จากที่เราเคยรู้สึกว่า ‘โลกของโดราเอมอน’ เป็นโลกในอนาคต ตอนนี้เจ้าโดเรมอนก็มีอายุครึ่งศตวรรษแล้ว และดูเหมือนว่าเวลาของโลกแห่งความจริงก็ค่อยๆ ดำเนินไปจนเราเกือบจะอยู่ในโลกอนาคต เป็นช่วงเวลาที่เราจะได้ร่วมยุคกับโดราเอมอน และแน่นอนว่า ทั้งเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และแก็ดเจ็ตต่างๆ หลายอย่างที่ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (Fujiko Fujio) ได้จินตนาการไว้ ก็เริ่มเป็นจริงขึ้นมาบ้างแล้ว
โดเรมอนอายุ 50 ปี การที่เจ้าแมวสีฟ้านี้จะอยู่มานาน นอกจากความน่ารัก การเป็นกำลังใจให้กับเด็กห่วยๆ ในระดับโลก และการเป็นทูตทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นแล้วนั้น เจ้าโดเรมอนยังดูจะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่อาจสัมพันธ์กับการเป็นดินแดนแห่งโลกอนาคตที่ทั้งรักหุ่นยนต์ รักเทคโนโลยีและรักอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ อย่างที่เรารู้จักญี่ปุ่นอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ จากประเทศแพ้สงคราม สู่ผู้นำนวัตกรรมโลก
เราอาจพิจารณาให้โดราเอมอนเป็นงานเขียนแนวไซไฟ ถ้าดูตัวเรื่องก็ถือว่าใช่อยู่ โดราเอมอนถือเป็นหนึ่งใน ‘จินตนาการเรื่องหุ่นยนต์’ กระทั่งจินตนาการเกี่ยวกับโลกอนาคตของคนญี่ปุ่น ที่แง่หนึ่งนั้นผู้เขียนค่อนข้างมองโลกในแง่บวก เป็นโลกอนาคตที่ให้ความหวังกับทั้งตัวเอง เด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ได้อ่านเรื่องราวของแมวสีฟ้า โดราเอมอนปรากฏตัวเต็มครั้งแรกปี ค.ศ.1970 หลังญี่ปุ่นแพ้สงครามได้ 20 กว่าปี และกำลังกอบกู้ตัวตนขึ้นเป็นญี่ปุ่นใหม่ โดราเอมอนเป็นหนึ่งในงานเขียนที่บอกว่าโลกอนาคตของพวกเขาค่อนข้างสดใส เป็นแดนแห่งเทคโนโลยี ลูกหลานในอนาคตที่พัฒนาแล้วแถมใจดีถึงขนาดส่งหุ่นยนต์พร้อมอุปกรณ์สารพัดข้ามกาลเวลากลับมาช่วยเหลือโลกปัจจุบันให้ดีขึ้นด้วย
โดราเอมอน จึงเป็นส่วนที่แน่นแฟ้นหนึ่งของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของญี่ปุ่น โดยเฉพาะญี่ปุ่นยุคหลังสงครามที่อยากจะมองไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง แต่ถ้าเราลองดูดีๆ มีงานเขียนที่บอกว่าโดเรมอนนั้นเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาเรื่องของ ‘เวลา’ ซึ่งแน่นอว่าแค่การส่งหุ่นจากโลกอนาคตกลับมาช่วยอดีตก็อาจสะท้อนถึงความปรารถนาในแก้ไขอดีตที่อาจสัมพันธ์กับบาดแผลและความพ่ายแพ้จากภาวะสงคราม ในขณะเดียวกันพวกอุปกรณ์ หรือแก็ดเจ็ตทั้งหลายของโดเรมอนนั้นก็ดูจะเกี่ยวข้องกับความปรารถนาในการควบคุมเวลา โดยเฉพาะการอยากเป็นเจ้าของเวลาว่างของโนบิตะด้วย
พรมแดนของการควบคุมกาลเวลา อำนาจและข้อจำกัดของโดเรมอน
ในหนังสือชื่อ Worlds Enough and Time: Explorations of Time in Science Fiction and Fantasy จากชื่อเรื่องก็ถือว่าสนุกมากเพราะพูดเรื่อง ‘เวลา’ โดยดูจากวรรณกรรมไซไฟและแฟนตาซี โดยในนั้นเองมีบทความของ เจฟเฟอร์สัน เอ็ม. ปีเตอร์ (Jefferson M. Peter) ชื่อ The Desire to Control Time in Doraemon and Japanese Culture ที่ตั้งข้อสังเกตว่า ในโดเรมอนและรวมถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นร่วมสมัยมีความปรารถนาในการควบคุมเวลาเป็นแกนกลางของเรื่องเลยทีเดียว
คือจะไม่แกนได้ยังไง เพราะว่าเรื่องหลักของเจ้าโดเรมอนคือ การที่โดเรมอนนั่งไทม์แมชชีนข้ามมิติที่ 4 จากโลกอนาคตกลับมายังโลกปัจจุบันเพื่อเป็นไลฟ์โค้ชให้กับโนบิตะ ซึ่งไอ้เจ้าไทม์แมชชีนและลิ้นชักนี้ก็ปรากฏอยู่แทบจะทุกตอนในโดเรมอน ไม่โดเรมอนโผล่ออกมา หรือโดเรมอนกลับไปทำธุระที่โลกอนาคต ไม่ก็มีของมาส่งผ่านลิ้นชัก หลายตอนต้องอาศัยไทม์แมชชีนกลับไปแก้ไขปัญหายุ่งๆ สารพัด
จริงๆ ลำพังตัวไทม์แมชชีนเองก็ถือเป็นสุดยอดอุปกรณ์ที่ทำให้โดเรมอนและโนบิตะครองโลกได้แล้ว หนังไซไฟหลายเรื่องคือ ต้องสังเวยชีวิตและอาศัยสติปัญญาทั้งจากอนาคต หรือจากดาวอื่นเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่ไอ่เด็กห่วยแตกและแมวสีฟ้านั่งกลับไปกลับมาอย่างสบายอารมณ์ยังกับนั่งรถเมล์สาย ปอ. แบบนี้
นอกจากไทม์แมชชีนแล้ว ในโดเรมอนยังมีของวิเศษที่ว่าด้วยเวลาเป็นหลักอีกมากมาย ทั้งนาฬิกาหยุดเวลา ผ้าคลุมย้อนเวลา ยาที่เร่งเวลา หรือทำให้เวลาเชื่องช้าลง กระทั่งประตูไปไหนก็ได้ก็ดูจะเกี่ยวข้องกับการย่นระยะเวลาเดินทาง กล้องที่ถ่ายอดีตได้ คบเพลิงที่ทำให้เห็นการไหลของเวลา แคปซูลที่ทำให้ข้าวของไม่ถูกแตะต้องโดยกาลเวลาเป็นต้น (แต่ละอย่างนะ)
แน่นอนว่าของวิเศษที่สามารถควบคุมเวลาได้นั้น นับเป็นของที่ทรงพลังระดับรวมเอ็กเม็นซ์อคาเดมี่ หรือจักรวาลดีซีไว้ในกระเป๋าโดเรมอนกันเลยทีเดียว จริงๆ แล้วของวิเศษที่สัมพันธ์กับการควบคุมกาลเวลานี้นับเป็นของที่เอาชนะธรรมชาติได้ การอยู่เหนือกรอบและอำนาจของเวลานั้นแทบจะทำให้ตัวเองของเราไร้ผู้ต่อกร กระทั่งความแก่ชราและความตายก็อาจเอาชนะได้ด้วยอำนาจการควบคุมเวลานี้
แต่ว่า แม้ของวิเศษของโดเรมอนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการควบคุมเวลา กระทั่งตัวโดเรมอนเองก็ไม่สามารถใช้อำนาจนี้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแน่ล่ะว่าในที่สุดด้วยความเป็นโนบิตะและเรื่องราวทั้งหลายก็จะทำให้อำนาจของของวิเศษหมดไปไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่ ด้านหนึ่งกระทั่งโดเรมอนเอง ในการดิ้นรนกับความยากลำบากที่มอนเองต้องเจอ ก็เหมือนทำให้เราเห็นว่าในที่สุด อำนาจของของวิเศษ โดยเฉพาะการไปยุ่งกับกาลเวลานั้นอาจเป็นสิ่งต้องห้าม และเป็นพรมแดนที่ไม่ก้าวข้ามไป ซึ่งหลายครั้งก็แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขอดีต รวมถึงเปลี่ยนอนาคตเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้จะอยู่ในโลกที่ดูไร้ข้อจำกัดในมือของโดเรมอนเองก็ตาม
ความขี้เกียจ และความปรารถนาเวลาว่างของโนบิตะ
ความสุขอย่างหนึ่งของวัยเด็ก ที่เราเห็นผ่านการใช้ชีวิตของโนบิตะคือ ความสุขของการไม่ทำอะไร ก็ได้ใช้เวลาไปกับความว่างเปล่า การนอนตื่นสาย นอนกลางวัน หรือไปแผ่หราอยู่บนท่อเก่าๆ มองก้อนเมฆ กระทั่งการได้ใช้เวลาว่างไปกับความสนุกสนานอื่นๆ ตามแต่ใจปรารถนา
แต่แน่นอนว่าความฝันของเราก็หยุดลง เพราะเราเองต่างได้รับอนุญาตให้มีเวลาว่างอย่างจำกัด เราทุกคนมีภาระหน้าที่แบบเด็กๆ ที่ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการตื่นแต่เช้าไปเรียน และกลับมาใช้เวลาว่างทำการบ้านต่ออีก ปิดเทอมก็มีการบ้านหน้าร้อน หรือการท่องหนังสือเพื่อเตรียมสอบ สิ่งที่เราต้องทำอยู่ทุกวันคือ การจัดการ ‘เวลางาน’ ทั้งหลายนั้นเพื่อให้เราได้มี ‘เวลาว่าง’ เป็นของตัวเองให้มากที่สุด การจัดการเวลาหลักๆ ของชีวิตจึงดูเป็นจัดสรร ระหว่างเวลาสองรูปแบบนี้ และลึกๆ แล้วใครๆ ก็อยากจะมีเวลาว่างให้ได้มากที่สุดอยู่แล้วเนอะ
โนบิตะเอง ก็ดูจะเป็นตัวพ่อที่อยากครอบครองเวลาว่างให้มากที่สุด โดยไม่สนใจที่ลงทุนเวลาปัจจุบันเพื่อวางเดิมพันให้กับอนาคตของตัวเองแต่อย่างใด เป้าหมายของโนบิตะมีอย่างเดียว คือทำให้เวลางานหดเหลือน้อยที่สุด และมีเวลาว่างมากที่สุด โดยแน่นอนว่าโนบิตะ เลือกที่จะใช้ชองวิเศษของโดเรมอนทำให้ตัวเองได้กลายเป็นเจ้าพ่อแห่งเวลาว่าง และได้ว่างสมใจปรารถนาอันเป็นเป้าหมายสำคัญหนึ่งในหลายๆ ตอน
ดังนั้นการใช้ของวิเศษ ไม่ว่าจะเป็นขนมปังท่องจำที่ใช้ย่นระยะการอ่านหนังสือสอบ และอีกสารพัดของวิเศษที่โนบิตะใช้เพื่อให้ตัวเองไม่ต้องทำการบ้าน หรือไม่ต้องมีการเรียนใดใดอีกต่อไป แง่หนึ่งนั้นพฤติกรรมของโนบิตะก็ดูจะสะท้อนและสนองกับชีวิตของเด็กญี่ปุ่นที่ถูกผูกเข้ากับการเป็นทาสของเวลา ของโรงเรียน รวมถึงการพัฒนาตัวเองผ่านห้องเรียน การเรียนพิเศษ การบ้าน และการสอบ ซึ่งโนบิตะเองก็พยายามใช้อุปกรณ์ทั้งหลายเพื่อเอาชนะการถูกผูกมัดนั้น
ในที่สุดแล้ว ดูเหมือนความขี้เกียจ การอยากเอาชนะเวลา และครอบครองเวลาว่างนั้นก็นำไปสู่ไอเดียที่ว่าเราสามารถออกแบบของบางอย่างเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้เรา ช่วยแก้ปัญหารวมถึงช่วยย่นระยะเวลาไม่ว่าจะจากจุดเล็กน้อยยิบย่อยแค่ไหนก็พึงใส่ใจและสร้างของออกมาช่วยแก้ได้ ตรงนี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของความคิดของชาวญี่ปุ่นร่วมสมัย ที่นอกจากจะชอบแก็ดเจ็ตแล้ว ยังศรัทธาในเทคโนโลยีที่เชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาและเพิ่มเวลาว่างให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นแก็ดเจ็ตที่จุกจิกแค่ไหนตาม
ประเด็นเรื่องเวลาจึงเป็นทั้งประเด็นเชิงจินตนาการ และในภาคปฏิบัติที่เราเองก็ต่างบริหารจัดการเวลาในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ แลกเปลี่ยนไปสู่การสะสมทุน การลงทุน และจัดการระหว่างเวลาว่างรวมถึงเวลางานอย่างที่โนบิตะทำ ซึ่งลึกๆ แล้ว เราก็ต่างยินดีและคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้เรามีเวลาว่าง ยิ่งไปกว่านั้นโลกจะอนุญาตให้เราไม่ทำอะไรได้โดยไม่รู้สึกผิดและไม่ต้องรับผลกรรมจากการใช้เวลาไปกับความว่างนั้น
50 ปีของโดเรมอน จึงเป็นส่วนหนึ่งทัศนะต่อโลกอนาคต ต่อห้วงเวลาปัจจุบันในฐานโลกสมัยใหม่ โดราเอมอนจึงเป็นส่วนหนึ่งของมุมมองเชิงบวกที่มีต่อหุ่นยนต์ร่วมไปกับเหล่าหุ่นยนต์ที่มีหัวใจเช่นเจ้าหนูอะตอม ทั้งยังเป็นหนึ่งในตัวแทนของความหวังที่เข้าใจเงื่อนไขของมนุษย์ในปัจจุบัน และเจ้าหุ่นยนต์ที่เต็มไปด้วยความอาทร ขี้กลัวหน่อยๆ ตะกละนิดๆ นี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งของคำมั่นสัญญาของโลกสมัยใหม่ที่บอกเราว่า อนาคตย่อมดีกว่านี้แน่ ไม่ว่าด้วยหัวจิตหัวใจ หรือด้วยข้าวของและองค์ความรู้ที่มนุษย์เรากำลังพัฒนาขึ้นกันอยู่นี้
อ้างอิงข้อมูลจาก