“เสาสัญญาณ 5G ทำให้ COVID-19 แพร่ระบาด”
“COVID-19 เป็นอาวุธชีวภาพที่มาจากต่างชาติ หลุดออกมาจากห้องทดลองในจีน”
“ทหารสหรัฐฯ เป็นคนนำไวรัสมาสู่จีน “
เคยได้ยินเรื่องพวกนี้จากในกรุ๊ปไลน์ หรือคนรอบตัวเคยแชร์มาให้เราดูรึเปล่า? องค์การอนามัยโลกประกาศว่า ตอนนี้ได้เกิดการระบาดของข้อมูลปลอมเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา หรือที่เรียกว่า infodemic ซึ่ง ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 จำนวนมากกำลังถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ และว่ากันว่าคนจำนวนมากยังเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดเช่นกัน The MATTER จะพาไปหาคำตอบว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
ทฤษฎีสมคบคิด คือ อะไร? และ ทำไมเราถึงเชื่อ?
ทฤษฎีสมคบคิด คือ เรื่องเล่าหรือบทความที่ถูกสร้างขึ้นจากคนหรือกลุ่มคน โดยมีการนำเหตุการณ์ต่างๆ มาเชื่อมโยงกัน เพื่อให้คุณหรือให้โทษแก่คนหรือกลุ่มคนอื่น โดยอาจจะมีข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน หรืออาจมีการนำความเชื่อบางส่วนมารองรับ เพื่อทำให้มันมีความน่าเชื่อถือ
คนจำนวนมากที่ยังเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด อย่างในสหรัฐฯ งานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก University of Chicago ที่วิเคราะห์ผลการสำรวจออนไลน์และเผยแพร่เมื่อปี ค.ศ.2014 เผยว่า ชาวสหรัฐฯ จำนวนกว่าครึ่งเห็นด้วยกับสมคบคิดทั่วไปอย่างน้อย 1 ทฤษฎี ส่วนงานวิจัยจาก University of Cambridge เมื่อปี ค.ศ.2018 เผยว่า ชาวสหราชอาณาจักรกว่า 60% เชื่อทฤษฎีสมคบคิดอย่างน้อย 1 ทฤษฎี ใน 10 ทฤษฎีที่อยู่ในการสำรวจ
นักวิชาการในหลายสาขาได้พยายามอธิบายเหตุผลที่คนเราเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด อย่างในด้านจิตวิทยา ก็มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ถึง 3 กลุ่ม ได้แก่
1.คนมีความปราถนาในความเข้าใจและความแน่นอน (The desire for understanding and certainty)
ธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมองหาคำอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ โดยการตั้งคำถามต่าง เช่น เกิดขึ้นไดอย่างไร? เพราะอะไร? และไม่ใช่แค่ชอบตั้งคำถามเท่านั้น แต่ยังชอบหาคำตอบแบบเร็วๆ ด้วย โดยคำตอบที่ได้มาอาจไม่จำเป็นต้องถูกต้อง แต่มักเป็นคำตอบที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ หรือ สอดคล้องกับมุมมองที่เรามีต่อโลกมากกว่า เช่น ที่ฝนมันตก เพราะว่าเรามักโชคร้ายอยู่แล้ว กล่าวได้ว่า เราทุกคนล้วนมีความเชื่อบางอย่างที่ไม่จริงติดตัว และทฤษฎีสมคบคิดก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น
2.คนมีความปราถนาในการควบคุมและความปลอดภัย (The desire for control and security)
ทุกคนต้องการที่จะรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถในการควบคุมชีวิต เช่น บางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยเมื่อเป็นคนขับรถมากกว่าเป็นผู้โดยสาร เป็นต้น แต่แม้จะเป็นนักขับรถขั้นเซียน ก็มีโอกาสเจอกับอุบัติเหตุทางถนนได้เช่นกัน เพราะมนุษย์ไม่ได้ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ราวกับพระเจ้า เราพร้อมเจอกับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ตลอดเวลา ผู้ที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดก็เช่นเดียวกัน พวกเขารู้สึกเหมือนตัวเองมีอำนาจในการควบคุมและรู้สึกปลอดภัย
หากจะให้ยกตัวอย่างก็คือ เหมือนเราเห็นว่าอุณหภูมิของโลกกำลังสูงขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ และเราอาจต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพื่อเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตัวเอง และช่วยเหลือโลก แต่เราอาจเลือกที่จะเชื่อคำพูดของผู้เชี่ยวชาญหรือนักการเมืองที่บอกว่าโลกร้อนเป็นเรื่องหลอกลวงมากกว่า เพราะทำให้เรารู้สึกสบายใจกว่า และยังคงรักษาไลฟ์สไตล์ที่สุขสบายของตัวเองต่อไป
3.คนมีความปราถนาในการคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ที่เป็นบวก (The desire to maintain a positive self-image)
คนมีความต้องการที่จะคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ที่ดี โดยคนที่มีความรู้ลึกเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิด อาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมีความรู้ที่คนอื่นไม่รู้
โซเฟีย โรเซนเฟลด์ (Sophia Rosenfeld) อาจารย์ประวัติศาสตร์ จาก University of Pennsylvania ก็ได้อธิบายในหนังสือ Democracy and Truth ของเธอว่าทฤษฎีสมคบคิดเติบโตในสังคมได้ เพราะช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างชนชั้นปกครองและชนชั้นถูกปกครอง
และเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้คนชนชั้นถูกปกครองบางคนปฏิเสธคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงขาดการติดต่อสื่อสารกับคนอื่น อีกทั้งได้สร้างญาณวิทยาประชานิยม (populist epistemology) ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมที่อยู่ฝั่งตรงข้ามขึ้นมา
พวกเขามีแนวโน้มที่จะปฏิเสธวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์ บางคนเลือกที่จะเชื่อความจริงใจทางอารมณ์ (emotional honesty) การหยั่งรู้ (intuition) และความจริงของใจ มากกว่า ความจริงเชิงข้อเท็จจริง (factual veracity) และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การทดสอบ และการรับรอง
ทำไมทฤษฎีสมคบคิดถึงเกิดเยอะในช่วงที่เกิดวิกฤต?
ปรากฎการณ์การเติบโตของทฤษฎีสมคบคิดที่หาคำตอบเกี่ยวกับการระบาดของโรคไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างในเหตุการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ.1918 ก็มีการกล่าวหาเรือดำน้ำของเยอรมันว่าเป็นตัวทำให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัส หรือเหตุการณ์การณ์โรคระบาดในเมืองมิลาน อิตาลี เมื่อปี ค.ศ.1630 ซึ่งความเชื่อในท้องถิ่นผสมกับความตื่นตระหนกที่แพร่กระจายในวงกว้าง ทำให้มีการสอบสวนและประหารประชาชน 2 คนที่ถูกกล่าวหาลอยๆ ว่าเป็นคนแพร่โรค
มีหลายเหตุผลที่ทำให้ทฤษฎีสมคบคิดประสบความสำเร็จ และสามารถส่งต่อไปยังคนในวงกว้างได้ ไมว่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติของคนที่มักต้องการทำให้สถานการณ์ที่มีความซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้ มีความเข้าใจง่ายและสมเหตุสมผล อย่างความพยายามในการทำความเข้าใจการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้คนเชื่อทั้งทฤษฎีสมคบคิด
หนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดที่ได้รับความนิยมในช่วงนี้ คือ ทฤษฎีเชื่อมโยง 5G กับการระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นทฤษฎีมีลักษณะต่อต้านวิทยาศาสตร์ ความจริง และคำอธิบายของผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งยังคงมีจำนวนคนเชื่อที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีทฤษฎีต้านออกมาเป็นเวลาสักพักแล้วก็ตาม เหตุผลอาจเกิดจากคนเริ่มขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล และตั้งคำถามกับประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล ในการจัดการกับ COVID-19
ความแตกต่างระหว่างความจริงทางวิทยาศาสตร์ และทฤษฎีสมคบคิด เริ่มมีความไม่ชัดเจน เมื่อรัฐบาลของบางประเทศสนับสนุนแนวทางในการควบคุมโรคระบาดแบบที่ยังไม่ได้รับการยอมรับ มากกว่าแบบที่มีหลักฐานรองรับแล้ว อาทิ การทดลองใช้ยาต้านมาลาเรียรักษาโรค COVID-19 นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการที่การแทรกแซงเชิงนโยบายที่ดูเหมือนจะออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหา แต่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย
วิกฤต COVID-19 อาจทำให้คนรู้สึกว่าโลกกำลังล่มสลาย และเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องหยุดมัน พวกเขาพึ่งพาตำนาน ศาสนา และวัฒนธรรมเพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าสังคมจะยังคงอยู่ในอนาคต ไม่อย่างนั้น พวกเขาจะเผชิญหน้ากับโรคระบาดด้วยความวิกลจริต อีกทั้งทำให้พวกเขาหวาดระแวงได้ง่ายอีกด้วย ทฤษฎีสมคบคิดจึงเกิดขึ้นมาได้ เมื่อแนวคิดเกี่ยวกับอนาคตที่มีร่วมกันได้พังลงไป
ทฤษฎีสมคบคิดส่งผลอย่างไรต่อเรา?
เมื่อเร็วๆ นี้ ในสหราชอาณาจักรเกิดคดีเผาทำลายเสาสัญญาณโทรศัพท์ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ในช่วงที่มีการแพร่กระจายของทฤษฎีต่างๆ ที่เชื่อมโยงเครือข่าย 5G กับการระบาดของโรค COVID-19 เช่น เทคโนโลยี 5G ทำให้ COVID-19 ระบาดเร็วขึ้น เป็นต้น
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีหลายภาคส่วนที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อหยุดการแพร่กระจายของทฤษฎี อย่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้เรียกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ มาคุย เพื่อหารือว่าจะหยุดยั้งการแพร่กระจายของทฤษฎี 5G ที่ไม่มีหลักฐานมารองรับได้อย่างไร ส่วนบางแพลตฟอร์มอย่าง Youtube ก็เริ่มมีการปรับนโยบายเพื่อปราบปราบการแพร่กระจายของทฤษฎี 5G เช่นกัน
ทฤษฎี 5G ได้รับความสนใจในสังคมออนไลน์มาก บางสื่อก็มีส่วนกระตุ้นให้ทฤษฎีเป็นที่พูดถึงมากขึ้น เช่น Daily Star ที่ลงบทความ เรื่อง “Coronavirus: Fears 5G wifi networks could be acting as ‘accelerator’ for disease” เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังสหราชอาณาจักรประกาศให้ประชาชนอยู่ในบ้าน
ดาราและคนดังที่มีผู้ติดตามจำนวนมากบนออนไลน์ ก็มีส่วนในการสนับสนุนความโด่งดังของทฤษฎีเหล่านี้เช่นกัน อย่าง อแมนด้า โฮลเดน (Amanda Holden) หนึ่งในคณะกรรมการรายการ Britain’s Got Talent ได้ทวีตลิงก์เกี่ยวกับทฤษฎี โดยในภายหลังตัวแทนของเธอได้ออกมาบอกว่าเธอไม่ได้ตั้งใจแชร์และไม่ได้เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด
อย่างทฤษฎีที่ว่า COVID-19 หลุดออกมาจากห้องทดลองในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน หรือ ทฤษฎีที่ว่าทหารสหรัฐฯ เป็นคนนำไวรัสมาสู่จีน ก็อาจเป็นทฤษฎีที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ และหลักฐานที่นำมารองรับทฤษฎีก็มีข้อบกพร่องบางอย่างเช่นกัน
การเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดจึงเป็นเรื่องที่อันตราย นำไปสู่ปัญหา ตั้งแต่การระบาดของข้อมูลปลอม สร้างความเกลียดชัง เลวร้ายที่สุด คือ ทำให้เกิดการก่อการร้าย หรือการใช้ความรุนแรงบางอย่าง
เราจะปกป้องตัวเองและคนรอบข้างจากทฤษฎีสมคบคิดได้อย่างไร?
เราสามารถรู้เท่าทันทฤษฎีสมคบคิด และไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของมันได้ โดยการตั้งคำถามกับข่าวสารที่ได้รับมาบนโลกออนไลน์ หรือ ออฟไลน์ เช่น เรารู้จักองค์กรข่าวที่แชร์เรื่องพวกนี้มาไหม? ข้อมูลน่าเชื่อถือรึเปล่า? สไตล์การเขียนเป็นแบบมืออาชีพเขียนหรือไม่? หรือมีแรงจูงใจทางการเมืองหรือเปล่า?
อีกทั้งยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทฤษฎีสมคบคิดให้กับคนอื่นได้ โดยการเตือนให้พวกเขารู้ว่ากำลังถูกทำให้เข้าใจผิด หรือ หักล้างข้อโตแย้งที่มีข้อมูลผิดๆ มารองรับ เมื่อพวกเขามองเห็นข้อบกพร่องของทฤษฎีสมคบคิดแล้ว พวกเขาก็จะต้านทานมันได้มากขึ้น
หรือจะใช้วิธีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้พวกเขาเห็นว่าทฤษฎีหล่านั้นไม่เป็นความจริง (Fact-based debunkings) อธิบายเทคนิคที่ทำให้เข้าใจผิด หรือ การให้เหตุผลที่บกพร่องในทฤษฎีมคบคิด (Logic-based debunkings) ลดความน่าเชื่อถือของนักทฤษฎีสมคบคิด (Source-based debunkings) ทำให้พวกเขาสนใจเป้าหมายของทฤษฎีสมคบคิด (Empathy-based debunking) หรือ ทำให้เกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ได้
แต่แน่นอนว่าความเชื่อของแต่ละคนเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ดังนั้น การทำให้คนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดมองเห็นข้อผิดพลาดของทฤษฎีเหล่านั้นอาจต้องใช้เวลาและความพยายามในระดับนึง กว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
อ้างอิง
climatechangecommunication.org