“มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” คำขวัญวันเด็กประจำปี 2567 โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
หลังจากเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา รัฐสภามีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ประจำปี 2567 ที่มีวงเงินสูงถึง 3.48 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลยืนยันว่าจะทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น และเนื่องในวาระ ‘วันเด็กแห่งชาติ’ เราจึงขอชวนทุกคนไปดูกันว่าประชาชนที่ยังอยู่ในช่วงวัยดังกล่าว จะได้รับอะไรจากงบสวัสดิการ จำนวน 3.87 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 บ้าง
วัยเด็ก (อายุ 0-6 ปี)
เป็นช่วงวัยที่ได้รับงบประมาณด้านสวัสดิการน้อยที่สุดคือ 16,774.82 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.32% ของงบประมาณรายจ่ายเพื่อสวัสดิการ เนื่องจากประชากรในวัยนี้มีเพียง 4 ล้านคนเท่านั้น สืบเนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาอัตราเด็กเกิดใหม่ลดฮวบ ซึ่งข้อมูลจากกรมการปกครอง ปี 2564 ชี้ว่า มีเด็กเกิดใหม่ 5.4 แสนคน ในขณะที่มีประชากรเสียชีวิต 5.6 แสนคน
รัฐบาลจึงผลักดัน ‘การส่งเสริมการมีบุตร’ ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อหวังปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรไทย ที่ตอนนี้ก้าวสู่ยุคสังคมสูงวัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ โครงการและนโยบายที่รัฐบาลมอบให้แก่ประชาชนวัยเด็ก มีดังนี้
- เงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (0-6 ปี): ได้รับงบประมาณ 16,494.61 ล้านบาท รัฐบาลจะทำการโอนเงินจำนวน 600 บาท/ต่อเดือน เข้าบัญชีผู้ปกครองที่มีสิทธิ์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่มีรายได้น้อย หรือเสี่ยงต่อความยากจน
- เงินอุดหนุนสงเคราะห์เด็กในครอบครัว: ได้รับงบประมาณ 115.08 ล้านบาท เป็นนโยบายที่จะช่วยเหลือเด็กขาดแคลน และสงเคราะห์เลี้ยงเด็กตามบ้าน ซึ่งรัฐบาลจะมอบเงินให้แก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย หรือเดือดร้อนทางการเงินจนไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้
- กองทุนคุ้มครองเด็ก: ได้รับงบประมาณ 38 ล้านบาท เป็นกองทุนที่ให้การช่วยเหลือเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน เพื่อใช้เป็นค่าเลี้ยงดู ค่าพาหนะ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา และค่ารักษาพยาบาล
วัยเรียน (อายุไม่เกิน 15 ปี)
เป็นช่วงวัยที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดคือ 141,922.23 ล้านบาท หรือตีเป็น 36.59% จากงบประมาณรายจ่ายเพื่อสวัสดิการ ซึ่งประชากรวัยเรียนมีจำนวนมากถึง 13 ล้านคน ทำให้รัฐบาลจึงจัดรายจ่ายไปกับเด็กวัยนี้มากที่สุด ดังนั้นมาดูกันว่ารัฐบาลเศรษฐาลงทุนงบจำนวนมหาศาล แก่นโยบายที่เอื้อต่อเด็กวัยเรียนอะไรบ้าง
- โครงการเรียนฟรี 15 ปี (อนุบาล-มัธยมปลาย): ได้รับงบประมาณ 83,666.24 ล้านบาท เป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ครอบคลุมต่อปัจจัยการศึกษาบางอย่าง เช่น ค่าจ้างครูชาวต่างชาติ ค่าบำรุงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และค่าห้องเรียนปรับอากาศ จนหลายโรงเรียนจำเป็นต้องเรียกเก็บเงินเพิ่มในรูปแบบค่าบำรุงการศึกษา หรือ ค่าธรรมเนียมการศึกษา ทำให้ใครหลายๆ คนนิยามนโยบายดังกล่าวประมาณว่า ‘เรียนฟรีไม่จริง’ ฉะนั้นต้องรอดูต่อไปว่ารัฐบาลปัจจุบันจะจัดสรรงบฯ ในส่วนนี้อย่างไร
- สนับสนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียน และค่าอาหารกลางวัน: ได้รับงบประมาณ 28,023.75 ล้านบาท เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนอนุบาล-ป.6 ออกเป็น 4 ระดับ ตามขนาดโรงเรียน เช่น โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1-40 คน เด็กแต่ละคนจะได้รับค่าอาหารกลางวัน 36 บาทต่อวัน หรือ โรงเรียนที่มีนักเรียน 121 คนขึ้นไป เด็กจะได้รับค่าอาหารกลางวัน 22 บาท แต่หลังจากนี้ต้องช่วยกันจับตามองว่า ค่าอาหารกลางวันเด็กจะมีการปรับขึ้นอีกหรือไม่
- สนับสนุนค่าอาหารเสริม (นม): ได้รับงบประมาณ 12,634.73 ล้านบาท เป็นนโยบายที่มีมาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุที่ว่านมเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี และมีแร่ธาตุแคลเซียมที่สร้างกระดูกและฟัน โดยเฉพาะกับเด็กในวัยเจริญเติบโต
- กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ได้รับงบประมาณ 6,044.08 ล้านบาท เป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กองทุน
ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมสภาฯ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระแรก พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย ว่า “วิกฤตระดับต้นๆ ของประเทศคือ วิกฤตการศึกษา”
ท้ายที่สุดแล้ว ความยากจนและการขาดโอกาสทางสังคมยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญของเด็กไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กในครอบครัวที่ยากจน เด็กพิการ และเด็กชาติพันธุ์ หากรัฐบาลยังไม่เร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์จำนวนมากไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนที่มากขึ้น ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เด็กและเยาวชนถือเป็นกำลังสำคัญในการกำหนดว่าอนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
อ้างอิงจาก