แฮชแท็ก #เงินเดือนข้าราชการ ยังคงขึ้นเทรนด์ X (ทวิตเตอร์) อย่างต่อเนื่อง หลังเมื่อวานนี้ (13 กันยายน) เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่าจะเปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการเป็น 2 งวด จนเกิดเป็นคำถามตามมามากมาย
แล้วมาตรการจ่ายเงินข้าราชการ 2 งวดคืออะไร สังคมบางส่วนคิดเห็นอย่างไรบ้าง? ในวันนี้ (14 กันยายน) The MATTER ได้สรุปมาไว้ให้แล้ว
1. มาตรการจ่ายเงินข้าราชการ 2 งวดคืออะไร?
(13 กันยายน) มาตรการดังกล่าวนี้ เศรษฐาแถลงหลังจากประชุม ครม. ระบุว่าเรื่องกระแสเงินสดของทุกคนในกระเป๋าเป็นเรื่องสำคัญ จึงเปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ
“เรื่องนี้ผมเชื่อว่าจะเป็นเรื่องบรรเทาทุกข์ให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อยได้เยอะพอสมควร ถ้ามีการจ่ายเงินเดือน 2 รอบจะได้ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินนะครับ ไม่ต้องคอยให้ถึงสิ้นเดือนก่อนก็จะมีเงินแบ่งจ่ายออกมา” เศรษฐากล่าว
2. จะเริ่มจ่าย 2 งวดเมื่อไหร่?
(13 กันยายน) เศรษฐาระบุว่า ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 ส่วนรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง เพราะต้องมีการแก้ไขระบบหลายๆ อย่างจึงไม่สามารถดำเนินการได้ทันที
3. มาตรการนี้มีที่มาอย่างไร?
(13 กันยายน) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกมาตอบคำถามสื่อมวลชนว่า หน่วยงานราชการได้ข้อมูลมาว่าการรอจ่ายเงินงวดเดียวนั้นนานเกินไป ทั้งยังมีข้าราชการเรียกร้องมาว่าการรอจ่ายเงินทีเดียว 30 วัน ‘มันไม่ทัน สภาพคล่องมันมีปัญหา’ อยากให้จ่ายเงินมาก่อนครึ่งหนึ่ง
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเห็นที่ออกมาบอกว่าจ่ายงวดเดียวสะดวกกว่า ชัยมองว่าเป็นกรณีที่มองกันแบบ ‘เหรียญคนละด้าน’ แต่เขาก็จะนำความเห็นนั้นกลับไปฟีดแบ็ก
4. ข้าราชการเลือกได้ไหมว่าจะรับเงินงวดเดียวหรือ 2 งวด?
(14 กันยายน) เศรษฐาให้สัมภาษณ์กับสื่อที่ทำเนียบรัฐบาล ยืนยันว่าให้เป็น ‘ทางเลือก’ ว่าจะแบ่งจ่าย 2 ครั้งหรือแบ่งจ่ายครั้งเดียวเช่นเดิม โดยทางกรมบัญชีกลางก็จะทำเป็น ‘ออปชั่น’ ให้เลือกว่าจะเอาแบบไหน
เศรษฐาระบุว่า ถ้าแบ่งจ่าย 2 งวดก็จะช่วงแบ่งเบาภาระสำหรับคนที่มีหนี้สิน สามารถไปจ่ายหนี้สินคืนได้เร็วขึ้น ส่วนคนที่เป็นหนี้ ก็สามารถหักจ่ายเป็น 2 งวดก็ได้ ซึ่งเรื่องแบ่งหนี้ก็สามารถแบ่งจ่ายได้เหมือนกัน สถาบันการเงินก็น่าจะพูดคุยได้
5. กระแสเงินสดรัฐบาลมีปัญหาหรือเปล่าจึงต้องแบ่งจ่าย 2 งวด?
(14 กันยายน) เศรษฐายืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด เพราะมาตรการนี้ เป็นการจ่ายเร็วขึ้น โดยจะจ่ายทุกๆ ครึ่งเดือน ซึ่งก็จะให้เป็นทางเลือก ‘คงจะมีแต่เสมอตัว กับดีขึ้น’
ส่วนเรื่องผลตอบแทนที่สูงขึ้น เศรษฐาระบุว่าเป็นแผนระยะยาวของทางรัฐบาล
6. หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำอะไรบ้าง?
(13 กันยายน) กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ก็ระบุว่าพร้อมรับนโยบายจากรัฐบาล โดยกรมจะต้องไปปรับระบบรองรับ พร้อมกับหารือร่วมกับสถาบันการเงินต่างๆ ที่เป็นเจ้าหนี้เงินกู้ของข้าราชการ เพื่อหาแนวทางการแบ่งจ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับการจ่ายเงินเดือนดังกล่าว
“เราพร้อมรับนโยบายและเห็นด้วยว่า แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ข้าราชการมีแคชโฟลว์ที่ดีมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ เราต้องไปดูแนวทางการปรับระบบการจ่ายเงินเดือน และหารือกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ต่างๆ เพื่อให้การจ่ายเงินเดือนและการจ่ายหนี้ของข้าราชการสอดคล้องกับการจ่ายเงินเดือน ปัจจุบันข้าราชการในระบบมีอยู่ราว 2 ล้านคน” กุลยากล่าว
7. ข้าราชการมีความเห็นอย่างไรบ้าง?
Thai PBS รายงานว่า มีข้าราชการหลายคนที่สงสัยว่าแนวคิดนี้จะตอบโจทย์หรือไม่ เพราะเงินเดือน 20,000 กว่าๆ หากแบ่งเป็น 2 งวด แล้วคนที่ยังอยู่ระหว่างการผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ผ่อนบัตรเครดิต ที่ส่วนใหญ่ให้ธนาคารตัดเงินเดือนผ่านบัญชี ต่อไปธนาคารจะตัดเงินเดือนอย่างไร
“ไม่เข้าใจเรื่องการจ่าย 2 รอบแล้วจะช่วยปากท้องข้าราชการ เพราะในแต่ละเดือน เงินออก 1 ครั้งสามารถแพลนการใช้เงินได้สำหรับคนที่มีวินัยในตัวเอง หากแบ่ง 2 รอบเท่ากับเงินจะถูกแบ่ง แล้วจะเริ่มต้นอย่างไรกับภาระรายเดือน” ข้าราชการคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ Thai PBS
ช่อง 3 plus ยังรายงานเพิ่มเติมว่า มีข้าราชการอีกหลายคนที่ไม่เห็นด้วย โดยข้าราชการฝ่ายการเงินและบัญชีรายหนึ่งระบุว่า ไม่เห็นด้วยมากๆ เพราะต้องทำเอกสารเดือนละ 2 รอบ ถ้ารัฐบาลจะช่วยข้าราชการชั้นผู้น้อย ควรเพิ่มเงินเดือนให้ ไม่ใช่แบ่งจ่ายแบบนี้ ทั้งยังตั้งคำถามว่าค่าบ้าน ค่ารถ ค่าสาธารณูปโภค ที่หักจ่ายกับหน่วยงานจะหักอย่างไร หัก 2 รอบหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเขามองว่า ‘การแก้ปัญหา คือการปรับฐาน’
ช่อง 3 plus ยังรายงานเสียงสะท้อนจากข้าราชการอีกรายซึ่งระบุว่าไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะการจ่ายเงินเดือน 2 งวดนี้ ‘ทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง’ เพราะสมมติมีรายได้เฉลี่ย 40,000 บาท ถ้าออกมางวดละ 20,000 บาท จ่ายค่าผ่อนบ้าน – ผ่อนรถหมดแล้วเอาอะไรกิน โดยหลังจากนี้จะไปคุยกับบริษัทรถ – บ้าน ขอให้ปรับรูปแบบการผ่อน ‘ไม่งั้นไม่ไหว’
8. ความเห็นของประชาชนคนอื่นๆ มองอย่างไร?
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวานนี้ว่า ปัญหาหลักๆ ของข้าราชการคือการที่หนี้จะถูกหักจากเงินเดือนของเขาก่อนโอนเข้าบัญชี พร้อมกับยกสถานการณ์ตัวอย่าง เช่น ข้าราชการมีเงินเดือน 100 มีหนี้ 60 ถ้าจ่ายค่าตอบแทน 2 ครั้ง ครั้งแรกได้ 50 ครั้งที่ 2 ได้ 50 แต่เจ้าหนี้จะหักหนี้ออกจากครั้งที่ 2 (สิ้นเดือน) ครั้งเดียว 60 ซึ่งกลายเป็นว่าพอสิ้นเดือน เงินเดือนเข้าแค่ 50 ก็ทำให้ไม่พอหักหนี้ เท่ากับว่าข้าราชการรายนั้นอาจจะผิดนัดชำระหนี้
กรณีที่สอง คืออาทิตย์มองว่า แต่ถ้าหักเป็นสัดส่วน โดยหักจากเงินเดือนครั้งแรก 30 แล้วหักจากครั้งที่ 2 อีก 30 ก็จะไม่มีปัญหาตรงนี้
อย่างไรก็ดี อาทิตย์มองว่า เมื่อกรมบัญชีกลางยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ก็ต้องให้เวลาไปศึกษาและทำข้อเสนอก่อน เพราะถ้าสุดท้ายเกิดกรณีแรกขึ้นมา “เราจะมีคนถูกผลักให้กลายเป็นผู้ผิดนัดชำระกันเต็มไปหมด ทั้งที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลย”
ทางด้านศิริกัญญา ตันสกุล สส.และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจจากพรรคก้าวไกลกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวนิยมใช้กันในเอกชน ที่จะช่วยให้ลูกจ้างสามารถหมุนเงินได้ง่ายขึ้นเพราะได้เงินก่อนก็ดีกว่า แต่สำหรับข้าราชการที่เป็นหนี้ ถ้าแบ่งจ่ายค่าตอบแทน 2 รอบ แล้วมีการตัดหนี้เพียงครั้งเดียว ก็อาจทำให้เกิดปัญหาว่ามีเงินไม่พอจะหมุน
ศิริกัญญาระบุว่า โดยปกติ ข้าราชการจะเซ็นยิมยอมให้สหกรณ์ออมทรัพย์ตัดหนี้เขาจากเงินเดือนได้เลย เพราะจะทำให้ได้รับดอกเบี้ยถูกลง เนื่องจากเจ้าหนี้ไม่ต้องเสี่ยง แต่พอกู้หลายเจ้าก็ตัดเงินเดือนไปเกือบหมด หรือถ้ากรณีที่หักเป็นเปอร์เซ็นต์ก็แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ หากเจ้าหนี้เป็นเอกชน เช่นธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ศิริกัญญามองว่าอาจจะไม่อาจอะลุ่มอล่วยให้แบ่งจ่าย 2 ครั้งเพราะจะเกิดค่าใช้จ่ายกับเขา ที่ลูกหนี้ทำได้ก็อาจจะได้แค่เลื่อนวันชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม ศิริกัญญาระบุว่า มาตรการการจ่ายเงินข้าราชการ 2 งวดนี้ เป็นเพียง ‘ข้อสั่งการ’ ที่นายกฯ สั่งเท่านั้น ยังไม่ใช่มติของ ครม. ซึ่งสิ่งที่ควรทำคือไปสั่งการข้างนอก ยังไม่ต้องออกมาแถลง
ศิริกัญญาอธิบายเพิ่มว่า เมื่อนายกฯ สั่งการไปแล้ว กรมบัญชีกลางก็จะทำบันทึกมานำเสนอ ครม. พร้อมกับรายละเอียดว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น
1) เจรจาค่าโอนเงินที่ต้องเพิ่มเป็น 2 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็โอนผ่านธนาคารกรุงไทย
2) เจรจาเรื่องหนี้เท่าที่จะทำได้ ทั้งกับธนาคารกรุงไทย สหกรณ์ออมทรัพย์ ให้ทำค่างวดเป็น 2 งวด จากผ่อนเดือนละ ครั้ง เป็นผ่อนเดือนละ 2 ครั้ง
3) แจ้งทำความเข้าใจกับข้าราชการโดยทั่วกัน จะเริ่มวันไหน จะเข้าวันไหน วันหยุดราชการจะเลื่อนมาเป็นแบบไหน
ส่วนประเด็นที่ว่าต้องการทำให้เกิดสภาพคล่องทางการเงิน ศิริกัญญามองว่า ถ้าอยากทำให้สภาพคล่องดีขึ้น ก็ต้องอย่าให้เจ้าหนี้ตัดเงินเดือนไปจนหมด พร้อมกับต้องกำหนดว่าจะตัดได้กี่เปอร์เซ็นต์ของค่าตอบแทนที่ได้แต่ละครั้ง
สำหรับความเห็นบนโลกออนไลน์ บางคนก็มองว่าไม่ได้ต่างจากเดิมเท่าไร ทั้งยังมองว่าดีกว่าเดิมเพราะได้เงินเร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีฝ่ายที่มองว่าหากปรับไปจ่าย 2 งวดจริงๆ ก็อาจส่งผลกับการบริหารจัดการเงินของเขาเช่นกัน
นอกจากนี้ ก็ยังมีคนที่มองว่าการแบ่งจ่าย 2 งวด ไม่ได้ช่วยให้สภาพคล่องดีขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วเงินที่ได้ก็เท่าเดิม เพียงแค่มีการแบ่งจ่ายเท่านั้น ทั้งยังมีคำถามว่า ถ้าอยากช่วยบรรเทาทุกข์ข้าราชการ ก็น่าจะต้องเป็นมาตรการที่เพิ่มค่าตอบแทนมากกว่าการแบ่งจ่ายหรือเปล่า
อ้างอิงจาก