ทำงานอยู่ดีๆ ก็รู้สึกเหมือนรถติดหล่ม …ไม่ได้ถอยไปข้างหลัง ไม่ได้ก้าวไปข้างหน้า แต่ถ้าอยากขยับออกไปจากตรงนี้ คงต้องใช้แรงผลักมหาศาล เพื่อเข็นรถให้ล้อพ้นจากโคลนจนกลับมาวิ่งได้ตามปกติ
ในชีวิตจริงการผลักล้อรถให้พ้นจากโคลนที่ว่านี้ คงเหมือนกับการพยายามเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในตัวเอง เพื่อความก้าวหน้าของงานที่กำลังทำอยู่ บางครั้งอาจเป็นทักษะใหม่ๆ หรือบุคลิกภาพที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ของเรา แต่บางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะลังเลใจ เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เราควรเปลี่ยนตัวเองเพื่อความก้าวหน้าดีไหม หรือควรเริ่มมองหางานใหม่ที่ใช่ตัวเรากว่าเดิม
เราเปลี่ยนตัวเองได้แค่ไหน?
“ทักษะการทำงานกับทักษะการบริหารเป็นคนละเรื่องกัน”
เรามักได้ยินประโยคทำนองนี้ในบทสนทนาที่ว่าด้วยความก้าวหน้าทางอาชีพ เพราะบางคนอาจทำงานๆ หนึ่งได้ดีมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพร้อมสำหรับการเป็นผู้นำที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบใหม่ๆ หรือเจอความท้าทายบางเรื่องที่ขัดกับความเป็นตัวเอง บางคนไม่ได้เป็นคนทะเยอทยานอยากจะออกไปแตะขอบฟ้าคว้าความสำเร็จตลอดเวลา แต่การนำคนอื่นๆ ด้วยพลังงานอันน้อยนิดก็อาจทำให้ทีมเฉื่อยลงไปได้เหมือนกัน หรือบางคนอาจไม่ชอบการเจอคนเยอะๆ ไม่ถนัดคุยกับคนมากหน้าหลายตา แต่เมื่อเลื่อนตำแหน่งมาเป็นหัวหน้า แน่นอนว่าเราเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องประสานงานกับผู้คนจากหลากหลายฝ่าย เช่นเดียวกับบทความ Promotions Aren’t Just About Your Skills – They’re About Your Relationships ที่เล่าถึงการเติบโตในหน้าที่การงานว่าไม่ได้เกี่ยวกับความเชี่ยวชาญในตัวงานเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับทักษะด้านความสัมพันธ์ด้วย
แต่ถ้าใครกำลังกังวลเรื่องนี้อยู่ เราอยากจะบอกว่าอย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะจริงๆ แล้วทักษะและบุคลิกภาพบางอย่างของเรายังสามารถปรับเปลี่ยนได้ แม้เราจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้วก็ตาม
ในปี 2021 หลี่ เหวินดง (Li Wendong) รองศาสตราจารย์ภาควิชาการจัดการแห่ง The Chinese University of Hong Kong (CUHK) Business School ได้ร่วมมือกับกลุ่มนักวิชาการทำการวิจัยในหัวข้อ Can Becoming a Leader Change Your Personality? An Investigation With Two Longitudinal Studies From a Role-Based Perspective เพื่อศึกษาว่าบุคลิกภาพหรือนิสัยใจคอของคนเราสามารถเปลี่ยนไปตามบทบาทหน้าที่ในการทำงานได้หรือเปล่า? โดยเป็นการศึกษาระยะยาวในกลุ่มคนที่ได้เลื่อนตำแหน่ง เทียบกับกลุ่มคนที่ยังทำงานตำแหน่งเดิม
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มคนที่ได้เลื่อนตำแหน่งไปสู่บทบาทผู้นำนั้น มีบุคลิกภาพด้าน conscientiousness(ความมีระเบียบวินัย) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คือมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคนที่พึ่งพาได้ มีความรับผิดชอบ มีวินัยในตัวเอง ทะเยอทยานและมีเป้าหมายที่อยากจะไปสู่ความสำเร็จ แต่ด้าน emotional stability(ความมั่นคงทางอารมณ์) คือสามารถจัดการกับอารมณ์และความตึงเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า บางทีเรื่องบุคลิกภาพและทักษะต่างๆ อาจเปลี่ยนไปเองตามธรรมชาติ เมื่อเราก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ หรือมีความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น แต่บางเรื่องอย่างความมั่นคงทางอารมณ์นั้นยังต้องอาศัยการฝึกฝนด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะใช้เวลามากกว่าคนอื่นๆ ถ้าทักษะเหล่านั้นไม่ได้ติดตัวเรามาตั้งแต่วัยเยาว์
แต่การเปลี่ยนตัวเอง ไม่ได้แค่เรื่องทักษะและบุคลิกภาพเท่านั้น
เพราะยังมีเรื่องตัวตนและความต้องการในชีวิตเราอีกด้วย โดยในบทความ How to Figure Out What You Want Next in Your Career เล่าถึง 3 สิ่งที่ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนจะคว้าโอกาสใหม่ๆ หรือตัดสินใจเปลี่ยนงาน ซึ่งได้แก่
- จุดมุ่งหมาย (Purpose): งานที่เราทำสอดคล้องกับสิ่งที่เชื่อและจุดมุ่งหมายในชีวิตหรือเปล่า? ถ้าคิดแบบเร็วๆ อาจจะนึกถึงวันอันแสนเหนื่อยล้าจนอยากทิ้งตัวลงนอน แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนให้เรายังมีพลัง ภูมิใจ หรือเป็นแรงผลักให้ลุกขึ้นมาทำงานในวันต่อไปคืออะไร เพราะนั่นอาจเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของเราก็เป็นได้ (ซึ่งจุดมุ่งหมายนี้อาจจะไม่ได้มีแค่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว) แต่หากงานตรงหน้าไม่ได้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายหรือตอบไม่ได้ว่าทุ่มเทขนาดนี้ไปเพื่ออะไร อาจจะทำให้เรารู้สึกหลงทางได้ง่ายและอาการหมดไฟคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะการก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ย่อมต้องใช้พลังและความทุ่มเทต่องานๆ นี้เพิ่มขึ้นไปด้วย
- ผู้คน (People): ลองนึกว่าเราอยากร่วมงานกับกลุ่มคนแบบไหน กลุ่มคนเหล่านั้นให้คุณค่าในสิ่งเดียวกันกับเราไหม เพราะถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ลักษณะนิสัย หรือสไตล์การทำงาน ยังนับเป็นเรื่องที่เราพอจะปรับตัวเข้าหากันได้ แต่ถ้ามีทัศนคติหรือสิ่งที่ให้คุณค่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเดินต่อไปด้วยกันได้
- จังหวะการก้าวเดินบนเส้นทางอาชีพ (Pace): บางอาจจะอยากก้าวไปข้างหน้าไวๆ ขณะที่อีกคนอาจจะอยากก้าวช้าๆ แบบวิ่งมาราธอน บ้างก็อยากพักชาร์จพลังเก็บความรู้และประสบการณ์อยู่ที่เดิมไปก่อน ทว่าโอกาสอาจไม่ได้มาในจังหวะที่เราต้องการเสมอไป เช่น ตอนที่อยากวิ่งช้าๆ แต่ดันอยู่ในบริษัทแข่งขันสูงผลักดันให้เราโตไว เราอาจจะต้องชั่งใจว่าจะปรับความเร็วของตัวเอง หรือเปลี่ยนไปอยู่ในที่ที่วิ่งได้อย่างสบายใจมากกว่า ซึ่งถ้าถามว่าเราสามารถปรับเปลี่ยน 3 ข้อนี้ให้สอดคล้องกับงานที่ทำอยู่ได้ไหม คงเป็นเรื่องที่คงไม่มีใครตอบได้นอกจากตัวเราเอง
หรือบางทีคำถามที่สำคัญของเรื่องนี้อาจไม่ใช่ ‘เปลี่ยนตัวเองหรือเปลี่ยนงานดี?’ แต่อาจเป็น ‘เราจะเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ไปเพื่ออะไร’ เพราะถ้าเรามีคำตอบนี้ให้ตัวเองได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเปลี่ยนตัวเองให้เหมาะกับตำแหน่งใหม่ หรือเปลี่ยนงานที่ต้องใช้พลังในการยื่นใบสมัครอีกครั้ง ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรงอีกต่อไป
อ้างอิงจาก
Hbr.org 01 , 02