คิดว่าแฟนๆ ดิสนีย์หลายท่านคงทราบข่าวเรื่องการคัดตัวนักแสดงในบท แอเรียล (Ariel) ของเรื่อง The Little Mermaid คนใหม่ไปบ้างแล้ว ว่าผู้ที่ได้รับเลือกให้แสดงบทนี้คือ ฮัลเล เบลีย์ (Halle Bailey) เด็กสาวเสียงดีผิวสี (เออ จริงๆ คือผิวดำนั่นแหละครับ เรียกผิวสีก็ประหลาด เพราะผิวทุกคนก็ต้องมีสีสักสีแหละ)
และหากพอจะทราบข่าวการคัดเลือกตัวนักแสดงในครั้งนี้ ก็น่าจะพอผ่านหูผ่านตากันบ้างว่านำมาซึ่งดราม่าไม่น้อยทีเดียว มีทั้งฝั่งที่ชื่นชมที่เลือกนักแสดงคนดำเข้ามา ที่แสดงถึงการไม่ติดกับดักแบบโลกของคนขาว ในขณะที่แฟนสายฮาร์ดคอร์บางส่วนก็มองว่านี่เป็นการไม่เคารพต้นฉบับเอาเสียเลย แอเรียลผมแดงผิวขาวของฉันหายไปไหน!
ณ จุดนี้ผมอยากจะบอกไว้ก่อนว่าหากพูดกันในแง่รายละเอียดของหนังหรือการ์ตูนโดยรวมจากโลกฝั่งตะวันตกแล้ว ผมเองอาจจะไม่ใช่คนที่เหมาะสมที่สุดที่จะพูดถึงมันนัก เพราะบอกกันตามตรงเลยว่าผมไม่ได้อินกับการ์ตูนจากฝั่งตะวันตกมากนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมังหงะของญี่ปุ่น แต่ในครั้งนี้ผมดันบังเอิญไปเห็นดราม่าที่ว่าจากข่าวนี้เข้า และพบว่าดูจะเป็นดราม่าตบตีกันมากกว่าที่คิด เพราะผมไม่คิดว่ามันจะมีอะไรเป็นปัญหาเลย การแคสต์ตัวนักแสดงนำมาซึ่งดราม่าเล็กๆ เสมอ เพราะไม่เคยมีนักแสดงคนไหนที่พอคัดเลือกมาแล้วจะเป็นที่ถูกใจทุกคน แต่ครั้งนี้มันมากกว่านั้น และผมอยากจะเริ่มต้นจากจุดนี้ไปครับ
อย่างที่ผมบอกว่าการคัดเลือกนักแสดงนั้นไม่เคยนำมาซึ่งความพึงพอใจแบบถ้วนหน้าเสมอกันหมดสักครั้ง
ฉะนั้น การบ่นการวิจารณ์ทั้งทีมงานที่คัดเลือกหรือตัวนักแสดงที่ได้รับเลือกมานั้น เป็นเรื่องปกติอย่างสุดแสนจะปกติได้ และโดยทั่วไปก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก สักพักก็ผ่านพ้นไป (เพราะมันเป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ นั่นเอง หากเห็นด้วยตรงกันหมดต่างหากที่น่าประหลาดใจ) อาจจะยกเว้นก็แต่เจ้าเม่นโซนิกที่ดราม่าแรงจนต้องไปปรับกัน แต่นั่นมันเป็น CG อะนะครับ อาจจะนับรวมว่าเป็นแบบเดียวกันเลยไม่ได้ อย่างกรณีแอเรียลนี้เอง ก่อนที่ผมจะเห็นดราม่าผมก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรนัก ปัญหาเดียวที่ผมมีในใจคือ สำหรับผมแล้ว “เธอไม่สวยเลย”
แต่นั่นแหละครับ ความบ้าบอของแอเรียลเดอะแบล็คนี้ก็คือ หากผมไปโพสต์ข้อความว่า “ฮัลเล เบลีย์ไม่สวยเลยว่ะ ไม่เหมาะกับบทเลย” ผมจะโดนประณามทันทีว่า “เหยียดผิว” หรือ racist ทั้งๆ ที่เหตุผลในการมองว่าไม่สวยนั้นไม่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ยันเมลานินในเซลล์ผิวของนางเลยแม้แต่น้อย แต่นั่นแหละครับ การวิจารณ์ตามรสนิยมที่แสนจะธรรมดาสามัญนี้ กลับถูกดึงให้กลายเป็นเรื่อง ‘เกินกว่าธรรมดา’ ไปพลันภายใต้ดราม่าที่เกิดขึ้น จนผมเองพานแอบหงุดหงิดในใจว่า “เออ ถ้าเพื่อจะได้ยืนยันในจุดยืนของกูเองว่านางไม่สวย กูยอมเป็นพวกเหยียดผิวในสายตามึงก็ได้วะ!” ซึ่งการปกป้องแม่หนูเบลีย์จากการวิจารณ์ในลักษณะนี้อย่างล้นเกินนั้น ส่วนหนึ่งมันไม่มีทางปฏิเสธได้เลยว่าเป็นผลมาจากวัฒนธรรมความบ้าคลั่งต่อความถูกต้องทางการเมืองอย่างล้นเกิน (over-political correctness : over-PC) นั่นเอง (อนึ่ง ผมไม่ได้คิดจะปฏิเสธด้วยนะครับว่ารสนิยมส่วนตัวผมนั้นก็ถูกตีกรอบมาจากค่านิยมภาพรวมและสิ่งที่หล่อหลอมผมขึ้นมา อย่างผมเติบโตมากับหนัง AV ญี่ปุ่น, หนังเรตอาร์ของเกาหลี หรือเฮนไตอนิเมะและมังหงะ รสนิยมผมก็ไปทางสาวเอเชียมากกว่า—อันนี้พูดถึงช่วง formative years ที่พวก Pornhub ยังไม่ทันมานะครับ—เป็นต้น)
อย่างไรก็ดี นอกจากการตบตีภายใต้หลักการเรื่องความถูกต้องทางการเมือง หรือพีซีแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ดูจะตบตีแบบคู่ขนานไปพร้อมๆ กันด้วย นั่นคือ สิทธิในการตีความอย่างเป็นตัวของตัวเอง กับเรื่องการเคารพต้นฉบับ ที่ดูเผินๆ แล้วอาจจะเป็นคนละเรื่องที่เพียงแค่ตบตีแบบแยกกันแต่เพียงแค่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันเท่านั้น ในแง่นี้ผมเองก็คิดว่าไม่จริง 2 ประเด็นที่ดูจะแยกกันเถียงนี้ แท้จริงแล้วมีรากเดียวกันอยู่
ผมอยากจะเริ่มอธิบายจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ความคิดแต่เพียงสั้นๆ ก่อน เพราะเคยเขียนถึงหลายวาระแล้ว นั่นคือ แม้ตอนนี้คนที่พยายามจะอ้างเรื่องพีซีแบบล้นเหลือมักจะเป็นคนที่ถูกวางหรือไม่ก็วางตัวเองในฝั่ง ‘หัวก้าวหน้าของสังคม’ นั้นๆ แต่จริงๆ แล้ว แนวคิดเรื่องพีซีนั้นมันมีจุดกำเนิดโดยฝ่ายขวาคนขาวอารยันมากๆ นะครับ ว่ากันอีกแบบก็คือ ความพีซีหรือภาพของพีซีเป็นอะไรที่มีรากผูกติดอยู่กับความเป็นคนขาวอารยันไม่น้อย
พูดอย่างถึงที่สุดก็คือ ไอ้คนหรือประเด็นที่จะจุดประเด็นให้เกิดปัญหาในมุมพีซีได้จริงๆ (ในระดับโลก) นั้น ก็มักจะเป็นอะไรที่สัมพันธ์กับความขาวแบบตะวันตกนี่แหละ
เราเห็นการแปลงบทตัวละครมามากมาย ตั้งแต่ดราก้อนบอลฉบับฮอลลีวูด อาละดินเปอร์เซียที่กลายเป็นคนดำ เอเชียนที่กลายเป็นฝรั่ง ฯลฯ เหล่านี้แม้จะมีเสียงบ่นบ้าง แต่ไม่ค่อยจะเกิดในสเกลระดับโลกนัก เว้นแต่ในกรณีที่ตัวละครต้นฉบับจะมีลักษณะแบบคนขาวอารยัน อย่างกรณีแอเรียล เงือกผิวขาวผมแดงนางนี้ พูดกันอย่างถึงที่สุดก็คือ จริงๆ แล้วพีซีนั้นมันไม่เคยถูกสร้างมาเพื่อให้เราได้ใช้กันอย่างสากลจริงๆ หรอก แต่มันเป็นแนวคิดที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้คนขาวอารยันแต่แรก ว่ากันแบบห่ามๆ ก็คือ ‘พีซีคือเรื่องของคนขาว’ (และบางทีการใช้มันอาจจะยิ่งเป็นการไปเพิ่มพลังให้กับรากฐานแบบนี้โดยไม่รู้ตัวก็ได้)
เพราะฉะนั้นต่อให้ลักษณะทางชาติพันธุ์ของแอเรียลคนใหม่จะดูสมจริงมากกว่าเพียงใด เพราะด้วยฉากของหาดทราย ทะเล สายลม และแนวประการังในเนื้อเรื่อง The Little Mermaid แล้ว ทำเลที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดก็น่าจะอยู่ตามแนวละแวกเส้นศูนย์สูตรเสียมากกว่าทะเลเหนือ ฉะนั้นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อิงตามลักษณะประชากรก็ควรพึงเป็นคนผิวสีแบบแอฟริกัน, ละติน, แคริบเบียน ไม่ก็เอเชียน แต่นั่นไม่สำคัญและมีน้ำหนักนักโดยเฉพาะบนฐานคิดแบบพีซีที่กำเนิดมาเพื่อรับใช้คนขาวตามรากของมัน การ ‘ดัดแปลง’ แบบอื่นๆ จึงไม่เคยเป็นประเด็นจริงๆ ในระดับโลก ยกเว้นแต่การดัดแปลง ‘ความขาวให้เป็นอื่น’ เมื่อนั้นดราม่าบนฐานคิดพีซีในระดับสากลจึงจะแสดงพลัง เพราะมันคือ ‘เรื่องของคนขาว ไม่ใช่ของใครอื่นเท่าไหร่นัก’
ประเด็นต่อมาอย่างเรื่องความเคารพต่อต้นฉบับนั้น ผมคิดว่ามีปัจจัยที่น่าพิจารณาหลายส่วนอยู่ อย่างแรกเลยคือเรื่องความสำคัญของตัวต้นฉบับ ถึงที่สุดแล้วต้นฉบับมันสะท้อนอะไร? โดยส่วนตัว ผมคิดว่าส่วนที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ต้นฉบับมอบให้กับผู้อ่านนั้น นอกจากจะในเรื่องความบันเทิง ความคุ้นชิน หรือโลกใหม่จักรวาลใหม่ที่กลายเป็นพื้นที่พิเศษให้คนอ่านที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อนเลยสามารถมีประสบการณ์ร่วมกันได้แบบข้ามพ้นขีดจำกัดทางกายภาพ ก็คือ การสะท้อนโลกและตัวตนของตัวผู้เขียนเอง
ณ เวลานั้น ผู้แต่งมีมุมมองต่อโลกอย่างไร เขาอยากเห็นโลกเป็นแบบไหน สังคมรอบตัววางตัวและมีจุดยืนต่อโลกแบบใด งานวรรณกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะนิยาย ภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือการ์ตูนล้วนทำหน้าที่บอกเล่าสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น ถ้าพูดแบบเวอร์ๆ สักนิด มันก็คือ ‘ประวัติศาสตร์ที่จำแลงตัวอยู่’ (history in disguise) นั่นเอง มันเป็นภาพที่สะท้อนประวัติศาสตร์จากมุมมองที่ผู้แต่งมองเห็นและตีความขึ้นมา ซึ่งจุดยืนทางประวัติศาสตร์ที่ว่าของวรรณกรรมชิ้นนั้นๆ อาจจะเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปหรือเป็นมุมมองที่แสนจะโดดเดี่ยว แสนจะชายขอบ สุดจะเชิงวิพากษ์ ณ เวลาที่มันถูกถ่ายทอดออกมาก็ได้ และแน่นอนเมื่อเวลาผ่านไปสักหน่อย การย้อนกลับมาดูก็อาจจะส่งผลแบบตรงกันข้ามได้ จุดยืนที่เคยได้รับการยอมรับ อาจกลายเป็นความผิดพลาดที่ชวนให้เขินอาย หรือจุดยืนที่แสนจะชายขอบ ทวนกระแส อาจกลายเป็นวัฒนธรรมหลักในช่วงเวลาใหม่ไปแล้วก็ได้ และสิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติธรรมดามากๆ ของสังคมมนุษย์
เพราะฉะนั้น ความสำคัญของต้นฉบับในแง่นี้ก็คือ การยืนยันถึง ‘ความจริงของจุดยืนทางความคิดและบทสะท้อนต่อประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และมันเป็นจริงเช่นนั้นต่อไปไม่ว่าตัวตนในตอนนี้จะเปลี่ยนแปลงไปจากวันนั้นหรือไม่ก็ตาม’
ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขต้นฉบับจึงมีทั้งข้อดีและข้อควรระวังในตัวมันเองไปพร้อมๆ กัน คือ มันเป็นการแก้ไขความผิดพลาดในอดีตที่ทำไว้และทำให้มันถูกต้องเหมาะสมขึ้นเสีย ในกรณีที่การหวนกลับไปมองตัวบทต้นฉบับแล้วเรามองว่ามันคือจุดยืนที่ผิดพลาดและสมควรปรับปรุงแก้ไขนะครับ จึงพยายามแก้ไขเพื่อเผยแพร่ในสิ่งที่เราในตอนนี้คิดว่าถูกต้องมากกว่า แต่ความน่ากลัวที่มาพร้อมกัน ก็คือ บางครั้งและบ่อยๆ ครั้งด้วย การแก้ไขแบบนี้ที่ไม่ทำอย่างชัดเจนนัก มันก็เป็นการกลบเกลื่อน ซ่อนเร้น หรือพยายามทำให้ความผิดของตนเองในทางสาธารณะถูกลืมเลือนไปด้วย
ฉะนั้น กรณีแอเรียลของเรานี้ ความไม่ต้องตรงกับต้นฉบับกลายเป็นว่าดูจะเกิดจากรากเดียวกันกับข้อถกเถียงเรื่องพีซี ที่เดิมทีวัฒนธรรมความงามและความขาวเคยเป็นวัฒนธรรมหลัก เคยเป็นการยอมรับในทางสากล แต่เมื่อดิสนีย์ย้อนกลับไปมองตัวบทต้นฉบับของตนเองแล้วก็มองเห็นว่า ความถูกต้องในอดีตไม่ใช่ความถูกต้องในปัจจุบันอีกต่อไป ตัวดิสนีย์เองก็ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน และผมคิดว่าคงจะปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มันสะท้อนถึงอำนาจของวัฒนธรรมพีซีที่นับวันยิ่งเข้มแข็งจนล้นเกิน เป็นกระแสและท่าทีทางการเมืองที่สมัยแอเรียลเดอะไวท์ยังแทบไม่มีพลังหรือที่ทางนัก ฉะนั้นดิสนีย์จึงต้องทำการปรับปรุงอดีตของตนให้ต้องตรงกับคุณค่าความงามของมาตรฐานสากลอันเป็นปัจจุบัน
ท่าทีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับดิสนีย์ แต่มาแบบทั่วไปหมด อย่างซีรีส์ดังของ Netflix อย่าง Sex Education ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่เนื้อหาดูจะพยายามสื่อสารกับผู้ชมกลุ่ม young adult เป็นพิเศษ ทำให้เนื้อเรื่องมีทั้งความเผ็ดร้อน ทั้งจุดน่ารัก ทั้งแง่มุมแรดิคัลบ้าง ดูก้าวหน้าบ้าง ดูแรงๆ บ้าง แต่พร้อมๆ กันไปภาพใต้ฉากหน้าเหล่านี้มันแฝงไปด้วยความหน่อมแน้มนุ่มนิ่มที่พยายามจะทำตัวเองให้ถูกต้องทางการเมืองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู คุณมีหนุ่มฮอตองคชาตโตที่เอากับผู้หญิงมานับไม่ถ้วนที่สุดท้ายมาได้กันกับตุ๊ดผิวดำร่างถึกแต่ชอบทำตัวอ้อนแอ้น คุณมีซอฟต์บอยว่าวไม่เป็นที่หลงรักสาวฮอตสุดสะบึม ที่สุดท้ายสาวฮอตกลับมาหลงรัก แต่หนุ่มซอฟต์บอยกลับไปได้กับสาวลุ๊กทอมบอยผิวดำ … โอ้โห ไม่มีอีกแล้ว อะไรมันจะต้องพยายามถูกต้องทางการเมืองเสียยิ่งกว่านี้ แต่นั่นแหละครับ นี่คือกระแสของโลกวันนี้ ที่ทุกคนดูจะตกอยู่ใต้อำนาจของมัน รวมถึงดิสนีย์ด้วย
อย่างไรก็ดี พึงระลึกเสมอด้วยว่าพีซีนั้นเป็นเครื่องมือและแนวคิดทางการเมืองที่น่ากลัวมากในตัวมันเอง
การพีซีทำตัวเป็นตำรวจที่กำหนดเพดานของเสรีภาพ และยังเป็นของเล่นที่สร้างขึ้นมาเพื่อคนขาวอารยันแต่แรกเริ่มด้วย หากคิดจะใช้มันก็ควรจะต้องระวังและรู้ตัวเสมอ ทั้งรับรู้ด้วยว่ามันสามารถมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนหรือเครื่องมือนี้ได้ด้วย พีซีไม่ใช่ของที่จะบังคับยัดปากให้ใครๆ อยากทำตามได้ ฉะนั้น คนนิยมพีซีจึงไม่ควรทำตัวแบบพวกวีแกน ที่แกว่งองคชาตทางความเชื่อของตนไปเที่ยวยัดปากคนอื่นๆ เสมอๆ (และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่หลายครั้ง คนสองกลุ่มนี้คือกลุ่มเดียวกัน)
จนถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าการดัดแปลงจากต้นฉบับจะเป็นไปด้วยเจตนาใด จะเป็นไปด้วยความจงใจของตัวผู้เขียนเองหรือไม่ก็ตามทีด้วยซ้ำ หากมันเป็นผลงานที่เป็นสาธารณะแล้ว ผลงานต้องสามารถถูก ‘เล่นได้’ และเล่นด้วยแบบใดก็ได้ด้วย จะดัดแปลง เสริมแต่ง มโนเพิ่มหรือตัดทอนลงก็ย่อมทำได้ ผมคิดว่านี่คือเรื่องปกติมากๆ จนสรุปได้ด้วยประโยคเดียวเลยว่า ที่เถียงกันมาฉิบหายวายวอดทั้งหมดนี้ ผมว่ามันดูจะไม่ได้อะไร
ตัวบทที่ไร้ซึ่งการตีความใหม่ๆ คือตัวบทหรือเรื่องเล่าที่ตายแล้วเท่านั้นแหละครับ ไม่ใช่เพียงแค่วรรณกรรมหรือสื่อเท่านั้น วรรณกรรมที่ใหญ่ที่สุด เรื่องเล่าที่ทรงพลังที่สุดอย่างประวัติศาสตร์ชาติ หรือแนวคิดวาทกรรมอันเป็นสากลเองก็เช่นกัน มันต้องสามารถถูกล้อเล่น ดัดแปลง และท้าทายได้
หากคนดูเค้าไม่อิน ไม่บาย เค้าก็ไม่ไปดูก็แค่นั้นเอง