พนักงานกว่าครึ่งหนึ่งถูกไล่ออก มาพร้อมกับนโยบายเก็บเงินรายเดือนบัญชีที่มีเครื่องหมายยืนยันตัวตน
นี่คือความเปลี่ยนแปลงของทวิตเตอร์ เมื่อเจ้านกสีฟ้าตกอยู่ในกำมือของชายที่รวยที่สุดในโลก อย่างอีลอน มัสก์ (Elon Musk)
วันแรกที่ดีลการซื้อขายกิจการสำเร็จ มัสก์แบกอ่างล้างหน้าเข้าไปในสำนักงานใหญ่ทวิตเตอร์ ขณะที่พนักงานอีกหลายพันคนต้องเก็บข้าวของออกจากบริษัท เพราะนโยบายลดจำนวนคนของมัสก์ ไม่เพียงเท่านั้น ในเวลาราว 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มัสก์ยังเปลี่ยนแปลงนโยบายมากมาย เช่น เก็บเงินรายเดือนกับบัญชีที่มีเครื่องหมายยืนยันตัวตน การเปลี่ยนแปลงนโยบายของคอนเทนต์วิดีโอ เป็นต้น
เมื่อไม่มีอะไรหยุดยั้งชายที่รวยที่สุดในโลกได้ เราจึงอยากชวนมาดูกันว่า ที่ผ่านมามัสก์ทำอะไรกับทวิตเตอร์ไปบ้าง เพื่อให้เห็นว่า ทิศทางของทวิตเตอร์จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้
27 ตุลาคม มัสก์เทคโอเวอร์ทวิตเตอร์อย่างสมบูรณ์
หลังจากคุกกรุ่นกันมานานหลายเดือน อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ก็ได้เป็นเจ้าของทวิตเตอร์แล้ว โดยเขาได้เปลี่ยนไบโอบนโปรไฟล์ทวิตเตอร์ของตัวเองว่าเป็น ‘Chief Twit’ พร้อมกับโพสต์วิดีโอบนทวิตเตอร์ เป็นภาพตัวเองแบกอ่างล้างหน้าเข้าไปในสำนักงานใหญ่ของทวิตเตอร์ พร้อมกับคำบรรยายว่า “Entering Twitter HQ — let that sink in!”
31 ตุลาคม มัสก์ตั้งตัวเองขึ้นเป็น CEO เพียงหนึ่งเดียวของทวิตเตอร์
อีลอน มัสก์ แต่งตั้งตัวเองขึ้นเป็น CEO แห่งทวิตเตอร์ และปลดหลังจากปลดบอร์ดบริหารและเบรต เทย์เลอร์ (Bret Taylor) ประธานบริษัทออก และปลดผู้บริหารจำนวนหนึ่งทันทีที่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
1 พฤศจิกายน ประกาศว่าจะชาร์จเงินบัญชีที่มีเครื่องหมายยืนยันตัวตน 300 บาท/เดือน
ถ้าใครเล่นทวิตเตอร์บ่อยๆ จะคุ้นชินกับเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า หรือบลูมาร์ก ซึ่งอยู่หลังชื่อในทวิตเตอร์ และเป็นสิ่งที่ใช้ในการยืนยันตัวตนว่าบัญชีนั้น เป็นของคนดังกล่าวจริงๆ ส่วนมากมักเป็นดารา นักแสดง คนบันเทิง นักข่าว นักการเมือง เป็นต้น
รายงานระบุว่า จากบรรดาผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายวันกว่า 230 ล้านบัญชี มี 420,000 บัญชีที่มีเครื่องหมายยืนยันตัวตน
แต่หลังจากที่มัสก์เข้าครองทวิตเตอร์ เขาก็มีแผนว่าจะเก็บเงินบัญชีที่มีเครื่องหมายยืนยันตัวตนในราคา 8 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 300 บาทต่อเดือน โดยเขาทวีตว่า “ระบบศักดินาและชนชั้นกรรมกรสำหรับผู้ที่มีหรือไม่มีเครื่องหมายบลูมาร์กในทวิตเตอร์นั้นเป็นเรื่องไร้สาระมาก พลังของประชาชน! เก็บเงินคนมีเครื่องหมาย 8 ดอลลาร์/เดือน”
1 พฤศจิกายน พิจารณาการเรียกเก็บเงินสำหรับคลิปวิดีโอ
มีรายงานว่า มัสก์กำลังพิจารณาเรียกเก็บเงินสำหรับเนื้อหาวิดีโอ โดยจะอนุญาตให้ผู้คนโพสต์วิดีโอและเรียกเก็บเงินจากผู้รับชมในการดูวิดีโอเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ตามรายงานจากสำนักข่าว Washington Post ระบุว่า แผนดังกล่าวถูกทำเครื่องหมายภายเอาไว้ว่า “มีความเสี่ยงสูง” โดยมีข้อความระบุว่า“เนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ ปัญหาความน่าเชื่อถือของผู้สร้าง/ผู้ใช้ และการปฏิบัติตามกฎหมาย”
2 พฤศจิกายน ประกาศว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเนื้อหา หรือการคืนสถานะบัญชีที่ถูกแบน
มัสก์ให้สัญญาว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเนื้อหา หรือการคืนสถานะบัญชีที่ถูกแบน เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ จนกว่าจะมีการประชุมสภาการตรวจสอบเนื้อหาที่ประกาศใหม่ เขากล่าวว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย ‘อีก 2-3 สัปดาห์’ สำหรับกระบวนการใหม่ในการดูแลการคืนสถานะบัญชี
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ทวิตเตอร์ได้พิจารณาให้มีบัญชีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่แนวเดียวกับ OnlyFans บนแพลตฟอร์ม แต่โครงการนี้ทำให้ความกังวลว่าทวิตเตอร์จะไม่สามารถตรวจสอบการบริการได้อย่างถูกต้องและถี่ถ้วน เพื่อคัดกรองเนื้อหาผิดกฎหมาย เช่น การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
4 พฤศจิกายน ทวิตเตอร์ถูกฟ้อง กรณีไล่พนักงานจำนวนมากออกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า
หลังจากที่อีลอน มัสก์เข้าคุมทวิตเตอร์ กระแสข่าวว่าพนักงานโดนปลดก็มีมาแทบทุกวัน โดยหลายกระแสรายงานว่า มัสก์ปลดพนักงานออกมากถึง 50% ของพนักงานทั้งหมดราว 7,500 คน เพื่อที่จะลดต้นทุนของบริษัททวิตเตอร์
อย่างไรก็ดี กฎหมายสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานระบุว่า บริษัทขนาดใหญ่ไม่สามารถเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากได้ หากไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน
ด้วยเหตุนี้ทำให้ทวิตเตอร์ถูกฟ้องร้อง ด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) โดยพนักงานบริษัทนั่นเอง
5 พฤศจิกายน มีตัวเลขยืนยันออกมาว่าพนักงานทวิตเตอร์ 50% ของทั้งหมดถูกไล่ออก
การไล่ออกไม่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน (ก่อนจะมีการฟ้องร้อง) แต่ชาวโลกมารู้กันชัวร์ถึงจำนวนตัวเลขพนักงานที่ถูกไล่ออกก็ในวันที่ 5พฤศจิกายนนี้ โดยโยเอล โรธ (Yoel Roth) หัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยและความซื่อสัตย์ของทวิตเตอร์ทวิตเตอร์ เป็นคนแรกที่ออกมาทวีตยืนยันว่า บริษัทได้ทำการเลิกจากพนักงาน 50% ของทั้งหมด แม้จะไม่มีตัวเลขยืนยันชัดเจน แต่ก็พอประเมินได้คร่าวๆ ว่ามีพนักงานถูกไล่ออกไปราว 3,700 คน
7 พฤศจิกายน ประกาศว่าบัญชีที่แอบอ้างเป็นผู้อื่นเพื่อล้อเลียน จะถูกแบนถาวร หลังมีคนล้อเลียนเป็นอีลอน มัสก์ จำนวนมาก
คงสร้างความไม่พอใจให้มัสก์น่าดู เพราะเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ มัสก์ทวีตข้อความว่า “เดินหน้าต่อ บัญชีทวิตเตอร์ไหนที่เกี่ยวโยงกับการปลอมแปลงเป็นผู้อื่นโดยไม่มีเครื่องหมายยืนยันตัวตนว่าเป็นการ ‘ล้อเลียน’ จะถูกแบนถาวร ซึ่งกระแสนี้เกิดขึ้นหลังจากที่คนจำนวนมากแกล้งปลอมเป็นบัญชีของมัสก์ เพื่อปั่นป่วนเขานั่นเอง
7 พฤศจิกายน “การยืนยันตัวตนอย่างแพร่หลายจะช่วยทำให้สื่อมีประชาธิปไตย และให้อำนาจกับเสียงของผู้คน” มัสก์ทวิต แต่นักข่าวและนักเคลื่อนไหวมองว่า เสรีภาพจะยิ่งถูกลิดรอนไป
ประเด็นเรื่องการยืนยันตัวตน เป็นสิ่งที่หลายคนไม่พอใจ แม้ฝ่ายมัสก์จะมองว่า การให้ยืนยันตัวตน เป็นการการันตีว่า เราจะไม่ได้รับข่าวสารโคมลอย
“การยืนยันตัวตนอย่างแพร่หลายจะช่วยทำให้สื่อมีประชาธิปไตย และให้อำนาจกับเสียงของผู้คน” คือข้อความที่เขาทวีตไปเมื่อวานนี้ (7 พฤศจิกายน)
แต่ผู้คนก็แย้งว่า มีนักข่าว สื่อพลเมือง นักเคลื่อนไหว และนักกิจกรรมอีกมากมายในหลายประเทศที่พึ่งพาการใช้ทวิตเตอร์ในการเคลื่อนไหว ขณะเดียวกัน เงิน 300บาทต่อเดือนก็เป็นจำนวนที่มากสำหรับหลายคน
อย่าง นิค เฮดลีย์ (Nick Hedley) นักข่าวและคอมลัมนิสต์สายการเงิน ที่ตอบข้อความของมัสก์ว่า “ไม่แน่ใจว่าคุณตระหนักถึงเรื่องนี้มาน้อยแค่ไหนนะ (เนื่องจากว่าคุณเป็นชายที่รวยที่สุดในโลก) แต่ราว 62% ของประชากรโลกไม่ได้มีกำลังจ่ายเพื่อ Twitter Blue เพราะงั้น แม่งจะเป็นการช่วย ‘มอบอำนาจให้กับเสียงของผู้คน’ ได้ยังไงวะ”
นี่เป็นเวลาเพียงราว 2 สัปดาห์เท่านั้นที่มัสก์ขึ้นมาครองทวิตเตอร์ แต่ความวุ่นวายปั่นป่วนที่เกิดขึ้นยังมีอีกมาก ดังนั้น เราก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับโลกทวิตเตอร์ต่อไปในอนาคต
อ้างอิงจาก