เราอาจเคยได้ยินคำว่า กุลสตรี หรือ กุลบุรุษ กันมาบ้าง แล้วกุลเกย์ล่ะ เคยได้ยินกันมาก่อนหรือเปล่า?
ครั้งหนึ่งกับการถูกสังคมตีตรา วาทกรรม ‘กุลเกย์’ จึงถือกำหนดขึ้น เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเกย์
การตีตราทางสังคม ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญอันนำไปสู่การเกิดขึ้นของอคติที่มีต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หากได้ย้อนดูประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวและการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกเขา เราก็จะได้ภาพของการต่อต้านอคติทางเพศจากการถูกตีตราทางสังคม ซึ่งถูกฉายซ้ำอยู่หลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ครั้งหนึ่งของชุมชนเกย์ในประเทศไทยเอง ก็เคยเกิดภาพของการลุกขึ้นตอบโต้อคติเชิงลบของคนในสังคมอันถูกนำมาเชื่อมโยงกับความเป็นเกย์ด้วยเช่นเดียวกัน
ย้อนกลับไปราวๆ ทศวรรษ 2500 ความเป็นชุมชนของกลุ่มเกย์เริ่มมีความเด่นชัดมากขึ้น สังคมเริ่มรับรู้ถึงการมีอยู่และการรวมตัวกันของพวกเขา ทว่าการอุบัติขึ้นของโรคเอดส์ในประเทศไทยประมาณปลายทศวรรษ 2520 ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเกย์ในช่วงเวลาดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้เอง กลุ่มเกย์จึงได้รวมตัวกัน พร้อมโต้กลับการตีตราเหล่านั้น ผ่านการสร้างวาทกรรมกุลเกย์ขึ้นมา เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ของเกย์ที่ดีขึ้นมา นี่ถือเป็นอีกช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเกย์ไทย The MATTER จึงอยากพาย้อนกลับไปดูกันว่า ท้ายสุดแล้ว วาทกรรมกุลเกย์สามารถเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของเกย์ได้หรือไม่? แล้วการเกิดขึ้นของกุลเกย์สามารถตอบโต้การตีตราทางสังคมได้อย่างไรบ้าง?
ก่อนจะมาเป็นกุลเกย์
หากต้องการจะทำความเข้าใจนิยาม และเห็นภาพของวาทกรรมกุลเกย์ได้อย่างชัดเจน เราอาจต้องย้อนไปตั้งต้นกันประมาณช่วงปี 2500-2520 อันเป็นหมุดหมายทางเวลาสำคัญ ที่เกย์เริ่มออกมารวมตัวกัน จนเกิดกลายเป็นชุมชนเกย์ในไทย นำไปสู่การรับรู้โดยทั่วกันของผู้คนในสังคม ต่อการมีอยู่ของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม การออกมารวมตัวกันของเกย์ ไม่ได้หมายถึงการแสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง หรือแสดงออกถึงตัวตนของตนเองในพื้นที่สาธารณะแต่อย่างใด โดย นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับชุมชนเกย์ไทยสมัยใหม่ ได้อธิบายเอาไว้ว่า ชุมชนเกย์ไทย เริ่มปรากฏตัวขึ้นในเขตเมืองแล้วตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา ทว่าพวกเขารวมกันในพื้นที่ลับๆ ซึ่งเป็นสถานประกอบการ จำพวกสถานบันเทิง เช่น บาร์ ซาวน่า และสถานเริงรมย์
การมีอยู่ของสถานบันเทิง ทำให้เกย์มีพื้นที่สำหรับรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมสังสรรค์ต่างๆ จนกลายเป็นชุมชนของเกย์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง สถานที่สำหรับเกย์เหล่านี้ ยังถือเป็นการตอกย้ำถึงสถานะทางสังคมของเกย์ ซึ่งจำเป็นต้องปกปิดและไม่สามารถแสดงรสนิยมของตนเองมาได้อย่างเต็มที่ จึงต้องสถานที่ลับๆ เหล่านี้ในการแสดงออก
ทั้งนี้งานศึกษาดังกล่าวของนฤพนธ์ ทำให้เราได้เห็นถึงภาพความคิดของผู้คนในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งแม้เกย์จะเริ่มปรากฏให้คนในสังคมได้รับรู้ถึงการมีอยู่ ตลอดจนการรวมตัวจนเป็นชุมชนแล้วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่า พวกเขาจะเปิดและยอมรับให้กลุ่มคนเหล่านี้มีพื้นที่เทียบเคียงกับคนอื่นๆ ในสังคมเสียเมื่อไหร่
นอกจากสถานบันเทิงลับๆ อันเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนเริ่มรับรู้ถึงกลุ่มเกย์ในสังคมไทยแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง เรื่องราวของเกย์ยังได้ปรากฏตามพื้นที่สื่อต่างๆ ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิตยสาร ซึ่งเป็นสื่อกลางสำคัญอีกหนึ่งอย่าง ที่พาให้คนทั่วไปได้รับรู้เรื่องราวของเกย์มากยิ่งขึ้น
โดยหนึ่งในนิตยสารสำคัญที่เริ่มมีพื้นที่สำหรับเกย์ปรากฏขึ้นคือ นิตยสารแปลก มีคอลัมน์ของ ‘โก๋ ปากน้ำ’ ซึ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มคนรักร่วมเพศ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ได้ร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ทางเพศกัน เนื่องจาก ณ ช่วงเวลาดังกล่าว การเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะยังไม่ถูกยอมรับเท่าไหร่นัก ทั้งนี้ เทิดศักดิ์ ร่มจำปา ผู้ศึกษาเกี่ยวกับวาทกรรมเกี่ยวกับเกย์ในสังคมไทย ได้อธิบายภาพของคอลัมน์ดังกล่าวของโก๋ ปากน้ำว่าเป็น ‘เวทีสาธารณะ’ แห่งแรกสำหรับกลุ่มคนรักร่วมเพศ
แม้นิตยสารแปลกจะมีพื้นที่สำหรับเกย์ ทว่ามันก็ไม่ได้ถูกนับเป็นนิตยสารสำหรับเกย์แต่อย่างใด โดยนิตยสารสำหรับเกย์หัวแรกคือ ‘นิตยสารมิถุนา’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2527 โดยหลังจากนั้น ถึงได้มีนิตยสารเกย์หัวอื่นๆ ออกมา เช่น มรกต นีออน วีคเอ็นเมน มิดเวย์ ฯลฯ
นิตยสารเกย์ในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ได้มีเพียงแค่คอลัมน์ปรึกษาปัญหาเหมือนกับนิตยสารแปลกแล้ว แต่ได้เพิ่มดีกรีความเป็นเกย์มากขึ้น โดยนำผู้ชายที่มีลักษณะหุ่นดีและกำยำมาถ่ายแบบ เพื่อใช้ขึ้นปก ตลอดจนเป็นภาพในเนื้อหาของนิตยสารเหล่านี้ ทำให้ภาพแทนสำคัญเวลานึกถึงนิตยสารเกย์ จึงปรากฏภาพในลักษณะดังกล่าวขึ้นมานั่นเอง
นอกจากนี้ ภายในนิตยสารเกย์ยังมีพื้นที่สำหรับโฆษณาให้กับสถานบันเทิงสำหรับเกย์ต่างๆ ด้วยเช่นเดียวกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า นิตยสารเกย์ เป็นพื้นที่สำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว ที่เปิดให้เกย์ได้มีตัวตนในสังคม พร้อมทั้งสร้างอัตลักษณ์ความเป็นเกย์ไปด้วยในตัวเอง ตลอดจนเป็นสื่อกลางสำคัญ ซึ่งช่วยสร้างภาพจำความเป็นเกย์ ให้คนทั่วไปในสังคมได้รับรู้นั่นเอง
การเข้ามาของโรคเอดส์ในประเทศไทย
เมื่อนิตยสารเกย์เริ่มเป็นที่นิยมและแพร่หลาย ตัวตนของเกย์ก็ได้เริ่มแสดงออกมาสู่พื้นที่สาธารณะมากขึ้น ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนเกย์เป็นอย่างมากคือ การอุบัติขึ้นของโรคเอดส์ในสังคมไทย
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2527 สำนักงานระบาดวิทยา ได้สำรวจและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคเอดส์ไว้ในเอกสาร ‘การสอบสวนผู้ป่วยโรคเอดส์ 100 รายแรก’ พบผู้ป่วยชายไทยที่เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา เคยมีประวัติใช้สารเสพติดและเป็นชายรักร่วมเพศ ที่สำคัญผู้ป่วยคนดังกล่าวยังเคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชาวไทยเป็นจำนวนมาก
ในช่วงแรกของการเข้ามาของโรคเอดส์นั้น สร้างความแตกตื่นต่อสังคมไทยไม่น้อยเลยทีเดียว เนื่องด้วยโรคเอดส์เป็นโรคที่คนไทยไม่เคยพบเจอมาก่อน โดยจุดเริ่มต้นที่ผู้คนในสังคม ที่เริ่มนำเรื่องเพศมาปะติดปะต่อ แล้วหลอมรวมไปกับเรื่องของโรคเอดส์ มาจากการนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ วัชรีพร กุลพิสิทธิเจริญ ได้ศึกษาเกี่ยวกับโรคเอดส์และสังคมไทย ไว้ในงานศึกษา ‘การวิเคราะห์เนื้อหาเรื่องเอดส์ในหนังสือพิมพ์รายวันของประเทศไทย’ พบว่า หนังสือพิมพ์รายวัน ได้มีการผูกโยงเรื่องเพศกับโรคเอดส์ไว้ ในลักษณะที่ว่า กลุ่มคนรักร่วมเพศเป็นต้นตอของโรคเอดส์
แม้เนื้อหาในลักษณะดังกล่าวจะ ปรากฏเพียงช่วงแรกๆ ที่โรคเอดส์เข้ามาในประเทศไทย ทว่าการมีอยู่ของข้อมูลในลักษณะดังกล่าวในพื้นที่สาธารณะ กลับกลายเป็นการสร้างวาทกรรมอันเกี่ยวโยงกันระหว่างเกย์และโรคเอดส์ของคนในสังคม นำไปสู่การเกิดอคติและภาพจำเชิงลบต่อกลุ่มเกย์
อย่างไรก็ดี นิตยสารเกย์หลายแห่งก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด พวกเขาได้ออกมาตอบกลับการตีตราของคนในสังคมจากวาทกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยชี้ให้เห็นว่า ทุกเพศก็สามารถติดเชื้อเอดส์ได้ทั้งนั้น อีกทั้งยังร่วมกันเริ่มรณรงค์เกี่ยวกับโรคเอดส์ในกลุ่มเกย์ด้วยกันเองมากขึ้น ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวแรกๆ ที่ปรากฏภาพการเรียกร้อง ตลอดจนสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวพวกเขาเอง
จากโรคเอดส์ สู่วาทกรรมกุลเกย์
การเข้ามาของโรคเอดส์ในสังคมไทย ทำให้ภาพลักษณ์ของเกย์ต่อคนในสังคมแย่ลงไม่น้อยเลยทีเดียว แม้พวกเขาจะไม่สามารถห้ามวาทกรรมหรือยับยั้งกระแสคิดของคนในสังคมได้ ทว่าสิ่งที่ชุมชนเกย์ทำได้คือ การสร้างอีกหนึ่งวาทกรรมขึ้นมาต่อสู้ จึงเกิดเป็นคำว่า ‘กุลเกย์’ ขึ้นมา เพื่อมางัดข้อกับวาทกรรมที่มีอยู่เดิมนั่นเอง
เพื่อลบล้างภาพจำเชิงลบของเกย์ในสังคม กลุ่มภราดรภาพยับยั้งโรคเอดส์แห่งประเทศไทย หรือ F.A.C.T. จึงได้จัดพิมพ์จุลสารกุลเกย์ ขึ้นมาในปี 2532 โดยมี นที ธีระโรจนพงษ์ ผู้ก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการของจุลสารกุลเกย์ พร้อมทั้งเป็นผู้บริหารของกลุ่มภารดรดังกล่าวด้วย กลายเป็นวาทกรรมกุลเกย์ ซึ่งเปรียบได้กับคำว่า กุลสตรีหรือกุลบุรุษ
จุดประสงค์ของการก่อตั้งกุลเกย์ภายใต้ความคาดหวังของนทีคือ ความต้องการอยากเห็นความเป็นปึกแผ่นของชุมชนเกย์ รวมถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการ สร้างสรรค์สิ่งจรรโลงสังคม ตลอดจนนำเสนอภาพลักษณ์การเป็นเกย์ที่ดีและเรียบร้อยให้แก่สังคมภายนอกได้รับรู้
ความเป็นกุลเกย์หรือเกย์ที่ดีที่ถูกนำเสนอในจุลสารกุลเกย์ คือ ผู้ที่ต้องสร้างหรือทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม มุ่งไปสู่การพัฒนาชุมชนเกย์ด้วยกันเองให้ดีขึ้น โดยจะต้องดีขึ้นทั้ง กาย วาจา และจิตใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์เชิงลบต่อเกย์ของคนในสังคม ให้กลายเป็นเชิงบวก
เนื้อหาหลักภายในจุลสารกุลเกย์จึงประกอบไปด้วย การรายงานสถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย และการนำเสนอภาพเกย์ไปร่วมทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้คนทั่วไปในสังคมได้รับรู้ถึงสิ่งดีๆ ที่เกย์ทำ และการไม่แสดงพฤติกรรมข้องเกี่ยวกับโรคเอดส์ พร้อมทั้งเชิญชวนให้เกย์ออกมาร่วมกิจกรรมกันเยอะๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาพลักษณ์ของชุมชนเกย์ที่ดีนั่นเอง
จุลสารกุลเกย์ได้ถูกตีพิมพ์ออกมาทั้งหมด 42 ฉบับ นับตั้งแต่ปี 2532 จนถึง 2538 ซึ่งเป็นเวลาเกือบทศวรรษที่นทีพยายามจะสร้างกรอบกำหนดการเป็นเกย์ที่ดีผ่านวาทรรมกุลเกย์ แม้ภายในตัวบทของจุลสารจะสามารถคงเส้นคงวา นำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีของเกย์มาได้ตลอด ทว่าท้ายสุดแล้ว กุลเกย์ก็ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันที่ฝันใฝ่ได้
โดย ปีเตอร์ เอ. แจ็คสัน (Peter A. Jakson) ผู้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพศและความหลากหลายในสังคมไทย ได้วิพากษ์แนวคิดของกุลเกย์ไว้ใน ‘Dear Uncle Go: Male Homosexuality in Thailand’ เอาไว้ว่า แนวคิดของกุลเกย์มีปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเป็นแนวคิดที่มีความอนุรักษ์นิยมจนเกินไป กลายเป็นการต่อต้านกลุ่มคนอื่นๆ อย่างเช่น การใช้คำว่า ‘สำส่อน’ ในการกล่าวถึงกลุ่มคนที่ผิดออกไปจากความเป็นกุลเกย์
ราวกับว่าความเป็น ‘กุลเกย์’ เป็นเหมือนกรอบที่สร้างขึ้นมาครอบเกย์ ให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ถูกกำหนดเอาไว้ว่าเป็นพื้นที่สำหรับเกย์ที่ดี ในอีกทางหนึ่ง มันก็ถูกมองและตั้งคำถามได้ว่า วาทกรรมดังกล่าวถือเป็นการกีดกันเกย์ที่แตกต่างหรือผิดแผกออกไปจากพวกเขาด้วยหรือเปล่า?
อีกทั้ง ภายในจุลสารกุลเกย์ยังมีการเปิดพื้นที่สำหรับโฆษณาสถานบันเทิงสำหรับเกย์ด้วย เนื่องจากกุลเกย์จำเป็นต้องอาศัยรายได้จากโฆษณาเหล่านี้ กลายเป็นความย้อนแย้งต่อจุดประสงค์ของการสร้างวาทกรรมความเป็นเกย์ เพื่อต่อต้านขนบความเป็นเกย์แบบเดิม ประกอบกับการที่ยังมีเกย์จำนวนมากไม่ได้เปิดเผยตัวตนออกสู่สังคม มากขนาดที่จะสามารถสร้างสำนึกความเป็นเกย์ขึ้นมาได้ จึงนำไปสู่การปิดตัวลงของจุลสารกุลเกย์ในท้ายที่สุด
แม้การพยายามสร้างวาทกรรมกุลเกย์ขึ้นมา เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์เกย์ให้ดีขึ้นนั้น จะไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่นทีตั้งใจเอาไว้ ทว่ามันก็มีบทบาทในการเป็นจุดตั้งต้นให้คนหันมาสนใจเรื่องเอดส์ในสังคมกันมากขึ้น โดยเฉพาะในชุมชนเกย์ เพราะหลังจากนั้น ก็ได้มีองค์กรอื่นๆ ในลักษณะคล้ายเกิดขึ้นตามมาด้วย เช่น GEAT ซึ่งเป็นการรวมตัวของสถานประกอบการเกย์ เพื่อสร้างความตระหนักต่อเรื่องเอดส์ในกลุ่มเกย์
ท้ายที่สุด การเกิดขึ้นของวาทกรรมกุลเกย์ ก็สามารถสะท้อนให้เราเห็นถึงภาพการดิ้นรนของชุมชนเกย์ ตลอดจนการโต้ตอบกระแสการตีตราและการเหมารวมเกย์ในสังคมไทยได้ แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์
และ ณ ตอนนี้ เป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้ว เมื่อนับจากปีที่จุลสารกุลเกย์ปิดตัวลงจวบถึงถึงปัจจุบัน แต่หนึ่งคำถามที่ยังคงรอคำตอบต่อไปคือ เรายังคงได้เห็นภาพของการตีตรา เหมารวม และผลิตซ้ำถ้อยคำเหยียดเพศวนเวียนอยู่ในสังคมไทยหรือเปล่า?
อ้างอิงจาก
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. “ ‘การแผ่ขยายตัวของ “การเสพและสร้างความเป็นชาย’ ในชุมชนเกย์ไทยสมัยใหม่
จาก ทศวรรษ 2500-2550.” วารสารมานุษยวิทยา, ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม – ธันวาคม
2561.
เทิดศักดิ์ ร่มจำปา. “วาทกรรมเกี่ยวกับเกย์ในสังคมไทย พ.ศ. 2508 – 2542.” (วิทยานิพนธ์ปริญญา
มหาบัณฑิต, ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2545).
ธนกฤต แดงทองดี. “จุลสารกุลเกย์กับการผลักดันนิยามใหม่ของความเป็นเกย์ในทศวรรษ 2530.” (ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2562).
วัชรีพร กุลพิสิทธิเจริญ. “การวิเคราะห์เนื้อหาเรื่องเอดส์ในหนังสือพิมพ์รายวันของประเทศไทย.”
(วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชานิเทศศาสตร์พัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).
Jakson, Peter A. “Dear Uncle Go: Male Homosexuality in Thailand.” (Bangkok: Bua Luang
Books, (1995).