ประมาณต้นสัปดาห์ (6 มิ.ย. 59) มีกระแสครึกโครมท่ามกลางกระแสเรื่องคุณทรัมป์อันโด่งดัง คือมีข่าว BuzzFeed เว็บไซต์สื่อชื่อดังปฏิเสธข้อตกลงในการประชาสัมพันธ์ให้พรรคริพับบลิกัน ซึ่งข้อตกลงที่ BuzzFeed ยกเลิกไปมีมูลค่าถึง 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
Jonah Peretti CEO และผู้ก่อตั้ง BuzzFeed พูดถึงการยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวก็เพราะว่าไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายที่ทรัมป์เสนอในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ… คำว่าไม่เห็นด้วยอาจจะเดาไป เพราะเนื้อความที่ให้เหตุผลของ Peretti ก็มีความแซ่บพริกสิบเม็ดด้วยการบอกว่า “เราไม่ลงโฆษณาบุหรี่เพราะมันอันตรายต่อสุขภาพ ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนี่แหละ เราเลยเลือกที่จะไม่ลงแคมเปญให้กับทรัมป์” และ “นโยบายของทรัมป์ส่งผลเสียทั้งกับทางลูกจ้างของบริษัท หรือในบางนโยบาย ส่งผลเสียต่อประชากรของโลกใบนี้ด้วยซ้ำ – เช่นการปิดกั้นชาวมสุลิม” (ใครนึกนโยบายชิคๆ ของพี่เขาไม่ออกลองกดที่ The MATTER รวบรวมไว้ได้ที่นี่)
การกระทำข้างต้นเลยเกิดเป็นกระแสสนใจขึ้นมาทันที เพราะ BuzzFeed ที่เป็นเสมือนสื่อที่ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์มีการแสดงจุดยืนและแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคการเมืองอย่างชัดเจน (แถมยังปฏิเสธรายได้จำนวนมหาศาลไปอีก) คงด้วยเพราะทรัมป์มีนโยบายที่เวรี่สุดโต่งและเวรี่รุนแรง การแสดงจุดยืนครั้งนี้เลยดูเหมือนว่าจะมีนัยเรื่องจริยธรรมอยู่พอสมควร คือการเป็นสื่อที่กล้าเปิดหน้าลุยกับสิ่งที่ขัดกับจุดยืนของตนเองโดยเปิดเผย
จาก ‘การแสดงจุดยืน’ ที่มีนัยของ ‘ความไม่เป็นกลาง’ เลยนำมาสู่ประเด็นน่าทบทวนในสังคมไทยว่า
เราจะเป็นกลางได้จริงหรือ
ในสังคมไทยมักได้ยินคำว่าความเป็นกลางอยู่เสมอ หลายคนกล่าวว่าตนไม่แสดงความคิดเห็นอะไรเพราะถือตนว่าเป็นกลาง คำว่าเป็นกลางคงไม่ได้หมายถึงความเงียบหรือการเพิกเฉยไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งที่เกิดขึ้น นักคิดเช่น Desmond Tutu กล่าวถึงการไม่ยินดียินร้ายต่อเหตุการณ์ที่ไม่อยุติธรรมว่าการเพิกเฉยนั้นก็ไม่ต่างกับการเลือกข้างผู้ที่กำลังกดขี่ข่มเหง
กรณีที่ Tutu พูด อาจจะพูดในแง่ของนักกิจกรรมที่ต่อต้านการกดขี่หรือความอยุติธรรมโดยเฉพาะ สิ่งที่พี่แกเรียกร้องจึงเป็นเรื่องของการให้คนออกมาแอคทีฟ คือ ออกมาพูดมาวิพากษ์วิจารณ์หรือทำอะไรซักอย่างเพื่อให้ปัญหาของการกดขี่หรือความไม่เป็นธรรมต่างๆ ได้รับการแก้ไข
ถ้าพูดในระดับที่เป็นปรัชญาขึ้นไปนิดหน่อย แล้วในระดับความคิดของเราล่ะ จะมีลักษณะที่เป็นกลางได้มั้ย
ในทางปรัชญามีแนวคิดหนึ่งที่เรียกว่า reflexivity หรือการคิดทบทวนตัวเอง คือแม้แต่ในความหมายของคำใหญ่ๆ อย่างคำว่า ‘ความรู้’ หรือ ‘ความจริง’ ทางปรัชญาในฐานะ ‘ศาสตร์แห่งความรู้’ มองเห็นว่าความรู้หรือความจริงต่างๆ ที่แท้และเป็นนิจนิรันดร์นั้นไม่มีอยู่จริง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นจากมุมมองหรือจุดยืนที่แตกต่างกันในการเข้าสังเกตการณ์ความจริงนั้นๆ เช่น การที่เราบอกว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกก็เพราะว่าเรายืนอยู่บนโลก ถ้าเรายืนอยู่บนดาวอื่นความเป็นจริงที่ว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกก็จะเปลี่ยนแปลงไปทันที
ยากไปมั้ย พูดง่ายๆ คือ เวลาที่เรามองอะไรบางอย่าง หรือพูดอะไรบางอย่าง เรามักยืนอยู่บนจุดยืนใดจุดยืนหนึ่งเสมอ ถ้าแบ่งอย่างหยาบๆ ก็อาจจะเป็นเสรีนิยม อนุรักษ์นิยม ฟาสซิสต์ ประชาธิปไตย และอีกมากมายแนวคิดที่คนพึงจะถือได้ ซึ่งก็อาจจะมีความทับซ้อนและปลีกย่อยลงไปอีกในความคิดความเชื่อของคนๆ หนึ่ง
ในแง่นี้ ความเป็นกลางก็น่าจะหมายถึงการที่เราหมั่นทบทวนตัวเอง และความคิดอื่นๆ ที่อยู่นอกจุดยืนของเราอยู่เสมอๆ และพยายามหาจุดยืนที่เราพึงพอใจกับมันมากที่สุดและเป็นพิษเป็นภัยกับโลกน้อยที่สุด
ความยากของการทบทวนตัวเอง คือการยอมรับว่าเรากำลังยืนอยู่ที่จุดไหน เราเชื่ออะไร ทำไมเราถึงเชื่อแบบนั้น
และความยากอย่างที่สุด คือการยอมรับว่าบางครั้งเราอาจจะผิดก็ได้
การยอมรับว่าเราผิด ในด้านหนึ่งมันต้องใช้ความกล้าหาญ เพราะว่าเราแยกตัวตนของเรา ออกจากความคิดหรือจุดยืนของตัวเองไม่ออก
ถ้าอธิบายอย่างพุทธ การหลอมตัวเราเองเข้ากับความคิดหรือความเชื่อของเราอาจจะเรียกว่าเป็น ‘อัตตา’ ก็ได้
ดังนั้นการมองเห็นจุดยืนและความผิดพลาดของตัวเอง ก่อนที่จะย้ายไปสู่จุดยืนหรือชุดความคิดความเชื่อใหม่ๆ จึงคล้ายเป็นการทลายอัตตาอย่างหนึ่ง
การยอมรับความผิดพลาดหรือการสลายอัตตา จึงเป็นการกระทำที่ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์