมว่ามีคนไม่เชื่อ อันนี้เราก็ต้องเคารพความเห็นของแต่ละคน เราคงไปเปลี่ยนความคิดคนอื่นไม่ได้ทุกคน เราก็ทำของเราให้ดีที่สุด ครับ ไม่ได้กังวลอะไร
สมมติได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีเวลาทำอะไรต่างๆ น้อยลง และอาจไม่ได้วิ่ง ไม่ได้ดันพื้น ไม่ได้ออกกำลังกายเหมือนเดิมแล้ว ส่วนตัวคุณชัชชาติจะโอเคไหม
ชีวิตผมยังไงผมก็ต้องวิ่ง (น้ำเสียงแน่วแน่) ชีวิตคนมันต้องแบ่งเวลาสำหรับเรื่องสำคัญในชีวิตถูกไหม สำหรับผมสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญนะ ถ้าสุขภาพไม่ดี ผมดูแลคน กทม. ไม่ได้หรอก เท่ากับว่ายังไงผมก็ต้องออกกำลังกาย ผมอาจจะต้องตื่นเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง จากตี 3 เป็นตี 2 อะไรอย่างเงี้ย
จริงๆ ผมพบว่าการวิ่งก็เป็นงานได้นะ อย่างปัจจุบันผมก็วิ่งตามสวนใน กทม. แต่หลังจากคุณเป็นผู้ว่าฯ คุณอาจจะวิ่งตามสวนแล้วไปพบชาวบ้านฟังปัญหาก็ได้ เหมือนกับเรื่องโหลแก้วชีวิต ทุกคนมีโถแก้ว 1 ใบเหมือนกัน คุณมีหน้าที่เอาของ 3 สิ่ง อิฐก้อนใหญ่ กรวด และทรายใส่เข้าไปข้างใน ถ้าคุณเอาทรายใส่ก่อน มันก็ไม่มีที่ให้ใส่หิน แต่ถ้าคุณเอาหินใส่ไปก่อน เดี๋ยวมันมีที่ให้ใส่ทรายกับกรวดได้หมด หินคือเรื่องสำคัญในชีวิตไง
สำหรับผมสุขภาพสำคัญก่อนงาน สำคัญกว่าครอบครัว เพราะถ้าสุขภาพไม่ดีคุณดูแลคนที่คุณรักไม่ได้หรอก ร่างกายคุณเป็นภาระให้คนที่คุณรักด้วย
ตอนผมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม หรืออยู่กับเอกชน งานหนักแค่ไหนก็ต้องออกกำลังกาย เพราะมันทำให้เราแข็งแรงทั้งจิตใจทั้งร่างกายอะ แต่ว่าจะทำไงล่ะก็ต้องเอาไปจองพื้นที่ก่อน เพราะว่ามันคือหินก้อนใหญ่
แต่ว่าเราอาจจะผสมกันได้ไง ออกกำลังกายด้วยไปดูเมืองด้วย ตอนเช้าก็วิ่งไปดูแลสวนไม่ต้องบอกว่าสวนไหน ไปดูว่าดูแลสวนดีไหม ห้องน้ำสะอาดไหม คุยกับประชาชน มันผสมกันได้ทั้งออกกำลังกายกับทำงาน มันเป็นเรื่องเดียวกันได้ครับ
แล้วถ้าสุขภาพใจ เวลามีเรื่องเครียดหรือท้อแท้ มีวิธีดูแลรักษายังไง
ผมออกกำลังกายที่ไม่ต้องใช้สมองคือวิ่ง เพราะฉะนั้นช่วงออกกำลังกายเหมือนการนั่งสมาธิ วิ่งหนึ่งชั่วโมงก็เหมือนนั่งสมาธิเป็นชั่วโมงแล้ว ความคิดมันค่อยๆ ตกตะกอน หลายครั้งเลยนะไอ้ 200 นโยบายที่คิดได้มาจากตอนวิ่งเสร็จทั้งนั้นเลย
(หันไปคุยกับทีมงาน) สังเกตไหม เวลาที่ผมจะแคปหรือจะโทรหาคุณอะ แม่ง 5-6 โมงเช้า 7 โมงเช้าทั้งนั้นเลย
มันเหมือนเราทำสมาธิตอนออกกำลังกายไง ทำแล้วสมองมันจะใส มันจะหายเครียด ถึงบอกว่าผมคงหยุดออกกำลังกายยาก เพราะไม่งั้นผมอาจจะเครียด มันจะเหมือนแบบอึดครับ
แล้วถ้าแพ้ล่ะ ในวัย 55 ปี มีแผนอะไรต่อไหม
โอ้โห มีเยอะแยะเลย เรื่องชุมชนก็อยากจะลงต่อนะ เพราะมันคือ passion หรือเราอาจจะไปช่วยครูแอ๋ม (ศิริพร พรมวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘คลองเตยดีจัง’) ที่คลองเตย หรือครูประทีป (ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ‘ดวงประทีป’) ธุรกิจก็อาจจะไปดู start-up อะไรอย่างงี้ หรืออาจจะมีเวลาให้ลูกมากขึ้น
เตรียมใจแพ้ไว้แล้วนะ เพราะ กทม. มันไม่แน่นอน แต่ถ้าแพ้คงไม่ทำการเมืองแล้ว เพราะเราก็มันรอมานานพอสมควรแล้วไง และผมว่าถึงเวลาให้คนรุ่นใหม่เขามารับช่วงต่อแล้ว
นี่จะเป็นสนามการเมือง สนามสุดท้าย ถ้าแพ้
ถ้าแพ้ก็เลิกแน่นอน
แล้วถ้าชนะ
ก็ทำให้ดีที่สุด แล้วดี๋ยวอนาคตค่อยว่ากันอีกทีครับ
เมื่อชีวิตเดินมาถึงจุดนี้ อายุเท่านี้แล้ว ยังเหลือความฝันอะไรอีกไหมที่อยากทำ
ความฝันส่วนตัวก็อยากจะเห็นลูกเรียนจบ มีงานมีการทำ จุดอ่อนผมคือเรื่องลูกนะ ผมเป็นห่วงลูกมาก เพราะว่าเขาเป็นเด็กพิเศษไง เราก็กลัวว่าเขาจะไม่มีเพื่อนไม่มีครอบครัวในอนาคต ถ้าเกิดไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. อาจจะไปอยู่กับเขาให้มากขึ้น ไปดูแลเขา
มั่นใจกี่ % ว่าจะชนะเลือกตั้ง
ไม่มั่นใจเลยครับ แต่ผมมั่นใจว่าเราไม่สามารถทำได้ดีมากกว่านี้แล้ว คำว่าดีที่สุดมัน relative ไง ดีที่สุดไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะเลือกเรา ซึ่งผมคิดว่ามันก็ธรรมดานะ เหมือนแข่งประกวด The Voice มาประกวดร้องเพลงอะ ไม่ได้มาต่อสู้กัน เราร้องของเราให้ดีที่สุด ส่วนกรรมการเขาจะเลือกใครก็แล้วแต่ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าคนอื่นเขาร้องไงถูกปะ
ฉะนั้นเราไม่ได้เอาเป็นเอาตายกับคนอื่น เราพยายามทำ solution ในแบบที่เรามีความสุขและสนุก เราเลยเตรียมตัวเตรียมใจแพ้ไว้เลย เพราะ กทม. มันหักปากกาเซียนตลอดไง แล้วไม่ต้องห่วง ผมว่าโค้งสุดท้ายมีไรแปลกๆ อีกเยอะ แล้วอย่าไปเชื่อโพลมาก บางคนบอกว่า โหย โพลนำ ผมบอกว่าไม่จริงเลย โพลตัวอย่างมันไม่ได้เยอะ อย่าประมาท
อย่าไปคิดเรื่องโพล แพ้ชนะอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมบอกทีมว่า ต้องทำงานให้สนุกนะ เพราะผมเชื่อว่าสิ่งที่เราทำไม่สูญเปล่าหรอก 200 นโยบายที่คิดออกมา มันเป็นสิ่งที่มีค่านะ มันมาจากการคิด มันมาจากลงพื้นที่ ถึงเราไม่ได้ถูกเลือกมันก็อาจจะเป็นสิ่งที่คนอื่นเอาไปใช้ต่อได้