หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเรื่องคนไทยที่ฆ่าตัวตายให้เห็นกันค่อนข้างมาก และกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่กำลังถูกพูดถึงกันในโลกโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะหลายเคสเป็นนักเรียน-นักศึกษา ที่อาจมีสาเหตุเกี่ยวกับการเรียน และความกดดันในครอบครัว
คำถามคือเพราะอะไรที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น และสังคมไทยควรเริ่มต้นปรับเปลี่ยนอะไร เพื่อช่วยกันรับมือกันอย่างไรบ้าง?
เราได้ต่อสายตรงคุยกับ โฆษกกรมสุขภาพจิต นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์
เพื่อหาคำอธิบายและเข้าใจในปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น
นพ.วรตม์ บอกว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นจำนวนไม่น้อย ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า และคิดอยากจะทำร้ายตัวเอง คือความรู้สึกที่กดดันจากทั้งความคาดหวังทางสังคม รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ตลอดจน ความเครียดจากหน้าที่การงานและการศึกษา
“ความเครียดในสถานการณ์ต่างๆ นั้นมีผลโดยตรงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากการสูญเสียคนรักในครอบครัว ปัญหาเรื่องการทำงาน ปัญหาเรื่องการเงิน” เขาตอบผ่านทางโทรศัพท์
เราถามต่อว่าแล้ววิธีการรับมือ เมื่อเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้คืออะไร โดยเฉพาะจากคุณครูหรือผู้ปกครอง
“คุณครูควรทำความเข้าใจว่า เด็กมีความเครียด และควรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่วนคุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่า ความสุขของเด็กวัยเรียนคืออะไร มันคือการที่ลูกใช้ชีวิตที่มีความสุข ไม่ใช่แค่เรื่องความเก่งเพียงอย่างเดียว อยากให้ผู้ปกครองช่วยให้กำลังใจ และเป็นที่รับฟังให้ลูกสามารถมาพูดคุยปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ได้” โฆษกกรมสุขภาพจิต ระบุ
ส่วนคำแนะนำสำหรับนักเรียนและนักศึกษาที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอยู่นั้น นพ.วรตม์ บอกว่า “การเรียนเป็นสิ่งที่คนในวัยนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็ต้องหาวิธีทางออก เพื่อระบายความเครียด เช่น ลองหากิจกรรมอื่นควบคู่กันไปบ้าง ถ้าเกิดการเรียนมันยากมากๆ อาจจะต้องพูดคุยหรือติวกันในระหว่างเพื่อน ที่สำคัญคือต้องไม่สร้างแรงกดดันต่อกันและกัน ส่วนการอ่านหนังสือก็อยากให้จัดเวลาที่ไม่มากเกินไป เพื่อรีเซ็ตชีวิตชั่วคราว”
หลายวันที่ผ่านมามีข่าวหนึ่งที่ถูกแชร์กันค่อนข้างมาก คือจำนวนสถิติการฆ่าตัวตายของสังคมไทยที่โดยเฉลี่ยนแล้วมีจำนวนปีละกว่า 4,000 คน
เราจึงขอใช้โอกาสนี้สอบถามถึงข้อมูลดังกล่าวจากโฆษกกรมสุขภาพจิต
เขายืนยันว่า นี่คือข้อมูลที่กรมสุขภาพจิตได้มาจริงๆ ผ่านงานที่กำลังวิจัยกันอยู่
“โดยเฉลี่ยแล้วทุกปีจะมีคนไทยฆ่าตัวตาย 4,000 ราย ส่วนที่ทำแล้วไม่สำเร็จนั้นก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่เรายังไม่ได้ตัวเลขที่ชัดเจนขนาดนั้น” เขาเล่าเพิ่มว่า ปัจจัยสำคัญๆ ที่ทำให้หลายคนเปลี่ยนใจที่จะฆ่าตัวตาย หรือฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ มีทั้งเรื่องการช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่ทันท่วงที ขณะเดียวกันหลายๆ คนก็ได้รับคำแนะนำที่ทำให้รู้สึกว่ายังมีความหวังที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไป
คุยกันมาถึงตรงนี้ เราอยากรู้ว่า จากสถิติที่รวบรวมมานั้น ช่วงเวลาไหนที่พบอัตราการฆ่าตัวตายสูงมากเป็นพิเศษ
“ช่วงพีคมากๆ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคือเดือนที่มีอากาศร้อนอย่าง เมษายน ถึง พฤษภาคม ตอนนี้เรากำลังหาสาเหตุอยู่ว่าเพราะอะไร กำลังสาเหตุที่ชัดเจนจริงๆ ที่ทำให้ตัวเลขสูงกว่าปกติ ต้องใช้เวลาเพราะมันเป็น Big Data ที่มีข้อมูลเยอะมาก”
แม้จะมีสมมติฐานว่า อากาศที่ร้อนขึ้นอาจมีส่วนต่อภาวะจิตใจของผู้คน แต่เขาก็ย้ำว่า ยังคงต้องศึกษาและวิเคราะข้อมูลกันอีกระยะหนึ่ง เพื่อที่จะฟันธงได้จริงๆ ว่าอะไรคือปัจจัยหลัก โดยคาดว่างานวิจัยเกี่ยวกับสถิติการฆ่าตัวตายในรอบ 10 ของคนไทยฉบับนี้จะจัดทำสำเร็จ และเผยแพร่สู่สาธารณะได้ภายในเดือนมีนาคม 2562
ก่อนที่งานวิจัยจะเสร็จสมบูรณ์ ก็น่าคิดกันว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้ตัวเลขในช่วงนี้มีค่อนข้างสูง? มันมีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ทั้งปัญหาที่พ่วงมากับฤดูร้อน เช่น ความเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ หรือปัจจัยจากทั้งสภาพเศรษฐกิจ และระบบการศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าว (ซึ่งต้องย้ำอีกทีว่า ข้อมูลยังไม่ชัดเจน และต้องรอข้อสรุปจากทีมวิจัยอีกครั้งหนึ่ง)
ทั้งนี้ เคยมีบางประเทศได้วิเคราะห์อัตราการฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่น โดยผูกเข้ากับช่วงเวลาต่างๆ ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น ที่พบข้อมูลว่า เด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะฆ่าตัวตายในช่วงวันเปิดเทอมภาคเรียนที่ 2
ปัจจัยสำคัญของกรณีในญี่ปุ่นคือ การตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กดดันในโรงเรียน เช่นการแข่งขันที่สูงและการถูกกลั่นแกล้งภายในโรงเรียน
อ้างอิงจาก