แหม่ เห็นหนวดๆ แล้วมันมันเขี้ยวนัก
ยิ่งหลังกระแสฮิปสเตอร์เป็นต้นมา ดูเหมือนว่า ‘หนวด’ และเครา จะเป็นเครื่องดึงดูดสำคัญสำหรับชายหนุ่มทั้งหลาย ล่าสุดมีงานศึกษาบอกว่าหนวดเครามีพลังดึงดูด แถมยังมีงานวิจัยบอกอีกว่า ชายหนุ่มที่มีหนวดมีเครามีแนวโน้มจะเป็นคู่รักระยะยาวที่ดี แหม่…พอฟังแบบนี้หนุ่มๆ ทั้งหลายแทบจะเอามีดโกนทิ้ง
เจ้าหนวดเคราที่งอกอยู่บนหน้าเราทุกวันๆ พอลูบไปก็คิดไปว่า วันนี้จะโกนหนวดดีมั้ยนะ จะไว้ยาวกว่านี้ให้ดู sexy กว่านี้สักหน่อย หรือจะโกนเพื่อให้ดู ‘สะอาดเรียบร้อย’ ขึ้นสักนิด หนวดในฐานะผลิตผลของร่างกาย ตัวมันเองจึงเต็มไปด้วยความหมายทั้งในทางชีววิทยาและในเชิงวัฒนธรรม
ในประวัติศาสตร์ของเหล่าชายหนุ่ม หนวดของเรานี้ บางยุคก็ยาว บางยุคก็สั้น สมัยก่อนโน้นหนวดเคราที่ยาวเฟื้อยเป็นตัวแทนของสติปัญญา โดยรวมแล้วหนวดย่อมเกี่ยวข้องกับ ‘ความเป็นชาย’ เป็นสิ่งที่หนุ่มใช้เพื่อดึงดูดคนที่ตัวเองชอบ เป็นเครื่องประดับสำคัญที่เราต้องคอยบำรุงรักษา
หนวดกับวิวัฒนาการ
หนวดและเส้นขนต่างๆ ย่อมเกี่ยวข้องกับแรงดึงดูดและการเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัย การมีเส้นขนขึ้นเป็นสัญญาณสำคัญที่ร่างกายเราประกาศให้คนอื่นรู้ว่า เฮลโล่ ฉันอยู่ในวัยเจริญพันธุ์แล้วนะ ไอแอมเรดี้ ดังนั้นหนวดเคราที่มาพร้อมกับเสียงแหบพร่า ร่างกายที่สูงใหญ่กำยำขึ้น จึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเป็นผู้ชายที่สมบูรณ์พร้อม
ชาลส์ ดาร์วิน เจ้าพ่อทฤษฎีวิวัฒนาการบอกว่า ในทางวิวัฒนาการ เส้นขนบนใบหน้าของมนุษย์ทำหน้าที่เหมือนกับแพนหางของนกยูงหรือเขาของกวางตัวผู้ เป็นสิ่งที่สิ่งมีชีวิตเพศชายใช้เพื่อแข่งขันกันดึงดูดเพศตรงข้าม
ในมิติทางวัฒนธรรม หนวดเคราก็มีความหมายไปในทำนองเดียวกัน การไว้หนวดเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาย ถ้าเราดูพวกรูปปั้นเก่าๆ ชายฉกรรจ์ ผู้นำที่กล้าแข็งทั้งหลายล้วนมีหนวดเคราประดับให้เป็นที่น่าเกรงขามทั้งนั้น ถ้าหนวดหมายถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้นยิ่งเวลาผ่านไป หนวดเครายิ่งยาวก็ยิ่งหมายถึงวุฒิภาวะที่เติบโตไปตามอายุ หนวดเคราจึงเป็นตัวแทนของสติปัญญา เป็นตัวแทนของความรู้ ความเข้าใจโลก นักปราชญ์โบราณไม่ว่าจะในโลกตะวันตกหรือตะวันออกล้วนมีหนวดเครายาวๆ ไว้ให้ลูบเล่นยามครุ่นคิด
เดี๋ยวหนวดก็สั้น เดี๋ยวหนวดก็ยาว ประวัติศาสตร์ย่อๆ ของหนวด
อย่างที่บอกว่าสมัยก่อนเรามักเห็นภาพชายฉกรรจ์ที่มีหนวดเคราปกคลุม แต่มียุคหนึ่งที่ผู้นำหนุ่มของเราโกนหนวดเกลี้ยง ในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช นักรบผู้พิชิตทวีปเอเชียของเรา เป็นหนึ่งในผู้ปกครองหนุ่มที่เลือกจะมีคางอันเรียบเนียน
ในวัฒนธรรมกรีก แน่ล่ะ สมัยที่เราต้องใช้ชีวิตกันอย่างถึกและอดทน การมีหนวดเคราไว้ข่มขวัญเน้นย้ำความเป็นชายหนุ่มกลัดมันถือเป็นสิ่งจำเป็น การไร้หนวดเคราในวัฒนธรรมกรีกโบราณถือชายผู้นั้นไม่ได้มาตรฐานความเป็นชาย แต่ในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์กลับมีบัญชาให้นายทหารทุกคนในกองทัพโกนเคราซะ เหตุผลหนึ่งที่ตอนหลังเริ่มมองว่าไม่น่าจะจริงคือบอกว่า พระองค์ทรงเห็นว่าในการกลุ้มรุมกันนั้น หนวดเครามักเป็นพื้นที่สำคัญที่ใช้ฉุกกระชากจนนำความเสียเปรียบมาให้
ตรงนี้นักประวัติศาสตร์คะเนแล้วบอกว่า เอ๊ะ เวลาตะลุมบอนกันการมีหนวดเคราไม่น่าจะมีผลอย่างมีนัยสำคัญขนาดนั้น นักประวัติศาสตร์จึงเสนอว่า ด้วยความที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เป็นกษัตริย์หนุ่ม และมีพระปรีชาสามารถคู่กับความอาชหาญ พระองค์จึงถือตนเปรียบเทียบกับเหล่าฮีโร่ ‘กึ่งเทพ’ ทั้งหลาย ซึ่งพวกฮีโร่วัยเยาว์ เช่น เฮราคลีส (Heracles) ในตอนเด็กๆ มักถูกวาดให้เป็นหนุ่มน้อยที่ยังไม่มีหนวดเครา การที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงเลือกที่จะโกนหนวดก็เพื่อแสดงถึงอำนาจและภาวะกึ่งเทพที่มีมาด้วยความหนุ่มแน่นของพระองค์นี้
หนวดเคราจึงมีนัยสำคัญทางวัฒนธรรม คือ แล้วแต่ว่าความนิยมในสมัยนั้นนิยมให้ความหมายของเส้นขนบนใบหน้าว่าอย่างไร เช่น หลังสมัยกรีกเข้าสู่ยุคกลาง – ยุคแห่งศาสนจักร – ในโลกที่ค่อนข้างลำบากประกอบกับอิทธิพลของศาสนาจึงกลายเป็นว่า การไว้หนวดกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
ความนิยมในหนวดเปลี่ยนแปลงไปมาตามยุคสมัย อย่างในสมัยศตวรรษที่ 18 เมื่อเราเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เราเริ่มแยกตัวเองออกจากความป่าเถื่อน การมีเส้นขนยุบยับย่อมถูกโยงเข้ากับคนป่าและมนุษย์ถ้ำ ยิ่งเมื่อโลกสมัยใหม่สามารถผลิตมีดโกนและเกิดบริการร้านตัดผมของผู้ชาย ชายหนุ่มที่อยากเป็นสุภาพบุรุษในยุคสมัยใหม่ก็ต้องมีใบหน้าที่เกลี้ยงเกลาอันแสดงถึงความสามารถในการจัดการเส้นขนบนใบหน้าของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การกลับมาของหนวด และระยะที่พอเหมาะของหนวดในโลกปัจจุบัน
หนวดบางส่วนเกี่ยวข้องกับความดิบเถื่อน เราต่างอยู่ในโลกดิจิทัล โลกที่เรา ‘ไม่ค่อยดิบเถื่อน’ กันเท่าไหร่ เรานั่งโต๊ะ ไม่ค่อยได้ใช้ร่างกาย ลึกๆ แล้ว เราต่างก็โหยหาสัญชาตญาณดิบบางอย่าง เราต้องการหยาดเหงื่อ มัดกล้าม และการใช้แรงกายกันอยู่บ้าง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หนวดอันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชายและร่างกายที่หายไปนี้จะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
ในการสำรวจศึกษาความนิยมของสาวๆ ต่อปริมาณและความยาวของหนวดหนุ่มๆ ที่พวกเธอพึงปรารถนา คณะนักวิจัยจาก University of Queensland ในออสเตรเลียสำรวจเก็บข้อมูลสาวๆ 8,500 คน พบผลตอบรับเชื่อมโยงกับความคิดที่ว่า หนวดเคราสัมพันธ์กับแรงดึงดูดและมีผลในการเลือกเป็นคู่รัก ในงานศึกษานี้พบว่าระยะความยาวของหนวดดูจะมีผลในการเลือกว่า หนุ่มคนไหนที่สาวๆ จะมองหามาเป็นคู่รักระยะยาว ผลคือ สาวๆ มีแนวโน้มจะเลือกหนุ่มหนวดเฟิ้มเป็นคู่รักระยะยาว ส่วนหนุ่มหนวดสั้นๆ เป็นคู่รักระยะสั้นๆ
ผลสรุปโดยรวมจากการศึกษา พวกสาวๆ มีแนวโน้มจะมองว่าหนวดส่งผลให้ชายคนนั้นเซ็กซี่มากขึ้น ยิ่งหนวดปุกปุยก็ยิ่งวาบหวามมากขึ้น ในการทดลองพบว่าสาวๆ มักจะเลือกชายหนุ่มที่มีระยะหนวดงอกที่ 10 วันว่าฮอตและจะเลือกเป็นคู่รักระยะยาว (ในการทดลองใช้ตัวแบบคนเดียวกันที่มีหนวดเพิ่มขึ้นตามระยะ) ถ้าเราตีความผลการทดลองนี้ ก็อาจจะตีความได้ว่า ชายหนุ่มที่ไว้หนวดระยะประมาณ 10 วัน เป็นช่วงเวลาที่สาวๆ รู้สึกว่าฮอตมากที่สุด
เมื่อกลับไปที่เรื่องของหนวดในฐานะมิติทางวัฒนธรรม สุดท้ายความหมายของหนวดก็เป็นสิ่งที่สัมพัทธ์ไปตามมุมมองและยุคสมัย เช่นในปี 2008 – สิบปีก่อนหน้านี้ – หนวดเคราถูกมองว่าเป็นตัวแทนของความก้าวร้าว ก่อนที่มุมมองต่อหนวดจะค่อยๆ เปลี่ยนกลับมาได้รับความนิยมเช่นในปัจจุบัน
อ้างอิงข้อมูลจาก