‘ไม่รู้จะกลับบ้านไปทำไม เพราะกลับไปก็ไม่มีอะไรให้ทำ’ เคยรู้สึกแบบนี้บ้างหรือเปล่า?
ในวันที่เริ่มต้นชีวิตวัยทำงาน เชื่อว่าคนต่างจังหวัดส่วนมากไม่สามารถลงหลักปักฐานที่บ้านเกิดของตัวเองได้ นอกจากจะสอบบรรจุข้าราชการท้องถิ่น หรือมีงานบางอย่างมารองรับซึ่งนับว่าเป็นส่วนน้อย และคำว่า ‘ไม่มีอะไรให้ทำ’ ในที่นี้ ยังรวมถึงการไม่มีที่ไหนให้ไป ไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรให้ทำ แถมยังเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะอย่างยากลำบากอีกต่างหาก หลายคนเลยเลือกที่จะจากบ้านมาคว้าโอกาสในกรุงเทพฯ เพียงลำพัง แต่โอกาสที่ว่านี้มี ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ ด้วยเช่นกัน
ราคา (ที่มองไม่เห็น) ของการอยู่ตัวคนเดียว
การใช้ชีวิตคนเดียว ในแง่หนึ่งนับว่าเป็นข้อดีที่เราสามารถจัดการชีวิตของตัวเองได้อย่างอิสระและเป็นส่วนตัวมากกว่า ไม่ว่าจะตื่นนอนตอนไหน มื้อนี้กินอะไร จัดห้องแบบไหน หรือจะกลับกี่โมงก็ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะรบกวนใคร แต่ความเป็นส่วนตัวนี้ย่อมแลกมาด้วย ‘ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น’ อย่างการศึกษาหนึ่งในปี 2021 พบว่า คู่รักที่ต่างฝ่ายต่างอยู่คนเดียวจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าคู่ที่อยู่ด้วยกันประมาณ 28%
แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายหลักที่เพิ่มเข้ามาคือ ‘ค่าที่อยู่อาศัย’ โดยค่าเช่าหอพักหรืออพาร์ตเมนต์ในกรุงเทพฯ ราคาเฉลี่ยจะอยู่ราวๆ 5,000-6,000 บาท/เดือน ขึ้นไป (ไม่รวมค่าน้ำ-ค่าไฟ) โดยราคาจะเพิ่มขึ้นไปตามพื้นที่ ขนาดห้อง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ส่วนราคาที่ต่ำกว่านี้ มักจะเป็นห้องพักที่ตั้งอยู่ในซอยลึก บ้างก็ห้องน้ำรวม บ้างก็ไม่มีลิฟต์ หรืออยู่ห่างไกลออกไปจากตัวเมือง ส่วนคอนโดมีเนียม ค่าเช่าจะอยู่ที่ราวๆ 10,000 บาทขึ้นไป (ไม่รวมค่าน้ำ-ค่าไฟ) และแน่นอนว่าราคาที่ถูกลง ย่อมต้องแลกมาด้วยสภาพห้องและการเดินทางหลายต่อเช่นเดียวกับหอพัก
เมื่ออยู่ในกรุงเทพฯ ที่ทั้งรถติด เดินทางนาน มีจุดอับให้รู้สึกไม่ปลอดภัยหลายจุด บางคนเลยยอม ‘จ่ายเงินเพิ่ม’ สำหรับค่าที่พักอาศัย เพื่อให้เดินทางได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงเดินเข้าซอยเปลี่ยวยามดึก บ้างก็หาที่พักที่มียามรักษาความปลอดภัยให้สามารถขอความช่วยเหลือได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่ถ้าถามว่าประเทศอื่นต้องเสียค่าที่พักมากขนาดนี้ไหม? ในรายงานของ iPrice Group เมื่อปี 2021 ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบ 6 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย พบว่า ค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่กรุงเทพฯ สูงเป็นอันดับที่ 3 และถ้าเทียบสัดส่วน ค่าเช่าที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ คิดเป็น 48% ของเงินเดือนโดยเฉลี่ย ขณะที่สิงคโปร์ ค่าเช่าที่อยู่อาศัยคิดเป็น 39% ของเงินเดือนเฉลี่ย
นอกจากค่าที่พักอาศัยแล้ว ยังมีค่าอาหาร (ที่แพงขึ้นทุกวัน) และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ที่ต้องจ่ายเองแบบเต็มๆ เพราะไม่มีรูมเมต ไม่มีคนในครอบครัวมาช่วยหาร ตั้งแต่จานชามช้อนส้อม เฟอร์นิเจอร์ พัดลม ตู้เย็น เครื่องดูดฝุ่น จุกจิกไปจนถึงผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่มเลยทีเดียว
ราคาที่ต้องจ่าย ไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน
เมื่อฝ่าฟันค่าใช้จ่ายประจำวันมาได้แล้ว อีกเรื่องที่เราต้องจ่าย คือ ‘เวลา’ อย่างงานบ้านที่ไม่สามารถช่วยกันทำความสะอาดหรือแบ่งหน้าที่กันได้ บางเสาร์อาทิตย์เลยหมดไปกับการรื้อห้องทำความสะอาด ซื้อของเข้าบ้าน จัดการธุระส่วนตัว ส่วนช่วงวันหยุดยาว ถ้าอยากเดินทางกลับบ้านก็แย่งชิงตั๋วอย่างกับรอกดบัตรคอนเสิร์ตเลยทีเดียว พอได้ตั๋วมาแล้ว ด่านต่อมาคือการฝ่ารถติดในช่วงเทศกาลทั้งขาไปและขากลับ จนบางทีการเดินทางบนท้องถนนต้องเพิ่มจาก 8-9 ชั่วโมง มาเป็น 10-12 ชั่วโมงเลยก็มี แต่ถ้าจะจองตั๋วเครื่องบิน ราคาก็แพงหูฉี่ในช่วงเทศกาล หรือถ้าจะลากลับบ้านช่วงอื่นๆ ก็กลายเป็นว่าวันหยุดไม่ตรงกับคนที่บ้าน เลยใช้เวลาร่วมกันได้น้อยลงไปอีก
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสุขภาพใจที่มีโอกาสเผชิญความเครียดได้มากขึ้น เพราะถ้าลองนึกภาพชีวิตอันเร่งรีบและเคร่งเครียดในแต่ละวัน เมื่อกลับบ้านไปเจออาหารที่แม่ทำ กลับไปเล่นกับเจ้าหมา รดน้ำต้นไม้ข้างบ้าน หรือแบ่งปันเรื่องราววันนี้กับใครสักคน อาจช่วยให้เราหลงลืมความเครียดลงไปได้ชั่วคราว ทว่าการต้องอยู่คนเดียวในเมืองที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้า สิ่งที่ทำได้คงเป็นการนอนมองเพดาน จัดการความรู้สึกตัวเองเงียบๆ ในห้องสี่เหลี่ยมขนาดไม่กี่ตารางวา
แม้สิ่งที่ต้องจ่ายเพิ่มเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องจุกจิกเล็กน้อย แต่ถ้าสะสมรวมกันไปเรื่อยๆ สุดท้ายอาจจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพทั้งกายและใจได้เหมือนกัน
ปัญหาความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ
ชีวิตที่ไม่ง่ายทำให้หลายคนต้องดิ้นรนและปรับตัวในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป บ้างต้องจำกัดจำเขี่ยค่าใช้จ่าย บ้างต้องทำงานหลายอย่างเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง แต่ทั้งหมดนี้ก็นับว่าเป็นการแก้ปัญหาส่วนบุคคลที่ไม่ได้ยั่งยืนเท่าการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะเรื่องความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เห็นได้จากข้อมูลของ tdri.or.th เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2022 ที่ระบุว่า สถิติการประกาศรับสมัครงาน 62.8% คืองานในกรุงเทพและปริมณฑล โดยมีจำนวนมากที่สุดคือ 109,235 ตำแหน่งงาน
แต่ความเจริญที่ว่านี้ไม่ได้มีแค่เรื่องงานอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆ ด้วย โดยในรายงานความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่และนัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ปี 2562 ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเมือง ‘โตเดี่ยว’ โดยการเติบโตกระจุกตัวที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอีก 6 จังหวัด ซึ่งคิดเป็น 54% ของการเติบโต ‘ทั้งประเทศ’ นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจบ้านเราพึ่งพาพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างสูง
และในรายงานเดียวกันนี้ ยังได้กล่าวถึงดัชนี Human Achievement Index (HAI) ในปี 2017 ที่ชี้วัดความก้าวหน้าของผู้คนแต่ละภูมิภาค โดยพิจารณา 6 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การมีสุขภาพที่ดี มีการศึกษา มีชีวิตการงานที่ดี มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ที่อยู่อาศัยมั่นคงและมีสภาพแวดล้อมที่ดี การคมนาคมที่สะดวกและการสื่อสารที่ดี โดยพบว่า กรุงเทพฯ มีดัชนีที่ ‘สูงกว่า’ ภูมิภาคอื่นทุกด้าน ยกเว้นด้านที่อยู่อาศัย ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสเข้าถึงด้านต่างๆ ได้น้อยมาก โดยเฉพาะ ‘ด้านการศึกษา’ และ ‘การขนส่ง’ เลยไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะเข้ามาหาโอกาสการทำงานในกรุงเทพฯ แต่ก็ต้องมาเผชิญปัญหาค่าครองชีพที่สวนทางกับรายได้และคุณภาพชีวิตกันต่อ
เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของคนต่างจังหวัด
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเชิงปัจเจก หากส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งประเทศ เห็นได้จากรายงานข้างต้นที่วิเคราะห์ว่า การที่ประเทศไทยพึ่งพาการเติบโตของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมากจนเกินไป อาจไม่ใช่เรื่องดีสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะการที่ผู้คนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินในพื้นที่เดียวกันอย่างแน่นขนัด ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเริ่มขาดแคลน สิ่งที่ตามมาคือค่าครองชีพ ค่าเช่าที่ และค่าที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการทำธุรกิจก็พลอยสูงขึ้นไปด้วย จนผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถแข่งขันได้ และถ้าวันหนึ่งเกิดอะไรขึ้นกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศก็มีโอกาสได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน
การแก้ปัญหานี้ในระยะยาวเลยเป็นเรื่องของนโยบาย การจัดสรรงบประมาณ และการบริหารจัดการของผู้มีอำนาจ ซึ่งสิ่งที่เราพอจะทำได้ คงจะเป็นการใช้สิทธิ ใช้เสียงของเราอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถาม พูดถึงปัญหา ไปจนถึงการใช้สิทธิเลือกตั้งคนที่มีศักยภาพพอจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้ แต่เราก็ไม่ได้บอกว่า ทุกคนไม่ต้องพยายาม แล้วโทษแค่ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเดียว เพราะภาพความเป็นจริงในตอนนี้ คือผู้คนพยายามปากกัดตีนถีบกันสุดแรงแล้ว แต่คุณภาพชีวิตกลับไม่ขยับไปไหน
ดังนั้นถ้าเรามีโครงสร้างที่ดี นโยบายที่มีประสิทธิภาพ อย่างน้อยๆ ราคาที่ต้องจ่ายอาจไม่ต้องสูงมากขนาดนี้ก็ได้ และผู้คนก็ไม่ต้องอยู่ในโหมด ‘เอาชีวิตรอด’ ตลอดเวลา แต่มีโอกาสได้ ‘ใช้ชีวิต’ บ้าง และถ้ามีพื้นฐานที่มั่นคงพอ อาจทำให้เรามีเวลาไปคิดเรื่องอื่นๆ มีเรี่ยวแรงออกไปเรียนรู้และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้ด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก