เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งหนึ่งในคำถามที่ได้พูดคุยกับอาจารย์นั้น คือการถามว่าอยากจะกลับประเทศไทยหรือไม่ โดยอาจารย์เองก็ได้ตอบเรากลับมาว่า ถึงกลับไปได้ แต่ “ประเทศไทยก็ไม่ใช่บ้านของเขาอีกแล้ว”
หลังจากนั้นเราได้รับฟีดแบ็กจากผู้อ่านที่บอกกับเราว่า เขาเข้าใจความรู้สึกนี้ เพราะเขาเองก็อยู่ต่างประเทศมาในระยะหนึ่ง จนมีความรู้สึกเช่นเดียวกับอาจารย์ปวินที่ว่า ประเทศไทยไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าเป็นบ้านอีกต่อไปแล้ว จึงเกิดเป็นบทความชิ้นนี้ ที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับคนไทยที่อาศัยอยู่ในหลากหลายพื้นที่ประเทศของโลกใบนี้ แต่ละคนมีระยะเวลาที่ย้ายออกจากไทยแตกต่างกันไป แต่ทุกคนต่างมีจุดร่วมเดียวกันว่า พวกเขามีสิทธิที่จะโหยหา และแสวงหาบ้านที่ให้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และไม่ได้มองว่าบ้านเกิดนั้น เป็น ‘บ้าน’ อีกต่อไป
Ikei, อาชีพ บาริสต้า
Ikei เล่าว่าเขาอาศัยอยู่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 ซึ่งจะครบ 12 ปีในต้นปีหน้า ตอนแรกสมัยอยู่ไทยนั้น เขาไม่เคยมีความคิดเลยว่าจะย้ายออกมาจากประเทศไทย และไม่ได้อยากจะออกมาด้วย แต่พ่อของเขาเป็นคนบอกให้เขาไป โดยมีทั้งเหตุผลส่วนตัว และเหตุผลเดียวกับหลายๆ คนที่มองว่าทำงานประเทศไทยยังไงก็ไม่สามารถเก็บเงินได้
“ตอนนี้ไม่มีความรู้สึกว่าอยากกลับไทยเลยครับ ผมวางแผนอนาคตทั้งชีวิตที่นี่ไว้เรียบร้อยแล้วด้วย เพราะอย่างแรก ผมไม่คิดจะมีลูก มีครอบครัวแน่ๆ เพราะฉะนั้นถ้าผมแก่ตัวไป อย่างน้อยก็มั่นใจว่ารัฐบาลออสเตรเลียจะสามารถดูแลชีวิตในบั้นปลายของผมได้ ผมทำงานจ่ายภาษีถูกต้องตามกฎหมาย ผมจะมีสวัสดิการต่างๆ ของรัฐรองรับช่วงสุดท้ายของชีวิต เพราะฉะนั้นนี่ก็เลยเป็นเหตุผลหลักๆ ที่คิดว่าผมจะลงหลักปักฐานที่นี่ อีกอย่างที่เป็นเหตุผลสำคัญมากๆเลยก็คือ ระหว่างที่เรายังแข็งแรงทำงานได้อยู่ มันสามารถเก็บเงินได้ครับ ทำงานมากได้เงินมากสมกับแรงที่ลำบากไป มีกฎหมายแรงงานรองรับและช่วยเหลือทุกอย่างจริงจัง ไม่มีงานตกงาน เพราะรัฐบาลช่วยให้เงินดูแลทุกเดือนยาวไปจนหางานให้ไปอีกด้วยเลยครับ เหมือนแทบจะจูงมือไปทำงานแล้วเนี่ย”
แน่นอนว่าอยู่ออสเตรเลียมานาน Ikei เองก็บอกอีกว่าถ้าให้เปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของออสเตรเลียกับไทย ยังไงก็พูดได้ไม่หมด แต่เขามองว่าที่สำคัญคือเรื่องของความเจริญ และคุณภาพชีวิตที่เข้าถึงทุกจุด “ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ในเมืองที่เล็กหรือไกลแค่ไหน ยังไงคุณก็จะยังมีสิ่งอำนวยความสะดวก ขั้นพื้นฐาน เช่น ธนาคาร ไปรษณีย์ สถานีตำรวจ ดับเพลิง โรงเรียน โรงพยาบาล ซุปเปอร์มาร์เก็ต พวกนี้อยู่เสมอ ทั้งยังมีเรื่องความเท่าเทียมที่ทุกอาชีพมี มีกฎหมายคุ้มครองอย่างจริงจัง ไม่มีงานไหนต้อยต่ำ เพราะทุกอาชีพมีลิสต์ค่าแรงต่อชั่วโมงอย่างชัดเจน” ทั้งยังพูดถึงความปลอดภัยในชีวิต และสิทธิของคนพิการ ที่เข้าถึงทุกที่ด้วย
เมื่อพูดถึงประเด็นสิทธิที่โหยหา และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านั้น Ikei มองว่า มนุษย์เราล้วนอยากมีความสุขทั้งนั้น “เราไม่ใช่ต้นไม้อะครับ ถ้าดินไม่ดีเราก็ควรเดินไปหาที่ๆ มันเหมาะกับการแตกกิ่ง ผลิใบ ออกดอก สร้างผลผลิต ถ้าเรามีโอกาส ในที่ที่แทบจะไม่มีโอกาสเหลือให้อยู่เลย เราหนีออกมาได้ เราจะอยู่ทำไมล่ะครับ แต่ถ้าใครคิดว่าประเทศไทยดีที่สุด ก็น่าจะดีแล้ว เพราะความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่คนที่มีความสุขแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ดีไป”
เจ, อาชีพ Analyst
กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ คือบ้านหลังปัจจุบันของเจ และเป็นบ้านของเขามา 5 ปีแล้ว เจเล่าว่าการใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นความต้องการตั้งแต่เด็ก โดยเมื่อก่อนได้เข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยมีความคิดอยากเป็นทูต อยากทำงานด้านต่างประเทศให้หน่วยงานรัฐ หรือเป็นตัวแทนประเทศไทยในองค์ต่างประเทศ เพราะคิดว่าการเป็นคนไทย และได้นำเสนอชาติตัวเองมันดูยิ่งใหญ่และสำคัญ แต่ภายหลังกระบวนการความคิดของเขาก็เปลี่ยนไป ทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองโลก และไม่ได้ยึดติดกับความเป็นคนไทยอย่างเดียว รวมถึงตอนนี้เอง หลังจากอยู่ต่างประเทศมาสักระยะ ก็ไม่ได้มีความคิดจะกลับประเทศไทยแล้ว
“พอเรามาอยู่นานๆ เข้า การกลับไปใช้ชีวิตที่ไทยไม่ใช่คำตอบเราแล้ว ทั้งเรื่องการทำงาน หรือสภาพสังคม แน่นอนว่าเรามีเพื่อนมีครอบครัวที่นั่น แต่เรารู้สึกว่าการใช้ชีวิตอยู่ที่ไทย ความเป็นบ้านมันหายไป เราไม่ได้รู้สึกแบบนี่คือบ้านฉันนะ คือมันไม่สบายใจ เราไม่รู้ว่าจะเริ่มใช้ชีวิตยังไงที่นั่น การเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยนะที่เราคิดว่าเป็นสาเหตุนึงที่เราไม่อยากกลับไป ตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์มีอำนาจ และมี สว. ที่เลือกนายกฯ ไปถึงพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ในเหตุผลทางการเมืองเราว่าเหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายนะ แล้วก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน สังคมที่เราเห็นก็แย่ลงๆ สรุปก็คือ ความคิดว่าเมืองไทยเป็นบ้านมันหายไป ความน่าอยู่และเหตุผลว่า ‘ต้อง’ อยู่เมืองไทยมันถูกทำให้หายไปเนื่องจากความทุจริตในสังคมและการเมือง ก็เป็นหนึ่งสาเหตุในนั้น”
“หลายคนชอบบอกว่าไปอดทนที่ต่างประเทศไปเป็นพลเมืองชั้นสองที่นั่นทำไม เราก็ชอบบอกย้อนไปว่าตอนอยู่เมืองไทยเราก็ไม่ได้เป็นชนชั้นหนึ่งนะ คุณภาพชีวิตที่นี่ดีกว่าแน่นอนทั้งเรื่องการคมนาคม สาธารณูปโภคต่างๆ ทุกอย่างเลยมั้ง คือมันทำให้ชีวิตเราในวัยทำงานวันๆ หนึ่ง คิดแค่ว่าทำงานยังไง บริหารตัวเองยังไง ตั้งเป้าหมายยังไง ที่เหลือมันลื่นไหลไปหมด ระบบมันทำงานเอง เราโดยพื้นฐานเป็นคนใจร้อนมาก และจุดนี้ในเกาหลีตอบโจทย์เพราะทุกอย่างเร็วไปหมด บางคนเลยรู้สึกว่าคนเกาหลีห้วนๆ เดินชนไหล่ ไม่ขอโทษบ้างไรบ้าง แต่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ตอนนี้เครียดแค่สองเรื่อง งานและวีซ่าแค่นี้เลย”
เจเองก็เป็นอีกคนที่ยืนยันว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า “ทำไมเราต้องอยากไปอยู่ที่ที่ลำบากกว่า ใครๆ ก็แสวงหาในสิ่งที่ดีกว่าทั้งนั้นนะ มีแต่เมืองไทยมั้งที่จู่ๆ มีคนรวยมาบอกว่าให้พอดีกับสิ่งที่ตัวเองมี อยู่จนๆ แบบนี้ มีความสุขแล้ว และก็มาโรแมนติไซซ์ความยากจนต่อ เราว่ามันไร้สาระอะ การไปดูถูกคนที่อยากมีชีวิตที่ดีกว่า” แต่ถึงอย่างนั้น เจก็มองว่า การได้มาซึ่งชีวิตที่ดีกว่า ต้องไม่ผิดกฎหมาย และศีลธรรม
อีกทั้งเขายังมองถึงการเป็นประชากรโลก หรือ global citizen มากกว่าต้องยึดติดกับการเป็นประชากรชาติใดชาติหนึ่ง “เราเป็นคนนึงนะที่คิดว่าตัวเองเป็นประชากรโลก คือ ในอนาคตหรือแม้แต่ตอนนี้เอง หลายประเทศเขาก็แย่งตัวคนเก่งๆ กัน อยู่ที่ไหนคุณก็ทำประโยชน์ให้โลกได้นะเอาจริง การเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์จะเป็นไปได้อย่างลื่นไหลมากขึ้น สมัยนี้บางทีคุณไม่จำเป็นต้องมาตั้งรกรากก็ได้ เค้าก็เสนอการทำงานแบบระยะไกล (remote) ให้กันก็เยอะแยะไป แล้วสุดท้ายถ้าเมืองไทยเป็นแบบนี้เรื่อยๆ จะกลายเป็นเมืองที่เขาเอาของมาขาย ไม่มีอะไรส่งออกเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นเมืองผ่าน คนมาเที่ยวมาดูความไม่พัฒนาแทน”
ซูชิ, นักศึกษาปริญญาโท
ย้ายออกมาจากประเทศไทย ก็อาศัยอยู่โยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่นมา 5 ปีแล้ว เริ่มจากแต่งงาน เรียน และทำงาน และตอนนี้ ซูชิมาเรียนต่อปริญญาโท ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เธอเล่าให้เราฟังว่าจริงๆ บางทีก็มีความคิดแวบมา ว่าจะมีสิ่งที่กระชากเธอกลับไปไทยได้ แต่สุดท้ายเธอก็คิดว่า ไม่! ใช้ชีวิตธรรมดาอยู่ต่างประเทศดีกว่า ไม่กลับไทยแล้ว เพราะถ้ากลับไทย แล้วระดับการทำงานเหมือนอยู่ที่ต่างประเทศตอนนี้ ชีวิตก็ไม่มีทางสบาย ก็จะมีแต่หาเช้า กินค่ำ ไม่มีเงินเก็บ ซึ่งเธอมองว่าสำหรับประเทศไทย มีแต่คนชนชั้นสูง และคนมีเงินเท่านั้นที่อยู่สบาย ทั้งเธอยังเล่าว่าเหตุการณ์การจัดซื้อ และการฉีดวัคซีนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เธอรู้สึกว่าเธอจะไม่กลับไปไทยแน่นอน เพราะนั่นเป็นเรื่องของชีวิต และความปลอดภัย
เธอเล่าถึงความคิดอยากย้ายประเทศว่า “เรามีความคิดอยากย้ายประเทศตั้งแต่สมัยมัธยม ตอนนั้นญาติป่วย แล้วไม่มีเตียงเลยในโรงพยาบาลของรัฐ แล้วเขาก็พยายามจะให้ไปนอนที่อื่น แต่จะไปโรงพยาบาลเอกชนมันก็แพง เราเลยคิดว่า ถ้าฉันได้โตไปแล้วไม่รวย ถ้าป่วยแล้วฉันต้องนอนแบบนี้เหรอ ไม่เอาอะ เราคิดถึงสิทธิการรักษาพยาบาล ความคิดย้ายประเทศเลยเกิดขึ้นมาเลย”
“ด้วยความตอนเราเป็นเด็ก เราเป็นคนชนชั้นกลางค่อนไปล่าง แล้วเรารู้สึกว่าเราเข้าไม่ถึงอะไรหลายๆ อย่าง พอมาอยู่ญี่ปุ่น เราก็ไม่ได้เป็นคนรวยหรืออะไร แต่เราเข้าถึงสิทธิ ทุกอย่างที่ควรจะได้ อย่างล่าสุดที่กลับไทยไป การอำนวยความสะดวก หรือระบบต่างๆ ทำให้เรารู้สึกว่า ‘อะไรวะ ทำไมทำงานกันแบบนี้?’ ที่ญี่ปุ่นมันทำให้เรารู้สึกว่า มันควรจะเป็นแบบนี้แหละ แต่พอกลับไทย มันทำให้เราหงุดหงิดหลายๆ อย่าง เราเลยไม่อยากกลับแล้ว เน้นกลับไปเที่ยวก็พอ”
“เราคิดว่าทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดี แต่ถ้าคนที่มีชีวิตที่ดีอยู่แล้ว และอยู่ในประเทศไทย ก็ไม่แปลกที่เขาจะบอกว่าไทยดีที่สุด แต่คนที่เขายังเข้าไม่ถึง คนที่หาเช้ากินค่ำ ป่วยแล้วไม่สามารถรักษาได้เต็มที่ ไม่มีเตียงนอน เขาก็มีสิทธิที่จะฝัน หรือไปหาอะไรที่ดีกว่า ทุกคนมีสิทธิที่ได้รับชีวิตที่ดี อย่างน้อยก็แค่ชีวิตขั้นพื้นฐาน แต่ถ้าคนที่มองว่าไทยดีอยู่แล้ว เป็นคนที่พร้อม ก็โอเค ก็มีคนที่คิดว่าอยู่ใกล้ครอบครัว ก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับเรามันไม่ใช่บ้านแล้ว”
นิวยอร์กเกอร์, อาชีพ ช่างภาพ
นิวยอร์กเกอร์อาศัยอยู่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา มา 6 ปีแล้ว แต่ในระหว่างนี้กลับไทยไป 1 ปี โดยเธอเริ่มต้นจากการมาเรียนที่นี่ ในปี ค.ศ.2016 หลังจากนั้น เธอพยายามอยู่ฝึกงาน หางาน แต่เธอเล่าว่า การหางานที่นี่มันก็ยากมาก เลยมีความคิดว่าถ้ากลับไทย มีโอกาส และมีคอนเน็กชั่นอยู่แล้ว“เราก็เลยกลับไทยไป 1 ปี ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เราเรียกว่าเป็น ความผิดพลาดที่ถูกต้องที่สุดในชีวิต คือมันแย่มากขนาดที่ถ้าเราไม่ตัดสินใจกลับ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่ามันแย่ได้ขนาดนั้น และมันทำให้เรารู้ว่า ที่เรากลับเพราะเราจะไม่กลับไปอีกแล้ว”
“วันที่มันแย่มากๆ คือวันที่เราออกกองเบรกแตก 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ 6 โมงเช้า แล้วเรากลับบ้านมา 7โมงเช้าของอีกวันนึง และเราก็มานั่งร้องไห้ที่ปลายเตียงว่า ‘กูทำเหี้ยอะไรอยู่’ และเรามาคิดราคาค่าตัวเราตอนทำงานอยู่ไทย คืออยู่ที่ชั่วโมงละ 5 เหรียญดอลลาร์ แล้วเราคิดว่ามันน้อยกว่าล้างจานที่นี่อีก แล้วอันนั้นคืองานที่เราใช้ทั้งทักษะ ประสบการณ์ เราเลยคิดว่าเราทำอะไรอยู่วะ และตัววงการมันก็ไม่ได้เติบโตด้วย ทั้งเราไม่เห็นการเติบโตในสายอาชีพนี้ของเราในไทย ที่มันทำให้เราลืมตาอ้าปากได้จริงๆ แต่ที่เบรกแตกจริงๆ เลยคือ การออกกอง 24 ชั่วโมง แล้วทุกคนคิดว่ามันโอเค นั่นคือสิ่งที่มันแย่ที่สุด ทำไมทุกคนคิดว่ามันปกติ เพราะถ้าออกกองซีรีส์ ขั้นต่ำมันคือ 16 ชั่วโมง เรางงว่ามันปกติได้ยังไง มันเหมือนเอาชีวิต เอาสุขภาพมาทิ้ง กับค่าแรงที่ไม่คุ้ม เราพูดให้คนที่นี่ฟังเรื่องการทำงาน 16 ชั่วโมง ไม่มีใครเข้าใจนะ เพื่อนเราบอกนี่คือทาสแล้ว ซึ่งนี่เรายังไม่ได้พูดถึงความครีเอทีฟของงาน แค่เบสิกพื้นฐาน ชั่วโมงการทำงาน สัญญา หรือกฎหมาย การคุ้มครองการทำงานคนงานในไทยมันต่ำมาก หรือแทบไม่มีเลย”
“ถ้าถามว่าจะกลับไทยอีกไหม มันไม่ใช่ตอนสร้างตัวแน่ๆ อาจจะเป็นตอนเก็บเงินได้มากๆ แล้วกลับไป เพราะที่ไทยทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้ามีเงินจะทำอะไรก็ได้สบายๆ แต่เรายังไม่มีความคิดนั้นเลยที่จะกลับไป คือจริงๆ เราเกิด และเติบโตมาในกรุงเทพฯ จริงๆ การที่คิดว่าที่ไทยไม่ใช่บ้านเราอีกแล้ว มันก็ทำให้เรารู้สึกแย่นะ เพราะแม่เราก็ยังอยู่ ครอบครัวเราก็ยังอยู่ เพื่อนๆ หรือสิ่งที่เราชอบก็อยู่ เราติดอาหารไทยมาก เราชอบสตรีทฟู้ดไทยมาก แต่ระบบการทำงาน คุณภาพชีวิต มันไม่ได้ จนเรารู้สึกว่าเราทำใจ เลิกคิดว่าเมืองไทยคือบ้านเพราะมันแย่ และเทิร์นตัวเองมาเป็นนิวยอร์กเกอร์ดีกว่า”
“สำหรับเราประเทศไทย มันให้ชีวิตที่เราอยากได้ไม่ได้ เราอยู่ที่นี่เราเป็นช่างภาพทั่วไปได้ มันมีที่ทาง และรายได้ก็โอเค เมื่อวานเราพาแฟนไปพิพิธภัณฑ์ เรานั่งรถไฟฟ้าไปได้ มีสวน มีคนจูงหมา และเราไม่ได้กลับไทยจนเราชินกับชีวิตที่นี่ แต่แฟนเราบอกว่าเออ ทางเท้าที่นี่มันกว้าง มันเดินได้ ถ้าเป็นที่ไทย มันแคบ มีมอเตอร์ไซค์วิ่ง จนเดินยาก มันเป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เราลืมไปแล้ว เพราะเราชินกับการใช้ชีวิตเมืองนอก เพราะเป็นความสะดวกสบายอย่างนึง”
นิวยอร์กเกอร์เล่าว่า สำหรับเธอมันถือเป็นเรื่องพื้นฐาน และเบสิกที่คนเราอยากจะมีชีวิตที่ดี “ถ้าประเทศไทยมันให้ชีวิตที่ดีขึ้นไม่ได้ ทำไมเราต้องทนอยู่ ถ้าเรามีตัวเลือก และเราทำได้ ทำไมเราต้องอยู่เลือกตัวเลือกที่แย่กว่า แต่ถึงว่าเรายังทำไม่ได้ แต่เราก็มีสิทธิที่จะทำให้ได้ เพราะเรารู้ว่าชีวิตมันจะดีกว่า เราเห็นสิ่งที่ดีกว่าเมืองไทย จนเราไม่รู้ว่ายังมีคนคิดได้ยังไงว่าประเทศไทยดีที่สุด อยู่ที่นี่ด้วยเราทำงานครีเอทีฟ และงานสร้างสรรค์ จนกลายเป็นว่าปัญหาของเราที่นี่คือการมีนิทรรศการ ชนกัน 5 งาน แล้วทุกงานดีหมดเลย แล้วเราไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน นี่คือปัญหาโลกที่หนึ่งที่เราเจอ”
“จริงๆ เรารู้ว่าที่ไหนก็มีข้อเสีย เมกาก็มีคนยิงกันเต็มไปหมด คนไปยิงในโรงเรียน มันก็มีปัญหาความรุนแรงโดยตลอด นิวยอร์กก็อันตรายจริง เราไม่เคยเถียงเลย แต่เรารู้สึกว่าอยู่ที่นี่เรามีความหวังมากกว่า คนมันสู้กว่า ถ้าเราไม่พอใจ เราเรียกร้อง และมันเกิดขึ้นได้จริง มันเปลี่ยนได้จริง และถ้าทุกคนช่วยกันพูด ช่วยกันประท้วง เราเห็นความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าที่เมืองไทย เขามีระบบ มีกระบวนการที่ฟังคน ที่ฟังประชาชนมากกว่า”
แม็คบุ๊ก, อาชีพ นักจิตวิทยาที่กำลังเลี้ยงลูกวัยละอ่อน
แม้จะไม่นานเท่าคนอื่นๆ ที่ย้ายประเทศออกมา แต่แม็คบุ๊กก็ยืนยันกับเราว่า เธอและครอบครัวไม่คิดจะกลับประเทศไทยอีกแล้ว โดยตอนนี้เธอได้ย้ายมาอยู่โตรอนโต ประเทศแคนาดา ได้ 2 เดือนครึ่ง โดยมีวีซ่า permanent resident ขณะที่สามี และลูกสาวนั้นเป็นพลเมืองของแคนาดา
เธอเล่าว่า แต่เดิมครอบครัวของสามีเป็นคนไทย ที่ตัดสินใจย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นี่เมื่อนานมาแล้ว โดยทำเรื่องเป็นวีซ่าทำงาน เพื่อย้ายลูกมาที่นี่ ซึ่งเหตุผลไม่ได้ต่างอะไรกับที่คนย้ายประเทศ เพราะถึงแม้เขาจะมีเงิน แต่เขาก็อยากให้ลูกได้อยู่ในประเทศที่มีการศึกษาที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี “สามีเราเลยอยู่ที่นี่ตั้งแต่มัธยม และกลับไปอยู่เมืองไทย 4-5 ปีก่อน จนเราได้แต่งงานกัน ซึ่งตอนแรกเรายังอยากอยู่กับครอบครัวของเราที่ไทย แต่เมื่อเรามีลูก มันทำให้เราตัดสินใจจะย้ายครอบครัวถาวรมาอยู่ที่นี่”
“เรามีความคิดอยากย้ายประเทศมาตลอด เราพยายามทำงานที่เป็นงานระหว่างประเทศ แล้วเราก็หาโอกาสตลอดทั้งการไปเรียน หรือว่าทำงาน เราว่าส่วนนึงเพราะเราทำงานด้านสังคม เกี่ยวกับเด็ก และการศึกษา แล้วเราเห็นว่าสังคม หรือคุณภาพชีวิตที่มันเอื้อต่อคน มันเป็นแบบไหน และเรื่องนี้เป็นประเด็นหลักเลย ทั้งเจเนอเรชั่นนี้ ความเท่าเทียมของคนมันเป็นเรื่องที่สามัญมากขึ้น แต่ประเทศเรามันสิ้นหวังมาก เมื่อไหร่ที่เราจะเห็นความเท่าเทียมเกิดขึ้นจริง เราในฐานะที่เกิดมาที่นี่ เราเองก็มีโอกาสในระดับนึงนะ แต่พอเรามีลูก มีคนอีกหนึ่ง เราคิดว่าเราอยากลูกเราอยู่ในสังคมที่มีแบบอย่างที่ดี มันไม่ใช่แค่เรื่องความพร้อม หรือสิ่งอำนวยความสะดวกนะ ลูกเขาจะโตมากับคำถามมากมาย และเราไม่อยากให้เขาเติบโตมากับสังคมแบบนี้”
“เราคิดว่าคำที่บอกว่าประเทศไทยคือบ้าน เรามองว่าครอบครัวเราคือพ่อแม่ตอนนี้ยังอยู่ไทย เราเลยรู้สึกว่าคนตรงนั้นคือบ้านมากกว่า แต่ถามว่าตัวประเทศ หรือสังคมเป็นบ้านไหม เราเฉยๆ นะ เราไม่ได้รู้สึกผูกพันมากขนาดนั้น เราคิดว่าสิ่งสำคัญสำหรับเรา ที่ๆ มันจะเป็นบ้านคือชุมชนมากกว่า อย่างสัปดาห์ก่อน เราก็มีโอกาสไปปิกนิกกับคอมมูนิตี้คนไทยที่นี่ เราเลยไม่ได้รู้สึกขาดแคลนว่า คิดถึงเมืองไทยขนาดนั้น และไม่ได้รู้สึกว่าประเทศไทย คือบ้านฉัน เราเหลือแต่พ่อแม่ ที่เราก็มีแพลนถ้าวันนึงเขาได้ย้ายมาอยู่กับเรา ก็คือมันก็เรียบร้อย จบ”
ถึงแม้จะมาอยู่ได้ไม่นานมาก แต่เธอก็บอกเราว่าชีวิตที่นี่ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตกับที่ไทยมาก โดยเฉพาะการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ของคนพิการ “ที่นี่เราเดินทางเท้าสำหรับคนพิการเห็นตลอด และเราไม่ได้รู้สึกเลยว่าเขาใช้ชีวิตไม่ได้ เขาใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติเลย ทุกประตูไม่ว่าจะเป็นห้าง ซูเปอร์มาร์เก็ต คือมีทางเข้าสำหรับคนใช้วีลแชร์ การข้ามถนน ตั้งแต่ที่เรามาเหยียบที่นี่เราก็เห็นว่ามันต่างมาก ไปถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างกิจกรรมให้ลูก ที่นี่มันเป็นนโยบายแห่งชาติเลยนะ ว่าเด็กต้องมีส่วนร่วมยังไง ทุกบ้านสามารถขอข้อมูลการมีส่วนร่วมของเด็กได้ (child participation) เราตื่นเต้นมากเลยว่ามันขนาดนี้เลยหรอ”
“จริงๆ ที่นี่ก็มีข้อเสีย เราเพิ่งย้ายมา อาจจะยังไม่ได้สัมผัสมาก แต่เราก็เห็นว่าของแพงมาก แต่มันก็มีเหตุผลของมัน เช่น ของที่ซื้อครั้งเดียว ใช้ระยะยาว อย่างเฟอร์นิเจอร์ แต่อย่างของกิน เราว่ามันก็โอเค ด้วยที่นี่ค่าแรงมันแพง ก็สมเหตุสมผลกับเงินเดือนที่ได้”
“เราว่าสิทธิการแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า มันเป็นเรื่องพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์ ด้วยความที่โลกมันเปิดกว้าง มันไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่รัฐบาลให้อะไรมาเราก็รับหมด คนมีสิทธิที่จะพูด มีสิทธิที่จะตั้งคำถาม มีสิทธิของความเป็นมนุษย์ มันเป็นสิทธิพื้นฐานที่เราทำได้ และไม่ได้ถูกควบคุมง่ายๆ อีกแล้ว แล้วในฐานะของคนไทย เราจ่ายภาษี จริงๆ เราเชื่อว่า ถ้าเราสามารถที่จะตั้งคำถาม หรือจะเรียกร้องสิทธิของเราในฐานะพลเมืองไทยได้ ถ้าเราทำได้ คนอาจจะเลือกย้ายออกจากประเทศน้อยกว่านี้นะ แต่ตอนนี้เหมือนกับว่าสิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้เอื้ออำนวยให้กับเรา มันทำให้เราแสวงหา บวกกับประเทศที่เจริญแล้วเขาขาดแรงงาน ประเทศที่มันดีกว่ามันให้โอกาสคนที่มีความสามารถ แล้วทำไมละ ทำไมเราถึงจะไม่ไป”
Illustration by Manita Boonyong