Disney+ Hotstar มาแล้ว ดีอกดีใจ และน่าตื่นเต้นยิ่ง เรียกได้ว่ามาอย่างครบครันทั้งงานคลาสสิก หนังระดับตำนาน หนังหว่อง ซูเปอร์ฮีโร่ใหม่เก่า ซิมป์สันส์ แถมท้ายด้วยสารคดีอีกเพียบ
ในฐานะคนที่โตมากับวิดิโอเทปดิสนีย์ที่ต้องเอาไปปั่นในเครื่องกรอทรงรถสปอร์ต การได้เห็นการ์ตูนคลาสสิกที่เราโตมาด้วย นั่งขี้มูกยืดดูวนไปอีกครั้งนับว่าทำเอาน้ำตาคลอได้ง่ายๆ แน่นอนว่าความพิเศษของ Disney+ Hotstar คือการกลับมาของการ์ตูนขึ้นชื่อของดิสนีย์ในรูปที่คมชัดขึ้น และพาเราย้อนกลับไปสู่สิ่งที่เราเติบโตและหล่อหลอมเราขึ้นมา
อาณาจักรของดิสนีย์นั้นยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่ต่อความรู้สึกของผู้คน ต่อวงการสื่อ วงการศิลปะ และแน่นอน ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างล้ำลึกและกว้างไปทั่วโลก กระนั้นแล้วประวัติศาสตร์อันยาวนานของดิสนีย์จึงมีความสำคัญทั้งในวิวัฒนาการของตัวการ์ตูนดิสนีย์เอง และผลกระทบที่มีต่อเด็กๆ และสังคม การ์ตูนดิสนีย์จึงเป็นสิ่งที่นักวิชาการสนใจและเลือกนำมาศึกษากันอยู่เสมอ ด้วยพลังและความป๊อปปูลาร์ของการ์ตูนดิสนีย์เอง
เพื่อเป็นการต้อนรับกลับไปชมงานดิสนีย์อีกครั้ง The MATTER จึงชวนอ่านงานศึกษาเพื่อให้เราเข้าใจดิสนีย์ และอาจเข้าใจความรู้สึกของเราในการดูการ์ตูนดิสนีย์ กระทั่งชวนคิดว่าทำไมเราถึงชอบดิสนีย์นัก การ์ตูนดิสนีย์จากรุ่นต่างๆ เจ้าหญิงดิสนีย์มีความเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ส่งผลกับเราอย่างไร ทำไมถึงต้องมีความตายปรากฏอยู่ และธรรมชาติมีความหมายอย่างไร งานศึกษาทั้ง 10 ชิ้นนี้ก็จะว่าด้วยทั้งพัฒนาการของการ์ตูนดิสนีย์เองและความสัมพันธ์ของดิสนีย์กับมิติเชิงสังคมรวมถึงผลต่อพฤติกรรมและจิตวิทยาของเด็กๆ
ส่วนใหญ่ด้วยความที่ดิสนีย์ดังเรื่องเจ้าหญิง งานศึกษาก็จะศึกษาประเด็นเพศสถานะ ว่าด้วยการนำเสนอภาพผู้หญิง ตั้งแต่เรื่องความเปลี่ยนแปลงของเจ้าหญิงที่เคยนำมาจากนิทาน มีความเป็นหญิง มีอคติทางเพศ จนไปสู่เจ้าหญิงที่แข็งแกร่งขึ้น ภาพของเจ้าหญิงที่เริ่มไม่ยึดติดกับความเป็นเพศหญิงหรือชาย ผลกระทบของการ์ตูนที่มีต่อเด็กหญิงที่อาจจะต่างกับเด็กชาย หรือการส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก โดยนอกจากเรื่องเพศก็จะว่าด้วยความตาย ทำไมถึงเสนอความตาย และเด็กๆ เข้าใจเรื่องความตายผ่านการ์ตูนได้อย่างไร และแน่นอนว่าธรรมชาติในการ์ตูนดิสนีย์ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งหมดนี้เราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในงานดิสนีย์เอง และบางส่วนงานศึกษาก็เหมือนจะสนทนาต่อกันเพื่อความเข้าใจสังคมและผู้คนโดยมีงานสร้างสรรค์เป็นศูนย์กลาง
เจ้าหญิงที่นอนนิ่งๆ กับเจ้าหญิงนักรบ ความก้าวหน้าที่ยังลบภาพเจ้าหญิงไม่ออก
เจ้าหญิงดิสนีย์เป็นไอคอนสำคัญ และแน่นอนว่าเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์ที่นักวิชาการและนักวิจารณ์มักจะระบุว่า เจ้าหญิงดิสนีย์ในยุคหนึ่งมีปัญหาเรื่องความเป็นผู้หญิง คือมันมีความแน่นิ่ง เน้นเรื่องความสวยงาม เป็นเจ้าหญิงที่นอนรอรอให้เจ้าชายมาช่วย ซึ่งในทางหนึ่งก็ระบุว่าทำให้เด็กผู้หญิงรับเอาอคติทางเพศเข้าไปไว้ในตัว
ระยะหลังดิสนีย์ก็รับฟังและปรับภาพเจ้าหญิง จากพวกที่มักจะรอให้คนอื่นช่วย จนค่อยๆ มีเจ้าหญิงดิสนีย์ยุคใหม่เช่น Frozen ที่ไม่ต้องการผู้ชาย Moana เป็นเจ้าหญิงนักสู้ที่จับอาวุธ แต่งานศึกษาชิ้นนี้ก็ศึกษาเพิ่มคือดูว่าแล้วเด็กผู้หญิงรับรู้มั้ย จริงๆ แล้วงานศึกษาชิ้นนี้ทำให้เห็นความซับซ้อนคือเหมือนว่า ในส่วนของเจ้าหญิงยุคใหม่ เด็กๆ ก็ไม่ได้มองว่าเป็นเจ้าหญิงเท่าไหร่ และไม่ทำให้คำว่า ‘เจ้าหญิง’ ที่สัมพันธ์กับสีชมพูและความฟูฟ่องเปลี่ยนไปมากนัก
ชื่องานศึกษา : From the Sleeping Princess to the World-saving Daughter of the Chief: Examining Young Children’s Perceptions of ‘Old’ Versus ‘New’ Disney Princess Characters
อ่านงานศึกษาได้ที่ : www.researchgate.net
เจ้าหญิงยุคใหม่ไม่ถูกจำกัดด้วยเพศชายหรือหญิง
งานศึกษาชิ้นนี้สนุกมาก ใช้ข้อมูลเพื่อศึกษาการนำเสนอภาพเจ้าหญิงดิสนีย์ยุคหลังตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2000–2016 คือเจ้าหญิงยุคก่อนถูกวิจารณ์ว่าพวกเธอถูกโยงกับอคติของความเป็นผู้หญิง มีความเป็นหญิง ไม่ได้ไปช่วยเหลือใคร และจบลงด้วยความรักกับเจ้าชาย
งานศึกษาชิ้นนี้ก็เลยเอาข้อมูลจำนวนมากมาวิเคราะห์เจ้าหญิงดิสนีย์รุ่นปี 2000 อย่าง Frozen, Moana, เจ้าชายกบ (The Princess and the Frog), ราพันเซล (Tangled), และ Brave แล้วดูองค์ประกอบและกิจกรรมที่สัมพันธ์กับเจ้าหญิงแต่คน พล็อตแต่ละคนมีพฤติกรรมค่อนไปทางไหน มีคุณสมบัติหรือทำอะไรแบบผู้ชายหรือผู้หญิง เช่น มีความกล้าหาญ เป็นเหยื่อ ช่วยเหลือ เก็บอารมณ์
ผลก็พบว่าเจ้าหญิงยุคใหม่มีพฤติกรรมที่ผสมผสาน คือมีทั้งความเป็นชายและความเป็นหญิงเท่าๆ กัน สรุปความว่า สมัยใหม่นี้การเป็นเพศใดเพศหนึ่ง—เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง—ก็อาจจะแสดงความเป็นชายและความเป็นหญิงตามคติของสังคมแบบเดิมได้อย่างไม่จำกัดเพศ
ชื่องานศึกษา : The Rise of the Androgynous Princess: Examining Representations of Gender in Prince and Princess Characters of Disney Movies Released 2009–2016
อ่านงานศึกษาได้ที่ : www.researchgate.net
โอบอุ้มเจ้าดัมโบ้และเข้าใจความแตกต่างของลีโล่กับสติทช์ด้วยทฤษฎีเควียร์
ความเป็นเควียร์ในทางวิชาการมีความหมายค่อนข้างกว้าง นอกจากจะหมายถึงมิติทางเพศ หรือการเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในเพศตามกรอบสังคมแล้ว ยังหมายถึงกลุ่มคนที่ถูกทำให้แปลกแยกและแตกต่างไปจากมาตรฐานของสังคม (norm) ด้วย
งานศึกษาชิ้นนี้เลือกอ่านงงานสองชิ้นจากสองยุคสมัย คือ ดัมโบ้ และ ลีโล่ แอนด์ สติทช์ โดยใช้แว่นของเควียร์ไปอ่าน ดูว่าตัวเรื่องในการ์ตูนของดิสนีย์นั้นนำเสนอความเป็นเควียร์อย่างไร พูดถึงความเป็นอื่น-คนอื่น-คนนอกอย่างไร ซึ่งก็ค่อนข้างชัดเจน โดยดัมโบ้เป็นช้างที่หูใหญ่และแตกต่างจนทำให้ไม่เข้าฝูง ก่อนที่จะค้นพบความพิเศษของตัวเอง ลีโล่กับสติทช์ก็พูดถึงเด็กผู้หญิงที่ไม่ค่อยเป็นผู้หญิง และการผจญภัยกับมนุษย์ต่างดาวที่ทำให้เธอเข้าใจความเป็นครอบครัว ไปจนถึงการยอมรับความแปลกประหลาดและความแตกต่าง
งานศึกษาอ่านสนุกและใช้ทฤษฎีเควียอ่านตัวบทได้ดี ทำให้เราเห็นสายธารของงานดิสนีย์ ที่ก็ตอบรับกับกลุ่มคนที่แตกต่างในสังคมและบางครั้งก็แหวกออกจากขนบเดิมของตัวเอง
ชื่องานศึกษา : Touching Queerness in Disney Films Dumbo and Lilo & Stitch
อ่านงานศึกษาได้ที่ : www.mdpi.com
มิตรภาพแสนสำคัญ การ์ตูนดิสนีย์ส่งผลดีต่อพฤติกรรมการช่วยเหลือผู้อื่นของเด็กๆ
ชื่องานศึกษา : Helping Behavior in Disney Animated Movies and Children’s Helping Behavior in the Netherlands
งานศึกษาเชิงพฤติกรรมน่ารักๆ จากเนเธอแลนด์ในปี ค.ศ.2017 จริงๆ ก็ค่อนข้างเดาได้เนอะ คือในการ์ตูนดิสนีย์จะเน้นเรื่องมิตรภาพ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พอนักวิจัยอยากรู้ว่าแล้วมันส่งผลกับเด็กๆ มั้ย ก็เลยอะ ให้เด็กกลุ่มนึงดูเรื่องที่ตัวเอกทำภารกิจช่วยเหลือเพื่อนๆ กับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ดู ผลก็พบว่าเด็กๆ ที่ดูการ์ตูนที่มีการช่วยเหลือเพื่อนนั้นมีแนวโน้มจะช่วยเหลือคนอื่นด้วยในระยะสั้นๆ มากกว่าเด็กที่ไม่ได้ดู
ชื่องานศึกษา : Helping Behavior in Disney Animated Movies and Children’s Helping Behavior in the Netherlands
อ่านงานศึกษาได้ที่ : www.researchgate.net
เจ้าหญิ้งเจ้าหญิง เข้าใจอิทธิพลเรื่องความเป็นเพศจากงานของดิสนีย์ที่มีต่อเด็กๆ
ชิ้นนี้อาจจะเน้นชี้ปัญหาหน่อย งานศึกษาในปี ค.ศ.2016 ฉบับนี้ว่าด้วยภาพตายตัวของความเป็นเพศ คือเด็กผู้หญิงดูเจ้าหญิงมากๆ จะทำตัวเป็นเจ้าหญิงมั้ย เป็นผู้หญิ้งผู้หญิงมากขึ้นรึเปล่า แล้วเด็กผู้ชายล่ะ
งานศึกษานี้ใช้เวลาค่อนข้างยาว คือ เน้นเฝ้าสังเกตเด็กทั้งชายและหญิงที่มีการให้ดูการ์ตูนดิสนีย์แล้วก็รายงานพฤติกรรมในรอบจากครูและผู้ปกครอง ซึ่งก็ดูจากหลายอย่าง จากพฤติกรรม จากการเลือกเล่นของเล่น ผลที่ออกมาก็ทั้งน่าแปลกใจและชวนให้เข้าใจได้ คือ การดูเจ้าหญิงดิสนีย์ส่งผลกับการรับรู้และพฤติกรรมของภาพจำความเป็นผู้หญิงโดยรับรู้ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง แต่ในขณะเดียวกันมีแต่เด็กผู้ชายที่ได้เรื่องความภูมิใจในร่างกาย และมีพฤติกรรมเชิงบวกต่อสังคมมากขึ้น คล้ายๆ ว่าเด็กผู้หญิงจะเน้นรับภาพของความเป็นหญิงเข้าไป แต่เด็กผู้ชายอาจจะไม่ได้แง่นั้น แต่ไปได้แง่เชิงพฤติกรรมแทน
ชื่องานศึกษา : Pretty as a Princess: Longitudinal Effects of Engagement With Disney Princesses on Gender Stereotypes, Body Esteem, and Prosocial Behavior in Children
อ่านงานศึกษาได้ที่ : srcd.onlinelibrary.wiley.com
ดิสนีย์ดังเรื่องเจ้าหญิง แล้วเด็กผู้ชายล่ะ อิทธิพลของดิสนีย์ที่อาจไม่ได้มีผลกับเด็กผู้ชายนัก
ชิ้นนี้ก็ดูสอดคล้องกับชิ้นก่อนหน้า ด้วยความที่งานดิสนีย์โดดเด่นและมักเถียงกันเรื่องเจ้าหญิง ความเป็นหญิง และอคติต่อเพศหญิง แน่นอนเด็กที่ดูก็เป็นเด็กผู้หญิงเป็นหลัก ทีนี้หนุ่มๆ ก็อาจจะนึกย้อนไปว่าก็ชอบแหละ แต่อาจจะไม่ได้อินขนาดนั้น
งานศึกษาชิ้นนี้ก็เลยเลือกศึกษาอิทธิพลของการ์ตูนดิสนีย์ที่มีต่อเด็กผู้ชาย โดยเน้นศึกษาผ่านพ่อแม่เป็นหลัก โอเคว่าอาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่งานศึกษานี้ก็ทำให้เห็นประเด็นเรื่องการรับรู้การ์ตูนดิสนีย์ และและเลือกให้ลูกดูการ์ตูนดิสนีย์โดยมีมิติเพศของเด็กเป็นตัวกำหนด พ่อแม่เด็กผู้ชายก็จะเห็นว่าดิสนีย์เป็นการ์ตูนเด็กผู้หญิง เห็นว่าลูกชายจะชอบพวกหนังแอ็กชั่นมากกว่า ถ้าเป็นการ์ตูนก็จะเป็นพวกงานยุคหลังๆ หรือเฟรนไชส์อื่น เช่น มาร์เวล พิกซาร์ สตาร์วอร์ส ที่มีผลกับเด็กผู้ชายมากกว่างานดิสนีย์ยุคคลาสสิก สรุปคือเห็นว่าดิสนีย์ไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อลูกชายมากนัก (โดยไม่รู้ว่าแนวแอ็กชั่นที่กล่าวมาก็อยู่ในเครือเดียวกัน)
ชื่องานศึกษา : Young Boys and Disney: A Qualitative Study of Parents’ Perceptions About Their Sons and Disney Media
อ่านงานศึกษาได้ที่ : wtamu-ir.tdl.org
ทำไมตัวละครในการ์ตูนดิสนีย์ตายกันเก่ง อ่านความตายจากดิสนีย์ยุคคลาสสิก
ความตายแทบจะเป็นหัวใจหนึ่งของงานของดิสนีย์ และงานในปี ค.ศ.2005 ชิ้นนี้ก็มาศึกษาว่า ในการนำเสนอความตายนั้นมันทำให้เด็กๆ เข้าใจความตายได้อย่างไร ตัวงานค่อนข้างเน้นไปที่การศึกษาการ์ตูนดิสนีย์ 10 เรื่องและวิเคราะห์การตายและฉากการตายทั้ง 23 ฉากโดยละเอียด ผ่าน 5 หัวข้อ คือ สถานะตัวละคร, สถานะของการตายนั้นๆ, การนำเสนอภาพความตาย, การตอบสนองเชิงอารมณ์ในเรื่อง, และ สาเหตุการตาย
ผลการศึกษาพบว่าก่อนหน้านี้เด็กๆ อาจจะไม่ค่อยได้พูดถึงความตายเท่าไหร่ ทั้งกับเพื่อนและพ่อแม่ ตัวหนังพวกนี้ก็เลยเป็นจุดที่ทำให้เด็กๆ หยิบเรื่องความตายมาพูดคุยและทำความเข้าใจทั้งกับพ่อแม่และคนรู้จัก รวมถึงเพื่อนฝูงด้วย
ชื่องานศึกษา : Death in Disney Films: Implications for Children’s Understanding of Death
อ่านงานศึกษาได้ที่ : sites.ualberta.ca
ความตายกับการรับมือความตาย เข้าใจความตายอย่างต่อเนื่องในการ์ตูนดิสนีย์สองยุค
งานชิ้นนี้เป็นงานศึกษาต่อเนื่องจากงานในปี ค.ศ.2005 โดยศึกษาให้ลึกและกว้างขึ้น คือใช้กรอบการศึกษาความตาย 5 ประเด็นเช่นงานศึกษาก่อนหน้า แต่เพิ่มการศึกษาตัวกระบวนการรับมือความตายโดยใช้กรอบทางจิตวิทยามาศึกษาเพิ่มเติมด้วย และขยายผลการศึกษาด้วยการศึกษาเปรียบเทียบงานในสองยุคคือยุคก่อน แรกเริ่มถึงปี ค.ศ.2003 และยุคหลังคือ ค.ศ.2013–2016 (งานยุคหลังรวมพิกซาร์บางเรื่องด้วย)
ผลก็น่าสนใจคือกลับพบว่าการนำเสนอความตายในงานดิสนีย์นั้นคลุมเครือ โดยอาจจะไม่ได้ทำให้เด็กๆ มองเห็นความตายได้ชัดเจน และไม่ได้เน้นเรื่องว่าการตายนั้นถาวรและย้อนคืนไม่ได้เท่าไหร่นัก มักจะไม่ได้ผลเชิงอารมณ์ต่อความตายมากขนาดนั้น และดูเหมือนว่างานในยุคหลังๆ จะค่อยๆ ให้ภาพความตายที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ผลในเชิงการเรียนรู้ถึงประเด็นยากๆ เช่นความตายในงานยุคหลังนั้นชัดเจนและได้ผลเชิงบวกมากกว่า
ชื่องานศึกษา : Death and Coping Mechanisms in Animated Disney Movies: A Content Analysis of Disney Films (1937–2003) and Disney/Pixar Films (2003–2016)
อ่านงานศึกษาได้ที่ : www.researchgate.net
จินตนาการของดินแดนในสายตาของคนขาว อ่านทาร์ซานด้วยทฤษฎีหลังอาณานิคม
มาที่ประเด็นวิพากษ์บ้าง แน่นอนว่างานดิสนีย์เกิดจากวรรณกรรมบ้าง เรื่องเล่าบ้าง ผลงานที่ออกมาจึงมีอคติของสังคมในยุคหนึ่งและตัวดิสนีย์เองก็ร่วมผลิตซ้ำอคตินั้นๆ นอกจากเรื่องเพศสถานะแล้ว ชาติพันธุ์ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ปรากฏในงานของดิสนีย์ โดยแน่นอนว่าดิสนีย์เป็นงานของโลกตะวันตกที่จินตนาการโลกตะวันออกหรือแอฟริกาขึ้น
ในการวิพากษ์แบบบูรพคดีนิยม หรือ orientalism นำโดยนักวิชาการ Edward Said ที่เน้นวิพากษ์การล่าอาณานิคม โดยการจินตนาการถึงโลกตะวันออกที่เป็นคู่ตรงข้ามกับตะวันตก และใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าล่าอาณานิคมในนามของความเจริญ ในทาร์ซานก็เป็นส่วนหนึ่งของจินตนาการที่คนยุโรปวาดทวีปแอฟริกาขึ้นในฐานะทวีปมืดมนที่เป็นกลุ่มก้อนแบบเดียวกัน คือ แอฟริกาต้องเป็นแบบนี้ เป็นป่าๆ มีชนเผ่า เป็นคู่ตรงข้ามกับคนขาว ในขณะเดียวกันก็น่าสนใจเพราะทาร์ซานเป็นคนขาวที่ถูกเลี้ยงขึ้นมาในป่า เป็นคนอังกฤษที่เหมือนจะใช่คนอังกฤษ แต่ก็ไม่เชิง จะกลับบ้านได้ในฐานะคนอังกฤษ—ก็ซับซ้อนอีก
ชื่องานศึกษา : Imagining the ‘Dark Continent’: Disney’s Tarzan and Defining the African Post-Colonial Subject
อ่านงานศึกษาได้ที่ : warwick.ac.uk
เพราะธรรมชาตินั้นสำคัญ ว่าด้วยธรรมชาติและการใช้ธรรมชาติในการ์ตูนดิสนีย์
ส่งท้ายด้วยไม่ใช่แค่งานวิจัย แต่เป็นหนังสือทั้งเล่ม โดยแน่นอนว่าเรารู้ดีว่าธรรมชาติเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในงานของดิสนีย์ และมีความซับซ้อนในการนำเสนอและใช้ธรรมชาติในการเล่าเรื่อง แบมบี้มีฉากป่าที่สะท้อนอารมณ์ของเรื่อง เจ้าหญิงดิสนีย์มีความอารีต่อสารพัดสัตว์ และเรื่องราวของเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ทำให้เรารักและมีน้ำจิตน้ำใจต่อสิ่งมีชีวิตอื่น มองเห็นโลกที่พ้นไปจากเมือง เห็นชีวิตจิตใจของเพื่อร่วมโลก
หนังสือเล่มนี้พาเราไปเห็น ไปเข้าใจ ‘ธรรมชาติ’ ในดิสนีย์อย่างจริงจัง ศึกษาตัวบทและบริบทอย่างละเอียดถึงความปรารถนา ภาพ และความสัมพันธ์ต่อความวิตกกังวลของสังคมที่ทั้งโหยหาและมองเห็นปัญหาที่เรากระทำต่อธรรมชาติ เราจะเข้าใจตั้งแต่การเลือกปรับธรรมชาติจากแฟรี่เทล การวาดภาพธรรมชาติในฐานะพื้นที่ปลอดภัย ให้ภาพอิทธิของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติ ความขัดแย้งและการที่เราไปปนเปื้อนเช่นการทำความสะอาดท้องทะเล ไปจนถึงโลกหลังยุคมนุษย์ที่เต็มไปด้วยขยะของวอลอี
ชื่องานศึกษา : The Idea of Nature in Disney Animation
อ่านงานศึกษาได้ที่ : www.routledge.com