“กระจกวิเศษเอ๋ย บอกข้าเถิด ฉันควรเปิดใจย้ายไปทำงานอะไรดี!”
สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เราเชื่อเหลือเกินว่าหลายคนน่าจะเคยมีความรู้สึกที่ว่า ‘ฉันไม่ชอบคณะนี้เลย อยากซิ่ว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะซิ่วไปคณะไหนดี’ หรือพูดง่ายๆ คือการเป็นนักศึกษามา 1 ปีนั้น มากพอที่เราจะค้นเจอว่าตัวเองไม่เหมาะกับหลักสูตรของคณะจากการตัดสินใจเลือกในปีก่อนหน้า กระนั้นมันก็คงน้อยเกินกว่าจะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำให้นอกจากจะต้องกลัดกลุ้มกับการเลือกผิดคณะผิดแล้ว เรายังอาจต้องเครียดต่ออีกว่า ถ้าตัดสินใจเลือกใหม่ได้ คณะไหนจะเป็นคำตอบที่ใช่ที่สุด? อยากซิ่วใจจะขาด แต่ก็ไม่รู้จะขออนุญาตพ่อแม่ซิ่วไปสายไหน? หรือเกลียดกลัวสิ่งที่เรียนอยู่เข้าไส้ แต่ก็ว้าวุ่นใจเพราะไม่รู้ว่าอะไรคือเรื่องที่เราสนใจจริงๆ?
แล้วจะทนเรียนต่อไปทั้งที่ไม่ชอบดี หรือจะกลั้นใจ 1 ที และลองเสี่ยงไปตามหาสิ่งที่ตัวเองรักในคณะใหม่ที่ก็ไม่รู้ว่าจะหาเจอจริงหรือเปล่า!
ส่วนในวัยทำงาน หลายคนอาจกำลังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ต่างไปจากสมัยเรียนมากนักกล่าวคือ รู้ตัว 100% แล้วว่างานที่ทำอยู่ทุกวันไม่ใช่ตัวเรา กิจวัตรที่เจอตั้งแต่เช้ายันเย็นเป็นสิ่งที่ฉันคนนี้ต้องฝืนแล้วฝืนอีก แต่ก็เช่นเดิม ถ้าให้เปลี่ยนสายหรือย้ายงาน ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าตัวเองต้องการอะไร ถนัดสิ่งไหน หรือพอจะมีทักษะแขนงใดเป็นจุดเด่น…
ตบบ่า ใจเย็นๆ ไม่ใช่เธอคนเดียวที่เป็นแบบนี้ อันที่จริงวัยรุ่นไทยไปจนถึงเฟิร์สจ็อบเบอร์ส่วนมากก็คงเคยรู้สึกแบบนี้มาบ้าง เพราะฉะนั้นเรามาลองสำรวจกันก่อนดีกว่าว่าสภาวะนี้มีสาเหตุมาจากอะไร
1. การศึกษาและสังคมไทยแทบจะไม่สอนให้เด็กตั้งคำถาม
หลายครั้งหลายคราวที่เราโทษตัวเองซ้ำๆ ตัดพ้อว่าทำไมฉันถึงไม่มีสิ่งที่ชื่นชอบหรือสนใจเหมือนอย่างใครเขาบ้าง ไม่เข้าใจว่าทำไมคำถามง่ายๆ อย่าง ‘ชอบทำอะไร’ ฉันจึงตอบไม่ได้
เราอยากให้ทุกคนลองหยุดโทษตัวเองกันสักครู่ เพราะจริงๆ แล้วการที่เราไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง อาจเป็นผลมาจากการหล่อหลอมของค่านิยม สังคม ตลอดจนระบบการศึกษาก็เป็นได้
ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 กลุ่มนักเรียนเลวร่วมด้วยเยาวชนจากหลากหลายเครือข่าย ก็ออกมารวมตัวสะท้อนปัญหาของระบบการศึกษาไทยผ่านการปราศรัยอันเข้มข้น
เพกา เลิศปริสัญญู ตัวแทนจากกลุ่ม KIDSCON ขึ้นเวทีปราศรัยเป็นคนแรกพร้อมแสดงความเห็นว่า ระบบการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์เด็กและเยาวชน เพราะพยายามยัดเยียดสิ่งต่างๆ ให้เด็กมากจนเกินไปราวกับไม่ต้องการให้เด็กใช้สมองคิดและวิเคราะห์ อยากให้เด็กเป็นหุ่นยนต์ท่องจำ ซึ่งสังเกตได้จากความพยายามให้นักเรียนท่องค่านิยม 12 ประการ
เมื่อลองขยับออกมามองนอกรั้วโรงเรียน สังคมไทยก็ดูจะยังไม่ใช่พื้นที่ที่เอื้อให้เกิดการตั้งคำถามมากเท่าที่ควร บ่อยครั้งเหลือเกินคนซึ่งกล้าถามคำถามถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด การยกมือสงสัยหรือเสนอความคิดเห็นกลายเป็นสิ่งแปลกแยก และเมื่อปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันก็ค่อยๆ กลายสภาพไปเป็นบรรทัดฐานที่จำกัดเยาวชนและผู้ใหญ่หลายคนให้รู้สึกกลัวต่อการตั้งคำถาม ไม่กล้าคิดหรือสงสัย หวังใจเพียงอยากเป็นคนธรรมดาที่ดำเนินชีวิตไปตามแนวทางของคนส่วนใหญ่เห็นว่าดี เป็นการปิดสวิตช์ความคิดเพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าสายตา จนลืมพูดคุยกับตัวเองแม้กระทั่งคำถามใกล้ตัวว่า ‘ฉันชอบอะไร’
ที่พึ่งหนึ่งซึ่งอาจมีบทบาทสำคัญต่อปัญหาดังกล่าวในวัยเรียนคือ วิชาแนะแนว ในหลายๆ ประเทศสามารถจัดการเรียนการสอนวิชานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนได้ไม่มากก็น้อย ทว่าในสถานศึกษาที่ด้านหน้าประดับธงชาติสีแดง ขาว และน้ำเงิน วิชาที่ชื่อ ‘แนะแนว’ ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถ ‘แนะนำ’ นักเรียนได้อย่างที่ควรจะเป็น
การเก็บแบบสอบถามจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 กว่า 200 คนของ เว็บไซต์นิสิตนักศึกษา พบว่า มีเด็กถึง 59% ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนต่อคณะไหนหรือต้องการประกอบอาชีพอะไร และอีกกว่า 10% ยังไม่แน่ใจนัก มีเพียง 30% เท่านั้นที่มั่นใจว่ามีตัวเองเป้าหมายแน่ชัด
จากหลักฐานที่ปรากฏสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากระบบการศึกษาไม่กระตุ้นให้เด็กได้ตั้งคำถาม และสภาพสังคมที่ตีตราว่าคนยกมือถามคือตัวประหลาดแล้ว วิชาแนะแนวที่ควรจะส่งเสริมให้เด็กได้ทำความรู้จักตัวเอง ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามวัตถุประสงค์ ทั้งหมดนี้จึงเกิดเป็นปัญหาหมักหมมของคนไทยหลายคนต้องเผชิญในวัย 18-30 ปี หรือดีไม่ดีก็อาจจะต้องเผชิญยาวนานไปกว่านั้น
2. คนไทยไม่มีเวลาค้นหาตัวเอง
เริ่มใหม่ เราลองมองโลกในแง่ดีกันดีกว่า มันก็คงมีสักโรงเรียนแหละที่สนับสนุนให้เด็กตามหาสิ่งที่ตัวเองชอบ มีผู้ปกครองไม่น้อยที่น่าจะสร้างสภาพแวดล้อมให้บุตรหลานกล้าตั้งคำถาม และคงมีครูแนะแนวหลายคนซึ่งพยายามอย่างถึงที่สุดในการช่วยให้เด็กรู้จักตัวเอง ทว่าจนแล้วจนรอด ศัตรูตัวฉกาจที่เราไม่สามารถมองข้ามได้ก็คือ ภาระอันหนักอึ้งของระบบการสอบ
สถิติจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชี้ว่า เด็กไทยหมดเวลาไปกับการเรียนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 54 ชั่วโมง แถมบางคนก็จำต้องสิงสถิตอยู่ในโรงเรียนกวดวิชาทั้งวันเสาร์และอาทิตย์ ต้องบากบั่นตั้งใจทำคะแนนให้ได้ตามความคาดหวัง จนแทบไม่เหลือเวลาให้ค้นหาว่าตัวเองสนใจอะไร เพราะแต่ละวันก็หมดไปกับเนื้อหาเคมี ข้อมูลชีวะ และสูตรตรีโกณมิติ
เมื่อรู้ว่าสิ่งที่เรียนอยู่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบตั้งแต่ปี 1 แต่ปี 2-4 (หรืออาจจะปี 6) ก็ยังดิ้นรนทนเรียนคณะนี้จนสุดทาง ระหว่างเรียนก็พยายามเจียดเวลาเท่าที่มีไปลองทำกิจกรรมอื่นๆ เผื่อว่าจะเจอด้านที่ชอบ แต่ในเมื่อยังหาความชอบนั้นไม่เจอ ความหวังสุดท้ายก็คงไปตกอยู่ในวัยทำงาน
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาจากเว็บไซต์จีเอฟเคระบุว่า ในปี 2015 คนไทยทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 50.8 ชั่วโมง ทั้งที่ พรบ. คุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ว่า “ลูกจ้างจะต้องทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” สรุปง่ายๆ คือไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน คนไทยก็ไม่เคยมีช่วงเวลาที่ว่างมากพอให้ได้ทำความรู้จักตัวเองอย่างจริงจัง เราไม่เคยถูกสอนให้ตั้งคำถาม แม้กระทั่งในวันที่เราพร้อมตั้งคำถามและหาคำตอบแล้ว ภาระทั้งการเรียนและการงานก็จะบีบจนเราไม่มีโอกาสได้ทำอยู่ดี ทางเดียวที่จะมีเวลามากพอก็อาจจะต้องซิ่วหรือลาออกมาตั้งสติสักระยะ แต่คำถามคือเรามีต้นทุนรองรับให้สามารถตัดสินใจแบบนั้นได้รึเปล่า?
3. มีคนเลือกให้แล้ว
อันที่จริง นาย A (นามสมมติ) อาจจะสามารถต่อสู้จนเอาชนะสังคมที่ไม่เอื้อต่อการตั้งคำถาม ฝืนในฝืนจนค้นเจอว่าเขาอยากประกอบอาชีพอะไรในอนาคต แต่ความเป็นจริงเรื่องราวทั้งหมดกลับไม่เกิดขึ้น เมื่อนาย A ไม่ได้ต่อสู้เพื่อตอบคำถามตัวเองและไม่เคยตามหาในสิ่งที่ชอบ เพราะเขารู้อยู่แก่ใจว่ามีผู้ใหญ่วางแผนอนาคตให้เขาแล้ว
ไม่แปลกเลยที่เราจะไม่กล้าค้นหาความต้องการของตัวเองเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพ่อกับแม่คาดหวังว่าเราต้องทำงานที่มีความมั่นคง เมื่อชีวิตดำเนินมาถึงจุดหนึ่งจนเราเริ่มแน่ใจว่า คงไม่สามารถปฏิเสธความต้องการของบุพการีได้ การค้นหาเรื่องที่ตัวเองสนใจอย่างแท้จริงกลายเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงยิ่งกว่าอะไรทั้งปวง เพราะหากพบเจอก็มีแต่จะรู้สึกอกหัก ได้รู้จักสิ่งที่รัก แต่ก็ไม่มีทางเลือกเรียนหรือทำมันเป็นงานหลักได้ สู้อยู่กับความเป็นจริง พยายามปรับตัวให้เข้ากับแนวทางที่ครอบครัวต้องการไปเลยคงเป็นทุกข์น้อยกว่า
ในวัยเรียนช่วง ม.6 เราอาจยังทนได้ จนปี 3 ในมหาวิทยาลัยก็ยังพอไหว แต่เมื่อทำงานไปกลับรู้สึกไม่อยากทรมานอีกแล้ว ทว่ารู้ตอนนี้ก็สายไปเสียแล้ว เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เราไม่เคยออกไปลองทำกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากเส้นทางที่พ่อแม่ต้องการมาก่อนเลย
แน่นอนว่าการหาสาเหตุเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่อาจเร่งด่วนกว่านั้นคือแนวทางการรับมือเมื่อประสบกับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนี้ และนี่คือ 3 ขั้นตอนแห่งกำลังใจ ที่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยให้ทุกคนพบสิ่งที่ชอบได้ในสักวัน
- ศึกษาเงื่อนไข – ทำความเข้าใจว่าตัวเราในวัยนี้มีทางเลือกอะไรบ้าง ถ้าอยู่ในวัยเรียน เรายังสามารถลองซิ่วได้ไหม? หากอยู่ในวัยทำงาน เราพอจะมีเงินเก็บให้ทดลองสิ่งต่างๆ อะไรได้บ้าง? เมื่อทราบเงื่อนไขชัดเจนแล้ว เราน่าจะหาทางออกจากจุดที่เป็นอยู่ได้ง่ายขึ้น
- ไม่ทิ้งโอกาส – ปฏิเสธไม่ได้ว่าการนำเวลาที่ไม่ได้มีเหลือเฟือมาใช้เพื่อหาคณะที่ถูกต้องหรือสายงานที่ถูกใจ ย่อมต้องเสียสละอะไรมากมายหลายสิ่ง แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมในขั้นตอนของการทำความรู้จักตัวเอง สิ่งที่ควรทำคือการมองหาโอกาสเพื่อทดลองทำสิ่งต่างๆ ที่ใกล้ตัวที่สุด สนใจสิ่งไหนก็ลองเข้าไปใกล้ๆ สิ่งนั้น อยากรู้เรื่องการตลาด งั้นลองไปฟังเสวนาดูไหม? หรืออยากเข้าใจเรื่องกาแฟ ไปเถอะลองสมัครเวิร์กช็อปดูสักที แม้เราอาจจะพลาดทริปเที่ยวกับเพื่อนไปบ้าง แต่ถ้าปลายทางคือได้พบสิ่งที่ตามหาก็คงคุ้มค่าไม่น้อย
- ท้อได้ แต่อย่าถอย – เรื่องหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือระหว่างการตามหาความชอบของตัวเอง สิ่งที่ได้กลับมาอาจเป็นเพียงสายงานที่ไม่ชอบอีกสายหรือวิชาอีกมากมายที่อยากหลีกหนี ลองผิดลองถูกจนเริ่มท้อว่าไม่น่าซิ่วมาตั้งแต่แรก หรือตอนนั้นไม่น่าเปลี่ยนงานเลย แต่สุดท้ายแล้วการตามหาสิ่งที่ชอบนั้นไม่มีทางลัด เราอาจใช้เวลามากหน่อย แต่การลองไปเรื่อยๆ อาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่เราทำได้ ท้อได้ แต่อย่ายอมแพ้ คิดซะว่าอย่างน้อยก็ได้เจอสิ่งที่ไม่ใช่เพิ่มมาอีกตั้งหนึ่งอย่างนะ
ท่ามกลางความสับสนว่าจะทนต่อกับงานนี้ หรือพอกันทีแล้วไปสุ่มสี่สุ่มห้าหางานอื่น หลายคนน่าจะเคยคิดเล่นๆ ว่า ‘ถ้าตอนนั้นเลือกงานนู้นก็คงจะดีกว่านี้’ หรือ ‘ถ้าพยายามหาตัวเองมากกว่านี้ ตอนนี้ก็คงได้เจอสิ่งที่ชอบไปแล้ว’ และสารพัดคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘ถ้า’ อีกมากมายเต็มไปหมด
เป็นเรื่องน่าเศร้าและเราคงกลับไปแก้ไขสิ่งที่ผ่านมาแล้วไม่ได้ ทว่าสิ่งที่เราจะทำได้คือการพยายามกำหนดอนาคตเริ่มต้นตั้งแต่วินาทีนี้ จริงอยู่ว่าการหาความชอบในวันที่มีเรื่องต้องรับผิดชอบเยอะมากนั้นไม่เคยง่าย แต่สุดท้ายเราก็ไม่มีทางรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ถ้าไม่ได้ลองต่อไปเรื่อยๆ
วันนี้เราขอเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่อยากอวยพรให้ทุกคนได้ทำ ได้เรียน และได้อยู่กับสิ่งที่ชอบอย่างแท้จริง
สำหรับคำขอที่ว่า “กระจกวิเศษเอ๋ย บอกข้าเถิด ฉันควรเปิดใจย้ายไปทำงานอะไรดี!” ทั้งกระจกและตัวเราเองคงตอบคำถามนี้แทนทุกคนไม่ได้ แต่ก็เชื่อเหลือเกินว่าเธอจะตอบตัวเองได้ในสักวัน และหวังว่าวันนั้นจะมาถึงโดยเร็ว
อ้างอิงจาก