ในแต่ละปี ทุกกระทรวงจะได้ปันเงินงบประมาณแผ่นดินที่ต้องผ่านการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงจะสามารถใช้จ่ายเงินจากภาษีประชาชนดังกล่าวได้ เช่น ประชุมสภาอภิปรายงบประมาณ 2569 เมื่อวันที่ 28 ถึง 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กรมอุทยานฯ) สังกัดภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ดูแลพื้นที่อนุรักษ์กว่า 80 ล้านไร่ทั่วประเทศ ซึ่งเดิมหน้าที่เหล่านี้ขึ้นกับกรมป่าไม้ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ภายหลังย้ายมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน) ต่อมาสองสภา มีความเห็นให้แยกภาระงานป่าเศรษฐกิจกับภารกิจคุ้มครองอนุรักษ์ออกจากกัน จึงได้มีพระราชกฤษฎีกา เล่มที่ 119 ตอนที่ 99 ก ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2545 ให้จัดตั้งกรมอุทยานฯ ขึ้นในรัฐบาลทักษิณ 1 โดยมี ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานฯ เป็นคนแรก
หากจะคิดกันอย่างเรียบง่าย ถ้าเราอยากให้พื้นที่อนุรักษ์ของเราดีก็สมควรที่จะเพิ่มงบประมาณของกรมอุทยานฯ ให้มากๆ เข้าไว้ใช่หรือไม่ แต่ในความเป็นจริง กรมอุทยานฯ (ที่มีแผนงบประมาณรายจ่าย 11,045 ล้านบาทในปี 2566/2023, 10,943 ล้านบาทในปี 2567/2024, และ 11,345 ล้านบาทในปี 2568/2025) กลับถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการจัดสรรงบ การทุจริต และเงินได้นอกงบประมาณอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น การเพิ่มงบให้มากๆ จึงอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องมากที่สุดเสมอไป
นอกจากงบประมาณแผ่นดินแล้ว กรมอุทยานฯ ยังมีรายได้นอกงบประมาณจากค่าธรรมเนียมเข้าพื้นที่อุทยานฯ, ค่าที่พัก, ค่าค้างแรม, เงินบริจาค และค่าสมัครสอบเข้าทำงาน ซึ่งเงินนอกงบประมาณนี้ไม่ได้มีข้อบังคับให้แสดงแผนการใช้จ่ายโดยละเอียด จึงตรวจสอบได้ยากและเป็นงบส่วนที่ถูกตั้งข้อกังขามากที่สุด แม้ว่าทางกรมอุทยานฯ จะพยายามชี้แจงแล้วก็ตาม
ความลำบากของการจัดสรรงบฯ
โครงการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์ป่า (อยู่ในเล่มขาวคาดแดงหน้าที่ 434) เป็นอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นงบประมาณส่วนที่จัดการ human-wildlife conflict หรืองบที่จัดตั้งไว้รับมือความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ป่าโดยเฉพาะ และงบดูแลสัตว์ป่าในกรงอันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากคน
สัตว์ในกรงของกรม แบ่งได้เป็น 3 ประเภท
- เพาะพันธุ์เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติตามเป้าประสงค์ เช่น ละองละมั่ง ไก่ฟ้าหลังขาว ฯลฯ (ซึ่งภารกิจนี้ก็ยังมีข้อขัดแย้งอยู่ เนื่องจากการเพาะเลี้ยงของกรมอุทยานฯ ยังมีข้อกังขาถึง DNA contamination จำนวนสัตว์ที่กำหนด และอื่นๆ) งบประมาณส่วนนี้จะครอบคลุมกรงเลี้ยง อาหาร และยา ตลอดเวลาที่ต้องเพาะพันธุ์ก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ
- สัตว์ป่าที่พลัดหลง บาดเจ็บ หรือรบกวนประชาชน เช่น ช้าง เสือ ฯลฯ ซึ่งบอกคาดเดาได้ยากว่าจะมีมาเท่าไหร่ในแต่ละปี
- สัตว์ป่าที่ได้จากของกลางการจับกุม มีตั้งแต่ขนาดเล็ก นก กระรอก กระแต ไปจนถึงช้าง ยิ่งจับสัตว์ของกลางได้มากเท่าไหร่ภาระหนักยิ่งตกมาที่สถานีเพาะเลี้ยงจนกว่าคดีจะสิ้นสุด หรือบางทีสิ้นสุดแล้วก็อาจต้องเลี้ยงต่อในกรณีที่ไม่อาจส่งคืนตามธรรมชาติได้
จะเห็นได้ว่า ประเภทที่ 2 และ 3 จะระบุตัวเลขได้ยากและไม่แน่นอนในแต่ละปี ทั้งนี้ แต่ในละสถานีเพาะเลี้ยงมีภารกิจในประเภทที่ 1 ที่แตกต่างกันอีกด้วย สถานีเพาะเลี้ยงขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง อาจมีสัตว์ราว 500 ตัวจากร่วม 50 ชนิด สถานีเพาะเลี้ยงมีทั้งหมด 23 แห่งทั่วประเทศ แต่กลับได้รับงบประมาณเพียง 53 ล้านบาท โดยทางกรมอุทยานฯ เองก็มีการเปิดรับบริจาคจากประชาชนให้เป็นพ่อแม่อุปถัมป์สัตว์ป่าเพื่อช่วยสนับสนุนอีกทาง
แต่โครงการที่เป็นโครงการอนุรักษ์สัตว์จริงๆ มีการทำงานร่วมกับนักวิจัยนอกกรมและคนในพื้นที่ และเป็นโครงการระยะยาว กลับไม่เห็นงบที่จัดสรรให้เป็นการเฉพาะ เช่น โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในห้วยขาแข้ง ที่ทางภาคประชาสังคมต้องระดมทุนมาช่วยไม่ต่ำกว่าปีละ 600,000-700,000 บาท (แม้แต่ตอนที่สร้างกรงเพื่อปรับสภาพให้พ่อแม่แร้งอยู่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด ก็ต้องมีการระดมทุนอีกเช่นกัน) ซึ่งโครงการอนุรักษ์ที่เป็นรูปธรรมเช่นนี้ ควรได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างจริงจังเป็นเวลาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี

ภาพกรงพ่อแม่พันธุ์พญาแร้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ภาพ: สิริพรรณี สุปรัชญา
พื้นที่สีเขียว=ป่า?
หนึ่งในงบประมาณกรมอุทยานฯ ส่วนที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดคืองบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการปลูกป่า เนื่องจากกรมอุทยานฯ มีการเขียนโครงการปลูกป่าทุกปี แต่ไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนในการติดตาม และตรวจสอบคุณภาพของป่าที่ปลูกในระยะยาว ข้อมูลการใช้งบ และพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งถ้าหากเราเข้าไปอ่านเอกสาร “วิสัยทัศน์ พันธกิจ แผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Map) และแผนพัฒนาองค์การ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ที่อยู่ในเว็บไซต์ ตัวชี้วัดของวิสัยทัศน์ด้านการฟื้นฟูจะถูกระบุสั้นๆ แค่เพียงว่า “ระดับความสําเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม” และ “อัตราการลดลงของพื้นที่ป่าถูกบุกรุกในพื้นที่รับผิดชอบ” โดยไม่ได้มีเอกสารประกอบเพื่ออธิบายเพิ่มเติม
แม้อาจจะเป็นเพียงข้อด้อยขอรูปแบบเอกสารราชการที่ไม่เอื้อให้ชี้แจงอะไรได้มากนัก แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดเชิงพื้นที่ การที่พื้นที่เป็นสีเขียวอาจมิได้หมายถึงระบบนิเวศที่สมบูรณ์เสมอไป การที่รักษาพื้นที่ตามที่แผนที่ขีดเส้นเอาไว้ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์เอาไว้ได้ แม้จะเป็นความสำเร็จตามตัวชี้วัดที่กรมอุทยานฯ ตั้งเอาไว้ แต่สภาพของที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ภายในเป็นอย่างไร ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงสภาพไปมากน้อยแค่ไหน ชนิดสัตว์และพืชที่อยู่มีการเปลี่ยนแปลงถ่ายเทอย่างไร เป็นข้อมูลที่คนภายนอกหรือแม้แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเองก็ตามยากที่จะเข้าถึง แต่ทั้งนี้ หากต้องถูกลดงบฯ แล้วต้องเลือกระหว่างงบกำลังคนกับงบปลูกป่า “งบกำลังคนมักถูกตัดออกก่อนเสมอ” ธิวัชร์ ดำแก้ว กล่าวไว้ในรายการ Key Message ตอนที่ 138 ของ The Standard

กล้าไม้ปลูกในเทรลแม่อวม อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ภาพ: วิชญนันท์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ
แต่ในขณะเดียวกัน กรมอุทยานฯ เองก็เป็นหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเพิกถอนพื้นที่ป่าเพื่อโครงการพัฒนาต่างๆ เอกสารโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ปี 2563/2020 ระบุว่ากำลังมีการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ทั้งสิ้น 77 โครงการ และรวมกับโครงการจัดการน้ำที่ไม่ได้ปรากฏในเอกสารดังกล่าว เช่น 7 อ่างเก็บน้ำในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองตาหลิว อ่างเก็บน้ำคลองตารอง ที่มีแผนจะก่อสร้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จะนับรวมได้ไม่น้อยกว่า 91 โครงการ ซึ่งประเมินแล้วจาก 25 แผนโครงการที่พอหาข้อมูลได้ก็จะสูญเสียพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า 40,000 ไร่
ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมโครงการพัฒนาประเภทอื่นๆ เช่น การตัดถนน สัมปทานเหมือง กระเช้าไฟฟ้า ซึ่งการกระบวนการคัดครองเพื่อประเมินความคุ้มค่าของแต่ละโครงการก็ยังเป็นที่กังขาของประชาชน แลดูเป็นการดำเนินงานที่สวนทางกับพันธกิจของกรมอุทยานฯ และของประเทศไทย ที่ได้ร่วมลงนามไว้กับหลากหลายพันธะสัญญานานาชาติในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม อาทิ กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming- Montreal Global Biodiversity Framework หรือ GBF) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) (ครอบคลุมเป้าหมาย 30×30 เพิ่มพื้นที่คุ้มครองให้ได้ 30% ภายใน 2030 และ Other Effective Area Based Conservation Measures หรือ OECMs), การเข้าร่วมกลุ่ม High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People, อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย, อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, พิธีสารเกียวโต, ความตกลงปารีส ฯลฯ
ซ้ำซ้อนและสมเหตุสมผล?
หลายหน่วยงานในไทยที่มีหน้าที่คาบเดียวกับสิ่งแวดล้อม หลายครั้งก็ทำซ้ำทับซ้อนหรือสร้างความสับสนชวนงงให้กับพลเมืองดีไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่นถ้าหากเห็นปลาตายลอยมากับน้ำทะเลเน่าเสียที่มหาชัย คุณอาจจะเริ่มสับสนว่าควรต้องโทรแจ้งที่ไหนดี ระหว่าง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (รับผิดชอบโรงงาน), กลุ่มสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สามารถช่วยเก็บน้ำเสียไปตรวจเบื้องต้น), กรมประมง หรือสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร
หรือถ้าหากยังจำ ‘มาเรียม’ ลูกพะยูนที่โด่งดังได้ เหตุการณ์ในครั้งนั้นก็เป็นการกลุ้มรุมเข้าช่วยเหลือระหว่างกรมอุทยานฯ กรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่นกัน (มีศูนย์วิจัยจากมหาวิทยาลัยที่ได้รับงบประมาณแผ่นดินแห่งหนึ่งอีกด้วย) ซึ่งแม้ว่าสุดท้ายแล้วจะทำงานร่วมกันได้ แต่ก็มีกระทบกระทั่งกันบ้างไม่น้อย เนื่องจากลำดับและขอบเขตการทำงานที่ไม่ชัดเจนนี้เอง
แนวทางการดำเนินงานอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ครอบอยู่อีกชั้นหนึ่ง แต่ตัวสผ. เองแม้จะทำงานครอบคลุมเกณฑ์ชี้วัดสิ่งแวดล้อมของทั้งประเทศ ก็มิได้มีอำนาจบริหารจัดการอย่างแท้จริง เนื่องจากพื้นที่ทำงาน บุคลากร อำนาจการตัดสินใจล้วนขึ้นอยู่กับหน่วยงานอื่น
อ้างอิงจาก