เป็นครั้งแรกที่เว็บไซต์ change.org ของไทย ถูกโจมตีด้วยสแปม จนยอดผู้สนับสนุนในแคมเปญพุ่งสูงเกินจริงนับร้อยเท่า
แต่ เอย-วริศรา ศรเพชร ผู้อำนวยการด้านการรณรงค์ เว็บไซต์ Change.org ของไทย กลับระบุว่า “จริงๆ นี่อาจไม่ใช่ครั้งแรกก็ได้ มันอาจจะมีก่อนหน้านี้ แต่เราไม่รู้ เพราะระบบหลังบ้านจะปรับยอดให้สะท้อนตัวเลขจริงอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ที่การสแปมนี้กลายเป็นข่าว เพราะเกิดกับแคมเปญที่เป็นไวรัล ที่สังคมกำลังสนใจพอดี”
The MATTER มีโอกาสพูดคุยกับวริศรา ในช่วงบ่ายของวันที่เธอยุ่งๆ กับการรับโทรศัพท์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลายสำนัก แต่เธอก็ยังอธิบายทุกข้อสงสัยของเราอย่างใจเย็น กระทั่งเมื่อคุยไปคุยมา แล้วสายหลุดถึง 3 ครั้ง ก็ยังมีอารมณ์ขันแซวว่า “โทรศัพท์ถูกแฮ็กหรือเปล่า” ก่อนจะระเบิดเสียงหัวเราะออกมา
ทั้งข้อสงสัยเรื่องการจัดการกับแคมเปญของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ผู้เก้าอี้ร้อนจากการยืมนาฬิกาเพื่อน ที่รายชื่อผู้สนับสนุนถูกปั่นจาก 250 คน กลายเป็น 2.5 หมื่นคน ได้อย่างน่าอัศจรรย์
หรือคำถามที่น่าจะคาใจใครหลายคน นั่นคือ แค่คลิ๊ก ‘ร่วมลงชื่อ’ ในเว็บไซต์ change.org มันจะไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างไร?
The MATTER: แคมเปญ พล.อ.ประวิตรที่เป็นดราม่า เกิดจากสาเหตุอะไร
จริงๆ วันที่ 3 ก.พ. ระบบหลังบ้านของเราได้ตรวจเจอความผิดปกติตั้งแต่เวลาราว 11 โมงแล้ว ตอนนั้นรายชื่อผู้สนับสนุนมีอยู่ราว 2.5 หมื่นรายชื่อ คือระบบหลังบ้านเป็นสิ่งที่เรามีเพื่อจับสิ่งผิดปกติอยู่แล้ว ทั้งใช้อีเมลไม่จริง มาจาก IP Address เดียวกัน มาจากคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกัน ยอดเพิ่มขึ้นเร็วผิดปกติเกินกว่าที่มนุษย์จะทำได้ หรือต้องสงสัยว่าจะใช้บอต
เมื่อระบบตรวจจับได้ ก็จะมีทีมวิศวกรเข้าไปดูสาเหตุที่แท้จริง ก่อนจะตัดตอนให้เหลือแต่รายชื่อจริงๆ เท่านั้น เหมือนแคมเปญที่มีปัญหา สุดท้ายก็เหลือยอดจริงแค่ 250 รายชื่อ
กรณีแคมเปญ พล.อ.ประวิตร เราสงสัยว่า อาจจะใช้ bot net ซึ่งยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า มีกี่คนที่เกี่ยวข้อง ทำด้วยกันหรือแยกกัน แต่ก็มีการตัดออกไป และปรับตั้งค่าเพื่อป้องกันสแปมในอนาคต ทำให้ยอดลดลงอย่างที่เห็น
The MATTER: ที่หลายคนออกมาโวยว่า ไม่เคยลงชื่อสนับสนุนแคมเปญนั้นๆ แต่กลับมีอีเมลมายืนยัน เป็นเพราะอะไรกันแน่
เรายังชี้ชัดไม่ได้ แต่ทางทีมวิศวกรของเราซึ่งอยู่ที่สหรัฐฯ ก็รับไปตรวจสอบ ซึ่งเราก็ได้เอาชื่อที่คนไมได้ลง-แต่มีชื่อ-ออกหมดแล้ว และอันที่จริง โดยปกติคนที่ลงชื่อแคมเปญอะไรก็ตามแต่ ถ้าเปลี่ยนใจภายหลัง อยากจะเอาชื่อออกก็ทำได้เองอยู่แล้ว เพียงแต่กรณีนี้ก็ให้ระบบนำชื่อออกทั้งหมดแล้ว
The MATTER: การสแปมแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับเว็บไซต์ change.org ทั้งในไทยหรือประเทศอื่นๆ มาก่อนหรือไม่
เคย (หัวเราะ) เพราะ change.org เป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับสร้างคำร้องออนไลน์เจ้าแรกๆ และมีขนาดใหญ่ที่สุด มันก็เลยเป็นเป้าหมายของการเข้ามาโจมตีอยู่แล้ว ยิ่งเป็นแคมเปญที่ไวรัล ขัดแย้งสูง หรือคนให้ความสนใจเยอะๆ ก็ยิ่งเป็นเป้าหมายหนักเลย
จริงๆ เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา อยู่ที่เราจะได้สังเกตหรือเปล่า
คือถ้าเรามานั่งจ้องแคมเปญใน change.org อยู่ตลอด เราก็จะเห็นว่า รายชื่อสนับสนุนแคมเปญต่างๆ มันขึ้นๆ ลงๆ เพราะระบบหลังบ้านจะทำงานอยู่อัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง ในการปรับยอดรายชื่อให้สะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด เพียงแต่มันจะไม่ถึงขั้นเรียลไทม์ ต้องใช้เวลาเล็กน้อย
ตามปกติ แคมเปญที่มีทราฟิกเยอะๆ มันจะมีสิ่งที่เรียกว่า spike alert คือทีมจะรู้อยู่ก่อน เพื่อให้เข้าไปดูว่าเป็นแคมเปญเกี่ยวกับอะไร มีอะไรน่าสงสัยหรือไม่ ถ้าไปดูแล้วเห็นว่าไม่มีอะไรผิดปกติก็ปล่อยไป แต่กรณีของ พล.อ.ประวิตร มันมีบริบทอื่นๆ ด้วย นั่นคือมีคนมาตั้งแคมเปญขอให้ลาออก พอมีแคมเปญสนับสนุนแล้วยอดขึ้นเยอะๆ มันก็เลยเกิดดราม่าขึ้นมา
The MATTER: พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นว่า change.org สามารถใช้สแปมมาปั่นยอดได้ จะกระทบกับความน่าเชื่อถือของตัวเว็บไซต์เองหรือไม่
อยากให้มองกลับกันว่า พอชื่อมันขึ้นมา 2.5 หมื่นรายชื่อ แล้วระบบแก้ไขอัตโนมัติให้เหลือ 250 รายชื่อเอง น่าจะยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับแพล็ตฟอร์มมากกว่า ว่า เออ มันมีระบบในการจัดการนะ เพียงแต่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าเราไม่มีเครื่องมืออะไรเลย พอเกิดเหตุแล้วต้องกรี๊ด ตกอกตกใจ เพียงแต่เครื่องมือต่างๆ มันก็ต้องวิวัฒนาการไปตามเวลา
The MATTER: ปกติแคมเปญหนึ่งๆ ที่จะได้รับความนิยม มีผู้มาร่วมลงชื่อมากๆ เกิดจากปัจจัยอะไรเป็นหลัก ‘กระแส’ หรือ ‘ข้อมูล’ ที่อยู่ในแคมเปญนั้นๆ
มันมีหลายปัจจัย 1.โมเม้นต์ว่าตอนนั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนหรือเปล่า เช่น ช่วงหนึ่งคนสนใจเรื่องสัตว์ ทำให้แคมเปญเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ 2.หัวข้อที่เรียกร้องมีโอกาสไปเป็นได้หรือเปล่า เช่น ถ้ามีใครมาเรียกร้องให้คนไทยรักกันก็คงไม่มีใครสนใจ เพราะมันจับต้องไม่ได้ และไม่รู้เมื่อไรจะชนะ 3.เรื่องราวในแคมเปญนั้นๆ ว่าจับใจคนหรือเปล่า มันคือ story telling ไม่ใช่ลักษณะของบทความทางวิชาการ และ 4.ปัจจัยอื่นๆ เช่น เรียกร้องถูกคนไหม ใช่คนทีสังคมอยากให้เข้ามาแก้ปัญหาหรือเปล่า
The MATTER: ในตัวเว็บไซต์ของ change.org เองบอกว่า ทุก 1 ชั่วโมง ทั่วโลกจะมีแคมเปญที่ ‘ประสบความสำเร็จ’ แล้วในไทยเคยมีการเก็บสถิติหรือไม่ว่า แคมเปญที่ประสบความสำเร็จมีสักกี่เปอร์เซนต์
ก็ดูได้ แต่อยากบอกว่า เรื่องนี้มันไม่ขาว-ดำเสมอไป เช่น แคมเปญเรียกร้องให้หยุด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่สำเร็จ แต่มันได้สร้างความเคลื่อนไหวทางสังคม ทำให้มีคน 3 แสนมาสนใจเรื่องนี้ หรือบางทีเจ้าของแคมเปญเรียกร้องอีกอย่าง แต่กลับได้ผลอีกอย่าง
ลองนึกถึงคนธรรมดาตั้งแคมเปญถึงปัญหาอย่างหนึ่ง พอผู้มีอำนาจได้รับรู้ก็เข้าไปแก้ปัญหา มันอาจจะไม่ได้จบลงแบบที่เขาต้องการ แต่อาจจะไปไกลกว่าสิ่งที่เขาต้องการก็ได้ หรือต่อให้ไม่ประสบความสำเร็จมันก็สร้าง awareness ได้ จะถือได้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่
ไม่รวมถึงบางแคมเปญที่ประสบความสำเร็จแล้ว แต่เจ้าของอยากจะติดตามเรื่องนั้นๆ ต่อ ก็ยังไม่กดปุ่มประกาศชัยชนะก็มี ในทางสถิติ มันเลยไม่สะท้อนความเป็นจริง ในลักษณะขาว-ดำเสียทีเดียว
The MATTER: หลังๆ พอเริ่มมีคนทำโพลหรือแคมเปญออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มักจะมีคนบอกว่า ความพยายามเหล่านั้นไม่ได้ส่งผลต่อโลกออฟไลน์สักเท่าไร ในมุมของคนทำงานเอง คิดว่าเว็บไซต์ change.org จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน
อยากให้ไปดูการรณรงค์ในช่วงที่ผ่านมา ว่ามันมีหลายอันที่ได้ผลจริงๆ
คือการทำรณรงค์ออนไลน์ก็เป็นไปตามเทคโนโลยีและวิธีการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคสมัย แต่ผลของมันไม่ได้มีแค่ในโลกออนไลน์เท่านั้น ไม่ได้แปลว่ามันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ได้
หลายคนถามว่า ทำไมมาลงชื่อในแคมเปญ change.org ไม่ไปทำประชามมติหรือเขียนจดหมายไปหาผู้เกี่ยวข้อง? ก็อยากจะถามกลับว่า ถ้าเขียนจดหมายไปจะมีคนสนใจหรือไม่ หรือเราไม่ได้บอกว่าวิธีการอื่นๆ มันไม่เวิร์ก คือวิธีไหนเวิร์กก็ทำวิธีนั้นแหล่ะ หรือถามว่าทำไมไม่ไปทำวิธีการที่ถูกต้อง ก็แล้ววิธีไหนมันถูกต้องที่สุดล่ะ? ที่คนหันมาสร้างแคมเปญออนไลน์ เพราะมันสร้าง impact ได้ คนเลยถึงหันมาใช้
กระบวนการทำงานของ change.org หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าพอลงชื่อตามที่กำหนดแล้วจะเกิดความเปลี่ยนแปลงเลย มันไม่ใช่แบบนั้น เพราะการที่ได้ชื่อมากๆ แสดงว่าความสนใจประเด็นนั้นมากๆ หัวใจของแคมเปญจึงอยู่ที่ ‘จำนวนคนสนใจ’ นี่แหล่ะ ไม่ได้อยู่ที่ ‘จำนวนชื่อ’
หลายๆ แคมเปญก็มีการทำกิจกรรมคู่ขนานกัน เช่น ตอนแคมเปญรณรงค์หาบ้านใหม่ให้กอริลล่าบัวน้อยบนห้างสรรพสินค้าพาต้า ก็มีการเรียกร้องให้ส่งจดหมายไปถึงพาต้าด้วย มันไม่ใช่แค่ลงชื่อจบ ครบ แล้วจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
พูดโดยสรุป มันคือการระดมพลังเพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางสังคม โดยมีแคมเปญออนไลน์เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างจะจบที่นั่น
The MATTER: จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง แค่ใช้เว็บไซต์ change.org อย่างเดียว อาจจะไม่พอ
ใช่ หัวใจของเว็บไซต์นี้ คือการทำให้คนรู้สึกว่า ตัวเรามีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ โดยที่ไม่ต้องมารอให้ใครทำแทน แต่ละคนสามารถรณรงค์เรื่องอะไรในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยที่มีทีมและเทคโนโลยีคอยช่วยเหลือ
เมื่อเวลาผ่านไป เราก็หวังว่าวัฒนธรรมนี้จะฝังลงไปลึกๆ เวลาคนเห็นอะไรแล้วไม่พอใจ คิดว่ามันดีกว่านี้ได้ ก็ลุกขึ้นมาทำเองเลย มากกว่าจะรอให้คนอื่นทำ กลายเป็นว่าเราสามารถทำอะไรได้เอง