การรักษาความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจไม่ได้รักษากันปุบปับแล้วจะหายเหมือนเจ็บป่วยทางกาย โรคทางกายบางชนิดเพียงฉีดยาสักเข็มสองเข็มก็หาย แต่การทำจิตบำบัด (psychotherapy) กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะต้องใช้ระยะเวลาเยียวยานานพอสมควร ความรู้สึกของมนุษย์เองเป็นสิ่งทับซ้อนกันหลายชั้น และยังต้องการเวลาเพื่อเสาะหาปมฝังลึกภายในจิตใจ การรักษาจิตบำบัดยุคแรกๆ แบบ ‘ซิกมุนด์ ฟรอยด์’ นักบำบัดต้องใช้เวลาพูดคุยกับคนไข้ช่วงหนึ่ง ราว 50 – 60 นาทีต่อสัปดาห์ และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ยาวนานเป็นเดือนหรือเป็นปี
การบำบัดรูปแบบที่ทันสมัยขึ้นมาหน่อยที่เรียกว่า ‘การบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม’ (cognitive-behavioral therapy หรือ CBT) ก็ยังต้องใช้เวลา 10 – 20 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย ในขณะที่ระยะเวลาการเข้าบำบัดยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ควรใช้เวลาเท่าไหร่หรือว่าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บำบัด ผู้ป่วยทางจิตในโลกของเราก็มีแนวโน้มผู้เพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยบางคนเห็นระยะเวลาการรักษาที่เนิ่นนานก็ส่ายหน้าหนี เพราะกลัวตัวเองจะเสียเวลา เสียโอกาสต่างๆ นักบำบัดเองก็มีผู้ป่วยล้นมือต่อแถวเรียงยาว ดังนั้นจึงมีแนวคิดผุดมาเสมอๆ ว่า “เราสามารถใช้เวลาบำบัดน้อยลง แต่มีประสิทธิภาพได้หรือไม่”
แนวคิดนี้นำเสนอโดย Thomas Ollendick ผู้อำนวยการศูนย์ Child Study Center ที่ Virginia Tech สหรัฐอเมริกา ศึกษากระบวนการบำบัดด้วยรูปแบบใหม่ๆในเด็กมายาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งเขาและทีมงานพยายามทดลองการบำบัดแบบใช้ระยะเวลาสั้นสำหรับปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่เขาเรียกว่า ‘Intensive CBT’ ถ้าสมมติว่าการรักษาระยะสั้นนี้อาจใช้เวลาเพียง 4 วันในการรักษาอาการวิตกกังวลในวัยเด็ก (childhood anxiety disorders) โดยให้ผลลัพธ์เทียบเท่ากับการรักษาที่ต้องใช้ระยะเวลาแบบปกติ น่าจะช่วยประหยัดงบประมาณ ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา และตัวผู้ป่วยเองอาจสมัครใจมารักษามากขึ้น ซึ่งเทรนด์การรักษาระยะสั้นนี้ short-course therapies จึงกำลังเป็นที่นิยมมากในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
การบำบัดรูปแบบใหม่นี้ใช้เวลาภายใน 4 วัน ซึ่งน่าจะเหมาะสมกับการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ obsessive-compulsive disorder (OCD) หรือเพิ่มเวลาอีก 3 ชั่วโมงสำหรับการรักษาโรค Phobias ต่างๆ เช่น กลัวความสูง กลัวแมงมุม กลัวสุนัข
จริงๆแล้วแนวคิดนี้ก็ไม่ได้เป็นของใหม่เสียทีเดียว แต่ริเริ่มมาสักระยะแล้ว โดยนักจิตวิทยาชาวสวีเดน Lars-Göran Öst จากมหาวิทยาลัย Stockholm University โดยเขาเองเป็นนักบำบัดให้กับผู้ป่วยที่มีโรคกลัวแมงมุม วันหนึ่งเขาลองสอบถามผู้ป่วยว่า หากการรักษาที่ยาวนานเป็นสัปดาห์ แต่ทำให้เหลือ 3 ชั่วโมง คุณจะสนใจบำบัดด้วยวิธีนี้ไหม
ผู้หญิงคนแรกที่ตอบตกลงคือ ผู้หญิงอายุ 35 ปีที่เป็นโรคกลัวแมงมุม เพราะเธอต้องใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมงเพื่อเดินทางมาที่ศูนย์ การที่ไม่ต้องมาบ่อยๆ น่าจะมีประโยชน์กับเธอมากกว่า อย่างไรก็ตาม Lars-Göran Öst ต้องใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าจะได้ผู้ป่วยที่สนใจวิธีการใหม่นี้ครบ 20 คน นอกจากข้อเสนอที่ค่อนข้างแหวกแนวแล้ว คนที่เป็นโรค Phobias ส่วนใหญ่มักปฏิเสธการรักษาเป็นทุนเดิม พวกเขามักเก็บซ่อนความกลัวนั้นไว้ เพราะอายที่จะบอกใครๆ ว่าตัวเองกลัวสิ่งพิลึก จนอาจถูกหัวเราะเยาะ ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกที่จะเลี่ยงไม่กับเจอสิ่งที่พวกเขากลัว เช่น เดินหนีเมื่อเจอแมงมุม หรือไม่ขึ้นบนตึกชั้นสูงๆ แทนที่จะเข้ารับการรักษาในฐานะอาการทางจิต
การรักษาที่ด่วนจี๋นี้มีกระบวนการทำอย่างไรในเบื้องต้น?
นักบำบัดจะอธิบายถึงที่มาที่ไปของความกลัว และอาการของผู้ป่วย ที่เรียกว่า การให้สุขภาพจิตศึกษา (psychoeducation) เป็นจุดเริ่มต้น ทำไมความนึกคิดของมนุษย์ถึงถูกจองจำในกรงขังที่ดิ้นไม่หลุด ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็ก อาจทำเป็นกลุ่มเล็กๆ แทน อย่างในกรณีรักษาผู้ป่วยเด็กที่กลัวงู นักบำบัดจะตั้งคำถามว่า “ทำไมงูถึงเลื้อย” “ทำไมการเลื้อยถึงน่าขนลุก” จากนั้นก็ให้เด็กๆ ลองเคลื่อนที่บนพื้นบ้าง โดยไม่ใช้ขาและแขน พวกเขาจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้อย่างไร จึงทำให้เด็กๆ เข้าใจว่า การที่งูต้องเลื้อยเช่นนี้ เพราะมีลักษณะทางกายภาพไม่เหมือนกับพวกเรา แต่หากพวกเราต้องเคลื่อนที่โดยไม่มีขาและแขนบ้าง เราเองก็คงเลื้อยไปไม่ต่างจากงู
ขั้นต่อมาจะให้ผู้ป่วยได้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กังวลหรือกลัว และให้นักจิตวิทยาช่วยแนะนำการป้องกันการกระทำซ้ำๆ ที่จะเกิดขึ้น ช่วยให้รับมือกับความกลัวหรือความกังวลนั้นได้ดียิ่งขึ้น เรียกวิธีการนี้ว่า ‘Exposure and response prevention’ ตัวอย่างในการรักษาโรคกลัวชุมชน (agoraphobics) หรือย้ำคิดย้ำทำ (OCD) นักบำบัดจะให้ผู้ป่วยเรียนรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ลดความเป็นภัยลดลง ไม่กระตุ้นการตอบสนองพฤติกรรมทำซ้ำๆ และเมื่ออยู่ภายใต้การควบคุม การรักษาความวิตกกังวลก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น
เอาเข้าจริงกระบวนการรักษาแบบนี้ก็ไม่ต่างจากวิธีการบำบัดแบบปกติ เพียงแต่ใช้เวลาน้อยลง เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น รู้สึกว่าตัวเองสามารถลดความกังวลใจได้
จากการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ในปี ค.ศ. 2017 มีการทดลองบำบัดกว่า 23 โครงการ ปรากฏกว่า Intensive CBT นั้น ได้ผลดีในการรักษาอาการวิตกกังวลในเด็ก ผู้ป่วย 54 % รู้สึกได้รับพลังบวกทันทีหลังจบการบำบัดภายในวันนั้น และเมื่อนำไปปรับใช้กับตัวเองจากที่เรียนรู้แบบรวบรัด กว่า 63 % รู้สึกว่าสามารถควบคุมความวิตกกังวลได้ดีขึ้น
การรักษาระยะสั้นเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและยังช่วยดึงความร่วมมือของผู้ป่วยให้ออกมารักษามากขึ้น เพราะรู้สึกว่าผลสัมฤทธิ์จากการรักษาอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ปรับใช้ได้ทันที Intensive CBT จึงอาจปรับเป็นการบำบัดกลุ่มนอกสถานที่ ทำในโรงเรียน หรือในสำนักงานได้
อย่างไรก็ตามนักบำบัดจะต้องเข้าอบรมการทำ Intensive CBT ใหม่โดยการเรียนรู้กระบวนการจากการวิจัย ที่เริ่มจะมีการเปิดอบรมมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ระบบประกันสุขภาพจำเป็นต้องยืดหยุ่นขึ้น จากการที่มีเพดานการรักษาไม่เกิน 50 นาที ให้ปรับเปลี่ยนเพื่อสอดรับกับการบำบัดที่ต่อเนื่อง 4 – 5 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดแนวโน้มที่น่าสนใจของการรักษาที่ใช้เวลาน้อยลง แต่มีประสิทธิภาพต่อจิตใจผู้ป่วยเช่นนี้ โดยอาจช่วยลดความวิตกกังวลที่อาจส่งผลต่อปัญหาต่อชีวิต และทำให้คนที่อยู่กับความกลัวได้เข้าใจสิ่งที่ตัวเองกลัวได้มากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
Innovations in CBT for Childhood Anxiety, OCD, and PTSD
Intensive CBT: How fast can I get better
Mood Disorders: Effects of Intensive CBT
With Short, Intense Sessions, Some Patients Finish Therapy in Just Weeks