ระยะหลัง คุณเคยสังเกตความฝันของตัวเองบ้างไหม…
นับตั้งแต่วิกฤตการเมือง มาจนถึงวิกฤตโรคระบาด ‘ความฝัน’ หมายถึงความฝันในยามหลับของคุณเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนแปลงไปบ้างรึเปล่า? เมื่อเราเผชิญกับภาวะบางอย่างร่วมกัน เผชิญความลำบาก ปัญหา และความกดดันเดียวกัน… เราอาจหลับฝัน เหมือนๆ กัน มีความฝันร่วมกัน เหมือนกันอยู่ก็ได้
ดินแดนแห่งความฝันเป็นโลกอันแสนซับซ้อน ก่อนนี้เราเชื่อว่าการรู้สำนึก การตื่นของเราคือการรับรู้ที่สมบูรณ์แบบ แต่ถึงยุคของซิกมันต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ฟรอยด์กลับทำให้เราเห็นว่าจิตใจภายในของเราซับซ้อนและล้ำลึกกว่านั้นมาก ดินแดนการแห่งการหลับไหลกลับเป็นช่วงเวลาที่ตัวตน ความกลัว ความกังวลและความปรารถนาที่ถูกกดข่มไว้ปูดโปนเผยตัวออกมา หลังจากฟรอยด์ก็มีคาร์ล กุสตาฟ จุง (Carl Gustav Jung) ที่บอกว่ามนุษย์เราอาจจะมีสำนึกบางอย่างร่วมกัน เรามีเรื่องเล่า มีความเปรียบ ความหมายที่คล้ายกันแม้จะอยู่คนละมุมโลก และแน่นอน ความฝันในยามหลับก็พ้องกันอย่างน่าประหลาดใจ
คำว่าความฝันมวลรวม หรือจิตไร้สำนึกร่วม (collective unconscious) ของจุงนั้น ฟังดูเป็นเรื่องเหนือจริง เหมือนการฝันของเราคือการเดินทางเข้าสู่อาณาเขตที่มนุษย์ชาติเชื่อมโยงเข้าหากัน อธิบายไว้แบบนั้นก็โรแมนติกดี แต่อีกด้านก็เป็นทำนองว่า มนุษย์เราเผชิญเรื่องราวบางอย่างคล้ายกัน มีวิธีการมองโลก ตีความธรรมชาติและความเป็นไปของชีวิตที่ไม่หนีกันมากนัก สายน้ำให้ชีวิต ลมฝนให้ความเจริญงอกงามแต่ก็ลงโทษเราได้ มีการเกิดและการดับเป็นวงจร เป็นคาบเฉกเช่นห้วงเวลาและฤดูกาล การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดิ้นรนต่อผู้มีอำนาจ เติบโตและร่วงโรยล้วนเป็นสิ่งที่เราเผชิญเหมือนๆ กัน ในที่สุดแล้วเราจึงมีเรื่องเล่า มีความฝันบางอย่างร่วมกันเสมอ
ความฝันคือสิ่งที่เราเก็บงำไว้จากโลกของการตื่น มักเป็นเรื่องของกดทับความกังวล ความปรารถนา หรือการเก็บงำเอาปัญหามาขบคิดคลี่คลายที่เราทำในยามตื่นไม่ได้ นอกจากเรื่องความรัก ความปรารถนา ความกลัว และการต่อสู้ดิ้นรนที่เรามักฝันถึงอะไรบางอย่างที่คล้ายกัน งูรัด การตกจากที่สูง การหลบหนี หรือการฝันถึงคนรักเก่า
แต่ถ้าเราอยู่ในความกดดันบางอย่างในระดับมวลรวมล่ะ เราจะกลับมาฝันเหมือนกันรึเปล่า และความฝันนั้นก็ย่อมส่องสะท้อนปัญหาร่วมสมัยผ่านความวิตกกังวลบางอย่างที่เรามีร่วมกัน
ในสมัยนาซีมีหนังสือแปลกประหลาดเล่มหนึ่งที่เก็บกุม สะสมความฝันใต้การปกครองของนาซีเยอรมัน ความฝันดินแดนอันแสนส่วนตัวอันเต็มไปด้วยภาพหฤหรรษ์เหนือจริง ในความฝันทั้งหลายนั้นกลับมีความพ้องกันอย่างน่าประหลาด ฝันที่เราฝันคล้ายกันนั้น ในที่สุด อาจจะเปิดเผยความรู้สึกลึกล้ำของเรา ความรู้สึกของโลกส่วนตัวที่อาจยึดโยงผูกเกี่ยวอยู่กับรัฐ อยู่กับอำนาจ อยู่กับการเมืองการปกครองอย่างแยกออกไม่ได้
‘ฝันร้าย’ ที่แท้จริงในห้วงเวลาเผด็จการ
นับตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลทหารไม่ว่าจะทางตรง หรือโดยอ้อม การที่เรามีหัวเรือใหญ่ ตกอยู่ในบรรยากาศจางๆ ของรัฐราชการ มีคุณลุงออกมาชี้นิ้วสั่งสอน พร้อมรับความรู้สึกแปลกๆ จากการใช้งบไปกับยุโธปกรณ์ รับรู้เรื่องราวความไม่โปร่งใส การเลือกปฏิบัติและอะไรอีกสารพัด เราฝันต่างออกไปบ้างรึเปล่า ฝันอะไรแปลกๆ กันบ้างไหม
เราอาจไม่ทันได้สังเกตความฝัน หรือบรรยากาศอาจไม่ตึงเครียดขนาดในยุคแห่งเผด็จการเช่นในสมัยนาซี ในสมัยนาซีมีหนังสือแปลกประหลาดเล่มหนึ่ง ชื่อ The Third Reich of Dreams ด้วยตัวมันเองไม่ใช่ตัวบทงานศึกษาทางจิตวิเคราะห์ บันทึกเหตุการณ์ วรรณกรรม หรือบทกวีใดๆ แต่มันคือบันทึกความฝันจำนวน 75 เรื่อง เป็นความฝันมวลรวมของผู้คนที่ตกอยู่ใต้ภาวะเผด็จการและการปกครองเลวร้ายของฮิตเลอร์ รวบรวมโดย ชาร์ล็อต เบอร์ราด์ท (Charlotte Beradt) นักหนังสือพิมพ์ชาวยิวที่ทำงานอยู่ในเบอลินในช่วงที่ฮิตเลอร์เรืองอำนาจ
ชาร์ล็อตเป็นหนึ่งในชาวยิวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนาซี เธอถูกจับกุมพร้อมสามี ในปี ค.ศ.1933 แม้จะได้รับการปล่อยตัวแต่เธอก็เป็นหนึ่งในผู้ประสบเคราะห์กรรมจากความคิดของนาซี หลังจากได้รับการปล่อยตัว เธอในฐานะชาวยิวเยอรมัน หนึ่งในผู้ร่วมชะตากรรมแห่งการสูญเสีย ทั้งบ้าน ครอบครัว ชีวิต สิทธิ และจิต จากระบอบการปกครองอันเลวร้าย หกปีหลังจากได้รับการปล่อยตัวเธอลักลอบเก็บบันทึกความฝันจากคนรอบตัว ในปี ค.ศ.1939 เธอเก็บความฝันได้กว่า 300 เรื่อง เธอเขียนในหนังสือว่าเธอเก็บความฝันทั้งจากช่างตัดเสื้อ เพื่อนบ้าน ญาติใกล้ชิด คนส่งนม เพื่อน ไปจนถึงแพทย์ชาวยิว
หนังสือเล่มนี้มีเส้นทางอันลุ่มๆ ดอนๆ กว่าที่เธอจะซุกซ่อนต้นฉบับไว้ในห้องสมุดสาธารณะ เปลี่ยนตัวละครจากฮิตเลอร์และเหล่านายพลไปสู่ชื่อลุงป้าน้าอาและปรับเป็นบันทึกของครอบครัว หลังจากเธออพยพมาสู่นิวยอร์กได้สำเร็จ เธอจึงตัดสินใจตีพิมพ์เผยแพร่บันทึกความฝันอันน่าพิศวงนี้ได้ในท้ายที่สุด
‘ฝันบ้า’ ที่เก็บงำ ‘ความบ้า’ ในโลกของความจริง
ในบทบันทึกความฝันของชาร์ล็อตเล่าถึงฝันอันแปลกประหลาดมากมาย ผู้หญิงวัยกลางคนฝันถึงว่าป้ายแถวบ้านของเธออยู่ๆ ก็ถูกแทนด้วยโปสเตอร์ประหลาดที่ประกอบขึ้นด้วยคำต้องห้ามในสมัยนาซี 21 คำ เริ่มต้นด้วยคำว่าพระผู้เป็นเจ้า (Lord) และคำสุดท้ายคือคำว่าฉัน (I) หรืออีกคืนเธอฝันว่ายืนอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย ทั้งคนส่งนม ช่างแก๊ส เจ้าหน้าที่ข่าว ช่างซ่อมท่อ จนกระทั่งเธอกวาดตาไปเจอกับคนกวาดปล่องไฟ ในครอบครัวของเธอคำว่าคนกวาดปล่องไฟ (Chimney Sweep) เป็นโค้ดลับหมายถึงพวก S.S. (เจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาซี ทำหน้าที่จับกุม รับคำสั่งและรักษาความเรียบร้อย) จากเสื้อผ้าสีดำที่ล้อกับเขม่าควัน ในฝันคนกวาดปล่องไฟแสดงท่าที่คุกคาม โบกกระดาษในมือและเริ่มแสดงความเคารพแบบนาซี พร้อมร้องประโยคว่า ‘ความผิดของพวกแก เป็นจริงอย่างไม่ต้องสงสัย (Your guilt cannot be doubted)’
ความฝันของคนยิวที่ได้รับการบันทึก นอกจากจะหฤหรรษ์พร้อมกับสยองขวัญ เธอพบว่าความฝันจำนวนมากเชื่อมโยงกับการควบคุมความคิด บางฝันพูดถึงจมูกที่โค้งงอแบบชาวยิวนำเจ้าของฝันไปสู่ ‘หน่วยงานแยกแยะความเป็นอารยัน’ หน่วยงานที่ไม่มีอยู่จริง แต่ในภาคปฏิบัตินาซีก็กำลังทำแบบนั้นอยู่ ผู้ชายเริ่มฝันถึงโปสเตอร์ ถึงข้อห้าม ถึงเสียงประกาศบางอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ดังอย่างพึลึกจากหลังบ้านของตัวเอง
ความฝันทั้งหมดของคนยิว สะท้อนถึงผลกระทบของรัฐ ของระบบสังคมที่ส่งผลกระทบอย่างถึงแก่น ถึงหัวใจ ถึงตัวตน ความฝันของคนยิว หรือกระทั่งชาวเยอรมันที่ไม่ใช่ยิวแสดงถึงความวิตกกังวล ความหวาดวิตก การร่วมมือ รับมือภาวะที่เกิดขึ้น กระทั่งเจือปนไปด้วยความเกลียดชังรังเกียจตัวเองที่ล้วนเป็นสิ่งที่เขาหรือเธอต้องดิ้นรนไม่ว่าจะจากการกระทำของคนอื่น หรือความรู้สึกเบื้องลึกของตนเอง เราได้เห็นภาพของระบบราชการ เห็นสำนักงานและระบบแบบสมัยใหม่ เจือปนไปกับภาพเหนือจริงที่ไม่อะไรกับความบ้าบอที่รัฐและอำนาจทำกับผู้คน
จากสมัยนาซี ฟังดูแสนไกลจากยุคปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้จากข่าว จากเรื่องราว เราเองก็เหมือนอยู่ในโลกฝันอันแปลกประหลาด เราอยู่ในการปกครองแบบระบบราชการ เห็นเหล่านายพล เห็นเรื่องราวพิลึกที่ไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้เจอ เห็นการสอดส่อง ควบคุม เห็นคนอดตาย เห็นคำพูด ความคิดที่ไม่น่าหลุดออกมาจากคนระดับบริหาร หรือโฆษกของรัฐ
ไม่ใช่แค่บ้านเราที่เจอกับผู้นำเอาแต่ใจ สมาทานความคิดแบบอนุรักษ์นิยมตกขอบ มีความเป็นเผด็จการ งอแง เมื่อไม่นานมานี้เริ่มมีนักจิตบำบัดที่ใช้แพลตฟอร์มเว็บไซต์เพื่อเก็บความฝันของผู้คนในยุคทรัมป์ ในชื่อว่า 45dreamsproject.com เธอพบว่าคนอเมริกันเริ่มฝันถึงทรัมป์ในรูปแบบแปลกๆ มีลักษณะเหมือนเด็ก เอาแต่ใจตัวเอง โวยวาย เห็นภาพทรัมป์พยายามใช้อุปกรณ์ต่างๆ สอดส่องความเป็นไป ละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือในยุค COVID-19 ก็มีเว็บไซต์ที่รวบรวมความฝัน idreamofcovid.com ที่บันทึกความวิตกกังวล การแยกตัว ล้างมือ ที่ลามไปถึงในฝันของผู้คน
ความฝันเป็นเรื่องซับซ้อน เป็นพื้นที่ส่วนตัวชนิดส่วนตัวที่สุด เราฝันถึงเรื่องเพศ เรื่องต้องห้าม ไปจนถึงความฝันทำหน้าที่ให้เหตุผลกับเรื่องไร้เหตุผลที่ติดอยู่ในใจ ทำให้จิตใจของเราก้าวผ่านความไร้แก่นสารบ้าคลั่งของชีวิตไปได้ การรวบรวมความฝันนี้ย้ำให้เราเข้าใจว่า โลกของการเมือง พื้นที่อันเป็นสาธารณะแยกออกจากหัวจิตหัวใจของเราไม่ได้ ในโลกของเผด็จการ (dictatorship) อำนาจและการควบคุม เผด็จการบงการ (dictate) กระทั่งถึงในฝันของเรา
เราต่างได้รับผลกระทบจากการปกครองใดใดก็ตามอย่างลึกซึ้งและซับซ้อน ไม่ต้องพูดถึงระบบเผด็จการที่ทำตัวเหมือนเด็กอมมือแต่กลับทรงอำนาจและส่งผลกับชีวิต กำหนดการมีชีวิตรอดของผู้คนได้จากวิธีคิดและการบริหารงานของตน
อ้างอิงข้อมูลจาก