สติกเกอร์สีแดงโดดเด่นด้วยประโยคแทงใจ ‘DEADLINE IS FASTER THAN KARMA.’ แปะอยู่บนโน๊ตบุ๊กของเพื่อนร่วมงาน พาลให้เราสะดุ้งทุกครั้งที่เหลือบไปเห็น ได้แต่ถามตัวเองว่า “แล้วเดดไลน์ของเราวันไหนนะ?” รู้แล้วก็รีบปั่นให้ทุกอย่างทันเวลา แม้จะไม่ได้อยากรีบแบบนี้ทุกครั้ง แต่ก็มักจะมีวันที่อะไรๆ ก็ดูเหมือนจะวิ่งแซงเราไปเสียหมด จะจัดการงานยังไงดี ในตอนที่เดดไลน์เข้ามาเกาะหลังเราเข้าให้แล้ว?
การมีอยู่ของเดดไลน์ ช่วยทำให้เรารู้ว่าเป้าหมายของงานนี้คืออะไร มันต้องไปจบลงที่ไหนและเมื่อไหร่ นั่นหมายถึงการวางแผนขั้นตอนการทำงานด้วย เมื่อเราเห็นปลายทางแล้วว่า เราจะต้องไปหยุดอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ มันจะช่วยให้เราประมวลผลง่ายขึ้นว่าเราควรจะทำขั้นตอนนี้ ในตอนไหน ขั้นตอนต่อไป ในตอนไหน และนั่นหมายถึงความรับผิดชอบของเราในฐานะเจ้าของงานด้วยเช่นกัน
เดดไลน์ช่างน่ากลัว แต่เราก็ยังเห็นหลายคนที่ชอบทำงานแบบใกล้ๆ เดดไลน์ ใกล้มาก ใกล้น้อย ตามอัธยาศัย ทำไมคนเราถึงทำแบบนั้นกันนะ?
ไนรา ไลเบอร์แมน (Nira Liberman) นักจิตวิทยาสังคม แห่ง Tel Aviv University ได้ศึกษาเรื่องนี้และยกตัวอย่างไว้ได้ค่อนข้างน่าสนใจ เธอเปรียบเทียบเรื่องนี้กับการอ่านหนังสือสิบบท เราก็ต้องไล่จากบทที่หนึ่งไปถึงบทสุดท้าย แล้วทีนี้พอถึงบทที่สิบ เหลือแค่ไม่กี่พารากราฟก็จะจบแล้ว เรามักจะมีแรงพลังที่ไหนก็ไม่รู้ ผลักดันให้เราเหยียบคันเร่งการอ่านมิดไมล์ ไปยังพารากราฟสุดท้ายเหมือนขึ้นทางด่วน เพราะจุดหมายมันอยู่แค่เอื้อมนี้แล้ว
เดดไลน์ก็เช่นกัน เหมือนมีนิ้วคอยดันหลังให้เราเดินหน้าแบบหยุดเสียไม่ได้ กลายเป็นว่ายิ่งใกล้เรายิ่งมีไฟในการทำงาน เพราะมันจะต้องส่งแล้วน่ะสิ แต่แนวคิดนี้มันก็อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกคน หากเราทำสำเร็จ เสร็จก่อนเดดไลน์ ได้งานตามมาตรฐาน เราอาจจะกลายเป็นอัจฉริยะข้ามคืน แต่ถ้างานเสร็จแต่ยุ่ยยับเหมือนผ้ายัดไว้ เราอาจจะกลายเป็นคนชุ่ย ทำงานส่งๆ แต่ถ้าร้ายที่สุด คือทำเสร็จไม่ทันเวลา เราจะกลายเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ
ยิ่งความเสี่ยงสูง ราคาที่ต้องจ่ายก็ยิ่งแพง เพราะฉะนั้น หากอยู่ในวงการรักงานเร่ง ก็ต้องรู้ลิมิตตัวเองด้วยเช่นกันว่าเราจะทำทันเวลามั้ย และคุณภาพของงานจะยังคงเดิมมั้ย ถ้ายังไปไม่ถึงจุดอัจฉริยะข้ามคืน อยากรู้อยากลอง หรือมีเหตุจำเป็นให้ต้องท้าทายอำนาจเดดไลน์
มาเรียนรู้การทำงานแบบเดดไลน์เกาะหลังกับเราด้วยคำแนะนำเท่าที่จะพิมพ์ทัน ก่อนเดดไลน์จะมาถึง
มองหาเดดไลน์ แล้วแพลนไว้ให้ดี
สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้ ability ของตัวเองว่า เราใช้เวลากับงานชิ้นนี้เท่าไหร่ ทำแบบหลวมๆ ไม่ต้องเร่ง ใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วแบบเร่งสปีดสุดชีวิตล่ะ ใช้เวลาเท่าไหร่ ทดเลขนั้นไว้ในใจ แล้วไปหาที่ลงกันดีกว่า
สมมติว่าวันศุกร์นี้ คือวันที่ต้องส่งงานชิ้นนี้ ลองเอาเวลาที่ต้องใช้ทำงานไปแปะในช่วงเวลาก่อนวันศุกร์ แบบไหนเป็นไปได้มากที่สุด ยิ่งเดดไลน์สั้นลง เราก็ต้องเร่งสปีดมากขึ้น วางแผนให้ดีล่ะ
เตรียมวัตถุดิบให้พร้อม
เมื่อรู้แล้วว่างานต้องเสร็จะพร้อมเสิร์ฟในวันไหน เมนูอะไร อย่าลืมวางแผนว่า เราจะต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง และเตรียมไว้ให้พร้อมก่อนลงมือทำ เพราะถ้าหากเราอยากท้าทายเวลา เราไม่อาจเสียเวลาไปกับขั้นตอนเล็กน้อยได้ หากเราเตรียมสิ่งที่จำเป็นในการทำงานไว้ก่อน เช่น ข้อมูลอ้างอิง เนื้อหา หรืออะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันไว้ก่อน เมื่อถึงเวลาต้องลงมือปรุงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องสาละวนกับการค้นตู้เย็น จนเสียเวลาการปรุงไปอีกหลายส่วน
ทำตัวให้ว่างสำหรับงานที่จำเป็น
จะส่งงานไวๆ นี้แล้ว แต่ยังวนเวียนอยู่กับงานอื่นที่ไม่เร่งด่วนนัก ไม่ได้สำคัญเท่างานนี้ หรือมัวแต่ทำกิจกรรมอื่นๆ ตามใจฉัน รีบเคลียร์ตัวเองให้ว่างสำหรับงานที่จะมาถึงนี้ก่อนดีกว่า แม้จะไม่อยากทำแค่ไหน แต่การลำดับความสำคัญของงานก็ควรมาอันดับหนึ่ง ไม่งั้นเราอาจจะกลายเป็นกระต่ายที่มัวหลับข้างทาง จนเส้นชัยวิ่งมาปลุกเราแทนก็ได้
มีเดดไลน์ให้ตัวเอง ก่อนที่ของจริงจะมาถึง
แม้ว่าจะมีเดดไลน์ตัวเป็นๆ รออยู่ข้างหน้า แต่อย่าให้ถึงขนาดที่เสร็จปุ๊บส่งปั๊บแบบไม่ได้ตรวจทานอะไรเลย เพราะเราอาจบกพร่องเรื่องคุณภาพไป โดยไม่ได้ดูด้วยซ้ำว่ามันพลาดไปตรงไหน ลองหาเดดไลน์ให้ตัวเองก่อนเวลาจริงมาถึง เหตุการณ์เดิม ส่งงานวันศุกร์ เราให้ตัวเองช้าสุดได้ตอนไหน สักคืนวันพฤหัสบดีไหม แบบไม่ข้ามไปคืนวันศุกร์ อะไรทำนองนี้ จะช่วยให้เราไม่ต้องเหยียบเส้นยาแดงผ่าแปดจนเกินไป
ย้ำกันอีกทีว่าเราไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนท้าทายเดดไลน์กันหมด ยิ่งเวลาสั้น ยิ่งความเสี่ยงสูง ควรรู้ลิมิตตัวเอง และใช้เทคนิคเหล่านี้เมื่อยามจำเป็น คู่มือนี้มีไว้สำหรับยามฉุกเฉิน งานเดือด งานเร่ง เท่านั้น อย่าทำจนเคยชินล่ะ บอกแล้วว่าอัจฉริยะข้ามคืน คนชุ่ย และคนไม่มีความรับผิดชอบ มันพลาดกันได้จากก้าวเดียวเท่านั้น
จะสี่ทุ่มแล้ว ขออนุญาตไปส่งงานก่อนนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก