“ใจผมสลายฮะมุง หัวใจผมแตกสลายเป็นล้านๆ ชิ้นเลย แล้วแต่ละชิ้นก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ แล้วในที่สุดใจที่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ก็ถูกบดละเอียดจนเป็นผุยผงหมดเลย ตอนนี้หัวใจผมได้กลายเป็นก้อนฝุ่นไปหมดแล้วล่ะฮะ”
ประโยคฮิตจากการ์ตูนสุดแสนน่ารักเรื่อง ‘ชาวเดอร์’ (Chowder) ที่ตอนนี้หลายคนน่าจะจดบทไปท่องกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่มีใครสงสัยมั้ยว่า อาการ ‘ใจสลาย’ ที่ว่านี้มีอยู่จริงหรือไม่? ทำไมน้องชาวเดอร์ถึงบรรยายอาการใจสลายออกมาได้โอเวอร์ขนาดนี้?
The MATTER เลยอยากชวนไปรู้จักกับอาการใจสลายที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในทางจิตใจ หรือเป็นเพียงแค่ความรู้สึกเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบในทาง ‘กายภาพ’ ด้วยล่ะฮะมุง
เวลาเราเผชิญกับเหตุการณ์ที่เจ็บปวดรวดร้าวอย่างหนัก เช่น อกหัก โดนบอกเลิก ตกงาน ผิดหวัง สูญเสียคนรักหรือของสำคัญ หลายคนอาจจะรู้สึกเจ็บปวดที่ร่างกายขึ้นจริงๆ เพราะสมองของเรามีการประมวลผลความเจ็บปวดทางอารมณ์ ในลักษณะเดียวกับการประมวลผลความเจ็บปวดทางร่างกาย ทำให้เวลาเราอธิบายความรู้สึกเวลาอกหักว่า “เหมือนถูกบีบหัวใจเลย” หรือ “เหมือนหัวใจถูกฉีกเป็นชิ้นๆ เลย” จึงเป็นการเชื่อมโยงความรู้สึกระหว่างร่างกายและจิตใจพร้อมๆ กัน เพราะในขณะที่เราเศร้าจากการอกหักมากๆ ฮอร์โมนแห่งความสุขอย่างโดปามีนหรือออกซิโทซินจะลดลงอย่างรวดเร็ว ถูกแทนที่ด้วยคอร์ติซอลที่เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดแทน และเกิดการตอบสนองแบบสู้หรือหนี (fight-or-flight response) เพื่อรับมือกับความเครียดนั้น
หลังจากที่เต็มไปด้วยความเครียดที่เกิดจากการอกหักมากๆ เข้า บางคนอาจเกิดอาการที่เรียกว่า Takotsubo Cardiomyopathy หรือบางครั้งก็เรียกว่า Broken Heart Syndrome ซึ่งเป็น ‘กลุ่มอาการหัวใจสลาย’ เพราะทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายของเรามึนงง บีบตัวผิดรูปจนขาดเลือดกะทันหัน คล้ายกับหัวใจกำลังจะวาย และรู้สึกแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เวียนศีรษะ หมดสติ หรือคลื่นไส้ อาการดังกล่าวนี้ก็เลยถูกสรุปออกมาเป็นคำง่ายๆ อย่างใจสลายนั่นเอง
อาการ Takotsubo Cardiomyopathy ที่ว่านี้ ถูกนำมาใช้อธิบายครั้งแรกในปี ค.ศ.1990 ที่ประเทศญี่ปุ่น เหตุผลที่ใช้ชื่อว่า Takotsubo นั้นเพราะมาจากคำว่า Tako ที่แปลว่า ปลาหมึก และ Tsubo ที่แปลว่า เครื่องมือที่มีลักษณะเหมือนหม้อหรือโถ ซึ่งเป็นเครื่องมือจับปลาหมึกของชาวญี่ปุ่น ซึ่งหัวใจห้องล่างซ้ายของเราที่กำลังผิดปกติก็มีลักษณะคล้ายกับเครื่องมือดังกล่าว จึงเป็นที่มาของชื่อ Takotsubo นี่แหละ
และจากการสำรวจก็พบว่า มากกว่า 90% ของผู้ป่วยจะเป็นผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 58 ถึง 75 ปี และ 5% ของผู้หญิงที่สงสัยว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจวายพบว่า พวกเธอมีอาการใจสลายดังกล่าวนี้ด้วย แม้จะยังไม่มีการยืนยันถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่ทางการแพทย์ก็เชื่อว่า อาจเกิดจากฮอร์โมน ‘แคเทอโคลามีน’ ที่สูงขึ้น โดยเป็นสารสื่อประสาทที่ประกอบด้วยฮอร์โมนหลักๆ อย่างโดปามีน เอพิเนฟริน อะดรีนาลีน และนอร์เอพิเนฟริน ที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ ว่าเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า และถึงผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการนี้จะสามารถฟื้นตัวได้โดยที่หัวใจไม่ได้รับความเสียหายในระยะยาว แต่เมื่อร่างกายเผชิญกับความเครียดทางอารมณ์ที่รุนแรงมากๆ ก็ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือไม่มีกะจิตกะใจจะทำสิ่งต่างๆ จนในที่สุดร่างกายก็จะอ่อนแอลงเรื่อยๆ และนำมาสู่โรคอื่นๆ ตามมาได้ง่าย
“ใจผมสลายฮะมุง” จึงไม่ใช่ประโยคที่เกินจริง เห็นแบบนี้แล้วก็อยากเดินเข้าไปตบบ่าให้กำลังใจ “ไม่เป็นไรเว้ย ชาวเดอร์” อยู่เหมือนกันนะ เพราะอาการที่น้องอธิบายมา เชื่อแล้วว่าใจสลายเป็นล้านๆ ชิ้นจริง ส่วนใครที่กำลังรู้สึกแบบน้องชาวเดอร์อยู่ การให้เวลาตัวเองได้รู้สึกเศร้า ร้องไห้ หรือเสียใจอย่างเต็มที่เป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการดึงตัวเองขึ้นมาจากความเศร้านั้นให้เร็วที่สุด และรักษาสุขภาพใจสุขภาพกายให้แข็งแรงกว่าเดิม
หรือหากใครไม่รู้จะเยียวยาตัวเองยังไง ลองเปิดการ์ตูนเรื่อง Chowder ดู ก็นับว่าเป็นอะไรที่ชุบชูจิตใจดีเหมือนกันนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก