‘โอกาส’ กระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ จริงมั้ย? ทำไมเด็กต่างจังหวัดบางคนต้องดั้นด้นมาหางานทำที่กรุงเทพฯ นอกจากประสบการณ์ที่จะได้รับจากงานแล้ว กรุงเทพฯ มีอะไรอีกที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้ต้องสละเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัวแบบพร้อมหน้าพร้อมตามาอยู่ในเมืองกรุง?
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘พีช’ เด็กโคราช วัย 26 ปี ที่เข้ากรุงเทพฯ มาเริ่มงานสายคอนเทนต์ (Content Creator) เป็นงานแรกหลังจากเรียนจบ และ ‘ละอองฟ้า’ เด็กจากจังหวัดปริมณฑล วัย 25 ปี ที่ไม่มีความคิดอยากจะอยู่ในกรุงเทพฯ แต่จำเป็นต้องมาหางานทำที่นี่เพราะที่บ้าน ไม่มีงานสายโปรดักชั่นที่รองรับหลังเรียนจบ พวกเขาเล่าถึงความจริงที่ว่าโอกาสมันกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ คือเรื่องจริง
ความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนออกมาตั้งแต่การหางาน
พีช เล่าว่า แค่เริ่มเรียนก็ไปอยู่ไกลบ้านแล้ว เพราะสาขาที่อยากเรียนกับมหาวิทยาลัยในจังหวัดบ้านเกิดมันไม่มี แต่หลังจากเรียนจบก็ต้องมาทำงานที่กรุงเทพฯ เพราะที่บ้านไม่มีงานเกี่ยวกับด้านภาษา หรือสายคอนเทนต์ที่เราอยากทำ งานส่วนใหญ่ที่นู่นเป็นแนวเทคโนโลยี วิศวะ โลจิสติกส์ ไม่ก็งานราชการ
“ส่วนอีกเหตุผลนึงก็คือ ต่อให้ที่บ้านจะมีงานรองรับด้านนี้ แต่เราก็ยังอยากมาหาประสบการณ์ที่กรุงเทพฯ ก่อนอยู่ดี เพราะเราอยากมาสร้างตัวที่นี่ ฐานเงินเดือนที่นี่ยังไงมันก็มากกว่าที่ต่างจังหวัดอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าถ้าได้มาสร้างตัวที่นี่อย่างน้อย 4-5 ปี ก่อน แล้วค่อยกลับบ้าน” พีชเล่า
เราถามพีชว่าการมาอยู่ที่นี่ มันดีกว่าอยู่ที่บ้านมั้ย? ซึ่งพีชตอบเราทันทีเลยว่า ‘ไม่’ พีชเล่าว่า มัน Suffer มาก อย่างแรกเลยคือสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตที่มันต่างจากบ้านเรามาก แค่ต้องตื่นเช้ามาทำงาน เจอรถติด เจอแต่ความเร่งรีบทำให้ทุกอย่างมันดูแข่งขันกันไปหมดเลย ซึ่งถ้าเป็นที่ต่างจังหวัดมันจะไม่มีฟิลนี้เลย มันจะผ่อนคลายกว่า
“แต่สุดท้ายก็ยังอยากกลับไปทำงานที่บ้านนะ แต่จะกลับไปก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าตัวเองมั่นคงแล้ว อยากไปทำธุรกิจส่วนตัวไปเลย เพราะถ้าเป็นงานเขียนคอนเทนต์แบบที่เราทำอยู่มันหางานยาก มันไม่ค่อยมี นอกจากเราจะไปเปิดเอง ซึ่งดูแล้วมันก็สะท้อนความเหลื่อมล้ำเหมือนกันนะ” พีชเล่า
ส่วนละอองฟ้าเล่าว่า จริงๆ แล้วไม่ได้อยากมาทำงานที่กรุงเทพฯ เพราะเราไม่ชอบความวุ่นวาย ค่าใช้จ่ายสูง และต้องเดินทางไกลมาก ออกจากออฟฟิศฟ้าสว่างแต่กว่าจะกลับถึงบ้านก็ไม่เห็นเดือนเห็นตะวันแล้ว ตอนแรกก็พยายามหางานแถวๆ ชานเมืองนะ แต่มันไม่ได้มีบริษัทที่รองรับเราจริงๆ เลยต้องเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ซึ่งเงินเดือนที่ได้ก็ไปเสียกับค่าใช้จ่ายด้านที่พักอยู่ดี
“และก็สายอาชีพที่เราจบมา งานมันมากระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่า มีช่วงนึงที่พยายามจะไปใช้ชีวิตที่ต่างจังหวัดนะ แต่แบบงานที่เราทำได้มันน้อยมาก แทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำ เลยรู้สึกว่ามันไปไหนไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่หลุดพ้นจากกรุงเทพฯ” ละอองฟ้าเล่า
‘โอกาส’ กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ จริงมั้ย?
ละอองฟ้าบอกว่าเห็นด้วย เพราะเธอก็เป็นคนที่รู้ตัวเองว่าไม่อยากอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เมื่อถามว่าทำไมถึงไม่ไปหางานที่อื่น เธอบอกว่าเธอก็ไม่รู้จะทำอะไรเหมือนกัน “ถ้าไปต่างจังหวัดมันก็หนีไม่พ้นการเป็นข้าราชการ เจ้าของธุรกิจเป็นพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งก็ยังไม่มีไอเดียอะไรที่จะทำ คือเรามองไม่เห็นภาพตัวเองเลยว่าจะไปทำอะไรที่ต่างจังหวัด เพราะตัวเลือกอาชีพมันน้อยมากจริงๆ”
ส่วนพีชบอกว่า คำนี้จริงนะ เพราะมันเห็นได้ชัดมากตั้งแต่เรื่องเรียนพิเศษเลย ตั้งแต่มัธยมเรามีเพื่อนที่นั่งรถจากโคราชมาเรียนพิเศษที่กรุงเทพฯ ทุกเสาร์อาทิตย์ เพื่อที่จะได้เรียนสดกับอาจารย์ เพราะเขาไม่ได้มาเปิดที่บ้านเรา ซึ่งมันชัดเจนมากว่าโอกาสในกรุงเทพฯ มันมีมากกว่าจริงๆ
แล้วถ้ามองแนวโน้มตลาดยังต้องการแรงงานอยู่มั้ย?
จากผลสำรวจของ WorkVenture พบว่า คนรุ่นใหม่ช่วงอายุ 20 – 35 ปี เป็นกลุ่มคนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ มากที่สุดในปี2566 ซึ่งคิดเป็น 58% ของประชากรทั้งหมดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ โดยสาเหตุหลักๆ คือคนรุ่นใหม่มีความต้องการที่จะหางานทำในบริษัทชั้นนำที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
แม้ว่ากลุ่มใหญ่ในกรุงเทพฯ จะเป็นคนวัยแรงงาน แต่รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลระบบฐานข้อมูลอุปสงค์อุปทานกำลังคนที่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อชี้ให้เห็นถึงประมาณการความต้องการแรงงานปี 2567 – 2571 ของกรมแรงงาน พบว่า ความต้องการแรงงานในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ย 0.30% ต่อปี
เมื่อจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมที่มีอัตราเฉลี่ยขยายตัวของความต้องการแรงงานมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ การจัดหาน้ำ การจัดการ และการบำบัดน้ำเสีย ของเสีย และสิ่งปฏิกูล ที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 2.43% รองลงมาคือ ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ ที่มีอัตราขยายตัวเฉลี่ย 2.23 ในทางตรงกันข้ามอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตของความต้องการแรงงานเฉลี่ยลดลงมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ การศึกษา การก่อสร้าง และกิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์
ถึงอย่างนั้น กรุงเทพฯ ก็ยังมีข้อกังวลอีกหลายอย่างของคนที่ต้องเข้ามาใช้ชีวิต ทั้งค่าครองชีพ ความแออัดของเมือง และมลพิษที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งกายและใจ แต่สุดท้ายแล้วกรุงเทพฯ ก็ยังคงเป็นเมืองแห่งความฝันและความหวังของใครหลายๆ คนอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี
อ้างอิงเพิ่มเติม