‘ผู้ป่วยโรคจิตเวช’ สมัยเด็กๆ เมื่อได้ยินคำนี้ เรามักจะนึกถึงคนที่ไม่ปกติทางจิตขั้นรุนแรง เพราะมายาคติในสมัยนั้น มองว่าใครก็ตามที่ต้องได้รับการรักษาโรคทางจิตเวช จะต้องเป็นคนไม่สมประกอบ หรือที่เรียกกันว่า คนบ้า
พอโตขึ้นจึงได้เข้าใจว่า โรคทางจิตเวชก็เหมือนกับโรคทั่วๆ ไป ที่เมื่อเจ็บป่วยหรือเกิดความผิดปกติบางอย่าง ก็ต้องเข้ารับการตรวจ วินิจฉัย และการรักษา เพื่อให้อาการทุเลาไปจนถึงฟื้นตัวได้ดีขึ้น และยิ่งได้รู้ว่าบางครั้ง สาเหตุของอาการป่วยก็มาจาก ‘สารสื่อประสาท’ ในสมองที่ทำงานผิดปกติไป เช่น เซโรโทนิน นอร์อิพิเนฟริน และโดปามีน ยิ่งทำให้เรามองว่าภาวะทางจิต ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความวิตกกังวล ความเครียด ไม่ได้ปุบปับก็เกิดขึ้นมาเอง แต่เป็นเพราะบางอย่างกำลังบกพร่อง เช่นเดียวกับการที่เป็นหวัดหรือเป็นไข้ เพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลงนั่นเอง
ซึ่งการรักษาโรคทางจิตเวชก็มีหลายวิธี เบื้องต้นเรามักจะนึกถึงโรงพยาบาลเป็นสถานที่แรกยามเจ็บป่วย เราจึงได้เจอกับจิตแพทย์ที่สามารถวินิจฉัยได้ว่า อาการที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ เกิดขึ้นจากความผิดปกติของสารเคมีตัวไหน ควรจ่ายยาอะไร และในปริมาณเท่าไหร่ อาจเป็นยาคลายกังวลหรือยาที่ช่วยให้หลับง่ายขึ้น เพื่อค่อยๆ ปรับสารเคมีในสมองเหล่านั้นให้กลับมาทำงานปกติ
แต่บางครั้งแค่การจ่ายยาอาจไม่เพียงพอ หรือทำให้อาการดีขึ้นเท่าที่ควร มิหนำซ้ำ บางคนยังเจอกับเอฟเฟ็กต์ของยาที่ทำให้รู้สึกดิ่ง อ่อนเพลีย ไปจนถึงคิดลบกับตัวเองมากขึ้น ทำให้พวกเขามองหาการรักษารูปแบบอื่นควบคู่ หรือบางครั้งจิตแพทย์เองก็อาจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยบางคนน่าจะเหมาะกับการรักษาแบบอื่นด้วย ซึ่งวิธีนั้นก็คือ ‘การทำจิตบำบัด’ (psychotherapy)
การบำบัดที่ซ่อมแซมความคิด
การทำจิตบำบัด คือ การให้คำปรึกษาจากนักจิตบำบัด (psychotherapist) ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและพูดคุยถึงปัญหาที่รบกวนจิตใจของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความกังวล ความซึมเศร้า หรือความกลัว เป็นอาการทางจิตใจที่อาจยังไม่รุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายหรือทำร้ายร่างกายตัวเอง แต่อาจมีแนวโน้มทำเช่นนั้นได้ หากปล่อยอาการนี้ให้ทวีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการทำจิตบำบัดก็มีหลายรูปแบบ ทั้งการทำจิตบำบัดตามแนวคิดทฤษฎีทางอารมณ์ (Emotional Focused Therapy) การบำบัดโดยการบรรยาย (Narrative Therapy) หรือการบำบัดแบบยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Person-centered Therapy)
แต่พักหลังมานี้ การบำบัดที่เราจะได้ยินกันบ่อยๆ นั่นก็คือ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) หรือ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม ซึ่งจะเน้นไปที่การแก้ไข ‘ความคิด’ ของผู้ป่วยที่ส่งผลให้เกิด ‘พฤติกรรม’ อันไม่พึงประสงค์ บั่นทอนจิตใจ หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น โรควิตกกังวล (anxiety) โรคกลัว (phobia) โรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder) ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (personality disorder) ความผิดปกติทางการรับประทานอาหาร (eating disorder) เป็นต้น
โดยการบำบัดแบบ CBT เชื่อว่า มนุษย์มีความคิด ความเชื่อ การรับรู้ หรืออคติบางอย่างที่อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น มีความกลัวมากเกินไป หรือเชื่อว่าบางอย่างจะเข้ามาทำร้ายตัวเอง โดยนักจิตบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยมองเห็นปัญหาในปัจจุบัน มากกว่าเข้าไปแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น อะไรที่ก่อให้เกิดอาการป่วย ผู้ป่วยมีความคิดที่เกิดขึ้นมาเอง (automatic thought) ยังไงต่อเหตุการณ์ต่างๆ ผู้ป่วยมีการให้ความสำคัญต่อความคิดที่แทรกเข้ามา (intrusive thoughts) มากเกินไปหรือเปล่า หากยังคิดแบบเดิมอยู่จะส่งผลอย่างไรต่อสภาพจิตใจ อะไรที่เป็นตัวขัดขวางให้ยากจะปรับเปลี่ยนความรู้สึกนั้น ไปจนถึงลองท้าทายผู้ป่วยด้วยการให้ลองคิดแบบใหม่ แล้วดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
ซึ่งการบำบัดนี้จะช่วยให้คนไข้เห็นองค์รวมของปัญหา และตระหนักได้ว่าการรับรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้ขจัดการนำไปสู่อารมณ์และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งบางรายอาจยังต้องได้รับการจ่ายยาจากจิตแพทย์ควบคู่อยู่ หากมีภาวะบางอย่างที่รบกวนการดำเนินชีวิต เช่น นอนไม่หลับ ตื่นตระหนกแบบควบคุมไม่ได้ หรือมีความคิดฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง
การทำจิตบำบัด CBT นับว่าเป็นการทำจิตบำบัดที่ให้ผลลัพธ์ในทางที่ดี โดยการวิเคราะห์ข้อมูลในปี ค.ศ.2018 จากผลการศึกษา 41 ชิ้น พบว่า CBT ช่วยปรับอาการของผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวล โรคเครียดจากประสบการณ์รุนแรง (PTSD) และโรคย้ำคิดย้ำทำ ทั้งยังสนับสนุนการรักษาความผิดปกติของการใช้สารเสพติด ช่วยปรับปรุงการควบคุมตนเอง หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดความกลัวหรือความกังวล และพัฒนากลไกการเผชิญปัญหาที่ทำให้เครียดในแต่ละวันได้อย่างดี
ต่อมา ก็ได้มีการปรับรูปแบบการบำบัดให้มีระยะเวลาที่สั้นลง เพราะบางครั้งผู้ป่วยไม่อยากเข้ารับการรักษา เนื่องจากกินเวลานานหลายชั่วโมงหลายสัปดาห์ และมีค่าใช้จ่ายที่สูง จึงเกิดโปรแกรมที่เรียกว่า Intensive CBT หรือการบำบัดแบบเข้มข้น ซึ่งมาจากแนวคิดของ โธมัส โอลเลนดิค (Thomas Ollendick) ผู้อำนวยการศูนย์ Child Study Center ที่ Virginia Tech โดย Intensive CBT ใช้เวลาในการบำบัดเพียงแค่ 4 วัน เพื่อดึงให้ผู้ป่วยอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น จนโปรแกรมนี้ก็ได้กลายเป็นที่นิยมในสหรัฐอเมริกาและยุโรป (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ไม่อยากขี้กลัวหรือย้ำคิดย้ำทำ? Intensive CBT วิธีปรับความคิดและพฤติกรรมแบบด่วนจี๋)
ไม่จำเป็นต้องป่วยหนักก็เข้ารักษาได้
เคยลุกไปล้างมือบ่อยๆ เพราะรู้สึกว่ามีเชื้อโรคเกาะที่มือตลอดเวลา เคยขับรถกลับมาบ้านเพียงเพื่อเช็คว่าปิดประตูหรือยัง หรือเคยหงุดหงิดกับของที่วางไม่ตรงองศา ต้องเดินไปจัดระเบียบอยู่ตลอดเวลา จนไม่เป็นอันทำอย่างอื่นหรือเปล่า พฤติกรรมเหล่านี้กินเวลาและพลังงานในแต่ละวันไปมาก แต่บางคนอาจไม่เคยได้สังเกต จนกระทั่งวันหนึ่ง เราเกิดภาวะทางอารมณ์บางอย่างที่เห็นได้ชัด หงุดหงิดมากขึ้น ร้องไห้มากขึ้น อ่อนล้ามากขึ้น ระแวงมากขึ้น เก็บตัวมากขึ้น แต่คิดว่าเดี๋ยวก็คงหายเป็นปกติ แค่ต้องฝึกและปรับตัวไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง
แต่แท้จริงแล้ว พฤติกรรมเหล่านั้นเกิดจาก ‘รูปแบบ’ ทางความคิดหรือความเชื่อที่เรามีมานาน ซึ่งทำให้เราใช้ชีวิตมาได้จนถึงทุกวันนี้ กล่าวคือ ไม่ใช่รูปแบบทางความคิดหรือความเชื่อที่ผิดแผกหรือนอกรีตอะไร เพียงแต่วันหนึ่งรูปแบบดังกล่าวค่อยๆ ทำให้เราใช้ชีวิตได้ยากลำบากมากขึ้น หรือพลาดโอกาสที่จะทำอะไรสักอย่างในชีวิตไป เพียงเพราะความกลัวและความกังวลที่มี
การบำบัดแบบ CBT จึงสามารถแก้ไขปัญหานี้ที่เรามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่แท้จริงแล้วอาจส่งผลกระทบรุนแรงได้ ด้วยการแบ่งเซสชันในพูดคุยปรึกษา เซสชันละหนึ่งชั่วโมงไปจนถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง โดยเริ่มแรกจะเป็นการพูดคุยถึงปัญหาที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งนักจิตบำบัดจะค่อยๆ ถามคำถามไปเรื่อยๆ ช่วยกันหาว่าลักษณะความกลัวหรือความกังวลนั้นเป็นยังไง สาเหตุของความรู้สึกเหล่านั้นมาจากไหนบ้าง ความเชื่อ การเลี้ยงดู หรือความเจ็บปวดในอดีต แล้วสาเหตุนั้นส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความคิดและความรู้สึกอย่างไรตามมา ถือเป็นการให้สุขภาพจิตศึกษา (psychoeducation) เพื่อที่จะได้เห็นทำความเข้าใจรูปแบบความคิดและพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือถูกบิดเบือน
โดยหลังจบแต่ละเซสชัน ผู้ป่วยอาจได้รับการบ้านกลับมาทำ เช่น การจดบันทึกความคิด (thought record) ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา ผู้ป่วยเกิดความคิดแวบแรกว่าอะไร เกิดความรู้สึกแบบไหน และมีพฤติกรรมอย่างไรต่อเหตุการณ์นั้น ไปจนถึงถ้าไม่ทำในสิ่งที่ย้ำทำเพื่อลดอาการย้ำคิดที่เคยมี จะเกิด worst case scenario หรือความรุนแรงอะไรบ้าง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเห็นภาพรวมว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ ส่งผลยังไงกับการใช้ชีวิตและจิตใจของตนเอง
เมื่อเข้าใจต้นตอและรูปแบบความคิดของผู้ป่วย ในกรณีผู้ป่วยที่เผชิญกับโรคกลัวหรือโรคย้ำคิดย้ำทำ พวกเขาอาจได้รับการรักษาด้วยวิธีเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวหรือกังวล ที่เรียกว่า exposure therapy เช่น คนที่เป็นโรคกลัวสุนัข เริ่มแรกนักจิตบำบัดจะแสดงรูปภาพของสุนัขให้ดู ตั้งแต่รูปตุ๊กตาสุนัข รูปสุนัขตัวจริง ไปจนถึงวิดีโอที่มีสุนัขเคลื่อนไหวไปมา ซึ่งจะมีทั้งพันธุ์เล็กๆ น่ารักและพันธุ์ใหญ่ดุๆ จากนั้นก็สังเกตการตอบสนองของผู้ป่วยเรื่อยๆ
ซึ่งวิธี exposure มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะ ‘สร้างภูมิคุ้มกัน’ ทำให้ผู้ป่วยสามารถต้านทานสิ่งเหล่านั้นได้ดีขึ้น และเมื่อผู้ป่วยมีแรงต้านทานเพิ่มมากขึ้น หรือค่อยลดความรู้สึกเป็นภัยอันตรายลง จนสามารถดูรูปสุนัขได้โดยไม่รู้สึกกลัวเท่าเมื่อก่อน ก็จะค่อยๆ ขยับการรักษาไปเป็นการให้เจอกับสุนัขตัวจริงในระยะที่ห่างกันมากๆ และค่อยๆ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้ป่วยคุ้นชินและเปิดใจยอมรับสุนัขมากขึ้น หรือหากเจอตัวกระตุ้น (trigger) แล้วเกิดอาการตื่นตระหนก (panic attack) ใจเต้นเร็ว เครียดรุนแรง มือไม้สั่น ก็จะมีการให้ฝึกทำ relaxation training หรือการหายใจเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยโฟกัสและลดความรุนแรงของสถานการณ์นั้นได้
การทำจิตบำบัดแบบ CBT มีรายละเอียดนอกเหนือจากนี้อีกมากมาย เนื่องจากเคสของผู้ป่วยแต่ละคนนั้นมีความละเอียดอ่อนที่แตกต่างกันไป ซึ่งนักจิตบำบัดก็จะใช้เครื่องมือที่แตกต่างกัน เพื่อให้มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ มากที่สุด และนอกจากนี้ CBT อาจไม่ได้เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกรายเสมอไป เพราะการทำจิตบำบัดประเภทนี้ต้องใช้ความพยายามจากตัวผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่ในการปรับหรือเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรม ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยดิ่ง รู้สึกคิดลบมากกว่าเดิม หรือมองว่าทุกอย่างต้องเริ่มที่ตัวเราเป็นหลัก แล้วถ้าทำไม่สำเร็จก็จะรู้สึกแย่หรือโทษตัวเอง ทั้งนี้ อาจลองพูดคุยกับนักจิตบำบัดเพื่อขอปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาใหม่ได้เสมอ โดยที่สำคัญ ทุกกระบวนการควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากนักจิตบำบัด เพราะเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
ท้ายที่สุดแล้ว ปลายทางของการทำจิตบำบัดประเภทนี้ อาจไม่ได้ทำให้ความเครียด ความกลัว หรือความกังวลที่เคยมีหายไปทั้งหมดเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะเรามีรูปแบบความคิดและความเชื่อแบบนั้นมานาน จะให้หายสนิทเพียงเพราะทำการบำบัดไม่กี่เซสชันก็คงไม่ได้ แต่การทำจิตบำบัดแบบ CBT จะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะยอมรับและอยู่กับสิ่งนั้นได้ดีขึ้นกว่าเดิม พร้อมทั้งให้ผู้ป่วยได้เข้าใจและรู้ทันความคิดและอารมณ์ของตัวเองอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดก็สามารถลดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ที่เคยรบกวนชีวิตและจิตใจลงได้
การทำจิตบำบัดแบบ CBT จึงคล้ายกับการออกกำลังกายทางความคิดและสภาพจิตใจ เพื่อช่วยให้เรามีภูมิต้านทานต่อสิ่งที่เคยกลัวและกังวลใจมากขึ้น ดังนั้น ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องเป็นเคสที่ต้องรุนแรงหรือต้องคลุ้มคลั่งหมดสติก่อน ถึงจะเข้ารับการรักษาได้ เพียงแค่เรามีสิ่งรบกวนจิตใจเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูดกินพลังงานของเรา หรือบั่นทอนจิตใจให้ค่อยๆ ซึมเศร้าและหดหู่ ก็สามารถที่จะมาพูดคุย แลกเปลี่ยน และช่วยกันหาต้นตอของปัญหา ไปจนถึงทางออกได้ เพราะความกลัวหรือความกังวลที่รบกวนจิตใจ ยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ ยิ่งเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เรากลับมาใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นมากขึ้นเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก