ย้อนไปในอดีตเมื่อปี ค.ศ. 1969 ในช่วงที่มังงะของประเทศญี่ปุ่นเริ่มกลายเป็นสินค้าที่เริ่มได้รับความนิยม แม้ว่า ณ เวลานั้น ยังเป็นงานที่เน้นการขายเด็กมากกว่าที่จะเป็นของที่คนทุกวัยอ่านกันอย่างเปิดเผยแบบในปัจจุบันนี้ แต่นักเขียนคู่หนึ่งได้ร่วมกันเขียนผลงานซึ่งตอนนั้นพวกเขาก็มองแค่ว่าจะเป็นงานที่ออกขายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นจริงหลังจากเหตุการณ์นั้นก็คือผลงงานมังงะเรื่องดังกล่าวกลับได้รับนิยมอย่างมาก จนทำให้ผลงานเรื่องนั้นกลายเป็นผลงานอมตะที่กินใจผู้เสพการ์ตูนจากญี่ปุ่นจนทำให้เรายังได้ติดตามผลงานเรื่องดังกล่าวจนถึงปัจจุบันนี้
‘โดราเอมอน’ คือผลงานที่เรากำลังพูดถึง และนักเขียนทั้งสองคนก็คือ อาจารย์ฟุจิโมโต ฮิโรชิ กับ อาจารย์อาบิโกะ โมโตโอะ ที่ ณ เวลานั้น พวกเขาใช้นามปากการ่วมกันว่า ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ก่อนที่ภายหลังจะแยกมากใช้นามปากกาแยกเป็น ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ และ ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ เอ
เนื่องในโอกาสที่อายุอานามของหุ่นยนต์แมวเข้าสู่วัย 50 ปี ในปี ค.ศ. 2019 แถมภาพยนตร์โดราเอมอน เรื่องสุดท้ายของยุคเฮย์เซย์ได้ออกฉาย ทางเจแปนฟาวน์เดชั่น จึงเปิดการสัมมนาหัวข้อ ’50 ปีโดราเอมอน : เรื่องเล่า การเล่นคำ และภาพของญี่ปุ่นจากการ์ตูนโดราเอมอน’ ที่เล่าเรื่องเกี่ยวข้องกับแมวสีฟ้าชื่อดังตัวนี้ และเราคิดว่ามีอะไรน่าสนใจที่น่าจะมาบอกเล่าให้ทุกท่านฟังกัน
ประกอบร่างสร้างหุ่นยนต์นาม ‘โดราเอมอน’
งานสัมมนาครั้งนี้มีวิทยากรอย่าง ผศ.ดร.อัษฎายุทธ ชูศรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ภาควิชาภาษาตะวันออก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นแฟนของ โดราเอมอน มาบอกเล่าเรื่องราวที่หลายท่านอาจจะไม่ทราบมาก่อน
อ.อัษฎายุทธเริ่มต้นด้วยการเล่าโครงสร้างการทำงานของนักเขียนมังงะในยุคสมัยนั้นที่เริ่มบูมขึ้นมา หลังจากอาจารย์เทะสึกะ โอซามุ สร้างปรากฏการณ์มังงะยุคปัจจุบันในช่วงปี ค.ศ. 1960-1969
อย่างที่เรากล่าวไว้ข้างต้นว่า อาจารย์ฟุจิโมโต้ ฮิโรชิ กับ อาจารย์อาบิโกะ โมโตโอะ ที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ นั้นตัดสินใจมาทำงานร่วมกัน และสุดท้ายก็ใช้นามปากกา ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 ซึ่งเป็นการเล่นคำจากชื่อ-นามสกุลของทั้งสองท่านนั่นเอง
ผลงานในช่วงแรกของอาจารย์ทั้งสองท่าน ทั้งผลงานเรื่องสั้นที่โดนตัดจบ หรือ ผลงานที่เริ่มสร้างชื่อ Utopia Saigo No Sekai Taisen, Umi No Ouji ไปจนถึงผลงานดังที่ถือว่าเป็นงานแจ้งเกิดให้คู่หูนักเขียนอย่าง ผีน้อยคิวทาโร่ เป็นการเบลนด์และผสมผสานลายเส้นและไอเดียการคิดเรื่องของนักเขียนทั้งสองท่านอยู่ (และมีการนำพาให้เกิดเคลียร์ด้านลิขสิทธิ์ในภายหลัง อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
เนื่องจากงานส่วนใหญ่ของอาจารย์ทั้งสองท่าน เป็นการเขียนงานขายเจาะกลุ่มเด็กเล็ก (ชั้นประถมลงไป) ทำให้ตัวงานจะมีความตลกโปกฮา และในยุคนั้น นิตยสารมังงะสำหรับเด็กของสำนักพิมพ์โชกาคุคังที่อาจารย์ทั้งสองคนส่งงานไปตีพิมพ์ มีการแบ่งตีพิมพ์ตามระดับชั้นเรียนนับตั้งแต่ เด็กเล็ก ไปจนถึงระดับประถม แม้ว่านิตยสารจะวางจำหน่ายแบบรายเดือน แต่ด้วยจำนวนหนังสือที่ต้องออกมาหลายหัว ทำให้ผลงานของอาจารย์นั้นต้องเขียนเป็น 4-9 เวอร์ชั่นให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่จะอ่านนิตยสารแต่ละเล่ม ส่งผลให้การรีดมุกออกมาในการเขียนแต่ละเรื่องนั้นจบลงค่อนข้างรวดเร็ว และ ผีน้อยคิวทาโร่ ที่เป็นผลงานสร้างชื่ออวสานในปี ค.ศ. 1966 ซึ่งเป็นเวลาราวหนึ่งปีครึ่งจากการตีพิมพ์ตอนแรกเท่านั้น
เวลาผ่านไปอีกเล็กน้อย ในช่วงที่ ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ทั้งสองท่านเขียนเรื่อง 21 Emon และ Umeboshi Denka อวสานลงแล้ว อาจารย์ก็เริ่มหาไอเดียสำหรับการ์ตูนใหม่ แต่ ณ วันที่มีการโฆษณาผลงานเรื่องใหม่นั้น อาจารย์ ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ เคยเขียนเรื่องสั้นในการคิดไอเดียในภายหลังว่า ณ ตอนที่เขียนโฆษณาไปนั้น แม้จะมีไอเดียของโนบิตะไว้ในหัวแล้ว แต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะให้ใครมาช่วยเด็กชายคนนั้น จนกระทั่งอาจารย์กลับไปคิดว่า ถ้าย้อนเวลาได้ก็คงดีสินะ และมีผู้ช่วยเด็กคนนั้นได้ก็ดีสินะ ก่อนจะได้ไอเดียจากตุ๊กตาล้มลุกของลูกสาวและแมวจรที่โผล่มาแถวบ้าน จนกลายเป็นที่มาในการประกอบร่างสร้าง โดราเอมอน ในที่สุด
และแล้วมังงะเรื่อง โดราเอมอน ตอนแรกก็ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารมังงะฉบับเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1970 ที่วางจำหน่ายในเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 1969 ตามวิสัยของนิตยสารญี่ปุ่นนั่นเอง
เหตุของความหลากหลายกับเวอร์ชั่น และภาพจำของโดราเอมอนในใจคน
ย้อนกลับไปพูดถึงวิธีการทำงานของอาจารย์ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ทั้งสองท่านในยุคนั้น จะต้องเขียนมังงะลงนิตยสารหกเล่ม ประกอบไปด้วย นิตยสาร Yoiko (เด็กเล็ก), Youchien (อนุบาล), Shogaku Ichi Nensei (ประถมศึกษาปีที่หนึ่ง), Shogaku Ni Nensei (ประถมศึกษาปีที่สอง), Shogaku San Nensei (ประถมศึกษาปีที่สาม), Shogaku Yon Nensei (ประถมศึกษาปีที่สี่)
อ.อัษฎายุทธ จึงได้บอกเล่าต่อว่า ด้วยความที่โดราเอมอนก็ถูกเขียนออกมาพร้อมกันหกเวอร์ชั่น ทำให้แต่ละเวอร์ชั่นจะมีการเดินเรื่องที่แตกต่างกันออกไปไม่มากก็น้อย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือหลายท่านน่าจะคุ้นเคยว่าเหตุผลที่โดราเอมอนกับเซวาชิเดินทางมายังอดีตนั้น ก็เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตของโนบิตะให้เปลี่ยนแปลงจากการแต่งงานกับไจโกะ ไปแต่งงานกับชิซูกะแทน ทว่า พล็อตดังกล่าวนี้เป็นพล็อตที่เกิดขึ้นในมังงะฉบับที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Shogaku Yon Nensei (ประถมศึกษาปีที่สี่) เท่านั้น แต่ในฉบับอื่นๆ ที่ให้เด็กเล็กกว่านั้นจะยังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้
จุดแตกต่างอีกเรื่องหนึ่งนั้นก็คือ โดราเอมอน ในนิตยสารเล่มอื่นๆ นอกจาก Shogaku Yon Nensei (ประถมศึกษาปีที่สี่) จะมีลักษณะตัวละครเป็นหุ่นยนต์ที่ก่อความวุ่นวายมากกว่าที่จะช่วยเหลือแบบตรงๆ ลักษณะคล้ายกับตัวละคร ผีน้อยคิวทาโร่ ที่เคยสร้างชื่อให้ผู้เขียนมาก่อนนั่นเอง
อีกส่วนที่เป็นผลพวงจากการที่ตีพิมพ์พร้อมกันหลายเวอร์ชั่นนั้นก็คือ การที่อาจารย์ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ตั้งใจจะเดินเรื่อง โดราเอมอน แค่ราว 1 ปี 6 เดือน หรือตีพิมพ์ในนิตยสารราว 15 ฉบับเท่านั้น อาจจะฟังดูน้อยแต่ถ้านับกันจริงๆ ก็ถือว่าเป็นค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกับผลงานก่อนหน้านี้ของตัวอาจารย์เอง
ด้วยเหตุนี้ ตอนอวสานของโดราเอมอนก็ถือกำเนิดขึ้น ณ ช่วงต้นปี ค.ศ. 1971 นั่นเอง และหลายคนน่าจะจำได้ว่าสุดท้ายแล้ว ตอนอวสานดังกล่าว ก็ไม่ได้เป็นตอนอวสาน อันเป็นผลพวงจากการที่มังงะเรื่องนี้ ได้คว้าใจนักอ่านไปแล้ว ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากนักอ่านจำนวนมาก ทั้งยังส่งผลให้ยอดขายหนังสือเพิ่มขึ้น จนในที่สุด อาจารย์ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ต้องกลับมาเขียนตอนต่ออีกครั้ง
เพียงแค่ในการกลับมาครั้งนี้ ก็มีการกลับมาตีพิมพ์ในนิตยสาร Shogaku Ichi Nensei (ประถมศึกษาปีที่หนึ่ง), Shogaku Ni Nensei (ประถมศึกษาปีที่สอง), Shogaku San Nensei (ประถมศึกษาปีที่สาม), Shogaku Yon Nensei (ประถมศึกษาปีที่สี่) และมีการปรับเปลี่ยนไปลงตีพิมพ์ในนิตยสารสำหรับเด็กโตเพิ่มขึ้นบ้าง จนถึงขั้นที่ทาง โชกาคุคัง เปิดนิตยสารหัวใหม่ CoroCoro Comic ที่เจาะกลุ่มเด็กประถม และยังไม่ถึงวัยที่จะอ่านมังงะแนวโชเน็น โดยให้ โดราเอมอน เป็นมังงะหัวหอก
ในช่วงแรกนิตยสาร CoroCoro Comic ก็นำเอาตอนสั้นที่เคยตีพิมพ์จากนิตยสารเล่มอื่นมาลง ก่อนจะที่อาจารย์ ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ จะเริ่มเขียนผลงานตอนยาวลงในนิตยสารเล่มนี้นับตั้งแต่ปี 1980 จนถึงปี 1966 ที่อาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ ระหว่างเขียน โดราเอมอน ตอน ตะลุยเมืองตุ๊กตาไขลาน ที่อาจารย์เขียนงานไว้เพียงสามหน้าก่อนจะล้มป่วยจนถึงแก่ชีวิต และให้กลุ่มลูกศิษย์ที่ใช้ชื่อทีม ฟุจิโอะโปร (Fujio Pro) มารับช่วงเขียนจนจบในภายหลัง
ส่วน โดราเอมอน แบบตอนสั้นนั้น อาจารย์ฟุจิโกะเขียนต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ก่อนจะหยุดเขียนไปครั้งหนึ่งในช่วงปี ค.ศ. 1986 แล้วกลับมาเขียนแบบตอนสั้นอีกครั้งในช่วงปี ค.ศ. 1988 ถึงปี ค.ศ. 1991 ซึ่งความกระจัดกระจายในการตีพิมพ์นี้เองที่ส่งผลถึงปัญหาอื่นๆ ในภายหลัง โดยเฉพาะสำหรับนักอ่านนอกประเทศญี่ปุ่น เพราะในการรวมเล่มฉบับลิขสิทธิ์เพื่อจัดจำหน่ายนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะอ้างอิงจากตอนที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Shogaku Yon Nensei (ประถมศึกษาปีที่สี่) เป็นพื้นฐาน แต่ยังมีอีกหลายตอนที่ตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับอื่นๆ รวมถึงการไปลงเป็นกรณีพิเศษในนิตยสารที่ปกติโดราเอมอนไม่ได้ไปตีพิมพ์
จากเหตุนี้ทำให้มีการรวมเล่ม โดราเอมอน ออกมาหลายฉบับ ทั้งตัวฉบับปกติจำนวน 45 เล่ม (ในไทยจะมีการพิมพ์รอบหลังจะระบุว่าเป็น Doraemon Classic Series) / ฉบับ โดราเอมอน พลัส 6 เล่ม / Shogakukan Kokoro Bunko 18 เล่ม (ในประเทศไทยจะใช้ชื่อเป็น โดราเอมอน ตอน (…) ปัจจุบันวางจำหน่ายแล้ว 17 เล่ม) / Fujiko F. Fujio Senshu Doraemon (Fujiko F. Fujio Self Selection Doraemon จำนวน 2 เล่ม และอื่นๆ อีกหลายเล่มรวมถึงบางเล่มที่สิทธิ์อยู่กับตอนออกชุด Fujiko Fujio Senshe ที่เป็นการรวมงานเขียนร่วมของ อาจารย์ฟุจิโมะโตะ กับ อาจารย์อาบิโกะอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็กล่าวกันว่ายังไม่ได้ตีพิมพ์ครบทุกตอนเท่าที่อาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ เคยเขียนมา และยังมีความพยายามรวมเล่มให้ครบถ้วนมาจนถึงปัจจุบันนี้
นอกจากนี้ในงานสัมมนายังมีการกล่าวว่า ระหว่างที่อาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ เขียนเรื่องโดราเอมอน อาจารย์ก็ยังเขียนผลงานอื่นๆ ด้วย และในส่วนของการ์ตูนสำหรับเด็กนั้น อาจารย์ก็ยึดเอาโครงสร้างเรื่องราวของโดราเอมอน มาต่อยอดหรืออาจจะปรับเปลี่ยนไปบ้าง อย่างเช่น คิเทเร็ทสึ เจ้าหนูนักประดิษฐ์ ที่ยังมีตัวละครหลักคล้าย ชิซูกะ, ไจแอนท์, ซูเนโอะ แต่ตัวละครหลักนั้นจะเป็นเด็กที่ฉลาดเฉลียวมากกว่าโนบิตะ, จิมปุย ที่ปรับให้ตัวเอกเป็นเด็กหญิง แล้วถูกช่วยเหลือด้วยสัตว์ต่างดาวที่มีพลังจิต ฯลฯ
และในบางจังหวะ อาจารย์ ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ยังเขียนเรื่องสั้นแนว SF ที่ผู้เขียนระบุว่า ไม่ได้มาจากคำว่า ไซไฟ (Sci-Fi) แต่มาจากคำว่า Sugoshi Fushigi ที่แปลว่า ‘แปลกอยู่เล็กน้อย’ ซึ่งภายหลังเรื่องสั้นกลุ่มนั้นได้ถูกนำไปรวมเล่มใน Fujiko F Fujio SF Tanben Perfect Ban หรือ Path Of Fujiko F. Fujio นั่นเอง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่)
กระโจนจากภาพนิ่ง มาสู่ภาพเคลื่อนไหว
ถึงจะถูกเขียนเป็นหนังสือการ์ตูนอยู่หลายปีดีดัก แต่สำหรับชาวไทยหลายคนนั้นคงคุ้นเคยกับการเห็น โดราเอมอน กับ โนบิตะ ในรูปแบบอนิเมชั่น แต่หลายคนอาจจะไม่คุ้นว่าโดราเอมอนนั้นเคยมีอนิเมะออกฉายบนโทรทัศน์มาแล้วถึง 3 สามเวอร์ชั่น
อนิเมะเวอร์ชั่นแรกนั้น ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1973 หลังจากที่มังงะได้รับความนิยมติดลมบนไปแล้วระดับหนึ่ง โดยที่อนิเมะฉบับนี้ออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ Nippon TV แต่อนิเมะเวอร์ชั่นนี้ ยังไม่ใช่เวอร์ชั่นที่ผู้ชมในหลายประเทศคุ้นเคยแต่อย่างใด อนิเมะเวอร์ชั่นนี้สร้างโดยอ้างอิงความตลกและป่วนของโดราเอมอนกับโนบิตะ ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับ ผีน้อยคิวทาโร่เสียมากกว่า
เชื่อกันว่าอนิเมะชุดนี้ได้ทุนสร้างมาค่อนข้างน้อย ทั้งยังมีการปรับลายเส้น, โทนเรื่อง และนิสัยของตัวละครให้ต่างจากมังงะต้นฉบับ ในระดับที่อาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ ก็ไม่ค่อยพอใจนัก และในเวอร์ชั่นนี้ ผู้พากย์เสียงโดราเอมอนยังมีถึงสองคน ก็คือ คุณโคเซย์ โทมิตะ ก่อนที่จะได้ คุณโนซาวะ มาซาโกะ มาทำการพากย์เสียงต่อ เพราะ คุณโคเซย์ ประสบอุบัติเหตุรถชน
โดราเอมอน กลับมาอีกครั้งในรูปแบบอนิเมะในปี ค.ศ. 1979 ที่ออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ TV Asahi และมีทาง Shin-Ei Animation เป็นผู้ผลิตงานอนิเมชั่น และเป็นโดราเอมอนฉบับนี้เองที่หลายคนคุ้นตา ทั้งการเขียนโนบิตะที่ใส่เสื้อสีเหลืองจนกลายเป็นเอกลักษณ์ มีเพลงเปิด Doraemon No Uta หลือ เพลงโดราเอมน ที่มีเนื้องเพลง อั๊ง อัง อัง ที่หลายคนคุ้นเคย
อนิเมะชุดนี้ยังเป็นงานระยะยาวให้กับทีมนักพากย์ อย่างเช่นคุณโอยามะ โนบุโอะ (Oyama Nobuo) ที่รับบท โดราเอมอน, คุณโอฮาระ โนริโกะ (Ohara Noriko) ที่รับบท โนบิตะ ฯลฯ โดราเอมอน ฉบับนี้ออกฉายยาวนานถึง 26 ปี ทำให้ในระหว่างทางการฉายนั้นยังมีการปรับปรุงคุณภาพของภาพและเสียง, เทคโนโลยีการผลิต และแทบจะไม่หยุดฉายเลย ยกเว้นในช่วงเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีรายการสดเข้ามาแทรกในเวลาฉายจริงๆ ก่อนที่อนิเมะชุดนี้จะอวสานลงในปี ค.ศ. 2005
กระนั้น TV Asahi กับ Shin-Ei Animation ก็สร้างโดราเอมอนตอนต่อออกฉายในปี ค.ศ. 2005 เช่นกัน ซึ่งตัวอนิเมะชุดนี้มีการปรับชุดนักพากย์ในญี่ปุ่น เนื่องจากทีมพากย์ชุดแรกอายุมากขึ้นแล้ว และมีการขยับปรับดีไซน์ของสิ่งต่างๆ ในตัวอนิเมะ อย่างเช่น ดีไซน์ของตัวละคร (ที่มีการอัพเดทเพิ่มเติมอีกครั้งด้วย) / ตัวบ้านของโนบิตะ / ค่านิยมบางอย่างที่เปลี่ยนไปตามยุค อย่างการสูบบุหรี่ ที่ถูกปรับลดไปมาก / เนื้อหาหรือรายละเอียดปลีกย่อย อย่าง ดารากับของเล่นของพวกโนบิตะ จะสอดคล้องกับยุคปัจจุบันมากขึ้น ฯลฯ
อนิเมะโดราเอมอน ชุดที่เริ่มฉายในปี ค.ศ. 2005 นี้ ยังโดนปรับแก้ภาพสำหรับการฉายในประเทศทางตะวันตกอีกด้วย และอนิเมะชุดนี้ยังออกฉายในญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ตัวอนิเมะของโดราเอมอนที่ฉายทาง TV Asahi นี่เองที่ทำให้มีการดำเนินเรื่องทางกฎหมายลิขสิทธิ์ให้มีการยุติการเผยแพร่ โดราเอมอน ฉบับปี ค.ศ. 1973 เพื่อไม่ให้ภาพลักษณ์เสียหาย เลยทำให้อนิเมะเวอร์ชั่นดังกล่าวกลายเป็นเรื่องลับแล
นอกจากมังงะโดราเอมอน แบบตอนสั้นที่ถูกสร้างเป็นอนิเมะแล้ว ตัวมังงะ โดราเอมอน แบบตอนยาว ที่อาจารย์ฟุจิโอะ เอฟ ฟุจิโกะ เขียนลงในนิตยสารรายเดือน CoroCoro Comic ก็เป็นการเซ็ตเรื่อง เพื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งในช่วงแรกนั้นเป็นการสร้างขึ้นเพื่อรับกระแสภาพยนตร์อนิเมะเฟื่องฟูในช่วงยุค 1980s และกลายเป็นการเซ็ตเทรนด์ให้การ์ตูนดังมักจะสร้างภาพยนตร์เพื่อออกฉายในช่วงฤดูร้อนของประเทศญี่ปุ่นในทุกๆ ปี โดยตอนแรกที่ออกฉายก็คือ โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ ที่ออกฉายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1980 ก่อนจะเข้าฉายในประเทศไทยในปี ค.ศ. 1982
นับจากนั้น ภาพยนตร์โดราเอมอน ก็จะนำเอาโดราเอมอน แบบตอนยาวที่อาจารย์ ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ แต่งและตีพิมพ์ลงในนิตยสาร CoroCoro Comic มาเป็นโครงเรื่องในการสร้างฉบับภาพยนตร์นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 จนถึงปี ค.ศ. 1996 ก่อนที่ทีมงาน ฟุจิโกะโปร จะเข้ามาร่วมช่วงการดูแลการสร้างภาพยนตร์ ซึ่งมีทั้งการสร้างเรื่องใหม่ หรือจับเอาฉบับเก่ามาปรับพล็อตให้เข้ากับทีมสร้างและทีมพากย์อนิเมะชุดปี ค.ศ. 2015 มากขึ้น และทำให้เราเห็นภาพยนตร์โดราเอมอนเข้าฉายทุกปี ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือประเทศญี่ปุ่นก็ตาม
ความเปลี่ยนแปลงตามยุคของโดราเอมอน
อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดกันในงานสัมมนาครั้งนี้ก็คือเรื่องที่ โดราเอมอน แต่ละเวอร์ชั่นดูไม่เหมือนกันเลย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับต่างๆ
อ.อัษฎายุทธ จะตั้งคำถามให้ผู้รับฟังงานสัมมนาได้คิดตาม อาทิ เด็กผู้หญิงที่โนบิตะสนใจนั้น ชื่อ ชิซุกะ หรือ ชิซุโกะ / ใครเป็นแฟนสาวของโดราเอมอน / โนบิตะ กับ โนบิทาโร่ เป็นการลงชื่อผิดหรือเปล่า / ใครเป็นหัวโจกในการแกล้งโนบิตะ / ตอนจบโดราเอมอนเป็นอย่างไร / บ้านโนบิตะเป็นอย่างไร ฯลฯ
อ.อัษฏายุทธได้อธิบายว่า เหตุของความแตกต่างที่ชวนสับสนอยู่บ้างนี้ มีเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาเรื่องราวของโดราเอมอนที่ถูกเขียนต่อเนื่องหลายสิบปีนั่นเอง อย่าง ประเด็นของ ‘ใครเป็นหัวโจกในการแกล้งโนบิตะ’ ณ การเขียนช่วงแรกๆ ของมังงะ ซูเนโอะ ต่างหากที่เป็นตัวละครที่แสดงความอิจฉาจนนำพาไปสู่การแกล้งโนบิตะในภายหลัง ส่วนไจแอนท์นั้นไม่ได้ออกมาแกล้งคนเท่าไหร่นัก
แต่ระหว่างการพัฒนาเรื่อง ตัวละครไจแอนท์ก็เริ่มถูกเซ็ตคาแรคเตอร์ ให้ใกล้เคียงกับตัวละคร ไซโกะ สึโยชิ หรือ ก็อตซิลล่า จากเรื่อง ผีน้อยคิวทาโร่ และในภายหลังอาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ ก็ใช้เซ็ตคาแรคเตอร์ไปใช้ในผลงานยุคหลัง อย่างตัวละคร คุมาดะ คาโอรุ หรือ บูตะกอริลล่า ในเรื่อง คิเทเรสึ ยอดนักประดิษฐ์
ความสัมพันธ์ระหว่าง โดราเอมอน กับ โนบิตะ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จากช่วงแรกที่อาจจะเป็นหุ่นยนต์แมวที่มีความป่วน แต่ในภายหลังเรื่องก็ค่อยๆ เล่าถึงความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง ดังเช่นในตอนหนึ่งที่ โดรามิ หุ่นยนต์น้องสาวดูแลโนบิตะได้ดีกว่า โดราเอมอน จึงตัดสินใจกลับอนาคต แต่โนบิตะกลับแสดงออกว่าจะไม่ยอมให้หุ่นยนต์ที่รักคนนี้หายไปจากชีวิตของเขา
และในช่วงที่มีการเขียนโดราเอมอน ก็มีตัวละครบางตัวที่ถือกำเนิดมาแล้วหายไปเช่นกัน อย่างเช่น หุ่นยนต์เป็ดตัวเมีย กาชาโกะ (Gachako) ที่ทำหน้าที่เป็นคู่แข่งของโดราเอมอน ในการพยายามมาช่วยโนบิตะ และเคยปรากฏตัวในอนิเมะ ฉบับปี ค.ศ. 1973 ก่อนที่อาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ จะตัดตัวละครนี้ออกไปจากเรื่อง และกลายเป็นตัวละครสมทบประกอบฉากในอนิเมะยุคหลังๆ เท่านั้น
เมื่อตัวละครหนึ่งหายไป ก็มีตัวละครที่เข้ามาเพิ่มเติมเช่นกัน อย่าง โดรามิ ที่ปัจจุบันนี้ทุกคนเข้าใจทั่วกันว่าเป็นน้องสาวของโดราเอมอน แต่เดิมทีนั้นตัวละครดังกล่าวถูกแนะนำตัวขึ้นมาในฐานะแฟนสาวของโดราเอมอน แต่เมื่อตัวละครปรากฏตัวจริง ก็มีการปรับนิสัยให้เป็นตัวละครที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือทั้งโนบิตะกับโดราเอมอน และด้วยนิสัยที่น่ารักของตัวละครก็ทำให้ โดรามิ ยังอยู่ในเรื่องจนถึงปัจจุบันนี้
ก่อนที่จะมีการแนะนำตัวละครแฟนเก่าของโดราเอมอน ออกมาในภายหลัง ซึ่งถูกตั้งชื่อในฉบับอนิเมะว่า โนราเมียโกะ (Noramyako) แถมยังมีการปรับแก้ดีไซน์ในอนิเมะที่ฉายปี ค.ศ. 1995 ก่อนจะปรับกลับมาใช้ดีไซน์เดิมตามฉบับมังงะในอนิเมะปี ค.ศ. 2007
และโดรามินั้นก็มีโอกาสได้ออกเป็นมังงะสปินออฟของตัวเอง ซึ่งมังงะภาคดังกล่าวก็จับเอาตัวละครตัวหนึ่งให้โดรามิไปคอยดูแล แต่จะให้ดูแลโนบิตะโดยตรงก็คงจะดูแปลกอยู่ จึงมีมังงะโดราเอมอนตอนหนึ่ง เล่าเรื่องว่า พี่น้องหุ่นยนต์แมวแข่งขันกันดูแลโนบิตะ แต่กลายเป็นว่าในตอนจบของเรื่องมีการสุรปว่า จริงๆ แล้วมีเด็กสองคนในเรื่อง นั่นก็คือ โนบิตะ กับ โนบิทาโร่ ที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง (ที่ดีไซน์เหมือนกันเป๊ะ) และมีการขมวดเรื่องว่า โดรามิ ไปดู โนบิทาโร่ แทน เพราะฉะนั้นที่ไม่ใช่การเล่นคำเล่นเสียงกับชื่อแต่เป็นการดีไซน์ตัวละครหน้าเหมือนกัน กับ โนบิทาโร่ จะมีความนิ่งกว่า โนบิตะ ทั้งยังดูมีความรู้มากกว่า
นอกจากตัวสปินออฟที่เกี่ยวกับโนบิทาโร่แล้ว ในภายหลังยังมีมังงะสปินออฟของ โดรามิ ที่ไปดูแล ไจโกะ เพื่อให้เกิดสภาพเท่าเทียมกันระหว่าง โนบิตะ ที่มีโดราเอมอนด้วย
กระนั้นตัวสปินออฟนั้นไม่ได้รับความนิยมมากเท่าภาคหลัก ก็เลยมีการนำเอาเนื้อหาของโนบิทาโร่บางตอนมารีไรท์ใหม่ให้เป็นเซ็ตติ้งของโนบิตะอีกครั้ง และโดรามิก็มาปรากฏตัวในฐานะผู้ดูแลโนบิตะ ในช่วงเวลาที่โดราเอมอนพักเครื่องอยู่
อีกส่วนที่โดนปรับแก้เป็นระยะๆ ตามยุคสมัยก็คือเรื่องบ้านของโนบิตะ ที่ดีไซน์บ้านมีการเปลี่ยนไปบ้าง แต่การปรับเปลี่ยนนี้มักจะเป็นการปรับตามฝั่งอนิเมะ ที่เดิมทีแล้วนั้นมีการเขียนให้ชั้นสองของบ้านโนบิตะนั้น มีห้องของคุณยายโนบิตะด้วย แต่ภายหลังก็มีการปรับเอาห้องด้านบนออกให้เหลือห้องเดียว และคุณยายจะนอนอยู่ในห้องที่ภายหลังใช้เป็นห้องรับแขกของบ้านสกุลโนบิ
ดังนั้น อย่าได้ถกเถียงกันอีกเลยว่าทำไมหลายคนถึงอาจจะจำโดราเอมอนตอนเดียวกันเป็นหลากหลายแบบ นั่นก็เพราะหลายตอนนั้นก็โดนปรับสภาพหรือมีการรีไรท์ใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเช่นกัน
การเล่นคำในโดราเอมอน ที่หล่นหายไปจากการ Lost In Translation
หัวข้อสัมมนาเดินทางมาถึงช่วงที่สอดคล้องกับชื่อของานอีเวนท์ในครั้งนี้ และอ.อัษฏายุทธก็ได้เล่าเกี่ยวกับการตั้งใจเล่นคำของโดราเอมอน
นับตั้งแต่ชื่อของตัวละครที่ทุกตัวมีความหมายแฝง และอาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ เล่นความหมายแฝงมาตั้งแต่ผลงานเรื่องก่อนแล้ว อย่างโดราเอมอนที่เป็นการผสมคำระหว่าง ‘โดราเนโกะ’ ที่หมายถึงแมวจร กับคำว่า ‘เอมอน’ ที่ใช้เป็นชื่อลงท้ายของเด็กผู้ชาย
ไจแอนท์ นั้นถูกตั้งชื่อสอดคล้องกับลักษณะตัวที่ใหญ่, โนบิตะ เป็นการเล่นกับคำว่า โนบิ ที่แปลว่า ยืดยาด, ชิสุกะ มาจากคำว่าเงียบ, ซูเนโอะ เล่นคำกับคำว่า ซึเนรุ ที่แปลว่าขี้งอน, เดคิสุงิ นั้นเล่นคำทั้งชื่อและนามสกุล โดยตัวนามสกุล เดคิสุงิ อ่านพ้องเสียงกับคำว่า ‘ทำได้ดีไปนิดหนึ่ง’ (ซึ่งเพลง Doraemon ของ โฮชิโนะ เก็น ก็เล่นมุกนี้ในเนื้อเพลง) ส่วนชื่อ ฮิเดโทชิ นั้นใช้ตัวคันจิ 英才 ซึ่งแปลได้ว่า อัจฉริยะ สอดคล้องกับตัวละครแบบสุดๆ
ของวิเศษนั้นก็มีการเล่นคำจำนวนมหาศาล ตัวอย่างที่เห็นภาพง่ายๆ ก็ดังเช่น วุ้นแปลภาษา ในภาษาญี่ปุ่นนั้นอ่านว่า Honyaku Konyaku ซึ่งเป็นการเล่นคำพ้องเสียงระหว่างคำว่า แปลภาษา Honyaku กับ วุ้นหัวบุก/วุ้นคอนยัค Konyaku
หรือของบางอันก็เล่นคำโดยตรง อย่างเช่น ป้ายขอบคุณ ที่จะทำให้คนที่ติดป้ายดังกล่าวรู้สึกดีและขอบคุณทุกสรรพสิ่งที่เข้ามาในชีวิต ซึ่งในชื่อภาษาญี่ปุ่นจะใช้ชื่อว่า Sankyuu Badge ที่เป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า Thank You Badge และในขณะเดียวกันก็พ้องเสียงกับคำว่า เลขเก้าสาม เลยทำให้ดีไซน์ของป้าย เป็นเลขเก้าเรียงกันสามตัวนั่นเอง
กระนั้นพวกมุกทางภาษานี้ค่อนข้างจะเป็นมุกที่ไม่สามารถทะลุกำแพงภาษาได้ เลยทำให้ความตลกบางอย่างนั้นสูญหายไปกับการแปลจนน่าเสียดายนั่นเอง
สิ่งที่โดราเอมอน ส่งต่อให้ผู้คน ไม่ว่าจะในญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ
จริงอยู่ว่าโดราเอมอน อาจจะมีจุดเริ่มต้นของการเขียนมังงะตลกให้เด็กอ่าน แต่เมื่องานอยู่ตัวมากขึ้น อาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ ก็ได้สอดใส่ความรู้เข้าไป ทั้งแบบแยบยล เช่น กิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น อย่างการเล่นตีลูกขนไก่ในวันปีใหม่ / การรวมญาติในช่วงโอบ้ง ฯลฯ หรือเล่าเรื่องเล่านิทานต่างๆ ให้เข้ากับของวิเศษ เช่นการเอาเทพธิดาบ่อน้ำ หรือ อุราชิมะทาโร่ หรือ โมโมทาโร่ มาเป็นของวิเศษที่โดราเอมอนให้โนบิตะใช้งาน ฯลฯ
หรือการบอกเล่าตรงๆ อย่างเช่น การเล่าเรื่องความรู้วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ที่จะเห็นได้ชัดในโดราเอมอนตอนยาว ที่มักจะมีสักช่วงของเรื่องเล่าความรู้ เพื่อให้เด็กๆ ที่เป็นกลุ่มผู้ชมหลักได้สนุกและรับความรู้ไปพร้อมๆ กัน
หรือในประเทศไทยเอง โดราเอมอน ก็มีผลต่อวัฒนธรรมในหลายๆ แง่ ทั้งในแง่ป๊อปๆ นับตั้งแต่การที่เราจะได้เห็นโดราเอมอน ร่วมเดินพาเหรดของสวนสนุกหลายแห่งในประเทศไทย (ก่อนยุคลิขสิทธิ์จะเฟื่องฟู), การละเล่นของเด็กไทยที่มีการร้องเพลง ‘โดเรม่อน ม่อน ม่อน โดเรมี มี่ มี่ ชิซูกะ โนบิตะ ใครชนะได้เป็นไจแอนท์’ หรือแม้แต่ภาพวาดศิลปกรรมในผนังวัดที่ปกติแล้วจิตรกรมักจะแฝงความนิยมของยุคที่วาดก็มีหลายวัดที่ใส่โดราเอมอนเข้าไปแจมด้วย
และต่อให้เวลาผ่านไปอีก 50 ปี ความรู้สึกดีๆ ที่โดราเอมอนส่งมาให้ ก็น่าจะส่งไปถึงใครก็ตามที่มีโอกาสได้สัมผัสความอบอุ่นของการ์ตูนเรื่องนี้
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก
Shoegazer Productions – Lost Media Chronicles Episode 42 – Doraemon 1973