แต่ก่อนเรามักได้ยินเด็กจบใหม่ในวงการสร้างสรรค์ชอบบลัฟกันในวงสนทนาว่า พวกเขาอดนอนมาแล้วกี่ชั่วโมง หรือเลยเถิดเป็นวันๆ ยิ่งใครนอนน้อยก็ดูเหมือนได้อุทิศชีวิตให้กับงาน พอได้ยินเจ้าเพื่อนคนนี้อดนอนมา 2 วันเต็มๆ แสดงว่างานมันต้องทุ่มทุนอลังการสร้างแน่ๆ นี่ถ้าเรายังอุทิศตัวไม่พอ ก็กลัวจะกลายเป็นคนรั้งท้ายในออฟฟิศ พวกเราจึงสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการแข่งขันแบบสู้ยิบตา ใครทุ่มเทกว่าชนะ ในขณะที่นายจ้างกอดอกหัวเราะหึๆ ที่เห็นเด็กจบใหม่ปั่นงานรัวเป็นปืนกล ไม่เรียกสวัสดิการอะไรมาก ขอให้ได้ทำงานมีความหมาย เพราะเราถูกปลูกฝังมาว่า “คุณค่าของคนวัดที่ผลงาน” ถ้าไม่มีงานก็ไม่ได้เป็นคน อะไรทำนองนั้น
น่าเสียดายที่พวกเขาหลงลืมไปว่า ‘การนอนหลับฝัน’ เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดของนักสร้างสรรค์เช่นกัน
หากย้อนไปดูเหล่านักสร้างสรรค์แห่งยุคเรเนซองส์ พวกเขาให้ความสำคัญกับการนอนไปพร้อมๆ กับสร้างผลงานใหม่ เพราะการนอนนั้นมอบสถานะพิเศษบางอย่างในการสำรวจความลี้ลับของสมองผ่านการหลับฝัน และมีศิลปินจำนวนไม่น้อยที่ได้แรงบันดาลใจล้วนๆ จากสมองแห่งรัตติกาล (nocturnal brain) ซึ่งการนอนหลับเปรียบเสมือนการเดินทางด้วยแผนที่ยามสนธยา เราก้าวไปในดินแดนที่ไร้ตรรกะ เต็มไปด้วยความวิปลาส สถานที่ซึ่งความถูกผิดหรือศีลธรรมอันดีงามใดๆ ที่สังคมพยายามพร่ำสอนเป็นร้อยๆ ปี ใช้ไม่ได้ผล บางครั้งคุณฝันเรื่องเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือก้าวเข้าไปอยู่ในเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และบางความฝันอาจนามธรรมมากเสียจนจับต้นชนปลายไม่ถูก (ก่อนเขียนงานชิ้นนี้ ผู้เขียนฝันว่าขับรถสิบล้อพ่วงเข้าไปในซอยแคบมาก รถพ่วงสองตอนเลี้ยวยากมาก จึงกะมุมเลี้ยวไม่พอ ติดแหง็กคาอยู่ในซอยเสียอย่างนั้น บรรดารถต่างๆ ก็บีบแตรด่าไล่ระงมไปหมด ช่างเป็นฝันที่อิหยังวะจริงๆ)
ปริศนาแห่งความหลับฝันนี่เองที่นักประสาทวิทยาสนใจอย่างมาก เมื่อก่อนเราไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมองได้ แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ทำให้เราเห็นกลไกสมองขณะนอนหลับ และที่สำคัญทำให้เราเห็น ‘กระบวนการสร้างสรรค์’ ที่เกิดขึ้นขณะเรานอนด้วย แม้มนุษย์จะหลับใหลไปแล้ว สมองยังคงทำงานต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ช้าลง จนเหมือนเข้าสู่โหมด Auto pilot จัดรวบรวมประสบการณ์และการเรียนรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตอนตื่น ขณะเดียวกันก็ปัดกวาดโปรตีนพิษในสมอง โดยเฉพาะโปรตีน Tau ที่เกิดขึ้นระหว่างวัน การนอนจึงเป็นโอกาสที่สมองจะได้ลดแรงม้าลงและปัดกวาดเศษซากโปรตีนที่เป็นพิษออก ยืดศักยภาพการตระหนักรู้ได้อีกหลายปีโดยไม่เป็นโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ก่อนเวลาอันควร
พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) สมาชิกวง The Beatles เคยให้สัมภาษณ์ว่า เนื้อเพลง ‘Yesterday’ ที่โด่งดังและกินใจนั้นได้แรงบันดาลใจขณะเขาหลับฝัน พอตื่นขึ้นจึงรีบจดไว้ทันที หรืออีกกรณีที่น่าสนใจคือ นักประดิษฐ์ อีเลียส โฮว์ (Elias Howe) ผู้มีชื่อเสียงจากการประดิษฐ์จักรเย็บผ้า ในโลกที่ยังไม่มีใครรู้จักจักรเย็บผ้าเลย เขาได้แนวคิดแปลกๆ โดยคืนหนึ่งได้ฝันเห็นนักรบถือหอกปลายแหลมวิ่งไล่ล่าเขาอย่างไม่ลดละ เจ้าอาวุธหอกนี้แปลกหน่อยที่มีรูอยู่ตรงปลายหอกด้วย เมื่อตื่นขึ้น อีเลียส โฮว์ จึงลองประดิษฐ์เข็มที่รูบ้าง ปรากฏว่าเข็มหน้าตาประหลาดสามารถสนด้ายเข้าไปและใช้การได้ดีในการเย็บด้วยเวลาที่รวดเร็ว นี่จึงเป็นที่มาของจักรเย็บผ้าแบบซิงเกิลสมัยใหม่ บางครั้งแรงบันดาลใจก็มาในรูปแบบนักรบไล่ล่า
เมื่อก่อนเรามักเชื่อว่าความฝันนั้นไม่มีสาระสำคัญใดๆ จนเรียกกันว่า “ฝันลมๆ แล้งๆ” อย่างฝรั่งก็มีสำนวนว่า build castles in the air ประมาณสร้างปราสาทในฝัน และฝันก็ไปยึดโยงกับการทำนายทายทักดวงชะตา จึงทำให้กระบวนการฝันถูกดูแคลนไปอย่างมาก แต่ปัจจุบันความฝันได้รับความสนใจจากบรรดานักประสาทวิทยาทั่วโลก พวกเขามองว่าความฝันเป็นสภาวะทางเคมีรูปแบบหนึ่ง (biochemical state) และอาจเป็นแหล่งกำเนิดความคิดสร้างสรรค์อันบรรเจิดตราบเท่าที่เขาผู้นั้นยังคงทำงานสร้างสรรค์อยู่ต่อเนื่อง เราจะเห็นภาพจากความฝันที่แจ่มแจ้งและบังเอิญ ดังนั้นฝันที่นำไปสู่ไอเดียจึงต้องอาศัยพฤติกรรมนอนหลับที่เหมาะสมและการพักผ่อนที่สมองเรียกร้องโดยไม่ฝืน
เรารู้มานานแล้วว่าวงจรการนอนหลับแบ่งออกเป็นสองช่วงได้แก่ NREM sleep (non-rapid eye movement sleep) และวงจรที่สองเรียกว่า REM sleep (Rapid eye movement sleep) วงจร NREM เป็นวงจรการหลับเริ่มแรกซึ่งจะลึกลงไปเรื่อยๆ แบ่งออกเป็นสามระยะ (stage I, II และIII) ส่วนวงจร REM เป็นวงจรการหลับที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ มีการคลายตัวหยุดทำงานยกเว้นหัวใจ,กระบังลม, กล้ามเนื้อตา นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่ร่างกายเกิดการฝัน และการกรอกตาเร็ว (Rapid eye movement)
ช่วงนี้เองที่เป็นเสมือน ‘มหาสมุทรแห่งนิทรา’ เพราะเมื่อร่างกายเริ่มเป็นอัมพาต แต่สมองยังคงเดินทางอยู่ ความฝันจึงไม่ต้องใช้ขา เราจึงรู้สึกเหมือนว่าร่างกายเบาหวิว วิ่งในอากาศหรือลอยเอื่อย เวลาหนีอะไรก็ไม่เคลื่อนไปข้างหน้าสักที เราเดินทางไปที่ต่างๆ ได้ และออกสำรวจในที่ที่ไม่เคยสำรวจ แม้กระทั่งวิธีแก้ปัญหาบางอย่างที่คับข้องใจ ซึ่งหากมองด้วยตรรกะในขณะตื่นรู้อาจจะยังหาทางไม่ได้ เพราะเรามักแก้ปัญหาอะไรตรงไปตรงมาตามตรรกะที่มี แต่เมื่ออยู่ในสภาวะฝัน ตรรกะในโลกจริงจะไม่ถูกใช้ เราจึงสามารถสำรวจแง่มุมต่างๆ ที่ไม่เคยเห็นขณะตื่น
มีงานวิจัยจากปี ค.ศ.2009 จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ทดลองกับอาสาสมัคร 2 กลุ่ม ที่ต้องมาแก้ปริศนาทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและในโลกแห่งความฝัน พวกเขาจะต้องทำการทดสอบกับปริศนาเกี่ยวกับคำ 2 ครั้ง จากนั้นจะให้งีบหลับ 40 นาที หลายคนก็หลับไปเลย และอาสาสมัครอีกส่วนก็เข้าสู่ช่วงหลับฝัน จากนั้นพวกเขาจะตื่นมาทำปริศนาคำรอบ 2 ปรากฏว่า อาสาสมัครที่หลับสู่ช่วง REM sleep มีโอกาสฝันถึงกลุ่มคำในปริศนา พวกเขาทำคะแนนทดสอบได้ดีกว่า 40% นักวิจัยให้ความเห็นว่า การนอนหลับช่วยให้สมองผ่อนคลายและทำให้มีโอกาสลดความเหนื่อยล้าทางการตระหนักรู้ (cognitive fatigue) ได้เป็นอย่างดี
หัวใจสำคัญที่สมองสามารถแก้ปัญหาในขณะนอนหลับได้ ถ้าจะให้เห็นภาพก็คงเปรียบเทียบกับระบบคอมพิวเตอร์ เพราะขณะที่เราตื่นรู้สมองของเราจะเปิดโปรแกรมหลายๆตัวเพื่อรับผัสสะรอบด้าน ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ผิวสัมผัส สมองใช้พลังงานมากในการจัดการกับรายละเอียดเหล่านี้ แต่เมื่อขณะที่เรานอนหลับ หรือทำกิจกรรมผ่อนคลายเชิงสร้างสรรค์ สมองของเราจะใช้พลังงานลดลงหรือจดจ่อในสิ่งเดียว ช่วงนี้เองที่เป็นจังหวะทองคำที่ทำให้เกิด ‘ยูเรก้า’ (Eureka moment) ที่จู่ๆ คุณนึกไอเดียออก ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำสิ่งนั้นอยู่เลย คล้ายกรณีของ อาร์คิมิดีส ได้ค้นพบหลักการของอาร์คิมิดีส (Archimedes’ principle) อันเป็นกฎฟิสิกส์พื้นฐานสำหรับกลศาสตร์ของไหล ที่บังเอิญได้จากการแช่อ่างอาบน้ำ หรือ เลโอนาร์โด ดา วินชี ที่พยายามสร้างปีกนก ขณะที่เขานั่งเหมอลอยมองดูนกพิราบเกาะหน้าต่าง แม้เขาจะสร้างไม่สำเร็จ แต่ก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักประดิษฐ์รุ่นต่อๆ มา
สมองของมนุษย์ส่วนหน้า (prefrontal cortex) ทำหน้าที่เป็นจราจรที่ควบคุมการไหลของข้อมูลต่างๆ อันไหนไม่จำเป็นก็คัดออก อะไรที่น่าจะมีประโยชน์ก็เก็บไว้ แต่หลายครั้งที่จราจรกลับเข้มงวดวินัยเกินไป ทำให้เรากรองความไร้สาระออกเสียหมด แต่ในช่วงกลางคืน สมองส่วน prefrontal cortex จะทำงานในอีกรูปแบบ เพื่อเก็บข้อมูลเรียนรู้ที่เกิดขึ้นและจัดเก็บบางส่วนไว้ในคลังความทรงจำ อย่างไรก็ตาม การนอนหลับยังมีอิทธิพลของฮอร์โมนที่ช่วยซ่อมแซมร่างกายและมีอิทธิพลต่อการตระหนักรู้ของสมองอีกด้วย
นอกจากนี้ความฝันยังช่วยเยียวยาทางอารมณ์ได้ หากคืนที่ผ่านมาคุณสามารถนอนหลับได้อย่างเต็มที่และมีโอกาสฝัน มีแนวโน้มที่ภาวะทางอารมณ์ของคุณจะได้รับการเยียวยาได้เร็วกว่า ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Rush University พบว่าผู้หญิงที่ผ่านการหย่าร้าง มักมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย แต่ในจำนวนนั้นมีรายงานว่า ผู้หญิงที่ได้หลับฝัน พวกเธอจะยอมรับถึงความเสียใจอย่างเปิดเผยและอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง เปิดโอกาสให้ตัวเองไปเดทอีกหน กระบวนการฝันจึงเป็นการย่อย (digest) อารมณ์เชิงลบโดยที่เราไม่รู้ตัว แนวคิดนี้กลายเป็นทฤษฎีที่ชื่อ Digestive theory of dreaming คือ ความฝันจะช่วยจัดรูปแบบการแสดงออกทางอารมณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป มันพาคุณไปพบความทรงจำที่ทั้งแย่และดีปะปนกัน บ้างครั้งมันอาจเปิดปากบาดแผลจากเหตุการณ์เจ็บช้ำในอดีตบ้าง
วิถีชีวิตที่ซ้ำซ้อน ยุ่งยาก ลดเวลาการนอนที่มีคุณภาพลง และไปส่งผลยังความฝันที่มีคุณภาพ การกลับไปเปลี่ยนรูปแบบการนอนในช่วง REM ของคุณจึงเป็นเรื่องจำเป็น ยิ่งชีวิตของพวกเราเกี่ยวพันกับกระบวนการสร้างสรรค์ตลอด การนอนจึงเป็นการลงทุนที่ต่ำที่สุด หากคุณคิดอะไรไม่ออกเลย ก็ไปนอนเสียสักงีบ เพราะการมาบลัฟกันว่าไม่ได้นอนมากี่วันมันเชยระเบิดเสียแล้ว
การนอนหลับเป็นวิธีหาแรงบันดาลใจที่ลงทุนน้อยที่สุด แต่หากตื่นมาแล้วกลับไม่ลงมือทำเลย ความสำเร็จของคุณก็ยังคงค้างอยู่ในสมองแห่งรัตติกาลเท่านั้นแหละ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Dreamless: the silent epidemic of REM sleep loss