“ประเทศเราเคยจนมากๆ จนกว่าประเทศไทยตอนนี้ จนกว่าประเทศที่จนที่สุดในยุโรปตอนนี้ รัฐบาลตอนนั้นก็ไร้ประสิทธิภาพและล้มเหลว ภัยธรรมชาติและอีกหลายอย่าง ไม่เป็นใจเลย คนหนุ่มสาวที่พอมีโอกาสก็อพยพกัน เรียกได้ว่าคนหนุ่มสาวเกือบครึ่งหนึ่งของรุ่นราวคราวเดียวกันอพยพไปสหรัฐอเมริกา ไปเป็นพยาบาลบ้าง พี่เลี้ยงเด็ก หรือแม้แต่ไปทำงานในภาคเกษตร มันต้องสิ้นหวังขนาดไหน”
เมื่อเดือนที่แล้วผมมีโอกาสสนทนากับมิตรสหายท่านหนึ่งจากประเทศยุโรป เขาพูดถึงประวัติศาสตร์ของประเทศเขาเมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีที่แล้ว “เราเคยกู้เงินต่างประเทศด้วยนะ เราเคยกู้เงินอาร์เจนตินา ใช่แล้วคุณฟังไม่ผิดหรอก สวีเดนเคยกู้เงินอาร์เจนตินา” ผมกำลังพูดถึงบทสนทนากับเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย เมื่อเราได้สนทนาประเด็นเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการในไทย สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศปลายทางของผู้อพยพ ไม่ว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือการกีดกันทางสังคมในปัจจุบัน ประชากรเกือบร้อยละ 10 ในสวีเดนเป็นผู้อพยพหรือคนที่ไม่ได้เกิดในสวีเดน แต่ครั้งหนึ่งประเทศนี้ก็เป็นประเทศที่สิ้นหวัง ไร้อนาคต แห้งแล้ง
“มันเกิดอะไรขึ้นทำไมมันถึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนในครั้งนั้น” ผมถามไป
“เราชนะ…ขบวนการประชาชน ขบวนการแรงงาน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ เกษตรกร รวมตัวกันแล้วเราชนะ แม้เราจะไม่ได้ทุกอย่างในครั้งเดียว แต่เมื่อประชาชนชนะ พรรคการเมืองฝั่งซ้ายมีบทบาทมากขึ้น เราก็ทำให้ชนชั้นนำสามารถลดผลประโยชน์ของพวกเขาได้ มันคือจุดเริ่มต้นของรัฐสวัสดิการ” ทูตสวีเดนประจำประเทศไทยตอบ บทสนทนาสั้นๆ ที่มีความหมายในทางสองแพร่งของคนรุ่นใหม่ ในทุกเส้นทางการต่อสู้ย่อมมีทางเลือกต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย ในบทความนี้ผมจะชวนทุกท่านไปฟังบทสนทนาจากปากคำของคนหนุ่มสาวทั่วโลกที่ยังยืนหยัดในแนวทางทวงคืนประเทศ ในวันที่กระแสมีขึ้นมีลง มีวันที่เศร้าหมอง มีวันที่เฉิดฉาย พวกเขาและเธออธิบายเรื่องนี้อย่างไร
สวีเดนสำหรับความรู้สึกโดยทั่วไปคือประเทศที่สงบ มีความเสมอภาค เสรีภาพ เชื่อในความหลากหลาย มีประวัติการต่อสู้ที่ไม่ต่างกับไทยด้วยหรือ ผมมีโอกาสสนทนากับมิตรสหายชาวไทยที่ตัดสินใจไปใช้ชีวิตที่สวีเดนเป็นเวลานับแล้วก็หลักสิบปี ถึงแม้ว่าเขาจะสำเร็จการศึกษาตามมาตรฐานชนชั้นกลางไทย (สำเร็จการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม) และมีความฝันในการไปเรียนต่อและใช้ชีวิตในต่างประเทศ เขาเองก็ยอมรับว่า แม้จะได้รายได้แบบสถาปนิกอยู่ที่เมืองไทย ก็เป็นไปได้ยากว่าลูกของเขาจะได้เรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพฟรี รถไม่ติด อากาศบริสุทธิ์ ไม่มีปัญหาอาชญากรรม เดินไปโรงเรียนได้ หรือมีเพื่อนร่วมชั้นที่เคารพในศักดิ์ศรีและความหลากหลายในความเป็นมนุษย์ มีหลายอย่างที่เงินซื้อไม่ได้ในเมืองไทย และเขาไม่ต้องทำงานตลอดเวลาเพื่อให้มีชีวิตที่ดี เขาเองใช้เวลาพอสมควรในการปรับตัวเขาสู่ระบบสังคม แต่เมื่อสำเร็จแล้วก็นับเป็นระบบที่ดีอาจไม่ได้ดีที่สุด แต่มีหลายอย่างที่หากอยู่ประเทศไทยคงต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษหรือเนิ่นนานทั้งชีวิตก็ไม่แน่ใจว่าจะไปถึงหรือไม่
เมื่ออธิบายถึงจุดนี้ก็คงมีคำถามว่าถ้าอย่างนั้นทำไมเรายังต้องทนอยู่กับประเทศที่แทบจะไม่สนใจไยดีประชาชน เต็มไปด้วยอดีตอันขมขื่น หรือไม่มีอนาคตอะไรให้เราผูกพัน
หากเราพยายามในส่วนปัจเจกชนได้สำเร็จก็สามารถที่จะได้ดอกผลกับการต่อสู้ที่สะสมมานับร้อยปีเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนั้น—ประเทศที่เห็นค่าความเป็นคน ย่อมดีกว่าต้องสู้และวิ่งตามความฝันที่ว่างเปล่าในประเทศเกิด?
เป็นคำถามที่ตอบยากว่าอะไรดีกว่า อะไรเหมาะสม อะไรสมเหตุสมผล แต่ละยุคสมัยมีเหตุผลที่รองรับการตัดสินใจของแต่ละคน ผมไม่สามารถตัดสินได้เลย
เมื่อเราพูดถึงประเทศที่เป็นต้นแบบของการย้ายประเทศ ต้นแบบความสิ้นหวังของคนหนุ่มสาวก็คือ ฟิลิปปินส์ ประเทศเพื่อนบ้านที่ห่างจากไทยเพียงแค่สามชั่วโมง ด้วยความขัดแย้ง ชนชั้นปกครองที่คดโกงอย่างยาวนาน คนหนุ่มสาวที่พอมีโอกาสก็ฝึกทักษะด้านงานภาคบริการ ไม่ว่าโรงแรม ร้านอาหาร พยาบาล ครู หมอ ฝึกฝนภาษาอังกฤษและย้ายออกจากประเทศไปทำงานและส่งเงินกลับมาหล่อเลี้ยงชุมชนในประเทศที่เหลื่อมล้ำ ภาพทั่วไปของฟิลิปปินส์คือคนจนที่สิ้นหวังกับการอพยพออก ชนชั้นนำเกาะกินและตักตวงทุกอย่างที่ทำได้ แต่คำถามสำคัญเหตุคือใดยังมีคนหนุ่มสาวในฟิลิปปินส์ที่ไม่ได้เป็นชนชั้นนำ และสามารถย้ายออกนอกประเทศได้ แต่ยังเลือกที่จะอยู่ทวงประเทศคืน
Machris Cabreros เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ในฟิลิปปินส์ เป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการเมือง ผมรู้จักเธอมาได้ราวสามปี ผมนึกถึงเธอเมื่อมีเหตุการณ์คนไทยอยากย้ายประเทศ เหตุใดเธอถึงไม่ย้ายประเทศซึ่งเป็นธรรมเนียมปกติของคนฟิลิปปินส์ เธออธิบายสั้นๆ ว่า “แม้ที่นี่จะวุ่นวาย เต็มไปด้วยเรื่องน่าอับอาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนเต็มไปหมด แต่ฟิลิปปินส์เป็นที่แห่งเดียวที่เธอสามารถเติมเต็มฝันของเธอได้ แต่หากเธอตัดสินใจย้ายออกจากฟิลิปปินส์ เธอไม่ได้กลายเป็นแค่คนต่างชาติในแผ่นดินอื่นเท่านั้น เธออาจกลายเป็นคนแปลกหน้าในความฝันของเธอด้วย”
เธอยังเพิ่มเติมอีกว่า “แต่ต้องอย่าลืม แค่อภิสิทธิ์ที่จะสู้ในประเทศของตนเองก็ยังไม่ใช่ของคนฟิลิปปินส์ทุกคน หลายคนไม่มีโอกาสนี้ ต้องทิ้งประเทศเพราะความยากจน เธอยังมีโอกาสนี้ เธอยังอยากทำให้เต็มที่แทนคนอื่นๆ ด้วย”
ฟิลิปปินส์อาจเป็นตัวอย่างการต่อสู้ที่ยังยาวนานไม่เห็นทางออก ผมถามไปยังประเทศเพื่อนบ้านเราอีกทางหนึ่งนั่นคือ มาเลเซีย แม้มาเลเซียจะไม่ได้มีอัตราผู้อพยพออกนอกประเทศสูงเทียบเท่ากับฟิลิปปินส์ แต่อย่าลืมว่ามาเลเซียนับเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาทันสมัย มีความสัมพันธ์กับทั้งเครือจักรภพ ประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางนับเป็นประเทศที่หากคนตัดสินใจจะเดินทางออกนอกประเทศก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นนัก
มาเลเซียมียุคสมัยที่น่าอับอายในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี Najib Razak กับการคอร์รัปชั่น และสืบทอดอำนาจ การกำจัดฝ่ายตรงข้ามอย่างเด่นชัด สำหรับคนมาเลเซียแล้วมันดูยาวนานและสิ้นหวัง แต่จุดเปลี่ยนสำคัญมาในการเลือกตั้งปี ค.ศ.2018 เพราะการผนึกกันของ “แนวร่วมความหวัง” ของฝ่ายสังคมนิยมและฝ่ายเสรีนิยม
Wayne Ong เป็นคนหนุ่มที่ทำงานร่วมกับพรรค Democratic Action Party พรรคฝ่ายซ้ายที่ยืนหยัดตรงข้ามกับรัฐบาลอย่างเด่นชัด การเลือกตั้งปี ค.ศ.2018 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการหยุดระบอบ Najib Razak ที่ยาวนานกว่าทศวรรษ และเปิดโอกาสให้ประเทศเปลี่ยนไปในแนวทางที่ตอบสนองต่อคนรุ่นใหม่ เป็นประชาธิปไตย และมีความหลากหลายมากขึ้น ผมสอบถามคำถามเดิมกับ Wayne Ong มิตรสหายรุ่นน้อง เขาอธิบายเหตุผลที่เขาตัดสินใจจะสู้ต่อในประเทศในวันที่มืดมนยาวนาน “มันไม่มีใครเดือดร้อนต่อมาเลเซียเท่าคนมาเลเซีย เราภูมิใจในการต่อสู้นี้ ภูมิใจที่ได้ต่อสู้เพื่ออนาคตแม้วันนั้นจะดูยาก แต่เราได้ผ่านมันมาแล้ว” ปัจจุบันมาเลเซียอยู่บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลง แม้จะยังไม่ใช่ชัยชนะแต่ได้ยกระดับการต่อสู้มากกว่าที่เคยมีมา ปัจจุบัน Wayne Ong ทำงานระดับการเมืองท้องถิ่นในรัฐเซอลังโงร์ และพยายามผลักดันนโยบายด้านสวัสดิการแก่กลุ่มคนรุ่นใหม่
หากเรามองไล่มาตั้งแต่ สวีเดน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ทุกที่ล้วนเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ เช่นเดียวกันทุกที่ก็มีประวัติศาสตร์ของการแสวงหาอนาคตและประสบการณ์ในประเทศใหม่ ไม่มีทางเลือกใดที่ดี ถูกต้อง และเหมาะสมมากกว่ากันในระดับปัจเจกชน แต่เช่นกัน ไม่มีประเทศใดสิ้นหวังเกินกว่าที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าประเทศนั้นจะแห้งแล้งขาดแคลนทรัพยากร มีอำนาจเผด็จการข่มขู่คุกคามและคุมขัง สืบทอดอำนาจมาหลายทศวรรษ ก็ไม่มีเหตุผลที่ระบอบนั้นจะอยู่ต่อไปชั่วนิรันดร์
ทุกสังคมทุกช่วงเวลามีผู้คนธรรมดาสามัญที่รวมตัวกันตั้งคำถามต่อสู้และยืนหยัดตลอดเวลา มันอาจมีหลายทศวรรษของการพ่ายแพ้ หลายทศวรรษของการต่อสู้ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่อาจมีไม่กี่สัปดาห์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้เช่นเดียวกัน ไม่มีข้อห้ามหรือข้อยกเว้นใดที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง