วิชาลูกเสือไทยตกเป็นประเด็นข่าวใหญ่ในแทบจะทุกปีของการเปิดภาคเรียน หลายคนแสดงความกังวลไปที่เรื่องของเครื่องแบบ ที่นอกจากจะไม่สอดคล้องกับสภาพอากาศแล้ว ยังอาจเป็นภาระด้านค่าใช้จ่าย หรือหลายฝ่ายก็เริ่มตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้ว วิชาลูกเสือซึ่งถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานยังคงมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ถึงเวลาที่ควรปรับเปลี่ยนแก้ไขแล้วหรือยัง
ถ้าคุณเรียนหนังสือที่ไทยและไม่ได้ศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ คุณต้องมีโอกาสเรียนวิชาลูกเสือแน่ๆ ไม่ว่าใจจริงจะต้องการหรือไม่ก็ตาม เพราะสิ่งนี้อยู่ในโรงเรียน ผู้สอนคือคุณครู แถมยังเป็นเนื้อหาบังคับที่เราไม่สามารถหลบเลี่ยงหลีกหนีได้
เอาล่ะ ขอพาทุกคนข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังประเทศเบลเยียมกันหน่อยดีกว่า ดินแดนเล็กๆ กลางทวีปยุโรปนี้เองก็มีลูกเสือหรือ ‘scout’ เช่นเดียวกัน ทว่าโครงสร้าง วิธีการ ตลอดจนสิ่งที่ให้ความสำคัญกลับแตกต่างกับวิชาลูกเสือที่เราเรียนกันโดยสิ้นเชิง
อยู่นอกโรงเรียน
กิจการลูกเสือของเบลเยียมมีลักษณะเป็นองค์กรอิสระ มีศูนย์เรียนรู้ประจำในแต่ละชุมชนกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีการบรรจุลูกเสือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา ดังนั้น เด็กจึงไม่ถูกบีบบังคับด้วยหลักสูตรว่าต้องเรียน แต่เป็นระบบสมัครใจหรือได้รับการแนะนำจากพ่อแม่ล้วนๆ
ทุกวันอาทิตย์ (หรือขึ้นอยู่กับแต่ละศูนย์กำหนด) เวลาประมาณ 9.00-12.00 นาฬิกา เด็กๆ ในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงจะเข้ามารวมกลุ่มกันเพื่อเปิดประชุมกอง จุดเริ่มต้นของเด็กหนึ่งคนในการเข้าร่วมลูกเสือ ส่วนมากเกิดจากการที่ผู้ปกครองต้องการให้ลูกหลานทำกิจกรรม ได้เคลื่อนไหวร่างกาย และมีสังคมอื่นๆ นอกเหนือจากเพื่อนร่วมห้อง ซึ่งในที่นี้คือสังคมวัยไล่เลี่ยกันที่บ้านอยู่ใกล้กันด้วย
เมื่อเด็กเข้าไปลองเรียนรู้ หากค้นดูแล้วชื่นชอบ ก็มักจะเข้าร่วมต่อไปเรื่อยๆ จนเติบโต แต่หากเจอสิ่งอื่นที่สนใจมากกว่าก็สามารถลาออกได้ตามอัธยาศัย
ทุกคนอาจสงสัยว่า ถ้าไม่อยู่ในโรงเรียน แล้วกิจการลูกเสือได้งบประมาณมาจากไหน แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของภาครัฐ แต่อีกส่วนคือค่าธรรมเนียมรายปีที่สมาชิกทุกคนต้องจ่ายในราคา 68 ยูโร หรือประมาณ 2,500 บาท ตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่า ผู้ที่มาเข้าร่วมคือคนที่เห็นความสำคัญและอยากใช้เวลาร่วมกันกับกลุ่มเพื่อนในหมู่ลูกเสือจริงๆ เพราะถ้าไม่สนุก ใครจะอยากเสียเงินสองพันเพื่อทำอะไรสักอย่างตั้ง 3 ชั่วโมงทุกวันอาทิตย์กันล่ะ
คนสอนไม่ใช่ครู แต่เป็นผู้ที่เติบโตจากลูกเสือศูนย์นั้นๆ
ในโรงเรียนไทย ว่ากันตามจริงจะมีครูสักกี่คนที่ใส่ใจอยากสอนลูกเสือ โอเค อาจจะมีคุณครูกลุ่มใหญ่ที่ให้ความสำคัญต่อวิชา ทว่าแค่การสอนเด็กกว่า 40 คนต่อห้อง ตรวจการบ้าน หรือกระทั่งช่วยงานทะเบียน ครูไทยยังเหนื่อยและใช้แรงใจไม่พออีกหรือ
ตัดภาพไปยังฝั่งประเทศเบลเยียม เมื่อเด็กมีความสุขในการเป็นลูกเสือกลับมาเข้าร่วมทุกปี ถึงวันหนึ่งที่อายุมากเกินจะเป็นสมาชิก พวกเขาเหล่านี้ก็จะขยับขยายหน้าที่ขึ้นเป็นผู้สอน คอยออกแบบการเรียนรู้และดูแลเด็กๆ ทุกสัปดาห์ เพราะฉะนั้น ผู้ควบคุมหมู่ลูกเสือทุกคนจึงมีทั้งความห่วงใยและเข้าใจ เขาและเธอเติบโตมาพร้อมๆ กันในเครื่องแบบผ้าผูกคอ เด็กที่ต้องดูแลก็เป็นลูกหลานญาติมิตรร่วมชุมชน เกิดเป็นกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ตอบโจทย์ทั้งต่อผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งผู้เรียนก็มีแนวโน้มที่จะสนิทสนมกับผู้สอนมากกว่าที่ไทย เพราะเป็นสายใยและช่องว่างระหว่างวัยแบบเพื่อนพี่น้องไม่ใช่ครูกับลูกศิษย์
กิจกรรมสำคัญกว่าท่องจำ
ลูกเสือที่เบลเยียมต้องท่องคำปฏิญาณตนมั้ย?
คำตอบคือท่อง แต่ไม่ได้เน้นย้ำ เพราะกิจกรรมที่ทำสำคัญกว่า
ทุกสัปดาห์ สมาชิกที่มาจะได้ทำสารพัดสิ่งซึ่งสอดคล้องกับช่วงวัย เด็กประถมต้นจะได้เคลื่อนไหวร่ายกาย ทว่าไม่มีการกระทบกระทั่งมากนัก โตขึ้นมาหน่อยจะได้หัดคิดวิเคราะห์มากขึ้น ก่อนจะเพิ่มระดับความท้าทายตามอายุ โดยจุดเน้นของการรวมกลุ่มไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นความสัมพันธ์และการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ในสังคม
นอกจากนี้ รูปแบบกิจกรรมของลูกเสือเบลเยี่ยมยังยึดโยงกับสังคมที่ศูนย์ลูกเสือนั้นๆ ตั้งอยู่ บางเดือน ผู้สอนก็นำเด็กๆ เดินสำรวจชุมชน เป็นการเปิดหูเปิดตาเพื่อให้เด็กได้มองละแวกใกล้บ้านอย่างที่ไม่เคยมอง เพราะหลายครั้งเด็กก็เดินผ่านโดยไม่ได้ตั้งคำถามหรือทราบที่มาของพื้นที่ หรือบางครั้ง เหล่าลูกเสือก็รวมตัวทำกิจกรรมดีๆ อย่างปลูกต้นไม้หรือเรียนรู้วิธีคัดแยกขยะ อาจจะดูน่าเบื่อ แต่เมื่อทำร่วมกับเพื่อนและได้ลงมือเองตั้งแต่เด็กก็อาจนำไปสู่การปลูกฝังความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่ง่ายและยั่งยืนกว่า
การศึกษาธรรมชาติเป็นหนึ่งกลไกหลักของกระบวนการลูกเสือ สิ่งที่อยากชวนทุกคนย้อนคิดคือวิชาลูกเสือที่เราเรียนกันตั้งแต่ ป.1 เพิ่มความผูกพันระหว่างเราและป่าไม้ได้มากน้อยแค่ไหน การเข้าค่าย 3 วัน 2 คืนต่อปีเพียงพอหรือไม่ เราอยากไปจริงรึเปล่า และไปแล้วได้อะไรกลับมา
การเข้าค่ายลูกเสือที่เบลเยี่ยมต่างออกไป เพราะกระทั่งค่ายสำหรับเด็กอายุ 6-7 ปีก็กินระยะเวลา 5 คืน, เด็ก 8-14 ปี 10 คืน และ 15-17 ปี 12 คืน เรียกว่าได้ลองใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติจนถึงแก่น ได้ประสบการณ์กลางป่าอย่างถ่องแท้ ที่สำคัญไม่ได้บังคับว่าลูกเสือทุกคนต้องไป ใครสะดวกใจและอยากลองก็ร่วมทริปได้ ใครไม่สบายหรือติดภารกิจก็สามารถเซย์โน ไม่มีการขู่ว่าจะให้ ‘ไม่ผ่านกิจกรรม’
อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ทุกช่วงคริสต์มาสคือการแยกย้ายไปขายคุกกี้ เพียงเด็กๆ เคาะประตู ผู้ใหญ่ในบ้านก็พร้อมยิ้มต้อนรับ ก่อนจะซื้อสักชิ้นสองชิ้นให้เด็กๆ เกิดความภาคภูมิใจ และที่ลูกเสือตัวน้อยจะได้แน่ๆ คือทักษะการค้าขาย พูดคุย คำนวน รวมไปถึงมีความสนิทสนมกับผู้ใหญ่ในชุมชนเพิ่มขึ้น ทั้งการแยกขยะ ปลูกต้นไม้ และขายของเป็นการปลูกฝังความรักและหวงแหนท้องถิ่นแบบไม่ฝืน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการให้ท่องซ้ำๆ ว่า เราจะจงรักภักดี แต่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ลงมือทำจริง
แล้วกำไรที่ได้จากการขายไปไหนล่ะ…
หากไม่นำไปบริจาค ก็อาจใช้เป็นเงินทุนซ่อมแซมอุปกรณ์ลูกเสือ แต่ที่สนุกที่สุดคือการนำเงินส่วนนี้สมทบทุนจัดปาร์ตี้ชุมชน เด็กโตและกลุ่มหัวหน้าจะช่วยกันออกแบบงานและเชิญชวนผู้ใหญ่มาร่วมวง บ้างก็เป็นงานพบปะทั่วไป บ้างก็ใส่กิมมิคจัดเป็นปาร์ตี้เกมโชว์แข่งขันตอบคำถามเพื่อหาคุณลุงคุณป้าที่มีความรู้รอบตัวมากที่สุด นับเป็นความสร้างสรรค์ที่เราไม่คิดเหมือนกันว่าจะเกิดขึ้นจากกลุ่มลูกเสือ
ด้วยการวางโครงสร้างในรูปแบบไม่บังคับตั้งแต่ต้น ออกแบบการเรียนรู้ให้ยึดโยงกับชุมชนที่ศูนย์ลูกเสือตั้งอยู่ พร้อมปลูกฝั่งแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยคนที่เข้าใจ จึงนำมาซึ่งกระบวนการที่ทำได้ตามเป้าหมาย สนุกสนาน และยั่งยืน
ลูกเสือไทยเอาอย่างลูกเสือเบลเยี่ยมบ้างได้มั้ย?
ปัจจุบันวิชาลูกเสือในโรงเรียนไทยเป็นไปตามแนวทางการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 คำถามที่ว่า เป็นไปได้มั้ยที่จะปรับเปลี่ยนการเรียนลูกเสือไทยให้คล้ายคลึงกับเบลเยี่ยม
คำตอบคือยาก เพราะนอกจากจะต้องเข้าไปนั่งแก้หลักสูตรแล้ว การย้ายลูกเสือออกมาอยู่นอกโรงเรียนก็ต้องมั่นใจก่อนว่า ในแต่ละท้องที่มีพื้นที่สาธารณะเพียงพอต่อการใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่สำคัญยังต้องมีบุคลากรคุณภาพเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ด้วย ซึ่งปัญหาอย่างการกระจุกตัวทางการศึกษาและอาชีพก็บีบให้เยาวชนจำต้องย้ายเข้าไปเรียนในเมืองจนไม่สามารถดูแลท้องถิ่นของตัวเองได้ หรือต่อให้สามารถเนรมิตทุกอย่างที่ว่ามาได้ก็ยังมีอีกสองอุปสรรคสำคัญนั่นคือ
- ค่านิยมของคนไทยที่ให้ความสำคัญกับวิชาการมากกว่ากิจกรรมด้านนอก เด็กน่าจะต้องอยู่ที่โรงเรียนกวดวิชาในวันหยุดมากกว่าอยู่กับธรรมชาติเพื่อพูดคุยกับเพื่อนในสิ่งที่จะไม่ปรากฏในกระดาษข้อสอบ
- สภาพอากาศของไทย ที่บางวันก็ร้อนไป บางคืนก็ฝนพรำ ทำให้ยากต่อการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง หากลูกเสือเป็นลมแดดขณะปลูกต้นไม้หรือตากฝนจนเป็นไข้ตอนขายคุกกี้ก็คงไม่ใช่ภาพที่ดีนัก
ทั้งหมดทั้งมวล ประเทศไทยน่าจะต้องทบทวนศาสตร์ลูกเสือกันใหม่อีกครั้ง เพราะเนื้อแท้และเป้าหมายของวิชาลูกเสือเป็นสิ่งดี เพียงแต่รูปแบบการสอนในโรงเรียนไทยตอนนี้อาจยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร ความท้าทายในอนาคตอันใกล้คือผู้มีอำนาจจะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างวิชาลูกเสืออย่างไรให้เหมาะสม ผู้เรียนสนุก ผู้สอนใส่ใจ และสามารถมอบคุณค่าแก่สังคมตามเป้าหมายเริ่มแรกได้อย่างแท้จริง
อ้างอิงจาก