“ไอ้เส้นที่กฎหมายมันขีดตลอดและไม่เคยถูกใช้เลย เพราะว่าใช้ไม่ได้กับวิถีชีวิตของคนจริงๆ”
‘ตัวโดนเท’ ถังดักไขมันพกพาสำหรับร้านรถเข็น กลายเป็นที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง และถูกแชร์ไปบนโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนหลักพัน ตั้งแต่ถูกเปิดตัวครั้งแรกในงาน Bangkok Design Week 2025 ที่ผ่านมา ด้วยรูปร่างกะทัดรัด การออกแบบเรียบง่าย ไม่ว่าใครก็สามารถทำเองได้จากท่อ PVC สีฟ้าแสนคุ้นตา นวัตกรรมนี้จึงสร้างความตื่นเต้นให้กับใครหลายคน เพราะเชื่อว่านี่จะเป็นก้าวแรกในการแก้ปัญหาการทิ้งเศษอาหารลงท่อระบายน้ำสาธารณะอย่างเป็นรูปเป็นร่างสักที
ผลงานนี้เป็นการออกแบบของ ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ และ รมย์รวินท์ พิพัฒน์นัดดา จาก Everyday Architect Design Studio จัดแสดงเป็นนิทรรศการขนาดย่อมในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ด้วยความตั้งใจว่าผลงานนี้จะเป็นตัวต้นแบบที่ทำให้ร้านรถเข็นเล็กๆ มีระบบกรองของเสียเป็นของตัวเอง มากไปกว่านั้น คือการตั้งคำถามกับการแก้ปัญหาการเทของเสียลงท่อระบายน้ำในระบบใหญ่ ซึ่งยังไม่มีทางออกสำหรับร้านรถเข็นในปัจจุบัน
แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่ารถเข็นขายอาหารบนทางฟุตบาทไม่ใช่เรื่องถูกต้อง แต่เราก็ปฏิเสธร้านหมูปิ้งบนทางเท้าที่มีอยู่ทุกซอยไม่ได้ เช่นเดียวกับการเทน้ำเสียลงท่อ แม้จะรู้ดีว่าการกระทำดังกล่าวจะเกิดผลเสียตามมา แต่เราก็ยังเห็นพฤติกรรมนี้อยู่บ่อยๆ ดังนั้น ความย้อนแย้งระหว่างกฎระเบียบกับวิถีชีวิตของคนในเมือง จึงทำให้เมืองนี้เต็มไปด้วยนวัตกรรม ‘สีเทาๆ’ จากอุปกรณ์ของ DIY ที่เราช่วยกันทำขึ้นเอง เช่น ก้อนอิฐหนุนล้อรถเข็น เก้าอี้จากเศษกระเบื้องซ้อนกัน หรือหาบแผงลอยจากท่อน้ำ ในแง่หนึ่ง สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยแฮ็กการใช้ชีวิตของผู้คนให้ง่ายดายขึ้น ขณะเดียวกันความไม่สมบูรณ์เหล่านี้ก็พาลไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังไปด้วย
อะไรทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วย DIY? ตัวโดนเทเป็นนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหา หรือตอกย้ำว่าเรายังคงต้องอยู่กับปัญหานี้ต่อไป? คำถามเหล่านี้ผุดขึ้น ในช่วงบ่ายวันหนึ่งท่ามกลางฝนโปรยปราย เราจึงนำความสงสัยนี้ไปพูดคุยกับชัชวาล หรือ ชัช เจ้าของผลงาน เจ้าของสตูดิโอออกแบบ และผู้เขียนหนังสืออาคิเต็ก-เจอ และสถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด ว่าในสายตาของสถาปนิก เขามองความสำคัญของการออกแบบสำหรับคนธรรมดาๆ อย่างไร แล้วมีทางไหนที่จะทำกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับคนอยู่อาศัยได้จริงบ้าง
ชัชอธิบายทุกเรื่องอย่างกระตือรือล้นสมกับความเนิร์ดเรื่องเมือง พร้อมสาธิตวิธีใช้ตัวโดนเทให้เราหลายรอบ กว่าจะรู้ตัวอีกที จากฟ้ามืดครึ้ม ฝนปรอยๆ ท้องฟ้าก็เริ่มกลับมาสว่าง แสงแดดได้ทำหน้าที่ของตัวเองอีกครั้ง
เด็กสถาปัตย์ที่อินกับการปั่นจักรยานและเมือง
เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชัชสนใจเรื่องเมือง เขาเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย เขาคือเด็กคนหนึ่งที่เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ แม้กระทั่งตอนเรียน ก็ยังเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่าพระ ด้วยความใกล้บ้านบวกกับความชอบปั่นจักรยาน นี่เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่หล่อหลอมให้ชัชเริ่มสนใจเมือง และความเป็นอยู่ของผู้คนมากขึ้น
“ช่วงนั้นฟิกซ์เกียร์กำลังนิยม แล้วอะเดย์ก็ทำนิตยสาร Human Ride ซึ่งเราชอบมาก เราเลยเป็นเด็กปั่นจักรยานเพราะว่ามหาวิทยาลัยอยู่ใกล้ เริ่มปั่นจักรยานจริงๆ ก็ประมาณปี 4 แล้วเราก็ได้ทำกิจกรรมกับกลุ่ม Human ride จนกลายเป็นว่าตัวเองชอบปั่นจักรยาน ได้สำรวจเมือง และเรายังไปช่วยอาจารย์ทำวิจัยเรื่องเมือง จนปี 5 ก็มีสตูดิโอออกแบบพูดถึงเรื่องพัฒนาย่าน เราเลยอินมาก เพราะเป็นความชอบส่วนตัว”
“หลังเรียนจบ เราก็ยังอินอยู่ ทั้งที่เพื่อนส่วนใหญ่จะเริ่มไปอุตสาหกรรมออกแบบแล้ว แต่เราได้ฝึกเขียนกับค่ายสารคดีประมาณครึ่งปี เราไม่ได้ไปทำงานแบบเพื่อนเขา แม่ก็ด่า (หัวเราะ) แต่ครึ่งปีนั้น ทำให้มีทักษะการเขียนลงสำรวจพื้นที่ ได้คุยกับคน”
ชัชอธิบายต่อว่า เมืองที่เขาสนใจส่วนใหญ่จะเน้นไปที่กรุงเทพฯ ที่เขาเกิดและเติบโตมา สิ่งที่ทำให้เขาสนใจเมืองนี้โดยเฉพาะ เพราะพบว่าเป็น ‘DIY city’ หรือเมืองแห่งการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในเมืองนี้ด้วย จากนั้นเขาจึงเริ่มโปรเจ็กต์ของตัวเองผ่านการเป็นคอลัมนิสต์บนเพจต่างๆ รวมถึงนำสิ่งที่พบเจอมารวมเป็นหนังสือ ทั้ง 2 เล่ม อย่างอาคิเต็ก-เจอ หนังสือรวมสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ และสถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด หนังสือภาพสเก็ตช์และเรื่องราวสั้นๆ ของสิ่งของจากฝีมือคนธรรมดาๆ ในเมืองที่พบเจอได้ในแต่ละวัน
“เวลาเราทำบทความหนึ่ง เราจะต้องเดินสำรวจเมืองก่อนเพื่อหาไอเดีย แล้วก็ถ่ายรูปเยอะๆ กลายเป็นว่าจะมีช่องว่างหนึ่งที่เราเจอระหว่างเขียนเล่มแรก คือเราสนใจคนตัวเล็กๆ ว่าเขาออกแบบและแก้ปัญหากระจุกกระจิกแบบ DIY ด้วยตัวเองเต็มไปหมดเลย
“ตอนนั้นทำประมาณ 365 วัน วันละ 1 รูป พอทำอย่างนี้แล้วกลายเป็นว่าเราสามารถแยกประเด็นได้ เป็นหมวดหมู่ 13 หมวด สะท้อนถึงปัญหาเมือง 13 เรื่อง เพราะว่าทุกอย่างเกิดจากปัญหาเมืองที่ทำให้เขาต้องจัดการตัวเอง
“ในความเป็นเมือง เราไปเจอคีย์เวิร์ดที่น่าสนใจคือ City of DIY ซึ่ง DIY มันก็ย่อมาจาก Do it yourself ช่วยกันเอง เอาตัวรอดกันเอง เป็นเมืองที่โคตรลำบากเลย แต่กลายเป็นว่ามี 2 มุมมอง คือคนมองว่าการไปช่วยกันเองนั้นเกิดจากปัญหาโครงสร้างที่มันไม่ตอบโจทย์
“อันนี้เราไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องดีไม่ดีนะ แต่พอเกิดสภาวะหนึ่งที่ต้องดิ้นรน กลายเป็นว่าคนเราสามารถดึงศักยภาพตัวเองออกมาได้ในการออกแบบของตัวเองอย่าง DIY ในหนังสือของเราเลยเห็นคนเขาดึงศักยภาพของตัวเองได้อย่างสุดขีดในข้อจำกัดที่มี
“มุมหนึ่งมันคือองค์ความรู้ ถ้าเป็นมุมมองของคนในวงการ เขาจะคิดแบบนี้ไม่ได้ เช่น เป็นนักออกแบบ เขาก็จะเรียนมาแบบนี้ เข้าอุตสาหกรรมแบบนี้ ส่งไปได้รับรางวัลอย่างนี้ ถึงการันตีว่าเป็นนักออกแบบที่ดี แต่คนทั่วไปเขาไม่ต้องการสิ่งนั้น เขาแค่ออกแบบเองให้ใช้งานได้จริง กลายเป็นว่ามันนอกกรอบพอที่จะทะลุกรอบการออกแบบ มองอีกแง่คือมันเป็นองค์ความรู้ที่อาจหยิบมาใช้ได้ แต่การหยิบมาใช้แสดงว่าเราจะทอดทิ้งเขาด้วยหรือเปล่า
“เราพยายามมองให้มันได้ 2 มุมเสมอ เพราะว่าสมัยก่อนตอนเขียนหนังสือใหม่ๆ เรามองว่าเจ๋งดีนะ คนไทยไม่แพ้ชาติใด ซึ่งโรแมนติกมาก ถามว่ามันดีในมุมนั้นไหม ก็อาจจะดีในเชิงความคิดสร้างสรรค์ แต่พอเรามองมุมนี้ปุ๊บ เราก็จะชอบลืมความเหลื่อมล้ำของพื้นที่เมือง”
ที่ผ่านมา งานของชัชจึงโดดเด่นจากการพยายามนำเสนอมุมมองทั้ง 2 ด้าน อย่างการหยิบความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากคนธรรมดาด้วยวัสดุใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นท่อน้ำ กล่องกระดาษลัง หรือฟิวเจอร์บอร์ด ขณะเดียวกันชัชก็ไม่ลืมที่จะพูดถึงปัญหาจากเมือง ซึ่งหล่อหลอมให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ยังพัฒนาได้ไม่ถึงไหนไปด้วย อย่างที่เราเห็นใน ‘ตัวโดนเท’ ผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของเขาเอง
ตัวโดนเท นวัตกรรมสีเทาที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้คน
“ตัวโดนเท คือความพยายามของผมในการเอาความคิดสร้างสรรค์กับปัญหาเชิงโครงสร้างมาชนกัน ในงาน bangkok design week”
ชัชบอกว่าที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วเขามักอยู่ในสายงานสถาปัตย์เป็นหลัก ทำให้เจอปัญหาว่างานสายนี้มักเป็นงานที่ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทันที เพราะสิ่งก่อสร้างมักเป็นสิ่งท้ายๆ ที่มนุษย์นึกถึง ขณะที่งานออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นงานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทันที เขาจึงเริ่มลงมือออกแบบ ‘ตัวโดนเท’ เป็นผลิตภัณฑ์แรก เพื่อแก้ปัญหาการเทน้ำเสียลงท่อระบายน้ำ
“ตอนทำงานสถาปัตย์มันยาก เพราะว่างานสถาปัตย์จะมีความเป็น passive คือเรารอคนมาทำที่อยู่อาศัย บ้านคือเรื่องท้ายๆ ของมนุษย์ แต่ว่าในองค์ความรู้ของเรา เรารู้สึกว่าต้องเริ่มทำแล้วทำให้มันดีได้เลย ไม่ต้องรอปลายทาง
“เราก็เลยคิดว่าจะมีทางไหนไหมนะที่เป็นงานเล็กๆ แต่ทำได้เลย เราก็เลยลองทำชิ้นนี้เป็นเป้าหมายของเรา ว่าจะรวมทั้งการแก้ปัญหาและการดีไซน์เข้าด้วยกัน”
จุดเริ่มต้นของตัวโดนเทมาจากสิ่งที่ชัชเคยพบเจอ และเขียนในหนังสือของตัวเอง นั่นคือปัญหาจากการแก้ปัญหาของคนเมือง 2 เรื่อง อย่างเรื่องฟุตบาทแคบ และเรื่องการแอบเทน้ำเสียจากอาหาร
“กฎหมายมีเขียนไว้แล้วว่าต้องจัดการน้ำเสียยังไง แต่ว่าคนทั่วไปส่วนใหญ่เขาอาจองค์ความรู้ไม่ถึง เราก็เลยมองว่าไหนๆ เราอยากแก้ปัญหาภาพหลัก 2 อย่างไปด้วยกัน นั่นคือที่เขาชอบบ่นกันว่า สตรีทฟู้ดเกะกะ เราเลยเอาเทคนิคที่เขาชอบเอาอิฐมารองล้อทำให้มันขยายฟุตบาทด้วยการดีไซน์ไปเลย เป็นของชิ้นหนึ่งที่เพิ่มพื้นที่ฟุตบาท
“อีกเรื่องนึงคือความสกปรก ถ้าเราได้กรองไขมันก่อนเทลงท่อก็จะถูกสุขลักษณะ แล้วแก้ปัญหาเรื่องภาพลักษณ์สกปรกไปในตัวด้วย เราเลยคิดว่าอยากออกแบบของชิ้นหนึ่งที่แก้ภาพลักษณ์ได้ทั้ง 2 เรื่อง ซึ่งไอเดียนี้ก็เกิดจากงานที่เราบันทึกมาเรื่อยๆ และมีข้อมูลเชิงลึกตรงนี้ด้วย”
ชัชเสริมต่อว่าผลงานตัวโดนเทชิ้นนี้ถูกออกแบบมาเพื่อรายย่อยโดยเฉพาะ เป็นร้านเล็กๆ ที่คนสามารถซื้อกลับบ้านไปกินได้โดยไม่ต้องนั่งที่โต๊ะ เพราะนี่ถือเป็นปัญหาหลักที่กฎหมายเข้าไปไม่ถึง ด้วยข้อจำกัดที่ร้านเล็กมีมากกว่าร้านใหญ่ๆ ซึ่งมักมีถังดักไขมันของตัวเองอยู่แล้ว
“เราดูรายย่อยเป็นหลัก ถ้าต้องการแก้ปัญหาจริงๆ ก็ต้องจัดระเบียบทุกสเกล เราเห็นแล้วว่าร้านเล็กๆ เขาทำไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดคือ องค์ความรู้ และต้องเป็นระบบปิด ปกติตัวดักไขมันทั่วไปจะอยู่ใต้ซิงก์ ซึ่งมีขายอยู่แล้ว และข้อจำกัดต่อมาคือ ราคาแพง ราคาค่อนข้างสูง 3-4 พัน และต่อมาคือ ความยุ่งยาก
“เราพยายามจะออกแบบให้ผลิตภัณฑ์มีขนาดเล็กที่สุด เพื่อให้เหมาะกับคนตัวเล็กไปเลย เพราะฉะนั้นตัวโดนเทจะไม่ได้แก้ปัญหาภาพใหญ่ เพราะแบบนั้นต้องไปทั้งระบบ เราเลยเจาะรายย่อยจริงๆ ซึ่งก็มีเยอะด้วย และนโยบายของภาครัฐก็ไปไม่ถึงแน่ๆ”
อย่างไรก็ตาม ชัชยังย้ำว่า แม้เครื่องดักไขมันของเขาจะช่วยซัปพอร์ตร้านเล็กๆ ได้จริง แต่ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาภาพใหญ่ แค่อย่างน้อยงานนี้ก็ช่วยผลักดันประเด็นให้คนหันมาสนใจความสำคัญของเครื่องดักไขมัน และร้านค้าเล็กๆ บนฟุตบาทมากขึ้น
“ทางจัดการที่ดีที่สุดต้องเหมือนฮอว์กเกอร์ ในสิงคโปร์ คือจัดเหมือนฟู้ดคอร์ท จัดระบบที่เดียวและง่ายที่สุด ถ้าทำได้ก็ดี แต่ก็ยังยากอยู่ ยังมีปัญหากันอยู่
“มันผิดอยู่แหละ แต่เราพยายามชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เรามองข้ามไปทุกครั้งน่ะ มันเกิดจากเส้นที่กฎหมายมันขีดไว้และไม่เคยถูกใช้เลย เพราะว่าใช้ไม่ได้กับวิถีชีวิตของคนจริงๆ งานชิ้นนี้ก็เลยเหมือนเล่นกับเส้นแบ่งนั้น ซึ่งมันเทามากๆ เพราะมีคนที่ได้ประโยชน์ด้วย
“ดีไซน์นี้มันผิดอยู่แล้ว ตอนแรกที่เราไปเซ็ต เรากลัวทัวร์ลงกว่านี้เยอะมากว่าอันนี้มันผิดนะ แต่ปรากฏว่าคนในงานเค้าบอก เออ เคยเห็น เออใช่ มันมี ทุกคนเห็นตรงกันแล้วว่ามันมีอยู่ กลายเป็นว่าความเทานี้มันอยู่แล้ว มีคนทำแบบนี้อยู่แล้ว แค่เส้นของระเบียบยังจัดการแบบเดิม”
การออกแบบเพื่อคนตัวเล็กด้วยวัสดุที่คุ้นเคย
ท่อ PVC สีฟ้าแทบจะเป็นวัสดุหลักที่ชัชใช้ในงาน ส่วนหนึ่งเขาบอกว่ามาจากการอยากให้ความสำคัญกับมนุษย์ธรรมดาๆ ซึ่งมักเป็นวัสดุที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน
“เราให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ธรรมดามากกว่ามนุษย์ผู้พิเศษ เราชอบสรรเสริญคนธรรมดา เลยสนใจสิ่งที่คนธรรมดาทำ อะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูน่าสนใจแล้วมีความแยบยล และบางคนมองข้ามไป เราพยายามใส่พวกนี้เข้ามาในงานออกแบบเสมอ”
“ปัจจุบันนี้มันมีความพยายามแบ่งชั้นกัน กลายเป็นว่าเราก็จะห่างกันมากขึ้น ทุกครั้งที่เราบอกว่าอยากให้ ความเหลื่อมล้ำลดลง หรือว่าสังคมดีขึ้น เราเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันห่างขึ้นมากกว่าเดิมโดยที่เราไม่รู้ตัวหรือเปล่า ด้วยรสนิยมหรือมีสายตาว่ามองสิ่งนี้ดีไม่ดี ซึ่งมันไม่ผิดนะ
“ก่อนหน้านี้ช่วงโควิด-19 ระบาด เราได้รับโจทย์ให้ออกแบบทางเข้าที่สามารถสร้างระยะห่างทางสังคม เราก็ใช้ท่อนี้แหละ แล้วเราก็ไปพัฒนาต่อ ทำให้มันโค้ง ทำให้อะไรมันน่าสนใจขึ้น แต่พอไปเสนอ เขากลับบอกว่าสีฟ้ามันดูจน เราก็ช็อกเลยเพราะมันสะท้อนว่าในมุมนักออกแบบชุดหนึ่ง ก็ยังมีการแบ่งแยกชนชั้นในการใช้วัสดุด้วย
“แต่ที่เราชอบใช้ท่อ เพราะว่าท่อมันมีเวทมนตร์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความเฟรนด์ลี่ เป็นมิตรกับคนไทย คนไทยเอาไปทำนู่นทำนี่ ทำโครง ทำป้าย เรารู้สึกว่าถ้าเราดีไซน์ดีเกินไปหน่อย คนจะไม่กล้าใช้ แต่ไอ้ท่อนี้คนกล้าใช้แน่ ด้วยความที่แบบเลอะได้ มันเหนียว เห็นแล้วก็รู้เลยว่าคือท่อที่เราเคยใช้อยู่แล้วตามพวกร้านก่อสร้างเวลาเราซื้อมาทำชั้นวางของ เราว่าเซนส์ของท่อฟ้า PVC เนี่ยดี ก็เลยเลือกตัวนี้มาประกอบ
“สุดท้ายก็คือเป็นงานหนึ่งที่ได้เรียนรู้ว่า เราอยากผลักดันวัสดุตัวนี้ให้น่าสนใจและแมสขึ้น ซึ่งตัวนี้ก็ สำเร็จแล้วประมาณหนึ่ง เพราะเราได้ใช้ตัวนี้ในหลายๆ โอกาส อย่างไอ้ตัวล่าสุดที่ไปโชว์ที่ TCDC ที่ผ่านมา เราก็เลือกเป็นก้อนสีฟ้าให้มันเด่นขึ้นมาเลย”
ที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ยินว่า แบรนด์ดังมักหยิบเอาอัตลักษณ์ของคนกลุ่มหนึ่งมาใช้เป็นแรงบันดาลใจกับผลงานของตัวเอง โดยที่ไม่ได้ยึดโยงกับกลุ่มเดิม สิ่งนี้ชัชอธิบายว่าเป็นการ ‘reappropriate’ หรือการหยิบเอามาใช้ส่วนตัว แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ สำหรับผลงานของเขา แม้จะหยิบเอาท่อสีฟ้ามาใช้ แต่ทุกครั้งก็จะพยายามพูดถึงที่มาของวัสดุชิ้นนี้ที่มาจากคนธรรมดาๆ ด้วย
“สุดท้ายเราไม่อยากหยิบมันมาใช้เป็นของตัวเอง แต่อยากสะท้อนถึงคนทั่วไปด้วยว่าเป็นวัสดุที่คนทั่วไปใช้ มันน่าสนใจ เราอยากผลักความหมายของมันมากกว่าแค่ดึงมันมาใช้ เราอยากดึงกลับไปพูดถึงภาพรวมให้ได้ด้วย”
การ DIY ยังจำเป็นอยู่ไหมในเมืองนี้
“เหมือนเมืองมันทำให้เราต้องทำซ้ำๆ” คือคำอธิบายของชัชถึงพฤติกรรมที่ทำให้คนในเมืองต้องคอยออกแบบวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
ในท้ายเล่มของหนังสือสถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด เขาพยายามสร้างภาษาการออกแบบของคนกรุงเทพฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบครั้งต่อๆ ไป นอกจากจะทำให้เราเห็นเมืองที่เราอาศัยอยู่ผ่านสายตาของนักออกแบบแล้ว เรายังพบว่าการ DIY ของคนไทยไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญ หรือคนไทยมีความครีเอทีฟมากกว่าใคร แต่ยังเป็นเพราะปัญหาโครงสร้างที่ผลักดันให้เราต้องแก้ไขปัญหาด้วยวิธีเหล่านี้
“สิ่งที่เราเจอซ้ำๆ จนเป็นเหมือนเป็นภาษาออกแบบในเมืองนี้ คือเราชอบเจอเจ้าเศษกระเบื้องมาพาดเป็นที่นั่ง ความจริงมันเกิดจากการทุจริต ทำให้มีเศษกระเบื้องหลังใช้ก็ได้ มันถูกทิ้งไว้แล้วเราก็ไปเอามา พอไปอีกที่ก็เจออีกแล้ว เป็นแบบเศษอิฐ หรือพื้นกระเบื้อง เป็นภาษาบางอย่างที่สังคมแอบสร้างให้เราอยู่
“สิ่งที่หล่อหลอมให้เราเจอการ DIY แบบที่เราเจอในไทย ตอนนี้ก็ผมยังไม่แน่ใจ มันมีอยู่ 2 ทฤษฎี หนึ่งคือเป็นประเทศที่โลกที่ 3 หรือว่าเป็นประเทศที่มันอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร เป็นประเทศที่ยังไม่ค่อยพัฒนา เพราะว่าโครงสร้างพื้นฐานไม่ถูกสร้างมาอย่างดีตั้งแต่แรกเลยทำให้เราพัฒนาได้ช้ากว่า แล้วพอสุดท้าย ที่ต้องผลักเมืองให้รองรับโลกที่ไร้พรมแดน ต้องมีโรงแรม หรือต้องมีโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างที่รองรับกับการเข้ามาของต่างชาติ ก็จะพบว่าเรามีทุกอย่างนะ แต่มันไม่ดีสักอย่าง ประเทศเป็นลักษณะแบบนี้ มันจะทิ้งคนไว้ข้างหลัง
“แล้วก็เราพบว่าประเทศในเอเชียตะวันเฉียงใต้ที่เราเริ่มไปดูมาก็จะมีเหมือนกันหมด ในแง่ ‘ภาพ’ แล้วกัน เราเห็นภาพหนึ่ง เช่น เวียดนาม ก็จะมีพลาสติก หรือมีรถเข็นเหมือนๆ กับเรา แต่ในรายละเอียดแล้วอาจจะไม่เหมือน เพราะแต่ละเมืองก็จะมีปัญหาไม่เหมือนกัน แต่ว่าปัญหาอิหลักอิเหลื่อจะคล้ายกัน
“อย่างในกรุงเทพฯ ก็จะมีปัญหาแบบหนึ่ง รถเข็นเราต้องเทิร์นล้อ แต่ถ้าเราไปเวียดนามจะพบว่าเขาไม่ต้องเทิร์นล้อ เพราะว่าฟุตบาทเขากว้างด้วยมอเตอร์ไซค์เยอะ หรือว่าที่เคยไปย่างกุ้งมานานแล้ว ก่อนรัฐประหาร จริงๆ ตึกแถวเขาจะเป็นที่เช่าเหมือนอเมริกา ตึกแถว 3 ชั้น ทุกชั้นมีเจ้าของ กลายเป็นว่าคนบนชั้น 3 เวลาจะเอาของหรือจะซื้อน้ำ เขาจะมีรอกที่ติดขันหรือกะละมังเข้าไปเพื่อดึงขึ้นลงใช้รับของ แต่ตึกแถวกรุงเทพฯ จะเป็นตึกคูหาหนึ่งต่อหนึ่งผู้เช่า การแก้ปัญหาแบบนี้จึงไม่มี”
แล้วแบบนี้เราควรเป็นเมือง DIY อยู่ไหม แม้จะทำให้คนในเมืองใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา แต่อีกด้านก็ทำให้ปัญหายังคงไม่หมดไป เราถามคำถามสุดท้ายที่สงสัยมานานในที่สุด
“เป็นสิ่งที่โดนถามบ่อยเหมือนกัน ถ้ามีอย่างนี้ สิ่งนี้ไม่ต้องมี แต่ก็มีบางประเทศทำได้ เช่น ญี่ปุ่น เขามีกรณี ‘ยาไต’ ร้านอาหารรถเข็นริมทางของญี่ปุ่น วิธีที่เขาทำเจ๋งมากเลย เขาตั้งนโยบายว่า คนที่จะเป็นเจ้าของรถเข็นต่อได้ต้องเป็นตระกูลเดิม แต่ปัญหาคือพอผ่านเจนเนอเรชั่นหนึ่ง ลูกหลานไม่อยากทำ เพราะว่าต้องมีใบประกอบฯ มันก็หายไปด้วยกลไกของรุ่น แต่ถึงอย่างนั้นโอซาก้าก็ยังพยายามเอารถเข็นมาเป็นจุดขายในเมืองอยู่ดี มันมีความย้อนแย้งในตัวตลอดเลย สุดท้ายยาไตก็มีทั้งคนอยากและคนก็ไม่อยากทำ
“ผมว่ามันไม่ได้มีอะไรที่แบบดีที่สุดจริงๆ แต่ปัญหาของบ้านเราคือมันแย่ไปหน่อย จนเราก็รู้สึกว่าต้องดีกว่านี้ ผมก็เลยมองว่ามันต้องดีกว่านี้แหละ
“กลับมาที่เมือง DIY สำหรับผมมันสะท้อนอะไรมากกว่านั้น ผมไม่ได้มองว่า DIY ดีไม่ดี แต่มันสะท้อนความเป็นอยู่ ซึ่งเราไม่เคยตั้งคำถามว่ามันคืออะไร อาจจะเพราะอคติที่เป็นกำแพงทำให้หลายคนไม่เข้าไปทำความเข้าใจสิ่งนี้หรือเปล่า แต่สิ่งที่ผมทำจนมันเยอะพอจนมันไม่ใช่แค่ความน่าเกลียด แต่คือการสะท้อนปัญหาของเมืองที่มันซ่อนอยู่ ถ้าให้เอาสิ่งเดิมออกไปเลย แล้วเอาสิ่งใหม่มาแทนก็อาจไม่พอดีกันก็ได้ เพราะว่าเรามองข้ามปัญหาเดิมไป
“ผมรู้สึกว่าการ DIY นี่มันก็คือการซ่อม เป็นการแปะพลาสเตอร์ยา ซึ่งแสดงว่ามันมีปัญหาบางอย่างที่เราเจอกันอยู่ แต่ถึงจุดหนึ่งที่มันต้องรีโนเวทครั้งใหญ่ก็คงต้องทำ DIY พวกนี้ถือว่าเป็นการซ่อมแซมแล้วกัน มันไม่ได้แก้ปัญหาภาพใหญ่แน่นอน แต่ว่าการซ่อมแซมนี้ ถ้าเรามองข้ามอคติแล้ว เราอาจจะเจอวิธีรีโนเวทครั้งใหญ่ที่มันดีกว่านี้เลยก็ได้” ชัชทิ้งท้าย
ตัวโดนเท: ถังดักไขมันพกพาสำหรับรถเข็น
ทีมออกแบบ: Everyday Architect Design Studio
นักออกแบบ: ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์, รมย์รวินท์ พิพัฒน์นัดดา
ฝึกงาน: มยุรฉัตร สิงห์ฉลาด
ที่ปรึกษาออกแบบวิศวกรรม: ดร.จีมา ศรลัมพ์