‘Disney+ Hotstar’ (ดิสนีย์พลัส ฮ็อตสตาร์) สตรีมมิ่งน้องใหม่ในไทย แต่เก๋าเกมสุดๆ ในโลกเอนเตอร์เทนเมนต์ เตรียมเปิดให้บริการในวันพรุ่งนี้ (30 มิถุนายน) แล้ว ท่ามกลางการรอคอยของแฟนๆ ที่เชื่อว่าน่าจะพร้อมกดซับสไครบ์กันเต็มที่
ก่อนจะไปเปิดจอพร้อมดูวันพรุ่งนี้ The MATTER มารวบรวมเส้นทางกว่าจะเป็นสตรีมมิ่ง Disney+ Hotstar ทำไมดิสนีย์ (Disney) ซึ่งเป็นสายผู้ผลิตถึงมาทำสตรีมมิ่งของตัวเอง จุดเด่นจุดแข็งคือสตรีมมิ่งเจ้านี้คืออะไร แล้วทำไมบ้านเราต้องมีคำว่า Hotstar ห้อยท้าย
ภาพจำของดิสนีย์อาจเริ่มต้นที่ดินแดนแห่งเทพนิยาย การ์ตูนอนิเมชั่นภาพสวย เนื้อเรื่องชวนฝัน ตลอดจนคาแร็คเตอร์ที่แสนโดดเด่น ทั้งหมดคือเสน่ห์ที่ดิสนีย์นำมาสร้างเป็น ‘สวนสนุก’ ให้คนแห่กันไปเยี่ยมเยือน จนยอดนักท่องเที่ยวทะลักทลายในหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก
บริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ (The Walt Disney Company) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ1923 โดยสองพี่น้องดิสนีย์ ‘วอลต์ ดิสนีย์’ และพี่ชาย ‘รอย ดิสนีย์’ ด้วยชื่อเริ่มแรก Disney Brothers Cartoon Studio ระยะแรกพวกเขาทำงานอนิเมชั่นแบบวาดเฟรมต่อเฟรม เพื่อสร้างเป็นผลงานบันเทิง ก่อนจะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอนิเมชั่นของสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ในเกือบศตวรรษที่ผ่านมา ดิสนีย์ต่อยอดไปเป็นการผลิตหนังแอ็กชั่น รายการโทรทัศน์ และสวนสนุกดิสนีย์แลนด์
ตัดภาพมายังทศวรรษที่ผ่านมา การรับชมสิ่งบันเทิงของผู้ชมมีทางเลือกมากขึ้นด้วยพลังของเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม ‘สตรีมมิ่ง’ ได้ถือกำเนิดขึ้น การคัดเลือกคอนเทนต์สำหรับสตรีมมิ่งไม่ว่าจะซีรีส์ หนัง สารคดี หรือรายการ เข้าไปกองรวมกันไว้อยู่ในที่เดียวและให้ผู้ชมเลือกดูเวลาไหนก็ได้ จากที่ไหนก็ได้ สะดวกสบายเหมาะกับคนยุคใหม่ที่ชีวิตสุดแสนจะวุ่นวาย โดยจ่ายแพ็กเกจเป็นรายเดือนหรือรายปีที่ถือว่าราคาสมเหตุสมผลนั้น ได้รับความนิยมจากกลุ่มคนดูอย่างมาก จนโรงหนังถึงกับต้องปรับตัวครั้งใหญ่
เมื่อโมเดลสตรีมมิ่งได้รับความนิยม ก็ตามมาด้วยผู้ให้บริการมากมายที่เข้ามาทำตลาด หลายผู้ผลิตก็ผันตัวมาทำสตรีมมิ่งเอง (อย่าง HBO) หรือตัวแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่ให้บริการอยู่ก่อนแล้วก็เริ่มหันมาทำคอนเทนต์เอง (Netflix)
ดิสนีย์ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่ผันตัวมาทำ ‘สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม’ ของตัวเอง โดยเมื่อสี่ปีที่แล้ว (สิงหาคม ค.ศ.2017) ทางค่ายประกาศยุติป้อนคอนเทนต์ให้กับ Netflix และเตรียมลุยตลาดในชื่อตัวเองแทน ก่อนจะเปิดให้บริการในอเมริกาครั้งแรกปี ค.ศ.2019 ในชื่อ ‘Disney+’
เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ดิสนีย์ลงมาลุยในตลาดสตรีมมิ่งก็คือ จำนวนเม็ดเงินมหาศาลจากสมาชิกทั่วทุกมุมโลก ดิสนีย์จะได้เงินจำนวนนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าการทำคอนเทนต์เพื่อป้อนคนอื่น และดิสนีย์เองก็เชื่อว่าตัวเองจะก้าวเป็นผู้นำสตรีมมิ่งได้ เพราะพวกเขามีคอนเทนต์ระดับคุณภาพ หรือบางชิ้นก็อาจจะต้องเรียกว่าผลงานระดับ ‘ตำนาน’ อยู่ในมือ และยังเชี่ยวชาญการผลิตคอนเทนต์อีกต่างหาก
แรกเริ่ม Disney+ ทำตลาดในอเมริกาเหนือและยุโรป ก่อนจะค่อยๆ ขยายมายังภูมิภาคอื่น—ล่าสุดคือประเทศไทย ซึ่งจะเปิดให้รับชมวันพรุ่งนี้เป็นวันแรก เชื่อว่าตอนนี้หลายคนคงลิสต์รายชื่อคอนเทนต์ออริจินัลที่อยากดูรอไว้ยาวเป็นหางว่าว
Disney+ ไม่ได้นำแค่การ์ตูน หนัง หรือซีรีส์ที่เคยทำไว้แล้วมาใส่ไว้ระบบแล้วจบไป ในฐานะผู้นำคอนเทนต์ ดิสนีย์ก็ได้ทำ ‘ออริจินัลคอนเทนต์’ ใหม่ใส่เข้าไปด้วย
ถึงแม้จะยังไม่เคยเข้าไทย Disney+ ก็มีคอนเทนต์แม่เหล็กหลายตัวที่ได้รับความนิยมและมีแฟนๆ เฝ้ารออยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างซีรีส์ ‘LOKI’ หนึ่งในคาแร็คเตอร์จากจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวล ซีรีส์เพิ่งเริ่มฉายตอนแรกเมื่อเดือนต้นมิถุนายน นี้แต่ ก็เรียกคนดูเข้าแพลตฟอร์มได้มากมาย แถมยังได้รับคำชมด้านเนื้อหาอยู่ไม่น้อย
นับว่าการตัดสินใจทำแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเองในชื่อ Disney+ ก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอยู่ไม่น้อย
ทำไมต้อง ‘Disney+ Hotstar’
น่าแปลกใจที่เมื่อเข้ามารุกตลาดในเอเชีย-แปซิฟิกบางประเทศ Disney+ กลับเรียกตัวเองว่า ‘Disney+ Hotstar’
และการที่มี Hotstar ห้อยท้ายก็หมายถึงว่า บริการสตรีมมิ่งนี้เป็นเหมือนฉบับย่อมลงมาของ Disney+ จากที่ดูได้ 4 จอ ก็ดูได้ 2 จอ ระบบเสียงก็อาจจะคุณภาพไม่เทียบเท่าตัวเต็ม เป็นต้น
คำถามคือทำไมการทำตลาดในไทยต้อง Disney+ Hotstar?
‘Hotstar’ เป็นบริการสตรีมมิ่งรายใหญ่ในอินเดีย และเป็นบริษัทย่อยของ ‘21st Century Fox’ ซึ่งหลังจากที่ดิสนีย์ซื้อกิจการของ 21st Century Fox มาแล้ว ดิสนีย์เลยรวม ‘Disney+’ และ ‘Hotstar’ เข้าด้วยกัน จุดประสงค์เพื่อเป็นโมเดลไปเปิดให้บริการในภูมิภาคอื่นๆ หรือในประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยไม่สูงนัก เป็นกลยุทธ์การทำตลาดที่จะทำให้คน เข้าถึงคอนเทนต์ได้ง่ายขึ้น แม้จะต้องแลกมาด้วยคุณภาพที่ลดลง
ส่วนเรื่องราคาสำหรับบริการในประเทศไทย เคาะมาแล้วเฉลี่ยที่ปีละ 799 บาท (โดยมี AIS เป็นพาร์ตเนอร์ผู้ให้บริการ หากสมัครผ่านเงื่อนไขของค่ายโทรศัพท์ AIS จะได้ราคาถูกลงเฉลี่ยเดือนละราว 35 บาท)
สำหรับราคา 799 บาท/ปี นี้ ก็ถือว่าเป็นราคาต่อเดือนที่จับต้องได้ และยังเป็นราคาเฉลี่ยต่อเดือนที่ถูกกว่าเจ้าตลาดในประเทศไทยอย่าง Netflix (หากไม่เทียบในเชิงเงื่อนไขและคุณภาพ)
ส่วนเรื่องคอนเทนต์ ทางค่ายบอกว่าจะมีคอนเทนต์จาก Disney+ Original, Marvel, Pixar, Star Wars รวมไปถึง National Geographic และคอนเทนต์ของผู้ผลิตท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ทั้งหมดรวมเป็นหนังกว่า 700 เรื่อง และซีรีส์กว่า 14,000 ตอน ซึ่งสำหรับคนที่อยากดูแอนิเมชันเก่าๆ ระดับตำนาน เช่น การ์ตูนเจ้าหญิงหรือหนัง Marvel’s Avengers ครบทุกภาค ทางค่ายก็บอกว่าจะมีมาลงแพลตฟอร์มให้
แม้ดิสนีย์จะไม่ได้พูดตรงๆ ว่าเข้ามา ‘แข่งขัน’ ในตลาดไทย แต่ก็นับได้ว่าเป็นการเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างแน่นอน แม้เนื้อหาในแบบฉบับของดิสนีย์จะเป็นจุดแข็งที่คนอื่นทำเลียนแบบได้ยาก ทว่ามันก็เป็นจุดอ่อนด้วยเช่นกัน เพราะถ้าเทียบกันแล้ว คอนเทนต์ Disney+ แม้ไม่ได้เน้นแค่การ์ตูนอย่างเดียว แต่ก็ยังมีความหลากหลายทางอารมณ์น้อยกว่าเจ้าที่เป็นเจ้าตลาดในประเทศไทยตอนนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องรอดูการขยับขยายของดิสนีย์ต่อไปในอนาคต
การขยายตลาดของ Disney+ มายังประเทศไทยและประเทศทั่วโลกในจังหวะนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะในจังหวะที่ COVID-19 ระบาดและกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมานานกว่าปีครึ่ง กราฟผู้ชมแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ ก็พุ่งตามกันไปด้วย
การล็อกดาวน์อยู่บ้าน ทำให้ผู้คนต้องต้องการหาความบันเทิงภายในที่พักอาศัยตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รายงานจาก Nielsen ที่ติดตามการรับชมคอนเทนต์ของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา ได้ผลออกมาว่าเดือน พฤษภาคม พ,ศ.2021 ที่ผ่านมา ยอดคนรับชมสตรีมมิ่งมากกว่าโทรทัศน์ไปแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังรับชมรายการผ่านเคเบิลทีวีมากที่สุด
โดยมีสัดส่วนดังนี้
- 39% รับชมเคเบิลทีวี
- 26% รับชมสตรีมมิ่ง (Netflix 6%, YouTube 6%, Hulu 3%, Amazon’s Prime Video 2%, และ Disney+ 1%)
- 25% รับชมผ่านโปรแกรมโทรทัศน์ปกติ
- 10% ช่องทางรับชมอื่นๆ
รายงานของ Nielsen บอกว่า “ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมทีวีอย่างมาก แม้ว่าตอนนี้ผู้คน <ในอเมริกา> จะเริ่มกลับไปใช้ชีวิตในรูปแบบก่อนการระบาดบ้างแล้ว แต่เห็นได้ว่าคนเปิดใจให้กับสตรีมมิ่งมากขึ้น ให้สตรีมมิ่งเป็นทางเลือกใหม่”
ขณะเดียวกัน ธุรกิจสตรีมมิ่งก็เกาะกระแสและทำรายได้จากสถานการณ์ปัจจุบันได้ดีที่สุดเช่นกัน จากที่โรงหนังถูกปิด สวนสนุกถูกปิด (หรือกลับมาเปิดแล้วแต่ก็ไม่ได้นิยมเท่าเดิมเพราะคนยังต้องเว้นระยะห่างทางสังคม) สตรีมมิ่งก็อาจจะเป็นทางรอดของดิสนีย์ในยุคที่มีการแพร่ระบาดนี้
เพราะดิสนีย์ก็กระทบเต็มๆ ทั้งในด้านธุรกิจผลิตคอนเทนต์ และธุรกิจดิสนีย์แลนด์
ปีที่แล้ว ‘Daniel Loeb’ ผู้ก่อตั้ง Third Point กองทุนบริหารความเสี่ยง และเป็นกลุ่มทุนใหญ่ของ ดิสนีย์ ได้เรียกร้องให้ดิสนีย์ใช้เงิน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1 แสนล้านบาท) ไปลงทุนพัฒนาสตรีมมิ่งแทนการจ่ายเงินปันผลประจำปี เพื่อลดผลกระทบการขาดทุนในธุรกิจอื่น เพราะดูจากรายได้ไตรมาสที่สอง ค.ศ.2020 ของ ‘ดิสนีย์แลนด์’ ร่วงลงมาอยู่ที่ 983 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 31,000 ล้านบาท) จากปกติที่แต่ละไตรมาสทำรายได้เฉลี่ยได้ที่ราว 5 แสนล้านบาท
ขณะที่ยอดผู้รับชม Disney+ ทั่วโลกสวนทาง ในไตรมาสที่สองของปีนี้ จำนวนผู้รับชมสตรีมมิ่งดิสนีย์ทะลุ 100 ล้านคน เทียบกับไตรมาสที่สอง ปี ค.ศ.2020 อยู่ที่ 33.5 ล้านคนเท่านั้น
เป็นไปได้ว่า Disney+ อาจจะเป็นทั้งทางรอด และการปรับตัวครั้งใหญ่ในยุคสมัยใหม่ของค่ายดิสนีย์เลยทีเดียว
ส่วนคนไทยจะให้ความสนใจ Disney+ มากน้อยแค่ไหน หรือจะแข่งขันกับผู้ให้บริการเจ้าอื่นในตลาดไทยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องรอติดตามต่อหลังจากวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
#Explainer #Disney #TheMATTER