วันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา มีข่าวหนึ่งที่ผมค่อนข้างจะสนใจ แต่สังคมในวงกว้างอาจจะยังค่อนข้างนิ่งกับเรื่องนี้อยู่ นั่นคือข่าวที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้เพิ่มความเข้มข้นของหลักสูตรวิชาลูกเสือ-เนตรนารี โดยได้ให้เหตุผลไว้ว่า “จะทำให้รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบของตน”[1]
ในจุดนี้ผมคงไม่ลงไปพูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่าท่านนายกฯ ดูจะเป็นคนท้ายๆ ในประเทศ (หรือในโลกนี้) ที่จะมีสิทธิพูดเรื่อง ‘หน้าที่ความรับผิดชอบของตน’ อย่างมีน้ำหนักได้
กลับมาเข้าเรื่องลูกเสือเนตรนารีกันก่อนดีกว่า คือ ผมค่อนข้างจะรู้สึกเอะใจกับข่าวนี้ เพราะเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีใช้คือเรื่อง ‘ความรับผิดชอบ’ นั้นดูจะต้องเข้าใจอะไรผิดไปแน่ๆ เพราะหลักการอันเป็นแนวคิดพื้นฐานของเรื่อง ‘ความรับผิดชอบ; นั้นดูจะตรงข้ามกับแบบแผนของวิชาลูกเสือนี้แบบคนละขั้วทีเดียว เพื่อให้เห็นภาพ ผมอยากจะอธิบายที่มาที่ไปของลูกเสือเนตรนารีอะไรนี่สักนิดก่อน
การกำเนิดขึ้นของลูกเสืออย่างเป็นทางการนั้น เริ่มขึ้นราวๆ ปี ค.ศ. 1907 หรือ 110 ปีที่แล้ว และเนตรนารี หรือ Girl Guide ค่อยเกิดตามมาในปี ค.ศ. 1910 ซึ่งก็อย่างที่หลายๆ คนพอจะทราบ มันคือวิชาที่เริ่มต้นขึ้นมาจากแนวคิดหรือวิธีคิดแบบทหารๆ โดยเริ่มจากนาย Robert Baden-Powell ซึ่งเป็นพลโทแห่งกองทัพสหราชอาณาจักร ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการลาดตระเวณ (Reconnaissance) และสอดแนม (Scouting) สำหรับเด็กผู้ชายขึ้น ชื่อว่า Scouting for Boys ซึ่งนำมาสู่กระแสที่เรียกว่า Scout Movement ขึ้นมา และกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘การศึกษาตามอัธยาศัย’ (Informal Education) จนปัจจุบัน
รูปแบบหลักของวิชาลูกเสือ-เนตรนารีในฐานะ Informal Education ก็คือ การฝึกวินัยโดยมีวินัยแบบทหารเป็นแบบแผน รวมไปถึงการฝึกการเอาตัวรอดต่างๆ เช่น การตั้งแคมป์ การก่อกองไฟ ฯลฯ รวมไปถึงการฝึกสอดแนมและลาดตระเวณด้วย ตามแนวคิดเริ่มแรก ว่ากันง่ายๆ ก็คือ เป็นวิชาที่เกิดขึ้นเพื่อฝึกให้เด็กๆ ได้ฝึกหรือคุ้นชินกับวินัยแบบทหารนั่นเอง และแนวคิดนี้ก็แพร่หลายขึ้นมาได้ด้วยกระแสความนิยมในการทหารและสงคราม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ซึ่งก็เข้ามาถึงประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ดี ปัญหาแรกเริ่มสุดเลยเมื่อมันเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว มันไม่ใช่การศึกษาทางเลือก หรือการศึกษาตามอัธยาศัยอีกต่อไป มันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาภาคบังคับ ที่เด็กนักเรียนประถม จนถึงมัธยมต้นทุกคนต้องพานพบ และร่วมกันตะโกน ‘อาคีล่าๆ’ กันอย่างงงๆ โดยไม่รู้เลยว่าจะตะโกนชื่อหัวหน้าเผ่าหมาป่าของเมาคลีนี้ไปทำไม (จริงๆ คือ ในช่วงต้นของการแผ่ขยาย Scout Movement นี้ Baden-Powell ในฐานะทหารอังกฤษจึงเน้นมาที่อินเดียและชมพูทวีป ซึ่งมีอิทธิพลของอังกฤษเยอะอยู่ และเพื่อให้สื่อกับสังคมอินเดียได้ง่าย จึงได้ดึงเอาชื่อต่างๆ จาก Jungle Book ต้นกำเนิดเรื่องเมาคลีมาใช้ด้วย ‘อาคีล่า’ หัวหน้าฝูงหมาป่าที่ดูแลเมาคลีก็เป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกนำมาใช้ ไม่ได้เกี่ยวกับดิสนีย์แต่อย่างใด)
ปัญหาที่สอง ซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน และเป็นความเข้าใจผิดใหญ่หลวงของนายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันด้วย ก็คือ ‘วินัย ไม่เท่ากับ ความรับผิดชอบ’ ซึ่งจุดนี้เองที่ผมบอกไปในตอนต้นว่าเป็นการเข้าใจผิดแบบคนละขั้วเลยทีเดียว เพราะโดยโครงสร้างของวิชาลูกเสือแล้วมันคือ การสร้างหรือให้เรียนรู้วินัยแบบทหาร รวมถึงการเรียนรู้ในการเอาตัวรอด แต่การเป็นทหารที่มีวินัยไม่ได้แปลว่าจะต้องมีความรับผิดชอบ เพราะมันเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ท่านนายกฯ เองเป็นตัวอย่างในจุดนี้ได้ดี
แล้วความรับผิดชอบมันวางพื้นฐานอยู่กับอะไรล่ะ?
โดยหลักการแล้ว แนวคิดเรื่องความรับผิดชอบนั้นวางฐานอยู่บน ความคิดว่า “ตัวมนุษย์นั้นเป็นตัวตนที่มีอิสระโดยตัวเอง (free agent)”[2] และเพราะว่ามนุษย์นั้นมีอิสระในการกระทำได้ด้วยตัวเอง การกระทำต่างๆ ย่อมมาจากเจตจำนงอันเสรีของตนเอง จึงเท่ากับเป็นการใช้อำนาจโดยตัวปัจเจกนั้นๆ และต้องมี ‘ความรับผิดชอบ’ ต่อการกระทำนั้นๆ ของตนไปด้วย
หนึ่งในตัวอย่างที่อาจจะพอให้เห็นภาพได้คร่าวๆ ก็คือ สมมติ นาย A และ นาย B ต่างไปขโมยของในร้านขายของชำแห่งหนึ่งเหมือนกัน ในเมืองเมืองเดียวกัน (คือกฎหมายชุดเดียวกัน) แต่นาย A นั้นมีอาการที่เรียกว่า Kleptomania หรือโรคซึ่งไม่สามารถยับยั้งช่างใจในการขโมยได้ ในขณะที่นาย B นั้นไม่ได้มีอาการดังกล่าว การขโมยเกิดขึ้นโดยตัวนาย B เองล้วนๆ ในกรณีแบบนี้ กฎหมายโดยทั่วไปของัฐเสรีย่อมถือว่านาย A ไม่มีความผิดและไม่ต้องรับผิดชอบ (แต่อาจต้องโดนส่งไปนักษาตัวต่อไป อะไรก็ว่ากันไป) ในขณะที่นาย B ก็ได้รับโทษไป เพราะถือเป็นความรับผิดชอบที่ไปขโมยของ
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า นาย A นั้นถือว่าไม่ได้กระทำไปในฐานะที่ตนเองเป็น free agent ของตัวเอง แต่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขที่เหนือการควบคุมของตนเองอีกที กล่าวโดยสรุปก็คือ แนวคิดเรื่อง ‘ความรับผิดชอบ’ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์ในพื้นที่นั้นๆ ต้องเป็นอิสระในการกระทำทั้งในทางร่างกายและจิตใจ การถูกผูกอยู่ในเงื่อนไขที่ทำให้ไม่เป็นอิสระ หรือการตัดสินใจไม่ได้เป็นของตนอย่างเต็มที่นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดแนวคิดเรื่อง ‘ความรับผิดชอบ’ ขึ้น เพราะที่ทำไปจะนับว่ากระทำโดยตนเองก็ไม่อาจนับได้
ด้วยเหตุนี้วิชาอย่างลูกเสือเนตรนารีที่กำหนดให้คนหันซ้ายหันขวา ตะโกนชื่อ ‘อาคีล่าๆๆ’ ผ่านการบังคับหลายชั้นทั้งจากระบบการศึกษาภาคบังคับ, ทั้งจากครูที่สอนบังคับหันไปหันมา ไปจนถึงหัวหน้าหมู่หัวหน้ากองนั้น ย่อมไม่ได้ฝึกเรื่องความรับผิดชอบอะไรใดๆ เลย มันเป็นเพียงความเข้าใจผิดครั้งที่นับไม่ถ้วนของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชานั่นเอง อนึ่งผมเองไม่ได้จะบอกว่าการปรับเนื้อหาวิชาลูกเสือเนตรนารีให้เข้มข้นขึ้นเป็นสิ่งที่ผิดโดยตัวมันเองนะครับ จุดนี้ขอให้เข้าใจก่อน เอาจริงๆ ผมคิดว่าปรับปรุงก็ดี และทำให้วิชามันใช้งานได้จริง เพราะการฝึกการเอาตัวรอดในพื้นที่ที่ไม่ใช่สภาพแวดล้อมแบบที่เราคุ้นชินนั้นก็เป็นประโยชน์ในตัวมันเองได้ เพียงแต่มันต้องวางอยู่บนเงื่อนไขว่า ลูกเสือเนตรนารีต้องเป็นวิชาทางเลือก ใครอยากเรียน อยากมีความรู้เรื่องเหล่านั้นก็ให้พวกเค้าสมัครใจ เลือกเองโดยอิสระ (และจากนั้นจะชอบจะเกลียดวิชานี้ ก็เป็น ‘ความรับผิดชอบ’ ของพวกเขาเองแล้ว ที่ตัดสินใจเลือกไปเรียน)
ผมคิดว่าหากนายกฯ ประยุทธ์จริงใจเรื่องอยากให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่อง ‘ความรับผิดชอบ’ จริงๆ นะครับ ผมมีข้อเสนอครับ และท่านทำได้แน่ๆ เพราะอยู่ในอำนาจท่านเอง คือ
- ยกเลิกมาตรา 44 เพราะมาตรานี้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นอาวุธที่ใช้จี้คอให้ใครทำอะไรก็ได้ในแบบที่รัฐบาลต้องการ หากยังมีมาตรานี้อยู่ การกระทำใดๆ ก็ไม่ได้ชื่อว่าทำในฐานะ free agent หรอกครับ มันเหมือนโดนมีดจี้ให้ทำเสียมากกว่า
- คืนสถานะเสรีชนให้กับประชาชนอีกครั้ง ด้วยการเปิดให้มีประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง เพราะนั่นคือวิธีการเดียวที่จะทำให้ประชากรของรัฐนี้ มีสถานะเป็น free agent ได้ และพวกเขาจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
- ผมแนะนำว่าท่านควรแสดงตัวอย่างให้เด็กๆ เห็นถึงการ ‘รับผิดชอบ’ โดยการยอมรับผิดจากการรัฐประหาร และเข้าสู่กระบวนการตัดสินทางกฎหมายที่ยุติธรรม เพื่อแสดงให้เด็กๆ เห็นอย่างที่ปากท่านบอก ว่าต้องมีความรับผิดชอบ การออกกฎหมายล้างความผิดให้กับการกระทำของตนเองนั้น คงไม่อาจจะเรียกว่าเป็นความรับผิดชอบใดๆ ได้เลย
ผมคิดว่าหากท่านนายกฯ ยังไม่เข้าใจข้อเสนอ 3 ข้อ (ซึ่งเป็นเกณฑ์ ‘ขั้นต่ำ’) ของผมแล้ว และยังเข้าใจว่า ‘วินัย = ความรับผิดชอบอยู่’ เราก็คงจะได้อยู่ในสังคมที่มีชัยภูมิ ป่าแส คนที่สอง คนที่สาม คนที่สี่ต่อไปเรื่อยๆ มีสภาเจไดอันทรงเกียรติต่อไปอย่างที่เห็นกันในวันนี้แหละครับ และวิชาใดๆ ก็คงไม่สามารถมาสอนความรับผิดชอบให้กับสังคมได้เป็นแน่แท้
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] อ่านเพิ่มเติม www.facebook.com/thematterco/posts
[2] โปรดดู David Papineau (2009). Philosophy: Reference Classics. London, UK: Duncan Baird Publishers, p.150.