อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ อยากย้ายไปอยู่ประเทศที่เจริญแล้ว อยากหาช่องทางตั้งต้นชีวิตใหม่
‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ กลุ่มในเฟซบุ๊กที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วัน พร้อมเทรนด์เลือกประเทศ รีวิววิธี และช่องทางการย้ายไปเริ่มต้นชีวิตในต่างประเทศ จนมีการวิเคราะห์ การพูดคุยถึงกระแสนี้ในวงกว้างในมุมมองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ ภาพเศรษฐกิจในอนาคตหากขาดแรงงาน ไปถึงเทรนด์โลกที่คนมองว่า เราไม่ใช่พลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นพลเมืองโลกด้วย
จริงๆ แล้ว กระแสการย้ายถิ่นฐานไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มนุษย์เรานั้นย่อมย้ายถิ่น อพยพ เปลี่ยนสัญชาติกันมานาน The MATTER จึงขอพามาย้อนดูปรากฏการณ์สมองไหล หรือการย้ายประเทศของบางที่ว่า มีสาเหตุจากอะไร เมื่อขาดบุคลากรไปแล้ว ประเทศนั้นๆ มีวิธีรับมือแบบไหน และสถานการณ์โลกมีประเทศไหนเกิดสถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่อยากย้ายออกกันบ้าง
ปรากฎการณ์สมองไหล เมื่อคนที่มีโอกาสออกไป ไม่กลับมา
การอพยพ ย้ายถิ่นฐาน เป็นเรื่องปกติของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นการย้ายหลังพบพื้นที่ใหม่ๆ บนแผนที่โลก หรือย้ายจากการครอบครองอาณานิคม ย้ายหนีสงครามในอดีต อย่างการอพยพชาวจีน ซึ่งกลายเป็นคลื่นขนานใหญ่ในหลายประเทศที่มีชาวจีนโพ้นทะเล แต่ปรากฎการณ์ที่ถูกพูดถึงในระยะหลัง และหลายประเทศมองว่าเป็นเรื่องสำคัญจนกลายเป็นนโยบาย คือ ปรากฎการณ์ ‘สมองไหล’
สมองไหล (brain drain หรือ human capital flight) หมายถึงปรากฏการณ์ที่ประเทศหนึ่งสูญเสียคนชั้นมันสมอง เป็นการอพยพออกจากประเทศขนานใหญ่ของบุคคลซึ่งมีทักษะหรือความรู้เฉพาะด้าน ซึ่งที่ผ่านมานั้น ปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา ที่มีปัญหาทั้งในทางเศรษฐกิจ และการเมือง จนทำให้ประชาชนในประเทศมองหาช่องทาง และโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต โดยในบทความนี้ เราอยากจะยกตัวอย่างเคสของบางประเทศมาให้ดู
ประเทศที่เคยประสบปัญหานี้อย่างจริงจัง คือ ‘ไต้หวัน’ ที่ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 – 1980 นักศึกษาจากไต้หวัน เริ่มเดินทางมาศึกษาต่อในสหรัฐฯ จำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มาร่ำเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม ซึ่งในช่วงนั้นนักศึกษาชาวไต้หวันรวมตัวกันได้เป็นหนึ่งในกลุ่มนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ เลยก็ว่าได้ นักเรียนเหล่านี้ มีความตั้งใจว่าจะกลับประเทศเมื่อเรียนจบ แต่สถิติกลับปรากฏว่า มีเพียง 10% ในช่วง 1970 และ 20% ในช่วง 1980 ที่นักศึกษาเหล่านี้กลับไต้หวัน
บัณฑิตส่วนใหญ่ที่เรียนจบ ต่างก็หางานทำในสหรัฐฯ ทำให้เกิดภาวะสมองไหลอย่างมากกับไต้หวัน โดยมีการอธิบายไว้ว่า นักศึกษาที่ย้ายประเทศในช่วงนั้น ต่างเติบโตมากับสภาพการเมืองของไต้หวันภายใต้กฎอัยการศึกในยุครัฐบาลทหาร ซึ่งประกาศใช้ยาวนานถึง 38 ปี รวมถึงการปกครองอย่างเผด็จการของพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งการเมืองในสมัยนั้นต่างกีดกันเสรีภาพทางวิชาการ นักวิจัย และนักวิชาการที่วิจารณ์รัฐบาล ต่างก็ได้รับผลกระทบทางการงาน ถูกขึ้นบัญชีดำ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัย ที่ทำให้นักศึกษาในยุคนั้นหลีกหนีสภาวะที่ไม่มั่นคงทางการเมือง รวมถึงความขัดแย้งที่อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ไม่แน่นอนกับจีน มาตั้งต้นในประเทศใหม่
ภาวะสมองไหลนี้ ก็เกิดขึ้นกับประเทศฟิลิปปินส์เช่นกัน แต่แตกต่างจากไต้หวัน และหลายๆ ประเทศ ตรงที่มีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน และจัดตั้งโครงการส่งออก จนประเทศประสบสภาวะนี้ โดยมีอาชีพบุคลากรทางการแพทย์อย่างพยาบาล ที่ไหลออกนอกประเทศจำนวนมาก
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีประชากรอาศัยอยู่ต่างประเทศมากถึง 11% โดยย้อนไปตั้งแต่ช่วงที่ฟิลิปปินส์ ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมสหรัฐฯ สหรัฐฯ ได้มีโปรแกรมส่งพยาบาลไปเทรนด์ เรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม และหลักสูตรพยาบาลต่อเนื่อง รวมถึงหลังประกาศอิสรภาพแล้ว ในทศวรรษ 1950 และ 1960 สหรัฐฯ ยังมีโครงการแลกเปลี่ยนพยาบาล ทำให้เกิดความต้องการย้ายไปทำงานต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตประธานาธิบดีของประเทศได้เริ่มก่อตั้ง the Philippine Overseas Employment Program โครงการจ้างงานที่มีเป้าหมายในการส่งออกแรงงานเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา ซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ ในอาชีพพยาบาล ที่เป็นอาชีพหลักในการย้ายถิ่นฐาน ไปยังสหรัฐฯ รวมถึงประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว
การย้ายไปเป็นพยาบาลในประเทศพัฒนาแล้ว ถือเป็นโอกาส และช่องทางพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวฟิลิปินส์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีเงินเดือนที่สูง และสวัสดิการต่างๆ ที่ดีกว่า อย่างเช่น สหรัฐฯ เองที่พยาบาลได้เงินเดือนสูงเกือบ 10 เท่า เทียบกับเงินเดือนในประเทศตัวเอง ทั้งยังได้สถานะทางกฎหมาย หรือสมาชิกในครอบครัวเองยังได้สิทธิต่างๆ ด้วย
สำหรับสภาวะสมองไหลของฟิลิปินส์นี้ อาจขยายภาพให้เห็นชัดมากๆ ถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศตัวเอง ทั้งๆ ที่เป็นประเทศส่งออกคนกลุ่มนี้มากที่สุดในโลก โดยในปี 2013 ดร.คาร์เมลลา คูนานัน แพทย์ด้านสุขภาพในชนบทนอกเมืองดาเวา เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสามของฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์ว่า ควรมีแพทย์ประจำรัฐ 9 คนที่ทำงานเคียงข้างเธอในเขตทาโลโม ซึ่งมีประชากร 200,000 คน แต่กลับเป็นเธอที่ทำงานคนเดียว และควรมีพยาบาล 20 คนในพื้นที่ต่อประชากร 10,000 คน แต่ก็มีเพียง 6 คน รวมถึงควรมีพยาบาลผดุงครรภ์ 40 คนแทนที่จะเป็นเพียง 5 คนด้วย
ทั้งในช่วงการระบาดของ COVID-19 ปัญหานี้ก็ได้สะท้อน และกระทบกับอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพของประเทศมาก โดยจากข้อมูลของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนฟิลิปปินส์ ระบุว่ามีการขาดแคลนพยาบาลประมาณ 23,000 คนทั่วประเทศ และสถานการณ์รุนแรงมากจนชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เสียชีวิตโดยไม่ได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ในขณะเดียวกัน ในสหรัฐฯ กลับมีพยาบาลชาวฟิลิปปินส์มากถึงประมาณ 150,000 คน
ซึ่งนอกจากพยาบาลแล้ว ในช่วงหลังยังมีอาชีพอื่นๆ อย่างครู หรือคนในวงการศึกษาที่สมองไหลออกจากฟิลิปปินส์เช่นกัน
โครงการสมองไหลกลับ หวังดึงคนให้หวนคืนประเทศแม่
นอกจากไต้หวัน และฟิลิปปินส์แล้ว มีประเทศกำลังพัฒนา และด้อยพัฒนาจำนวนมาก ที่เผชิญกับปัญหาบุคลากรไหลออก จนบางประเทศเองก็ต้องรับมือ และหาทางแก้ปัญหา ออกนโยบายใหม่ๆ ดึงดูดคนที่ออกไปแล้วให้กลับมาด้วย (Reversing Brain Drain)
ในช่วงทศวรรษ 1980 ไต้หวันเริ่มมองการสมองไหลว่าเป็นปัญหาต่ออนาคตของประเทศอย่างจริงจัง และเริ่มหาวิธีการดึงคนกลับประเทศ โดยยุคนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไต้หวันยังกล่าวว่า พวกเขาเหมือนมอบคนหนุ่มสาวที่มีประโยชน์จำนวนมากให้แก่สหรัฐฯ “มันช่วยเพิ่มกำลังการทำงานของคุณ แต่นั่นคือปัญหาสมองไหลของเรา” เขากล่าว ซึ่งรัฐบาลเริ่มหวังที่จะดึงดูดคนที่มีทักษะในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงกลับมา ในช่วงที่ประเทศกำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อพึ่งพาผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง
รัฐบาลไต้หวันเริ่มออกนโยบาย และแพ็กเกจ เพื่อหวังดึงชาวไต้หวัน (รวมไปถึงคนจีนแผ่นดินใหญ่) ให้กลับมาทำงาน โดยมีสิ่งจูงใจต่างๆ มากมายอย่างเช่น การออกเงินค่าตั๋วเครื่องบินกลับไต้หวันฟรี ให้ความช่วยเหลือในการหางาน เสนอเงินค่าที่อยู่อาศัย ขึ้นเงินเดือน สัญญาเงินกู้ หรือเสนอสัญญาให้ทุนวิจัย แก่ข้าราชการ หรือนักวิชาการที่มีศักยภาพ
นอกเหนือจากแพ็คเกจผลประโยชน์แฝงเหล่านี้แล้ว รัฐบาลไต้หวันได้เริ่มโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานในประเทศตั้งแต่ปี 1995 เช่น จัดเวิร์กช็อปหางานในหลายรัฐของสหรัฐ อย่างซานฟรานซิสโก, ลอสแองเจลิส และนิวยอร์ก เพื่อเข้าถึงชาวไต้หวันในต่างแดนที่มีความสามารถ ทั้งยังเพิ่มการแข่งขันในบริษัท ด้วยการเสนอเงินชำระเงินเดือนคืนให้กับบริษัทท้องถิ่นในประเทศ ที่คัดเลือกชาวไต้หวันในต่างประเทศมาทำงาน ในด้านเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา การจัดการและการตลาดด้วย
ทั้งยังมีการให้ทุนการศึกษาของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2005 ไปถึงพิจารณาที่จะลดข้อกำหนดการเกณฑ์ทหารที่บังคับสำหรับกลุ่มที่ถูกเรียกว่า ‘parachute kids’ หรือเด็กของครอบครัวร่ำรวย ที่ถูกส่งไปเรียนต่อต่างประเทศที่มักอาศัยในสหรัฐฯ รวมถึงไต้หวันยังไม่เพียงดึงคนของตัวเองกลับมา แต่มีโครงการเปิดรับแรงงานมีคุณภาพต่างชาติให้ไหลกลับเข้ามามากมาย มีการใช้ DATA เก็บข้อมูลคน และอาชีพ เสนอสัญญาการทำงาน ปรับความเท่าเทียมของเงินเดือน และยังพัฒนาสกิลภาษาอังกฤษของคนในประเทศควบคู่ไปด้วย
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากของไต้หวัน คือการเลือกตั้งที่ทำให้ประเทศกลับเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ทำให้ปัจจัยเรื่องการเมืองช่วยดึงดูดคนให้กลับมาเจอสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ดีกว่ายุคก่อน
เกาหลีใต้ ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบกับสภาวะสมองไหลอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 จากเศรษฐกิจตกต่ำ การผ่านสงครามกับเกาหลีเหนือ และการปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการ โดยในช่วงนั้น วิศวกร 87%, นักวิทยาศาสตร์ 97% และนักสังคมศาสตร์ 91% ที่ไปศึกษาต่อ เลือกที่จะไม่กลับประเทศ
ปลายทศวรรษ 1960 นโยบายอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้เปลี่ยนไปโฟกัสที่อุตสาหกรรมหนักและเคมีมากขึ้น อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและมาตรฐานการครองชีพดีขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ช่วง 1970 ก็เริ่มมีนโยบาย เพื่อดึงชาวเกาหลีที่มีศักยภาพให้กลับมา เช่น พัฒนาพื้นฐาน โครงสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวิจัย และพัฒนาในประเทศ (R&D) ของทั้งภาครัฐ และเอกชน จัดตั้งศูนย์วิจัยต่างๆ ให้เงินสนับสนุนกับคนที่ย้ายกลับมา ไม่ว่าค่าเดินทาง หรือเงินช่วยเหลืออื่นๆ ไปถึงให้อัตราค่าตอบแทนที่สูง ถึงอย่างนั้นก็ดึงดูดคนกลับมาได้นจำนวนหนึ่ง และคนที่มีความสามารถจำนวนมากก็ยังคงไม่กลับมา
ช่วงทศวรรษ 1990 เกาหลีใต้ได้เปลี่ยนนโยบายอีกครั้ง เพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถมาก มีโปรแกรม ‘Brain Pool’ สนับสนุนทางการเงินสำหรับการจ้างงานระยะสั้นจากมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ มีศูนย์วิจัยเพื่อจัดหาตำแหน่งให้ มีตำแหน่งสำหรับผู้จบการศึกษาปริญญาเอก รวมถึงมีองค์กรและเครือข่ายของคนเกาหลีพลัดถิ่นในต่างแดนด้วย
ขณะที่ฟิลิปปินส์เอง ก็มีความพยายามอยากจะดึงบุคลากรทางการแพทย์กลับมาในประเทศเช่นกัน โดยในปี 2019 ส.ว.ฟิลิปปินส์ก็พยายามผลักดันการขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำของพยาบาลในสังกัดโรงพยาบาลรัฐเป็น 30,531 เปโซ (ประมาณ 18,000 บาท) เพื่อแก้ปัญหาสมองไหลด้วย
เมื่อการดึงคนรุ่นใหม่ให้อยู่ กลายเป็นภารกิจสำคัญ
การสมองไหล อยากหนีออกจากประเทศยังคงเป็นปัญหา ที่กลายเป็นประเด็นสำคัญในหลายประเทศ ท่ามกลางนโยบายจ้างงานชาวต่างชาติที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วมากมาย ทำให้รัฐบาลต้องคิดวิธี และนโยบายดึงดูดคนที่เป็นอนาคต และกำลังของชาติ
ขณะที่เกาหลีใต้เอง แม้ว่าจะเคยเป็นประเทศที่ประสบปัญหาสมองไหล และมีนโยบายมากมายดึงคนกลับมา แต่ปัจจุบันวัยรุ่นเกาหลีเองก็มีความคิดอยากออกจาประเทศจำนวนมากด้วย โดยจากการสำรวจในปี 2020 ในกลุ่มชาวเกาหลีอายุ 19-59 ปี จำนวน 5,000 คน มีมากกว่า 70% ที่อยากย้ายออก โดยเป็นผู้หญิง 79.1% และผู้ชาย 72.1% ทั้งยังมีสถิติว่าชาวเกาหลี เริ่มหางานในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจำนวนมากในเวลาไม่กี่ปี โดยเฉพาะกลุ่มงานด้านวิทยาศาสตร์
ปัญหานี้ ทำให้รัฐบาลเกาหลี และหน่วยงานต่างๆ เริ่มตระหนัก และพยายามหาแนวทางแก้ไข ซึ่งในการประชุมต่างๆ ของรัฐบาล และภาคเอกชน ก็นำประเด็นนี้มาพูดคุย โดยคณะกรรมการสมัชชาการค้าอุตสาหกรรมพลังงาน SMES และสตาร์ทอัพของเกาหลีใต้เอง ก็ได้เสนอกับรัฐบาลว่า ควรจัดทำแผนระยะยาวเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับคนงาน IT ที่มีความสามารถ “รัฐบาลควรหาแนวทางในการรักษา และเลี้ยงดูกลุ่มคนหนุ่มสาวที่สามารถเป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งการมีส่วนร่วมในความสามารถในการแข่งขันในระดับชาติ และระดับองค์กร ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ”
หรือในระดับที่เล็กกว่าประเทศ อย่างเมือง หรือรัฐเอง ก็เริ่มมีการดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้อยู่ในท้องถิ่นของตน ไม่ย้ายออกไปเช่นกัน อย่างตอนนี้ ในรัฐนอร์ทไคโรไลนา ของสหรัฐฯ ก็พยายามป้องกันการสมองไหลในระดับรัฐ โดยคณะกรรมการพัฒนากำลังคน มองว่าธุรกิจและเศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้หากไม่มีกำลังแรงงานที่แข็งแกร่ง จึงพยายามดึงคนหนุ่มสาวให้อยู่ในรัฐ และให้พวกเขาประสบความสำเร็จ
Emily Nicholson หนึ่งในทีมงาน ได้ศึกษาปัญหาประชากรวัยทำงานในรัฐที่ลดลง โดยเธอกล่าวว่า “ฉันคิดว่านอร์ทแคโรไลนาทางตะวันออกเฉียงเหนือมีข้อเสนอมากมาย และฉันแค่อยากให้แน่ใจว่าลูกๆ ของเราเข้าใจว่าพวกเขาไม่ต้องจากไปเพื่อที่จะได้พบกับความสำเร็จนั้น” โดยเธอได้ริเริ่มนโยบาย #WorkLocal ให้คนรุ่นใหม่ทำงานในบ้านเกิดเพื่อพิสูจน์ความสำเร็จ
ด้วยโลกาภิวัฒน์ การเดินทางข้ามชาติที่สะดวก แนวคิดประชากรของโลก ไม่ใช่ของชาติใดชาตินึง (Global Citizen) ที่แพร่หลายมากขึ้น การหันมาสนใจคนรุ่นใหม่ ไปถึงการวางแผนอนาคตประเทศ ให้สอดคล้องความฝันกับคนในชาติ หรือท้องถิ่น ก็อาจเป็นแผนการที่หลายประเทศต้องพิจารณา เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติ
ซึ่งในภาวะสมองไหล ที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก การพยายามหาแนวทางที่ทำให้คนในประเทศไม่สมองไหลออกไป ก็อาจจะง่ายกว่าการคิดวิธีให้คนในประเทศกลับมาภายหลัง
อ้างอิงจาก
ncbi.nlm.nih.gov
wavy.com
koreatimes.co.kr
Medical Worker Migration and Origin-Country Human Capital: Evidence from U.S. Visa Policy Paolo Abarcar* Mathematica Caroline Theoharides† Amherst College
Understanding Intraethnic Diversity: The Formation of a Taiwanese American Identity Bing Wang and Min Zhou University of California, Los Angeles