การวิ่งตามใครสักคนคือการออกกำลังกาย ไม่ใช่ความรัก
มุกที่เราเอาไว้ปลอบใจเวลาตกอยู่ในห้วงของความรักที่เรารู้ดีว่าไม่น่าสมหวัง การชอบใครสักคนที่เขาชอบคนอื่นเป็นการชอบเขาข้างเดียว ในมุกตลกที่ขำๆ แต่พฤติกรรมของเราเมื่อถอยออกมา เราอาจได้พบว่านี่ไม่ค่อยขำสักเท่าไหร่
คำพูดแบบตอบโต้ทำนองว่า ‘กั๊กมาก็กั๊กกลับ’ ฟังดูเป็นสายลุย แต่การที่เราอยู่ในความสัมพันธ์แบบที่เราจะเจ็บเองนั้น เชื่อว่าหลายคน ‘รู้อยู่แก่ใจ’ รู้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องยากที่อีกฝ่ายจะหันกลับมาชอบเราตอบ สิ่งที่เราทำแทบทั้งหมดเลยเป็นการพยายามตีความ หาทางออก หาคำตอบที่แย้งกับใจ หรือหาหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งหลาย
เราไถสตอรี่ไอจีเพื่อหาว่าอีกฝ่ายมาดูมั้ย หรือบางทีแค่เขากดหัวใจก็คิดไปว่ามีใจให้ แต่จริงๆ เขาแค่มีเน็ตและก็กดใจให้ทุกคน แม้จะลงเพลง แต่งเรื่องราว หรือพยายามสร้างสถานการณ์ให้เกิดความหึงหวง เกิดความสนใจ สุดท้ายเราก็รู้อยู่ดีว่าคนไม่ใช่ทำอะไรก็ไม่มีประโยชน์ เป็นการไม่อยู่ในสายตาในฐานะคนที่ใช่ ที่ถ้าใช่แล้วแค่นั่งเฉยๆ เขาก็รัก
กลายเป็นว่ายิ่งเราเข้าไปในความสัมพันธ์ เรื่องราวก็จะยิ่งยุ่งเหยิง ยิ่งพยายามมากมายแค่ไหน สร้างเงื่อนไขต่างๆ มากมาย สุดท้ายก็มักไม่นำไปสู่อะไร ในความซวยหลายครั้งกลับกลายเป็นความเว้าแหว่งของความรู้สึก การอยากมีคนคนนั้นกลับทำให้เรานำตัวตนของใครอีกคนไปฝากไว้ในคนอื่น ความเจ็บปวดจากความรักที่ไม่สมหวังนี้ก็แพร่ระบาดต่อไปไม่รู้จบ
อันที่จริงแนวทางการรับมือความรักมีหลายแนวทาง การตื๊อและการรอในบางความสัมพันธ์อาจนำไปสู่ความสำเร็จได้ แต่อีกแนวทาง–ที่เป็นส่วนสำคัญของแนวทางการตัดใจนี้ เราเชื่อว่าคนที่ไม่ใช่ไม่ต้องพยายาม(มาก) และจงเชื่อในสัญชาตญาณ
ปัญหาปวดใจจากสถานะกั๊กๆ
เมื่อรักข้างเดียวคือรักที่ไม่เสมอกัน
เรื่องการรักข้างเดียวแทบจะเป็นปัญหาหัวใจในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ หลายครั้งพาไปสู่หายนะและความทุกข์ระทม มีงานศึกษาว่าด้วยอาการรักข้างเดียว ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2013 ได้แบ่งการรักข้างเดียวออกเป็น 5 รูปแบบจากความรักที่ไม่มีทางเป็นจริง เช่น การชอบดารา การเผลอรักไปเพราะความใกล้ชิด การชอบแล้วตามจีบ การยังรักอยู่แม้เลิกไปแล้ว และความรักที่ไม่เสมอภาค
งานวิจัยบอกว่า บางกรณีการตามตื๊อหรือตามหยอดก็อาจนำไปสู่การรักตอบได้ แต่การรักข้างเดียวส่วนใหญ่อาจมาพร้อมกับความกดดัน การยอมสังเวยตัวเอง นิยามหนึ่งของความรักแบบข้างเดียวจึงเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจด้วย เป็นความรักที่ฝ่ายไปชอบมักอยู่ในสถานะด้อยกว่า คือต้องยอมเขาแหละ ซึ่งสถานะแบบนี้เราเองก็รู้อยู่แก่ใจ และเจ็บใจได้อยู่พอสมควร เช่น กรณีแบบเรียกปุ๊บมาปั๊บ และสุดท้ายเราเองอาจเริ่มรู้สึกสูญเสียตัวตนไปเรื่อยๆ เริ่มทำตัวน่ารำคาญ กดมือถือทุก 3 นาที รอคำตอบแค่คำเดียวที่อาจไม่ได้มีความหมายอะไรจากชีวิตอีกด้าน เริ่มฟูมฟาย สารภาพรัก จนเป็นเดือดเป็นร้อนอยู่ฝ่ายเดียว
จุดไฟใส่ตัว เจ็บเอง แถมลามชาวบ้าน
ท่าทีการ ‘เล่นเกม’ ซึ่งจริงๆ อาจเป็นเกมที่เราคิดขึ้นเอง เล่นเอง เจ็บเอง โดยที่อีกฝ่ายไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไร ในที่สุดอาจเป็นการตอบสนองความรักที่ไม่มีวันเป็นไปได้ ด้วยการสร้างเงื่อนไขและเอาความรู้สึกของเราลงไปเดิมพัน
นอกจากการบอกว่าอีกฝ่ายทำมาแบบไหน เราก็ส่งคืนไปแบบนั้น จากงานศึกษาเรื่องรักข้างเดียวค่อนข้างชี้ว่า ความรักที่มีความปรารถนาเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะๆ คือเราคลั่งไคล้มาก มีใจให้มาก ห้ามใจไม่ไหว มีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายค่อนข้างสูง
คำว่า กั๊กมากั๊กกลับ นอกจากจะเป็นแนวคิดแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ในความสัมพันธ์ที่เราไปชอบเขา เรามักถือไพ่น้อยกว่า มีแต้มต่อน้อยกว่า ดังนั้น การที่ใจเราไม่พร้อมจะทำเหมือนอีกฝ่าย สุดท้ายเราอาจเจ็บเอง
พฤติกรรมในการตอบสนองต่อความผิดหวัง มนุษย์เรามักหา ‘สิ่งทดแทน’ ที่แน่นอนว่าเป็นสิ่งจำลองของสิ่งที่เราปรารถนา เป็นข้าวของที่เราหามาแทน สุดท้ายก็มักลงเอยด้วยการแทนกันไม่ได้ การหา ‘คนพักใจ’ จึงเป็นอีกหนึ่งการหายาใจฉุกเฉิน ที่แน่นอนว่าอาจเป็นแค่การแก้ปัญหาในเวลาสั้นๆ เรามักอนุมาน สร้าง หรือจินตนาการให้คนที่เราเลือกมาเป็นผ้าพันแผล เป็นเหมือนคนที่เราไม่ได้รับความรักตอบ
ท้ายที่สุดเราอาจได้พบว่า ยาใจหรือผ้าพันแผลชั่วคราวไม่ตอบสนองกับความปรารถนาของเรา เขาไม่ใช่ใครอีกคน จนกลายเป็นความสัมพันธ์ท็อกซิก เรื่องคลาสสิกคือคนที่เข้ามาเป็นยาใจของเรานั้นก็มักเป็นคนที่มีใจให้เรา ส่วนเราก็ใช้เขาเป็นเครื่องมือในการรับมือความสูญเสียในเวลาสั้นๆ
วิธีเลิกรักเมื่อถูกกั๊กไม่ให้ใจเจ็บ
ศิลปะการตัดใจด้วยการโอบรับความขี้ขลาด
เรามีแนวคิดที่แยกกายกับใจออกจากกัน และเรามักเริ่มทุกอย่างจากใจ เมื่อเราเริ่มทำใจก่อนที่เหลือก็สบาย แต่นี่คือการพูด เพราะศิลปะของความไม่รักหรือการหยุดรัก เป็นปัญหาที่เราอยากแก้ไขมาตั้งแต่บรรพกาล
การเสนอเรื่องการแก้ใจ เราอาจใช้แนวทางย้อนกลับ คุณเชื่อเรื่องการทำอะไรซ้ำๆ แล้วค่อยส่งผลต่อความคิดหรือความรู้สึกมั้ย ถ้าเรายังทำใจไม่ไหวก็ให้พฤติกรรมและความเคยชินเข้าช่วย หากเราหยิบมือถือมาส่อง เจอหน้า ยังเห็นเรื่องราวต่างๆ หรืออยากรู้ความเป็นไปของอีกฝ่ายอาจเป็นเรื่องไม่มีประโยชน์อะไร
ดังนั้น ให้ลองตัดการสื่อสารทุกทาง ปรับพฤติกรรม งดจับมือถือ เอาตัวเองออกจากการสื่อสาร จากวงจรเดิมๆ จากความคิดถึง หัวใจและสมองของเรามีดีที่ความจำกัด เรามีความจำ สมาธิ และความสนใจที่จำกัด ให้เราหาอะไรให้ตัวเองทำ การหยุดคิดและหยุดรักก็อาจเป็นคำตอบถัดมา
เลิกคิดถึงอนาคตและจมกับอดีต
ข้อเสนอแนะเรื่องใจทุกข้อเป็นเรื่องยาก แต่ก็กลับมาสู่การรับมือกับชีวิตและความผิดหวังในระดับพื้นฐาน ความครุ่นคิดของเราต่อความรักที่เป็นไปไม่ได้นั้น มักเป็นความคิดที่วนอยู่กับ 2 คำสำคัญคือ ‘ถ้าเกิด’ เป็นการ what-if ถึงอนาคตที่ไม่มีวันเป็นจริง ถ้าเราทำแบบนั้น ถ้าเขาคิดแบบนี้ ความเจ็บปวดนี้ก็คงไม่เกิด
เรามักนึกย้อนถึงอนาคต หรือไม่ก็อดีตที่ผ่านไปแล้ว เช่น ถ้าเขาไม่ชอบคนอื่น เขาอาจกลับมาชอบเรา หรือเราเคยทำอะไรผิดไป ถ้าเราแก้ไขจะเป็นอย่างไร การครุ่นคิดที่ถูกรั้งโดยอดีต หรือเฝ้าฝันถึงอนาคต เป็นสิ่งที่เมื่อเราถอยกลับมาดู เราอาจกำลังทิ่มแทงตัวเองด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่เคยเกิด และไม่มีวันมีอยู่จริง
อย่าเอาความผิดหวังไปลงกับใคร
ความรักและความสัมพันธ์เป็นเรื่องของคนอื่นก็จริง แต่การมีความสัมพันธ์กับใครก็ตามมักเริ่มจากความเต็มตื้นของคนคนหนึ่ง ไปสู่การถักสานความรักกับใครอีกคน การมองหาผู้คนมาเติมเต็มอาจเป็นการค้นหาชิ้นส่วน หรือก้อนหินดินทรายเพื่อถมช่องว่างในหัวใจ ซึ่งเป็นการถมที่ยากจะเติมเต็ม
ถ้าพูดอย่างอุดมคติ ในความผิดหวังหรือช่องโหว่ของเรา เราควรจะเติมเต็มตัวตนของตัวเองให้ได้ก่อน เพราะการหาคนมาดามใจหรือหาตัวตายตัวแทน มักนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่เรานำพาความเจ็บปวดส่งต่อให้คนอื่นๆ อย่างไม่รู้จบ
ยินยอมรับความเจ็บปวด
มีอุปมาที่คิดว่าไม่ตอบสนองเรื่องหัวใจ มนุษย์เราต้องใช้การเปรียบต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งซับซ้อน ความรู้สึกของเราก็เช่นกัน เรามักแทนความรู้สึกเป็นสิ่งของ เมื่อเสียหายแล้วมันเกิดร่องรอยและใช้การไม่ได้ เช่น จานชามที่แตกไปแล้ว
ทว่าหัวใจของเราเป็นอินทรีย์สาร หัวใจ ความรู้สึก และตัวตนมีความสามารถในการซ่อมแซมเยียวยาตัวเอง รอยแผลของหัวใจก็เหมือนกล้ามเนื้อ เมื่อมันพัง ฉีกขาด แหว่งวิ่นแค่ไหน เพียงแค่หัวใจยังทำงานอยู่ มันก็ซ่อมแซมตัวเองได้แล้ว เนื้อเยื้อ กล้ามเนื้อ และการทำงานของมันก็น่าจะดีขึ้นไม่มากก็น้อย
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ทั้งการรักคนที่ไม่รักเรา ความรู้สึกผิดหวังรุนแรง การถอนตัวถอนใจ ไม่มีขั้นตอนไหนที่ง่ายและไม่มีขั้นตอนไหนที่ไม่เจ็บปวด การรักคนที่เขาไม่ได้รักเราอาจเป็นอีกขั้นตอนการเรียนรู้ที่สำคัญในชีวิต เป็นการยอมรับความเจ็บปวด และในความเจ็บปวดนั้น ท้ายที่สุดรอยแผลของความรักที่ไม่สมหวังเมื่อหลาย 10 ปีก่อน แม้ความรู้สึกจะไม่ได้จางหายไป แต่เราเองอาจยิ่งดีใจที่สิ่งนั้นได้เคยเกิดขึ้น
อ้างอิงจาก