เวลาไปหาหมอ เรามักจะเจอเภสัชกรเป็นด่านสุดท้ายของกระบวนการรักษา หากมองเผินๆ ภาระหน้าที่ของพวกเขาอาจดูไม่หนักเท่ากับคนหน้างาน อย่างพยาบาลหรือหมอที่มีคนไข้คอยรุมล้อมอยู่เสมอ
แต่แท้จริงแล้ว ภาระงานที่เภสัชกรต้องนั้นมีมากกว่าการจ่ายยา เพื่อสำรวจเรื่องราวของพวกเขา The MATTER คุยกับ ‘เภสัชกร’ ถึงปัญหาภาระงาน สุขภาพจิต ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อสะท้อนสิ่งที่พวกเขาต้องแบกรับนอกเหนือจากการจัดแจงยา
ภาระงานที่เภสัชกรในโรงพยาบาลต้องเจอ
หน้าที่หลักๆ ของเภสัชกร จะเกี่ยวข้องกับวงจรยาทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นกระบวนการ ได้แก่ เสาะหาหรือผลิตยา จนถึงการส่งมอบยาและติดตามการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาและมีประสิทธิภาพในการรักษาโรค
แล้วภาระหน้าที่ที่นอกเหนือจากข้างต้น?
แต้มศรี (นามสมมติ) เภสัชกรอายุ 30 กว่า ที่ทำงานในโรงพยาบาล เล่าว่า “ต้องรับแรงกดดันทั้งระบบการทำงานและการรับมือกับคนไข้ หลายคนอาจจะมองว่างานเภสัชแค่จ่ายยาตามแพทย์สั่ง แต่เราเป็นด่านสุดท้ายในการตรวจสอบเรื่องยาให้กับคนไข้”
ดังนั้น ภาระหน้าที่ของเภสัชกรไม่ใช่เพียงแค่จ่ายยา แต่ยังมีเรื่องการตรวจสอบความถูกต้องของยาที่แพทย์สั่งอีกด้วย
“หากเราพบปัญหาในใบยานั้น ต้องทำการปรึกษากลับไปทางแพทย์ เพื่อพิจารณาการรักษาร่วมกัน โดยต้องอาศัยความไวและความแม่นยำควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาถูกต้องและรวดเร็ว”
“ฟังดูก็เป็นรูปแบบงานปกติที่สมัยเรียนเราก็ถูกสอนมาให้ทำแบบนี้ แต่พอลงสนามจริงมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เราทำงานได้ไม่ราบรื่น เช่น เวลาที่เร่งรีบ, อัตรากำลังคนทำงานไม่เพียงพอ, ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานจนเกิดความเหนื่อยล้า และความไม่เข้าใจในด้านการสื่อสารภายในองค์กรหรือทีมสหวิชาชีพ เป็นต้น”
แต้มศรีเน้นย้ำว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เภสัชกรส่วนใหญ่พบเจอ ที่เบื้องบนมักคิดว่า ‘ทนไม่ได้ก็ลาออก’ ขณะที่เธอมองว่า แต่ก็ไม่คิดปรับระบบการทำงานให้ดีขึ้น หรือเพิ่มกำลังคนให้เพียงพอ ทำให้ปัญหาเดิมๆ ยังคงอยู่ในองค์กรโดยไม่ได้รับการถูกแก้ไข
นอกจากนี้ The MATTER ยังพูดคุยกับเภสัชกรที่ทำงานในโรงพยาบาลอีกคนหนึ่ง ด้วยคำถามเดียวกัน ซึ่ง มะนาว (นามสมมติ) อายุ 28 ปี แสดงความเห็นว่า
“ปัญหาภาระงานที่ต้องเจอคือ ปริมาณคนไข้เยอะมากในแต่ละวัน เนื่องจากมีการนัดคนไข้จากคลินิกต่างๆ เช่น NCDs [กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง] ทำให้มีปริมาณยาที่ต้องจ่ายมาก เภสัชไม่เพียงพอ และในบางเคสคนไข้มียาจำนวนมาก จึงใช้เวลาในการเช็คและจ่ายยาค่อนข้างนาน”
ภาระหน้าที่ของเภสัชกรที่ไม่ได้สังกัดโรงพยาบาล
ทุกคนอาจจะพอทราบว่า อาชีพเภสัชกรไม่ได้ทำงานในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังมีที่ร้านขายยา, โรงงานอุตสาหกรรม หรือองค์กรบริษัทต่างๆ โดย แยม (นามสมมติ) อายุ 28 ปี ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น เพราะเธอเป็นเภสัชกรในร้านเชนสโตร์–ร้านขายยารูปแบบใหม่ที่ไม่ได้เน้นขายยาเพียงอย่างเดียว แต่จะเน้นสินค้าเพื่อการดูแลสุขภาพและความงาม
“ภาระงานของเภสัชกรร้านยาจะเป็นการนับสต็อกสินค้า นับวันหมดอายุยา ตรวจนับสินค้า non-move [สินค้าที่ไม่มีการหมุนเวียน]”
และเธอยังเล่าว่า ต้องรับลูกค้าทั้งหน้าร้าน โทรศัพท์ และในไลน์ ที่ต้องทำการซักประวัติ จ่ายยา ให้คำแนะนำเรื่องยา, อาหารเสริม และ ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ “ร้านขายยาเชนสโตร์ ดีตรงที่ว่ามีผู้ช่วยคอยช่วยแนะนำสินค้าที่ไม่ใช้ยาให้กับลูกค้าได้ รวมถึงจัดเรียงยาให้เต็มชั้นวาง”
ปัญหาสุขภาพจิตของเภสัชกร
แต้มศรี เล่าว่า “ด้วยปัจจุบันถึงแม้จะมีหลายมหาวิทยาลัยผลิตเภสัชออกมามากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะสายงานในโรงพยาบาล ทำให้เภสัชคนหนึ่งต้องทำงานลากยาว” ทำให้เภสัชกรหลายคนต้องเผชิญกับภาวะเครียด จากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
“เวลานอนสวิงไป เนื่องจากมีขึ้นเวรดึก ทำให้การนอนหลับมีปัญหา บางคนต้องพบแพทย์เพื่อพึ่งยานอนหลับ มาปรับสมดุลการนอนให้ตัวเอง บางคนต้องพบจิตแพทย์ เพื่อรักษาสภาพจิตใจจากการทำงานและเพื่อให้ทำงานต่อไปได้”
ยิ่งไปกว่านั้น เธอลงลึกถึงปัญหาสุขภาพจิตในหมู่เภสัชกรมากขึ้นอีก ด้วยการระบุว่าบางคนต้องเก็บเรื่องการรักษาตัวเองไว้เป็นความลับ เพื่อไม่ให้กระทบกับหน้าที่การงาน “บางที่ก็ไม่รับกลุ่มคนที่มีปัญหาด้านนี้เลย เพราะคิดว่าทำงานได้ไม่ไหว และรับแรงกดดันไม่ได้”
แต้มศรี มองทางออกของปัญหานี้ว่า “ควรแก้ไขสภาพการทำงานให้น่าอยู่มากกว่า ที่จะโทษที่ตัวบุคคล เพราะบุคคลเหล่านั้นที่เขามีสภาวะนี้ ก็มาจากสภาพแวดล้อมการทำงาน ที่บีบคั้นจิตใจให้เขาเป็นแบบนั้น”
ความเห็นของ พลอย เภสัชกรที่ทำงานในโรงพยาบาลเหมือนกับแต้มสี ค่อนข้างคล้ายกัน โดยเธอระบุว่า “ผู้ป่วยบางคนรอนานจึงทำให้อารมณ์ไม่ดี มีการต่อว่าเจ้าหน้าที่ โพสต์ลงโซเชียล เจ้าหน้าที่ก็หดหู่ห่อเหี่ยว หมดกำลังใจ”
ตรงกันข้ามกับเภสัชกรที่ทำงานร้านขายยาเชนสโตร์ “สำหรับเราคิดว่าก็โอเค ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับหัวหน้าหรือกับเพื่อนร่วมงาน แฮปปี้ดีกับงานที่ทำอยู่ ลูกค้าที่เจอส่วนใหญ่น่ารักทุกคน แต่บางทีก็แอบเบื่อๆ บ้าง ที่เจองานเดิมๆ หรือลูกค้าแปลกๆ”
ระบบการทำงานที่ Toxic ในวงการบุคลากรทางการแพทย์
แต้มสี เริ่มต้นพูดว่า “คือส่วนใหญ่ที่เจอเลย เรายอมรับเรื่อง Toxic จากการรับมือคนไข้หน้างานพบน้อยมากกว่าคำพูดจากคนทำงานด้วยกันเอง คนที่เจอหัวหน้ากับเพื่อนร่วมงานที่ดีก็ถือว่าเป็นความโชคดีมากๆ ในการทำงาน”
เธอขยายความว่าบางครั้งด้วยสายงานนี้ ทำให้บางคนอาจมีอีโก้สูง จนนำไปสู่การจับผิดในการทำงานมากกว่าจะมองว่าเป็นการทำงานร่วมกัน เช่น แพทย์บางคนมักคิดว่าเภสัชกรคอยจับผิดการทำงานของแพทย์
“ทั้งนี้เราทำงานร่วมกันเพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย แต่เกิดการใช้คำพูดไม่ดีกับทางเภสัชบ้าง หรือแม้แต่เภสัชด้วยกันเอง เมื่อรู้สึกว่าการทำงานของใครไม่ตรงจริตตัวเอง หรือทำงานไม่ถูกต้อง”
“กลับเลือกใช้คำพูดไม่ดีใส่กัน ทั้งที่บางสิ่งบอกกันดีๆ ได้ และคำพูดแย่ๆ เหล่านั้นก็บั่นทอนจิตใจได้ เจอบ่อยครั้งยิ่งสะสม”
ขณะที่พลอยแสดงความเห็นว่า เธอยังไม่เคยพบเจอปัญหานี้ แม้จะเป็นเภสัชกรในโรงพยาบาลเช่นเดียวกัน ส่วนแยมมองว่าเพราะเธอเพิ่งเริ่มทำงานไม่นาน จึงอาจยังไม่เจอปัญหานี้จากเภสัชและหมอ แต่ตอนนี้มักจะเจอจากผู้ป่วยกับญาติผู้ป่วยมากกว่า
เภสัชกรก็เผชิญปัญหาที่รุมเร้าไม่ต่างกับอาชีพอื่น
แต้มสี แสดงความรู้สึกทิ้งท้ายว่าเธอดีใจที่ได้รับโอกาสทำงานเป็นเภสัชกร เพราะถือเป็นส่วนช่วยให้คนไข้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งใช้ยาอย่างถูกต้องหลังจากได้รับการรักษา “มันเหมือนสิ่งที่เราเรียนมานาน และวิชาชีพเราบรรลุเป้าหมายแล้ว”
“สำหรับการทำงานเราคิดว่าทุกที่มันมีการกระทบกันเป็นปกติ แต่เราอยากให้เป็นการแก้ไขปัญหาร่วมกันด้วยดี เชื่อว่าเป้าหมายของวิชาชีพคือเพื่อคนไข้ ไม่ใช่การทำร้ายกันเอง แม้จะเป็นแค่คำพูดก็สร้างแผลในใจได้ และวิชาชีพเราก็คนน้อย ควรช่วยกันมากกว่า” แต้มสี กล่าว
พลอยมองว่า ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของแต่ละคนว่าแข็งแรงแค่ไหน หรือมีวิธีการจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างไร รวมถึงการรับมือกับเรื่องสำคัญอย่างสภาพแวดล้อมที่ต้องพบเจอในแต่ละวัน
“เอาจริงๆ คิดว่าไม่ใช่แค่อาชีพเภสัช น่าจะเป็นทุกอาชีพ ถ้าเจอสภาพการทำงานที่มันไม่โอเคซับตัวเราซ้ำๆ ทุกวันๆ เจอคำพูดที่มันบั่นทอน มันก็เครียดได้เหมือนกัน
แต่อาชีพเภสัชยอมรับเลยว่ามันน่าจะเครียดตั้งแต่สมัยเรียนเลย วิชามันยากแต่ละคนก็ถนัดไม่เหมือนกัน ก่อให้เกิดความเครียดได้ง่าย บางคนเรียนแล้วเครียดจนป่วยก็เคยเจอเหมือนกัน”
ส่วนแยมรู้สึกว่า ทางโรงพยาบาลยังไม่มีการปกป้องบุคลากรมากพอ และไม่ค่อยให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติงาน
บุคลากรน้อย งานโหลด ต้องรื้อปัญหาเชิงโครงสร้างคือทางออก?
ที่ผ่านมาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเภสัชกรถูกยิบยกขึ้นมาพูดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเรื่อง human error ที่ทำให้เกิดการจ่ายยาผิดแก่คนไข้ รวมถึงปัญหาสุขภาพจิตและสุขภาพกายเพราะการโหมงานหนักจนเกินไป ซึ่งทั้งหมดล้วนสืบเนื่องมาจากการขาดแคลนบุคลากรวิชาชีพนี้
“บางโรงพยาบาลเภสัชกร 1 คน จะต้องเป็นคนที่รับใบสั่งยา จัดยา เช็คยาหลังจากเตรียมเสร็จ และจ่ายยา แม้มีมาตรฐานกำหนด แต่บุคลากรไม่เพียงพออยู่ดี อย่างเภสัชกร 1 คนไม่ได้ทำหน้าที่เดียว เช่น ปกติอยู่วอร์ดผู้ป่วยใน แต่ผู้ป่วยนอกจ่ายยาไม่ทัน เราก็ต้องโยกไปช่วย เพราะคนไม่พอ” ภูเบศ โคตรสีเขียว กรรมการสภาเภสัชกรรม และผู้แทนสหภาพเภสัชกร ระบุ
เขาย้ำอีกว่า “ปัญหาไม่ใช่แค่จำนวนบุคลากรไม่พอ ภาระงานมาก ยังมี career path ค่าตอบแทน ตำแหน่งการบรรจุ ไม่ได้เป็นข้าราชการแล้ว เรียนมา 6 ปีแต่ได้บรรจุเป็นพนักงานราชการแทน จึงไม่มีสิ่งชักจูง หรือให้อยู่ในระบบมากยิ่งขึ้น ทำให้ไหลออกนอกระบบมากขึ้น คนที่อยู่ในระบบก็โหลดงานมากขึ้น หากไม่เร่งแก้ไข ปัญหาก็จะสะสมไปเรื่อยๆ”
ขณะที่ วัชรินทร์ แท่งทอง กรรมการสภาเภสัชกรรม และผู้แทนสหภาพเภสัชกรผู้ปฏิบัติงาน เคยนำเสนอทางออกว่า ควรเพิ่มอัตรากำลังเภสัชกรต่อกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อลดภาระงานล้น และการไหลออกนอกระบบของเภสัชกร
“พวกเรา วิชาชีพ ‘เภสัชกร’ มักถูกลืมตลอด สังเกตจากอัตราบรรจุข้าราชการที่ลดลงสวนทางกับภาระงาน ที่ผ่านมาต้องแก้ปัญหาหน้างานกันเอง จึงทำให้เกิด human error ขึ้นได้” ผู้แทนสหภาพเภสัชกรผู้ปฏิบัติงาน กล่าว