นับตั้งแต่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เข้าซื้อทวิตเตอร์เมื่อปลายปี 2022 ความปั่นป่วน (ที่เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ตอนอีลอนเป็นผู้ใช้งาน) ได้เพิ่มระดับเข้ามาถึงหลังบ้านของทวิตเตอร์ ล่าสุดนี้ก็มีการจำกัดจำนวนโพสต์ที่สามารถอ่านได้ในแต่ละวัน โดยไม่รู้ว่านโยบายนี้จะถูกเปลี่ยนแปลง หรือจะเอาจริงเอาจังขนาดไหนกัน
แม้ตอนนี้จะมีซีอีโอคนใหม่อย่าง ลินดา ยัคคาริโน (Linda Yaccarino) เข้ามาบริหาร แต่ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของอีลอน ทำให้ทิศทางของแอปฯ นกฟ้าดูจะทึมเทาลงทุกวัน เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนผู้ใช้งานปรับตัวไม่ทัน หรือบางอย่างก็ส่งผลกระทบกับเรื่องสำคัญๆ อย่างการกระจายข่าวสาร อาชีพการงานของผู้คน ไปจนถึงการรายได้ของทวิตเตอร์เอง
และต่อไปนี้คือสารพัดปัญหาที่ผู้คนจากหลากหลายแวดวงต้องเผชิญ นับตั้งแต่อีลอน มัสก์ก้าวเข้ามาถือครองแพลตฟอร์มทวิตเตอร์
01 เลย์ออฟพนักงาน กับการบริหารที่เอาแน่เอานอนไม่ได้
หนึ่งในข่าวใหญ่นับตั้งแต่อีลอน มัสก์เข้ามาบริหารคือการเลิกจ้างพนักงานราว 50% เพื่อลดต้นทุนบริษัท แถมบางคนยังถูกเลิกจ้างแบบกะทันกันจนไม่ทันได้ตั้งตัว เมื่อบวกรวมกับการบริหารที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เลยไม่น่าแปลกใจที่เหล่านักโฆษณาหลายเจ้าที่เคยร่วมงานกับทวิตเตอร์เลือกที่จะถอยออกไปก่อน เพราะกังวลว่าจะมีเรื่องมาเซอร์ไพรส์ไม่เว้นแต่ละวัน
แต่หลังจากนั้นอีลอนก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าเหล่านักโฆษณาส่วนใหญ่ได้เริ่มทยอยกลับมาร่วมมือกันอีกครั้ง (แต่ไม่ได้บอกว่ามีรายไหนบ้าง) และเขาได้ยกตำแหน่งซีอีโอให้กับ ลินดา ยัคคาริโน (Linda Yaccarino) อดีตผู้บริหารฝ่ายโฆษณาของบริษัทสื่อ NBCUniversal และมีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมโฆษณาของสหรัฐฯ ด้วยหวังว่าลินดาจะสามารถเรียกคืนความเชื่อมั่นและกอบกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้นได้อีกครั้ง
02 ฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน (?)
การอัปเดตที่เห็นได้ชัดในฐานะผู้ใช้งานคงจะเป็นยอดวิวในทวิตเตอร์ที่นอกจากหลายคนจะบ่นว่า รู้สึกแปลกๆ กับการรับรู้ว่ามีคนอ่านทวิตเราไปกี่ครั้งแล้ว ตัวเลขที่เพิ่มเข้ามายังชวนสับสนและทำให้ใช้งานยากไปกว่าเดิมซะอีก
ส่วนอีกความเปลี่ยนแปลงหนึ่งคือหน้า ‘for you’ ซึ่งคล้ายกับหน้าแรกของ TikTok และคอยแนะนำโพสต์ใหม่ๆ ที่เราไม่ได้กดติดตามเข้ามาให้เห็นบนไทม์ไลน์ โดยแท็บนี้จะแยกจาก ‘following’ ที่มีเฉพาะโพสต์จากบัญชีที่เราติดตามเท่านั้น แต่การแยกเป็น 2 ส่วนนี้ ก็มีความเห็นแตกเป็น 2 ฝั่งเหมือนกัน บ้างก็บอกว่าได้เห็นทวีตใหม่ๆ บ้าง หรือโพสต์ของเรามีโอกาสไปถึงผู้คนในวงกว้างมากขึ้น ในขณะที่บางคนรู้สึกว่าแบบเดิมใช้งานง่ายกว่า เพราะไม่ต้องสลับแท็บไปมา แถมโพสต์ที่แนะนำมาในหน้า for you หลายครั้งก็ไม่ได้ตรงกับความสนใจจนต้องมานั่งไล่กด mute ไปเลยก็มี
03 การรายงานข่าวที่ยากขึ้นไปอีกขั้น
หนึ่งในจุดเด่นของทวิตเตอร์คือการรายงานข่าวสารที่กระชับ ฉับไว และติดตามข่าวได้แบบทันเหตุการณ์ แต่ตอนนี้กลับไม่ใช่แพลตฟอร์มที่เป็นมิตรกับแวดวงสื่อสารมวลชนซักเท่าไร อย่างถ้าย้อนไปตอนที่อีลอน มัสก์ เข้ามาบริหารทวิตเตอร์ได้ไม่นาน ทวิตเตอร์เคยระงับบัญชีผู้ใช้ของนักข่าวจากสื่อใหญ่ระดับโลก เช่น CNN, The Washington Post, The New York Times โดยไม่ได้บอกล่วงหน้าและให้เหตุผลอันแสนกำกวมที่ว่า ‘ละเมิดกฎของทวิตเตอร์’ แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะบัญชีเหล่านี้เคยทวีตถึงข้อมูลการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวของมัสก์ ซึ่งถ้าเป็นเหตุผลนี้จริงๆ คงย้อนแย้งกับสิ่งที่มัสก์เคยพูดว่าอยากสนับสนุนเสรีภาพทางการการพูด (free speech) แถมยังเคยประกาศตัวว่าจะไม่แบนบัญชีที่ติดตามเส้นทางการบินของตัวเอง
นอกจากการแบนแล้ว ในช่วงเดือนเมษายน 2023 บางสำนักข่าวเริ่มมีสัญลักษณ์และข้อความ ‘state-funded media’ (สื่อที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ) บนโปรไฟล์ทวิตเตอร์ของตัวเองเช่น NPR และ PBS ซึ่งแม้สองสำนักข่าวนี้จะมีผู้ติตามหลักล้าน แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจประกาศเลิกใช้ทวิตเตอร์ เพราะข้อความดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้คน แถมทวิตเตอร์ยังไม่ได้แจ้งล่วงหน้าก่อนข้อความนี้จะปรากฏขึ้นอีกด้วย
แต่วีรกรรมทั้งหมดยังไม่จบลงเท่านี้ เพราะล่าสุดทวิตเตอร์มีข้อจำกัดจำนวนทวีตที่สามารถเข้าถึงได้ในแต่ละวันเพิ่มมาอีกแล้ว ในขณะที่นักข่าวบางคน บางสำนักใช้ทวิตเตอร์เพื่อค้นหาข้อมูลสำหรับการรายงานสด หรือใช้สำหรับอัปเดตข่าวสำคัญแบบเรียลไทม์ การทำงานเลยยากขึ้นไปอีก
อย่างกรณีนักข่าวในเมืองบัลติมอร์ของสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถดูทวีตจากบัญชีทวิตเตอร์ของกรมตำรวจท้องที่ หลังเกิดเหตุกราดยิงซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 28 คน ฟังแล้วก็ชวนหวั่นใจเหมือนกันว่า ถ้าระหว่างนี้เกิดเหตุไฟไหม้ ภัยพิบัติหรือเรื่องฉุกเฉินขึ้นมา เราจะยังถูกจำกัดการรับรู้ข้อมูลเหล่านี้ไปด้วยไหม แม้ว่าจะติดตามข่าวสารในช่องทางอื่นๆ ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าทวิตเตอร์นั้นเอื้อต่อการรายงานและติดตามข่าวสารได้แบบเรียลไทม์มากกว่า
03 เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าเจ้าปัญหา
ตอนนี้หลายคนน่าจะเริ่มคุ้นชื่อ Twitter Blue ที่เราต้องจ่ายเงินรายเดือน เพื่อให้ได้รับเครื่องหมาย ‘ติ๊กถูกสีฟ้า’ หลังชื่อบัญชีของตัวเอง บวกกับฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่เสริมเข้ามามากกว่าการใช้ทวิตเตอร์แบบฟรีๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเจ้าเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้านี้เคยใช้กับบัญชีสาธารณะตามกฎเกณฑ์เดิมมาก่อน แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า ถ้าใครที่จ่ายเงินก็สามารถมีเครื่องหมายติ๊กถูกอยู่หลังชื่อตัวเองได้แล้ว ขณะที่บัญชีสาธารณะที่น่าเชื่อถือจริงๆ แต่ไม่ได้จ่ายค่าบริการกลับถูกลบเครื่องหมายนี้ออกไป
แม้ความตั้งใจของอีลอน มัสก์ คือการป้องกันสแปมและทำให้บัญชีผู้ใช้ในทวิตเตอร์น่าเชื่อถือมากขึ้น แต่กลับพ่วงมาด้วยปัญหาที่บางคนใช้โอกาสนี้สมัคร Twitter Blue เพื่อแอบอ้างมาเป็นคนดัง แบรนด์ หรือบุคคลอื่นโดยใช้เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเอง อย่างกรณีบริษัทยา Eli Lilly ที่เคยมีคนใช้ Twitter Blue มาปลอมแปลงบัญชี พร้อมกับทวีตเรื่องอินซูลินฟรี จนสร้างความเข้าใจผิดและแบรนด์ต้องรีบออกมาแถลงว่า นั่นคือบัญชีปลอมนะ แม้บัญชีปลอมนั้นจะมีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าอยู่หลังชื่อก็ตาม
04 ทวิตล่ม จำกัดการเข้าถึงโพสต์ สู่ผลกระทบเรื่องรายได้
ส่วนวีรกรรมล่าสุดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาคงจะเป็นเรื่อง #ทวิตล่ม ที่หลายคนเจอปัญหาระหว่างการใช้งาน ก่อนที่อีลอน มัสก์จะออกมาเฉลยว่ามีมาตรการจำกัดจำนวนโพสต์ที่มองเห็นได้ในแต่ละวัน โดยบัญชีที่ยืนยันตัวตนแล้ว (มีติ๊กสีฟ้า) สามารถอ่านได้ 10,000 โพสต์ต่อวัน บัญชีที่ยังไม่ได้ยืนยันตัวตน (ไม่มีติ๊กสีฟ้า) สามารถอ่านได้ 1,000 โพสต์ต่อวัน ส่วนบัญชีเปิดใหม่สามารถอ่านได้ 500 โพสต์ต่อวัน พร้อมบอกว่าสาเหตุที่ทำแบบนี้เพราะป้องกันการดึงข้อมูลในทวิตเตอร์ไปใช้ โดยเฉพาะบริษัทที่กำลังพัฒนา AI
แม้ทวิตเตอร์จะประกาศใช้มาตรการนี้แค่ชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าจะใช้มาตรการนี้ไปจนถึงตอนไหน ผู้ใช้งานอย่างเราๆ เลยเริ่มรู้สึกหวั่นใจ แถมยังใช้ชีวิตยากขึ้นเพราะกลัวจะติดลิมิตระหว่างวัน แต่ปัญหาไม่ได้จบลงเพียงแค่นั้น หากส่งผลกระทบต่อผู้คนในหลากหลายแวดวง ไม่ว่าจะเป็นการรายงานข่าวที่เราเล่าไปข้างต้น การโปรโมตผลงานของศิลปิน แฟนคลับที่อยากปั่นแฮชแท็ก แบรนด์ที่ต้องการติดตามฟีดแบ็กของผู้คนแบบเรียลไทม์ ไปจนถึงเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ นักสร้างสรรค์ นักการตลาด พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่รายได้หดหายไปจากความรวนของแพลตฟอร์มนี้ เพราะไม่สามารถโพสต์อัปเดตสินค้าและบริการ ติดต่อลูกค้าได้ยากลำบากขึ้น รวมถึงโฆษณาสินค้าและบริการที่ไม่รู้ว่าจะติดลิมิตก่อนไปถึงคนซื้อหรือเปล่า
แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้กระทบแค่ผู้ใช้งานเพียงอย่างเดียว โดยในเว็บไซต์ minute mirror ระบุว่า ซีอีโอของทวิตเตอร์ก็น่าจะกุมขมับอยู่เหมือนกัน แม้เธอจะคร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมโฆษณามาอย่างยาวนานและพยายามจะกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักโฆษณาให้กลับมาอีกครั้ง ทว่าข้อจำกัดนี้กลับกลายเป็นการขัดขาตัวเองเสียมากกว่า ส่วน จัสมิน เอนเบิร์ก (Jasmine Enberg) นักวิเคราะห์จาก Insider Intelligence มองว่า การจำกัดทวีตอาจกลายเป็นหายนะต่อธุรกิจได้ เพราะคงไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าจะโน้มน้าวให้ผู้ลงโฆษณากลับมายังแพลตฟอร์มที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนจากข้อจำกัดและความไม่แน่นอนของอีลอน มัสก์
ถ้าย้อนกลับไปในตอนที่อีลอน มัสก์บอกว่าอยากจะสร้างพื้นที่ที่มีเสรีภาพทางการพูด อยากจะลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับแพลตฟอร์ม แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับย้อนแย้งกันอย่างสิ้นเชิง จนเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าสิ่งที่เขาต้องพยายามกอบกู้ คือวิกฤตของแพลตฟอร์มทวิตเตอร์จริงๆ หรือวิกฤติที่เขาเพิ่งจะสร้างขึ้นมาเองกันแน่?
อ้างอิงจาก
Graphic Designer: Sutanya Phattanasitubon
Proofreader: Runchana Siripraphasuk