ก่อนหน้าที่มันจะเกิดขึ้น เราก็พอทราบว่ามันจะยุ่งเหยิง แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะยุ่งเหยิงขนาดนี้
ต้องบอกว่าตั้งแต่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เข้าซื้อบริษัททวิตเตอร์ (Twitter) ไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2022 ข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวโครงสร้างองค์กร แนวทางบริษัท โมเดลการทำธุรกิจ มุมมองของบริษัทและผู้ใช้งานต่อตัวแอปพลิเคชั่น และรวมไปถึงตัวแอปฯ ทวิตเตอร์เองออกมาทุกวัน วันหนึ่งหลายข่าวและบางข่าวก็สลับเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนทำให้คนอ่าน (และนักข่าว) ปวดหัวไปตามๆ กัน
เอาสรุปสั้นๆ: เข้ามาซื้อ, ไล่อดีต CEO, CFO และที่ปรึกษาระดับสูงออกภายในวันแรก, ไล่บอร์ดบริหารออกหมดเหลือเขาคนเดียว, ไล่พนักงานออกประมาณ 3,700 คน ซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของบริษัททางอีเมล, แล้วก็ไปจ้างคืนมาบางส่วนเพราะบางส่วนคนไม่พอ, บอกให้พนักงานทำงานตามฟีเจอร์ที่เขาต้องการให้ได้โดยเฉพาะเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้าหลังจากลูกค้าจ่ายเงิน 8 เหรียญ/เดือน เพื่อ verify บัญชีภายในวันที่ 7 พฤศจิกายนไม่งั้นโดนไล่ออก, เอาพนักงานจากเทสล่ามาช่วย, หัวหน้าทีมของทวิตเตอร์ถึงขั้นต้องเอาถุงนอนมานอนบนพื้นออฟฟิศ, เอาบริษัทออกจากตลาดหุ้น, หลังจากปล่อยติ๊กถูกสีฟ้า ตอนนี้กลายมีปัญชีปลอมเกิดขึ้นเยอะมาก ใครจ่ายเงินก็ได้ verified แล้ว, ไม่กี่วันต่อมาก็ออกฟีเจอร์ ‘Official’ ที่เป็นเหมือนอีกขั้นของการตรวจสอบบัญชี, สักพักสั่งเอา ‘Official’ ออก, วันต่อมาสั่งหยุดฟีเจอร์ติ๊กสีฟ้าเอาไว้ก่อน (หายใจลึก ๆ)
ยังไม่หมดตอนนี้ต้องขายหุ้นเทสล่ามาอีก 4,000 ล้านเหรียญ เพื่อเตรียมอุดรูรั่วของรายได้ที่หายไปจากบริษัทโฆษณาซึ่งหยุดใช้บริการทวิตเตอร์เพื่อรอดูท่าที และด้วยความที่เขาใช้เทคนิค ‘Leveraged Buyout’ หรือการเอาบริษัทไปค้ำประกันเพื่อกู้เงินมาซื้อ ทำให้บริษัทเป็นหนี้กว่า 13,000 ล้านเหรียญและบริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยราวๆ 1 พันล้านต่อปี ตามรายงานของ The New York Times ตอนนี้ผู้บริหารระดับสูงหลายรายยื่นใบลาออก และแม้มัสก์จะบอกว่าอยู่ช่วยกันก่อนก็ไม่มีใครฟังแล้ว
นั่นคือเรื่องที่เกิดขึ้นภายใน 2 อาทิตย์ ซึ่งถ้าลงลึกในรายละเอียดมันมีเยอะกว่านี้อีกมากเลย ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของสิ่งที่เกิดขึ้น จู่ๆ โดยไม่มีการประกาศล่วงหน้า วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2022 มัสก์ได้ออกมาพูดถึงแผนการแบบลงรายละเอียดว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่กับทวิตเตอร์คืออะไร (เห็นไหมเขามีแผน) ผ่านฟีเจอร์ Spaces ของทวิตเตอร์ (อารมณ์คล้ายกับ Clubhouse) บอกว่าเขาวางตำแหน่งของบริษัทไว้มากกว่าแค่การเป็นคู่แข่งของโซเชียลมีเดียทั่วไปอย่าง Facebook ซะอีก
มัสก์บอกว่าทวิตเตอร์จะสร้างรายได้จากคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (ซึ่งจะมีความคล้ายกลับ YouTube หรือ TikTok) และต่อจากนี้จะเริ่มจริงจังกับตลาดของวิดีโอที่ TikTok กำลังเป็นผู้นำอยู่ เขาอธิบายต่อถึงแผนการของการใช้ทวิตเตอร์เป็นตัวกลางประมวลผลการจ่ายเงิน เชื่อมต่อกับบัตรเครดิต/เดบิต และบัญชีธนาคาร (ที่คล้ายกลับ PayPal ที่เขาก็เคยทำมาก่อน) โดยเป้าหมายสุดท้ายคือการสร้างทวิตเตอร์ให้กลายเป็น ‘Everything App’ แอปฯ เดียวที่ทำได้ทุกอย่างนั่นเอง (คล้ายกับ WeChat โซเชียลมีเดียของจีนที่มีผู้ใช้งานหลักพันล้านคนเพื่อจะติดตามข่าว แชตหา โทรคุย จ่ายเงินทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ เรียกแท็กซี่และสั่งอาหาร)
การออกมาแถลงถึงเป้าหมายของบริษัทครั้งนี้ ดูเป็นการวาดภาพของตัวทวิตเตอร์ให้ชัดเจนขึ้นสำหรับในฝั่งของบริษัทโฆษณามากกว่าที่จะเป็นการชี้แจงให้กับพนักงานหรือผู้ใช้งานฟังว่ามันจะทำงานยังไงและมีรายละเอียดแบบไหนบ้าง เข้าใจว่าที่มัสก์ต้องออกมาทำแบบนี้ก็เพราะความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้นไม่สู้ดีมาตั้งแต่มัสก์เข้ามาคุมบริษัท สิ่งที่มัสก์พูดเสมอตั้งแต่ก่อนเข้ามาซื้อทวิตเตอร์คือเรื่องของ ‘Free Speech’ หรืออิสรภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็น ซึ่งทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่ไม่ตรงกันคือความหมายของมันมากกว่า
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ของทรัมป์ที่ออกมาพูดเสมอว่าเขาถูกโกงการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิง เป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิด จุดไฟแค้นในใจของคนที่สนับสนุนเขาจนเกิดเหตุประท้วงวุ่นวายกันเกิดขึ้น คำถามว่านี่คือ Free Speech ไหม? คนที่สนับสนุนทรัมป์ก็บอกว่าแน่นอน 100% คนที่ไม่สนับสนุนก็บอกไม่ใช่สินี่มันเป็นข่าวปลอม เป็นการปลุกระดมมากกว่า หรืออย่างถ้าอยากจะเหยียดคนอื่นด้วยคำพูดที่รุนแรงหล่ะนั่น Free Speech ไหม คนที่สนับสนุนก็บอกใช่สิ 100% แต่คนที่ถูกเหยียดบอกไม่ใช่นี่มันคือการเหยียดไม่ใช่ Free Speech แล้วถ้าคนที่ถูกเหยียดเหยียดกลับไปบ้างหล่ะ? นั่นไม่ใช่ Free Speech เหรอ?
ใครก็ตามที่สนับสนุนอิสระภาพทางคำพูดส่วนใหญ่ไม่ได้สนับสนุน ‘ทุกคำพูด’ แต่จะสนับสนุน ‘แค่บางคำพูด’ ที่ตัวเองอยากจะพูดหรือได้ยินเท่านั้น นี่แหละครับจึงกลายเป็นปัญหา ถามว่าวิธีแก้ปัญหาคือยังไง ก็อย่างที่ทวิตเตอร์ทำมาตลอดนั่นแหละครับ ควบคุมจัดการและดูแลคอนเทนต์ และทวิตจากผู้ใช้งาน แต่ว่ามัสก์ไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้ (และก่อนหน้านี้ก็บอกอีกว่าการแบนทรัมป์เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง) จึงกลายเป็นความไม่เชื่อใจที่เกิดขึ้นสำหรับบริษัทโฆษณาทั้งหลาย จึงตัดสินใจหยุดโฆษณาเอาไว้ก่อนจนกว่าทุกอย่างจะคลี่คลายและชัดเจนไปกว่านี้
แต่ทวิตเตอร์อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีโฆษณาครับ โดยเฉพาะตอนนี้จะไปหวังพึ่ง Twitter Blue ที่ติ๊กสีน้ำเงินให้คนจ่ายเดือนละ 8 เหรียญก็ยังไม่รู้จะออกลูกผีลูกคน จะมีคนใช้ไหม ใช้มากแค่ไหน และหนี้ที่ไปยืมมาซื้อบริษัทก็ต้องจ่าย แม้จะลดพนักงานลงไปครึ่งหนึ่งก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่ขาดทุนประมาณ 3 ล้านเหรียญ/วัน จากรายงานของ Reuters จึงไม่แปลกใจในการออกมาแถลงข่าวก็พูดว่าพวกเขาจะยังคงใช้มาตรการเดิมในการดูแลคอนเทนต์ที่อยู่บนทวิตเตอร์ต่อไป
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนทวิตเตอร์มัสก์ได้อธิบายว่า
“อัตราการวิวัฒนาการทวิตเตอร์จะเป็นก้าวที่เปลี่ยนแปลงเยอะมากเทียบกับที่เป็นมาในอดีต อย่างที่รู้ผมเป็นนักเทคโนโลยีและสามารถทำให้มันไปได้เร็วขึ้น และนี่คือสิ่งที่คุณจะเห็นในทวิตเตอร์”
ใช่ครับนอกจากจะเปลี่ยนเร็วแล้ว ยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาด้วย!
ตอนนี้หลังจากที่ไล่พนักงานครึ่งบริษัทออก ไปขอบางส่วนกลับมาใหม่ ปล่อยฟีเจอร์ติ๊กถูกสีน้ำเงินแล้วก็หยุด ปล่อยฟีเจอร์ ‘Official’ account (ตัวสีเทาที่เขียนด้านล่างบัญชีว่าเป็นบัญชีที่ถูกต้อง – แล้วมีติ๊กถูกสีน้ำเงินข้างบนอีก?) แล้วก็ถอดออก แล้วตอนนี้เหมือนจะใส่คืนกลับไปแล้ว
หลังจากนี้จะเริ่มมี ‘Pay-Walled’ สำหรับวิดีโอ คล้ายกับ Onlyfans ที่คนที่สร้างคอนเทนต์จะตั้งได้ว่าวิดีโอนี้ดูได้แต่ต้องจ่ายเงินมาก่อนแบบรายเดือนเป็นสมาชิกกับบัญชีดังกล่าว ส่วนทวิตเตอร์ก็จะเก็บบางส่วนของค่าสมาชิกนั้นเอาไว้ แต่นั้นยังไม่หมด แผนการของเขายังพยายามสร้างทวิตเตอร์ให้กลายเป็นตัวกลางการจ่ายเงินออนไลน์ ผูกกับบัตรเครดิต/เดบิต เพื่อโอนจ่ายเงินให้กับคนอื่นและธุรกิจต่างๆ ได้ พูดไปก็คล้ายกับธุรกิจเดิม Paypal ที่เขาทำอยู่ช่วงหนึ่งก่อนจะถูกซื้อไปโดย eBay ช่วงต้นยุค 2000’s เช่นกัน
ทวิตเตอร์ได้ลองให้บริการด้านการเงินมาบ้างนิดๆ หน่อยๆ ก่อนที่มัสก์จะเข้ามาซื้อกิจการ ก่อนหน้านี้มีการเพิ่มฟีเจอร์ให้ทิปกับคนสร้างคอนเทนต์ด้วยเงินสดหรือคริปโต คอนเทนต์ครีเอเตอร์สามารถเปิดระบบสมาชิกจดหมายข่าวแบบรายเดือนได้ แต่ก็ไม่ได้มีระบบบริการธุรกรรมการเงินแบบเต็มรูปแบบอย่างที่มัสก์จินตนาการเอาไว้ และอยากให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อของบนทวิตเตอร์ได้ง่ายๆ ด้วยการกดคลิ๊กเดียวด้วย (เหมือน Amazon)
สำหรับ Twitter Blue บริการรายเดือน 8 เหรียญที่นอกจากจะได้ติ๊กถูกสีน้ำเงินและ verify บัญชีแล้ว ยังสามารถโพสต์คลิปยาวกว่าปกติได้ด้วย อาจจะนานหลายชั่วโมงเลย และนำไปสู่การอธิบายต่อว่าทำไมรายเดือน 8 เหรียญนี้จะช่วยลดบอต หรือบัญชีที่ไม่ใช่มนุษย์ได้มากขึ้นบอกว่าองค์กร สถาบัน หรือใครก็ตามที่จะสร้างบัญชีปลอมไม่อยากจ่ายเงิน 8 เหรียญต่อเดือน เพราะยิ่งบัญชีเยอะเป็นล้านเดือนหนึ่งก็จ่าย 80 ล้านเหรียญซึ่งสุดท้ายก็จะ ‘หยุดพยายามไปเอง’ ส่วนบัญชีที่ไม่จ่ายเงินก็ยังใช้ได้ แต่จะมีคนเห็นยากขึ้น คล้ายกับถูกระบบกรองว่าเป็นโพสต์ที่ไม่ได้มีการจ่ายเงินแล้วคัดไปอยู่ท้ายๆ (ถ้าเปรียบกับอีเมลก็ไปอยู่ในกล่องขยะ) ซึ่งก็จะยังมีอยู่แต่หาไม่ค่อยเจอ
แต่ปัญหาคือการจ่ายเงินทำให้ใครก็ได้ที่จ่ายเงินได้ verify ไป สมมุติผู้เขียนไม่ได้จ่ายเงิน แต่มีคนหนึ่งสร้างอีกบัญชีขึ้นมาโดยใช้ชื่อเดียวกันแล้วจ่ายเงิน กลายเป็นว่าบัญชีเรากลายเป็นประหนึ่งบัญชีปลอมซะงั้น และมันก็เกิดขึ้นจริงๆ หลังจากที่เปิดตัว Twitter Blue ก็มีบัญชีมากมายที่ปลอมเป็นคนนั้นคนนี้รวมถึงมีคนปลอมเป็นมัสก์แล้วทวีตเรื่อยเปื่อยจนสุดท้ายถูกแบนไปด้วย
แล้วนี่ไม่ใช่ Free Speech เหรอ? ทำไมถูกแบนล่ะ? คนที่ทำก็บอกใช่สิฉันจะพูดอะไรก็ได้ เพราะนี่คือสิทธิ์ของฉัน คนที่ไม่เห็นด้วยบอกไม่ได้สินี่มันเป็นการปลอมเป็นคนอื่น มันสามารถสร้างความแตกตื่นได้ แล้วแบบนี้การพูดโดยไม่ได้มีหลักฐาน และเป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิดอย่างทรัมป์ที่สร้างความแตกตื่นก็ไม่ควรเป็น Free Speech สิ? ถูกแบนไปก็ถูกแล้วสิ? แต่การที่มัสก์บอกว่าการแบนทรัมป์ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องล่ะ? สรุป Free Speech ของมัสก์คือยังไงกันแน่?
เมื่อถูกถามว่าเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าบริษัทหลายแห่งหยุดโฆษณาจะทำยังไงต่อ เขาตอบว่า
“ผมเข้าใจนะถ้าคนอยากจะรอดูสักแป๊บหนึ่งเพื่อจะดูว่ามันจะไปทางไหนต่อ ที่จริงแล้วเราเข้มงวดเกี่ยวกับเรื่องคอนเทนต์แย่ๆ และบอตต่างๆ มากขึ้นไม่ใช่น้อยลง จากการสังเกตของผมกับทวิตเตอร์ที่ผ่านมา 2-3 สัปดาห์คือคอนเทนต์มันดีขึ้นนะ”
เขาถึงขั้นไปตั้งโพลบททวิตเตอร์ถามว่า “ตอนนี้เห็นบอต/สแปม/บัญชีปลอม ลดลงเยอะมากไหมบททวิตเตอร์?” มีคนมาตอบ 2.1 ล้านคน ผลที่ออกมาคือ 51% บอกว่าใช่เห็นน้อยลง และ 49% บอกว่าไม่มากขึ้นกว่าเดิม แต่มันน่าสนใจตรงที่มีคนมาตอบว่าเห็นมากกว่าเดิม และเป็นบัญชีที่มีติ๊กถูกสีน้ำเงินด้วยตอนนี้แล้วโพสรูปบัญชีชื่อ ‘Tesla Live’ ที่เป็นสแปมหลอกให้คนไปเสียเงินแล้วมีติ๊กถูกสีน้ำเงินข้างหลังด้วย
ตอนนี้มัสก์มีงานที่ต้องทำอีกเยอะมาก แต่ดูเหมือนทุกอย่างมันกระจัดกระจายไปหมด แต่อย่างน้อยเขาก็มีแผนที่จะปลดล็อกทวิตเตอร์ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
มีคำพูดหนึ่งของไมก์ ไทสัน นักมวยอาชีพที่โด่งดังเคยกล่าวไว้ว่า
“ทุกคนมีแผนทั้งนั้น [ก่อนขึ้นชก] จนกระทั่งโดนต่อยเข้าที่ปาก”
เพราะหลังจากเจ็บตัวแล้วเท่านั้นถึงจะรู้ว่าแผนที่วางมาอาจจะใช้ไม่ได้ และบางทีศึกนี้ไม่ควรขึ้นสังเวียนมาตั้งแต่แรก
อ้างอิงจาก