‘ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า ข้อ 1. ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ…’ ถึงจะผ่านมาหลายปี แต่หากมีเพื่อนสักคนเปิดประโยคนี้ขึ้นมา คงมีหลายคนที่ต่อติดโดยไม่ตั้งใจ คล้ายกับร่างกายตอบสนองไปตามสัญชาตญาณ
นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำปฏิญาณตนของลูกเสือ ที่เด็กไทยค่อนประเทศต้องเคยท่องกันเอาเป็นเอาตาย ด้วยท่ายืนตรงเท้าชิด แสดงรหัสลูกเสือสามนิ้ว พร้อมชุดเครื่องแบบเต็มยศในวันที่ร้อนปรอทแตก
ไม่นานมานี้โลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงค่าใช้จ่าย’ชุดลูกเสือ-เนตรนารี’ หลังเพจดังโพสต์ภาพบิลเงินสดของเครื่องแบบที่ราคารวมแตะพันบาท ทั้งที่อาจใช้เพียงครั้งเดียวต่อสัปดาห์ จากจุดเริ่มต้นนี้นำไปสู่การพูดคุยในหลายประเด็น ทั้งภาระของผู้ปกครองในยุคข้าวของแพง ไปจนถึงความเหมาะสมของการเรียนวิชาดังกล่าว ซึ่งมีหลายความเห็นชี้ว่า วิชานี้สอนทักษะชีวิต อย่างระเบียบวินัย การทำงานเป็นทีมได้ดี อีกทั้งยังฝึกทักษะในภาวะฉุกเฉิน
เมื่อการแลกเปลี่ยนความเห็นยังคงดำเนินไป The MATTER จึงชวนไปสำรวจราคาของเครื่องแบบลูกเสือเนตรนารี สำรองและสามัญ (เหล่าเสนา) จากย่านบางลำพู ที่คึกคักต้อนรับทุกเปิดเทอม
หมายเหตุ นี่เป็นราคาโดยประมาณจากการสำรวจ ซึ่งแตกต่างกันด้วยหลายปัจจัย เช่น ยี่ห้อ ขนาด คุณภาพสินค้า เป็นต้น
ลูกเสือสำรอง
- หมวก : ทรงกลมมีกระบังหน้าหมวก สีกรมท่า ราคา 50 บาท
- เสื้อ : แขนสั้นสีขาว แบบเสื้อนักเรียน ราคาเริ่มต้น 173 บาท
- กางเกง : กางเกงขาสั้นแบบกางเกงนักเรียน ราคา 250-300 บาท
- ผ้าผูกคอ : ผ้าสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ราคา 30 บาท
- เข็มขัด : เข็มขัดลูกเสือสายสีน้ำตาล พร้อมหัวเข็มขัด ราคา 70 บาท, 80 บาท, 100 บาท
- ถุงเท้า : สีขาว 30-50 บาท
- รองเท้า : รองเท้านักเรียน 299-380 บาท
*เป็นราคาโดยประมาณ สูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ขนาด คุณภาพ เป็นต้น
เนตรนารีสำรอง
- หมวก : ทรงกลมมีกระบังหน้า ราคา 50 บาท
- เสื้อ : เสื้อนักเรียนสีขาว ราคาเริ่มต้น 173 บาท
- กระโปรง : แบบกระโปรงนักเรียน ยาวเสมอเข่า ราคา 250-300 บาท
- ผ้าผูกคอ : ผ้าสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ราคา 30 บาท
- ถุงเท้า : สีขาว 30-50 บาท
- รองเท้า : รองเท้านักเรียน 270-340 บาท
*เป็นราคาโดยประมาณ สูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ขนาด คุณภาพ เป็นต้น
ลูกเสือสามัญ
- หมวก : หมวกปีกสีกากี พับข้าง ราคา 80 บาท
- เสื้อ : เสื้อสีกากี แขนสั้นเหนือศอก ราคา 250-550 บาท
- กางเกง : สีกากี ขาสั้นเหนือเข่า ราคาเริ่มต้นที่ 250 บาท
- ผ้าผูกคอ : ผ้าสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ราคา 30 บาท
- เข็มขัด : สายทำด้วยหนังสีน้ำตาล พร้อมหัวเข็มขัด ราคา 70 บาท, 80 บาท, 100 บาท
- ถุงเท้า : ถุงเท้ายาวสีกากี ราคา 42-50 บาท
- รองเท้า : รองเท้าผ้าใบสีน้ำตาลแก่ ไม่มีลวดลาย ราคา 299-380 บาท
*เป็นราคาโดยประมาณ สูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ขนาด คุณภาพ เป็นต้น
เนตรนารีสามัญ
- หมวก : หมวกปีกแคบสีเขียวแก่ ราคา 80 บาท
- เสื้อ : เสื้อเนตรนารีสีเขียวแก่ ราคา 250-550 บาท
- กระโปรง : ทำด้วยผ้าสีเขียวแก่ ยาวเสมอเข่า ราคาเริ่มต้นที่ 250
- ผ้าผูกคอ : ผ้าสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ราคา 30 บาท
- เข็มขัด : สายทำด้วยหนัง ราคา 70 บาท, 80 บาท, 100 บาท
- ถุงเท้า : สีขาว ราคา 42-50 บาท
- รองเท้า : รองเท้านักเรียน ราคา 270-340 บาท
*เป็นราคาโดยประมาณ สูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ขนาด คุณภาพ เป็นต้น
ลูกเสือสำรองแบบลำลอง
- เครื่องแบบนักเรียน : ราคา 500-900 บาท
- ผ้าผูกคอ : ใช้ผ้ารูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ราคา 30 บาท
*เป็นราคาโดยประมาณ สูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ขนาด คุณภาพ เป็นต้น
ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2529) ระบุถึง ‘เครื่องแบบลูกเสือสำรองแบบลำลอง’ ว่าใช้สำหรับการฝึกอบรม หรืออยู่ค่ายพักแรมเท่านั้น
นี่อาจเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหลายความคิดเห็น ที่เสนอแนะว่า เป็นไปได้หรือไม่ หากประยุกต์ชุดนักเรียนหรือชุดพละที่มีอยู่แล้ว เข้ากับผ้าผูกคอเพื่อคงไว้เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งจะทำให้ยังสามารถดำเนินการเรียนได้ตามปกติ อีกทั้งลดภาระค่าใช้จ่าย
เครื่องหมายประกอบ และอุปกรณ์อื่น
สิ่งที่สะดุดตาอย่างหนึ่งของเครื่องแบบลูกเสือเนตรนารี คือ เครื่องหมายประกอบ ซึ่งมีทั้งส่วนที่จำเป็น และเพิ่มเติม ขึ้นอยู่ตามข้อกำหนดของผู้บังคับบัญชาลูกเสือในแต่ละโรงเรียน
หลายคนอาจไม่ทันได้สังเกต คือผ้าผูกคอในแต่ละพื้นที่ก็มีเอกลักษณ์ที่ต่างกันออกไป อย่างสีก็จะแบ่งตามสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา เช่น กรุงเทพฯ ใช้สีเหลือง เชียงรายใช้สีบานเย็น เป็นต้น เช่นเดียวกับตราที่ใช้บนผ้า ซึ่งจะดัดแปลงจากตราประจำจังหวัด
ตัวอย่างเครื่่องหมายประกอบ เช่น
- หัวเข็มขัด 20 บาท
- เข็มติดหมวก 20 บาท
- วอกเกิ้ล 20-30 บาท
- เครื่องหมายหมู่ 10 บาท
- เครื่องหมายนายหมู่ 10 บาท
- เครื่องหมายชั้น (ดวงดาว) 10 บาท
- อื่นๆ
ไม่ว่าการวิพากษ์ครั้งนี้ ท้ายสุดจะนำไปสู่ผลลัพธ์ใด แต่อย่างน้อยเป็นสัญญาณว่า ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเป็นประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม ยิ่งในช่วงเวลาที่เงินทองเป็นของหายาก อีกทั้งคงไม่มีสิ่งใดหลีกเลี่ยงการปรับตัวตามยุคสมัยไปได้ โดยเฉพาะหากเป็นวิชาความรู้ ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนให้อยู่รอดในทุกการเปลี่ยนแปลง