ดูเหมือนว่าโรคระบาด COVID-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกอาจจะไม่ได้ส่งผลร้ายมากนักกับทุกๆ คน มีรายงานออกมาว่าในช่วงวิกฤตครั้งนี้ยิ่งทำให้คนรวยรวยขึ้น และคนจนยากจนลงอย่างถึงที่สุด
ในช่วงวิกฤตที่การทำมาค้าขายหรือประกอบอาชีพไม่ได้เหมือนเดิม ชนชั้นแรงงานที่ไม่มีทางเลือกหรือมีอาชีพเสริม ก็ดูจะกลายเป็นกลุ่มเปราะบางอย่างถึงที่สุด หลายคนถึงกับต้องออกที่จากพักเพราะจ่ายค่าเช่าไม่ไหว และมายึดริมถนนเป็นที่อาศัยแทน
ล่าสุด ‘Global Wealth Report 2021’ โดย Credit Suisse ได้ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดต่อเศรษฐกิจแต่ละประเทศ วิเคราะห์การตอบรับเชิงนโยบายของรัฐตั้งแต่ต้นปี ค.ศ.2020 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่ COVID-19 ระบาด อย่างเป็นทางการทั่วโลก
ความชัดเจนที่งานศึกษาโชว์ออกมาผ่าน ‘ดัชนีความมั่งคั่ง’ หรือการครอบครองทรัพย์สินของบุคคล คือ คนที่รวยรวยขึ้น ส่วนคนที่จนก็จนลง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่โถมทับคนจนหนักขึ้นจากการที่พวกเขาไม่มีสายป่าน ขาดรายได้ ไม่มีทางดิ้นไปต่อในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก
แอนโทนี ชอร์ร็อก (Anthony Shorrock) ผู้เขียนรายงานเล่มนี้ ระบุว่า ในช่วงเดือนมกราคม–มีนาคม ค.ศ.2020 โรคระบาดส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในระยะสั้น ครัวเรือนทั่วโลกได้สูญเสียความมั่งคั่งไปราว 4.4% และความมั่งคั่งต่อผู้ใหญ่หนึ่งคนลดลงทั่วโลกราว 4.7% แต่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ.2020 เป็นต้นมา ผลกระทบเริ่มแสดงให้เห็นรอยแยกความเหลื่อมล้ำมากขึ้น โดยเฉพาะความร่ำรวยของกลุ่มคนรวยที่เพิ่มขึ้น
ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี ค.ศ.2020 เป็นต้นมา เราได้เห็นราคาหุ้นทั่วโลกพุ่งขึ้นต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี และราคาอสังหาริมทรัพย์ก็พุ่งตาม ทำให้ความมั่งคั่งครัวเรือนเพิ่มขึ้น 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความมั่งคั่งทั่วโลกเพิ่มขึ้น 418.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และความมั่งคั่งต่อผู้ใหญ่หนึ่งคนเพิ่มขึ้น 6% (79,952 ดอลลาร์สหรัฐฯ/หัว)
ทว่า ความร่ำรวยดังกล่าวก็ดูจะเพิ่มอยู่แค่ในกลุ่มคนรวยเท่านั้น เพราะพวกเขามีต้นทุนหรือสินทรัพย์ในมือให้สานต่อ ขณะที่คนจนนั้นหมดหนทางจะไปต่อหรือมีโอกาสเสริมเติมความมั่นคงให้ตัวเองได้น้อยกว่า
ในรายงานเล่มนี้ Credit Suisse แบ่งคนทั่วโลกออกเป็น 4 กลุ่ม
คนรวยที่สุดอันดับ 1 :
คือคนที่ถือครองทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป (ราว 32 ล้านบาท) คิดเป็น 1.1% (56.1 ล้านคน) มูลค่าสินทรัพย์ของคนกลุ่มนี้รวม 191.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 45.8% ของสินทรัพย์ทั้งหมด
ซึ่งปี ค.ศ.2020 เป็นปีแรกที่ทั่วโลกมีคนกลุ่มนี้เพิ่มเป็นประวัติการณ์แตะ 1% ของประชากรโลก จากปี ค.ศ.2019 ที่มีคนกลุ่มนี้เพียง 5.2 ล้านคนเท่านั้น
คนรวยที่สุดอันดับ 2 :
กลุ่มนี้คือคนที่ถือครองทรัพย์สินระหว่าง 1 แสน – 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 11.1% (583 ล้านคน) มูลค่าสินทรัพย์ของคนกลุ่มนี้รวม 163.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 39.1% ของสินทรัพย์ทั้งหมด
คนรวยที่สุดอันดับ 3 :
คนที่ถือครองทรัพย์สินระหว่าง 1 หมื่น – 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 32.8% (1,715 ล้านคน) มูลค่าสินทรัพย์ของคนกลุ่มนี้รวม 57.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 13.7% ของสินทรัพย์ทั้งหมด
และกลุ่มคนที่มีจำนวนมากที่สุด เปราะบางที่สุด คือ กลุ่มคนที่ถือสินทรัพย์ลำดับที่ 4 :
คนที่ถือครองทรัพย์สินน้อยกว่า 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3 แสนบาท) คิดเป็น 56% (2,879 ล้านคน) มูลค่าสินทรัพย์ของคนกลุ่มนี้รวม 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.3% ของสินทรัพย์ทั้งหมด
ความน่าสนใจถัดมา คือ ปี ค.ศ.2020 ในกลุ่มคนที่รวยอันดับ 1 ยังมีกลุ่ม ‘Ultra High Net Worth’ หรือคนที่รวยมากเป็นพิเศษยืนบนจุดยอดพีระมิด ซึ่งถือสินทรัพย์ระหว่าง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 173,620 คน เป็น 215,030 คน (จำนวนคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 23.9%) เป็นการทะยานของจำนวนคนกลุ่มนี้ที่มากที่สุดกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา
Credit Suisse ระบุว่า การดำเนินนโยบาย COVID-19 ในบางประเทศ ส่งผลให้คนกลุ่มที่รวยรวยขึ้นไปอีก กลุ่มคนมีเงินที่สุดแม้จะต้องหยุดพักงาน พวกเขายังมีเงินสำรองหรือช่องทางอื่นในการทำเงิน เช่น ทำกำไรจากตลาดหุ้น หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาดีดตัวขึ้นในปลายปีก่อน และยังสามารถโดยใช้ชีวิตโฟกัสกับสินค้าฟุ่มเฟือย ทริปผักผ่อนวันหยุด โดยที่ยังมอบการศึกษาที่ดีให้เด็กๆ ของพวกเขา ได้
ขณะที่หากรัฐบาลบางประเทศ ไม่ได้มีนโยบายสนับสนุนหรือชดเชยประชาชนกรณีถูกเลิกจ้างงานหรือพักงานชั่วคราว กระทบต่อกลุ่มคนที่ถือสินทรัพย์ลำดับที่ 4 หรือคนที่ถือครองทรัพย์สินน้อยกว่า 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตรง เมื่อพวกเขาตกงานและไม่มีรายได้ บางคนที่ต้องดึงเงินเก็บมาใช้ ก็จะทำให้กระเป๋าเงินสำรองลดลง หรือกลายเป็นหนี้ในที่สุดหากหางานใหม่ไม่ได้ จึงกลายเป็นที่มาของคำว่า ‘จนลงอย่างสุดขีด’
นี่คือช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้อย่างชัดเจนสุดๆ เมื่อ COVID-19 ระบาดหนัก
ว่าด้วยความรวยและความจนในประเทศไทยกันบ้าง
สอดคล้องกับ World Bank ที่ออกรายงานในเดือนกรกฎาคมนี้ ระบุว่า ประเทศไทยมีแรงงานที่ได้รับการช่วยเหลือจากประกันสังคมเพียง 40% ส่วนแรงงานนอกระบบไม่ได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด ซึ่ง COVID-19 ชี้ให้เห็นถึงการขาดแคลนการช่วยเหลือเชิงนโยบายจากรัฐบาลมากขึ้นไปอีก
ซึ่งเทียบในทวีปเอเชีย-แปซิฟิก ประเทศไทยมีการช่วยเหลือแรงงานทางสังคม (social assistance) น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น คือเพียง 0.77% ของ GDP เท่านั้น
World Bank ระบุเพิ่มด้วยว่า ความยากจนในประเทศไทยลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก่อนกลับมาพุ่งขึ้นสูงอีกใน ค.ศ.2016 และชัดเจนมากขึ้นจนกลายเป็น ‘ความเสี่ยง’ ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า 85.3% ของกลุ่มคนที่มีเงินเดือน 5,000–10,000 บาท ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงเพราะ COVID-19 และเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด
สองปีที่แล้ว สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่รายงานเรื่องการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี พ.ศ.2562 โดยเป็นข้อมูลที่ทำการสำรวจสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ.2561–2562 ระบุว่า ในปี พ.ศ.2562 สถานการณ์ความยากจนไทยปรับตัวดีขึ้น
ในรายงานบอกว่า สัดส่วนคนจนลดลงจาก 9.85% ในปี พ.ศ.2561 มาอยู่ที่ 6.24 % ในปี พ.ศ.2562 หรือมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคน จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากรัฐ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (พ.ศ.2562 เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,763 บาท/คน/เดือน เพิ่มจาก 2,710 บาท/คน/เดือน จากปีก่อนหน้า)
ทว่าในปี พ.ศ.2563 เมื่อไทยเผชิญ COVID-19 สถานการณ์จะไม่เหมือนเดิม เพราะโรคระบาดจะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างหนักหน่วง
แม้ว่าสัดส่วนคนจนปี พ.ศ.2562 ที่ 6.24% นั้น ถือว่าประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายในการแก้ปัญหาความยากจนตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 แต่การระบาดของ COVID-19 ที่กระทบเศรษฐกิจและการจ้างงาน น่าจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไทยไม่สามารถบรรลุแผนฉบับที่ 12 นี้ได้
ทั้งนี้เสริมข้อมูลอีกนิดจาก Credit Suisse ที่คาดการณ์เศรษฐกิจโลกไปข้างหน้าว่า ปี ค.ศ.2025 ความมั่งคั่งโลกน่าจะเพิ่มขึ้นอีก 39% โดยประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง จะเป็นพื้นที่ที่สร้างความมั่งคั่งได้รวมกันเพิ่มขึ้น 42% และความมั่งคั่งต่อผู้ใหญ่หนึ่งคนเพิ่มขึ้น 31% (1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ/หัว)
อย่างไรก็ตาม ก็คงไม่ใช่ทุกคนในอีก 4 ปีข้างหน้าที่จะเป็นผู้มั่งคั่ง มรดกจาก COVID-19 และการจัดการเชิงนโยบายจากรัฐในบางประเทศน่าจะทิ้งร่องรอยให้กับประชากรกลุ่มเปราะบางไว้อีกนาน และล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ออกมาบอกว่า กว่าเศรษฐกิจเราจะฟื้นตัวกลับไปเติบโต 3% ได้เหมือนก่อนหน้าโรคระบาดก็น่าจะใช้เวลาอีกราว 6 ปี
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan