‘งานด่วน’ คือสิ่งที่เรามีโอกาสพบเจอได้ในชีวิตการทำงาน อาจเพราะปัญหาหรือสถานการณ์ไม่คาดฝันที่บีบคั้นให้เราต้องทำเสร็จทันเดดไลน์แสนกระชั้นชิด แต่จะเป็นอย่างไรถ้า ‘ความเร่งด่วน’ เหล่านี้อยู่กับเราตลอดเวลา?
หลอนเสียงแจ้งเตือนไลน์ ติดนิสัยเช็คอีเมลในวันหยุด ต้องแบกโน้ตบุ๊กไปเที่ยว ไม่กล้าปิดเสียงโทรศัพท์เวลานอน เหล่านี้คือตัวอย่างของความเร่งรีบที่ค่อยๆ ผลักให้งานกลืนกินชีวิตส่วนตัวของเราไปทีละน้อย.. โดยบรรยากาศความเร่งรีบที่เกิดขึ้นในองค์กรตลอดเวลา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘Urgency Culture’
วัฒนธรรมแห่งความรีบเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ซึ่งบางบริษัทคาดหวังให้พนักงานพร้อมทำงานตลอดเวลา ช่วงวิกฤตที่ต้องรีบผลักดันให้บริษัทอยู่รอด หรือแม้แต่การแข่งขันที่อยากจะเติบโตไวให้ทันคู่แข่งรอบข้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุไหน ความเร่งรีบที่ ‘ไม่จำเป็น’ ต่างก็ส่งผลเสียทั้งต่อคนทำงานและองค์กรในระยะยาว
เมื่อทุกงานคืองานรีบ
หากลองนึกภาพที่เราเพิ่งส่งงานไฟลุกไป แต่ยังไม่ทันได้ถอนหายใจอย่างโล่งอก ก็ต้องเริ่มทำงานใหม่พร้อมเดดไลน์ชวนใจเต้นอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง.. หรือภาพการพักผ่อนในวันหยุดที่เต็มไปด้วยอีเมล แจ้งเตือนไลน์ หรือสายโทรศัพท์คุยเรื่องงานที่ไม่ได้ส่งเร็วๆ นี้ แต่จะไม่กดรับสายก็รู้สึกเกรงใจ
แน่นอนว่าภาพการทำงานแบบนี้ต่างกระตุ้นให้เรารู้สึก ‘วิตกกังวล’ อยู่บ่อยๆ แทนที่จะได้ทำงานอันมีความหมาย กลับกลายเป็นการทำงานไฟลุกตลอดเวลา ขณะที่ไฟในใจกำลังมอดลงเรื่อยๆ จนเปิดประตูสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน ลุกลามไปถึงปัญหาด้านสุขภาพกายและใจ ซึ่งในรายงาน ‘A Theory of Workplace Anxiety’ โดย Bonnie Hayden Cheng และ Julie McCarthy กล่าวถึงงานวิจัยที่พบว่า 40% ของชาวอเมริกันรู้สึกวิตกกังวลระหว่างการทำงาน และ 72% บอกว่าความรู้สึกนี้ส่งผลต่อการทำงาน และชีวิตส่วนตัวของพวกเขา แม้เหตุผลของความกังวลจะมาจากหลายปัจจัย แต่ความเร่งรีบนับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของความกังวลดังกล่าว
นอกจากผลลัพธ์ทางลบที่เกิดกับคนทำงานแล้ว ความรู้สึกเร่งรีบยังทำให้เราหันไปโฟกัสกับ ‘การทำงานให้เสร็จ’ จนไม่มีช่องว่างให้เราได้ ‘หยุดคิด’ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือแม้แต่ตรวจสอบความถูกต้อง จนสุดท้ายแล้วอาจจะกลายเป็นความผิดพลาดที่ต้องกลับมาแก้ไขในภายหลัง แถมยังสูญเสียทั้งเวลา เงิน ความเชื่อมั่น และต้นทุนด้านอื่นๆ อีกมากมาย
สร้างขอบเขตและลดความรีบที่ไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม Dermot Crowley ผู้เขียน Urgent! กล่าวว่า เมื่อเราเจอบรรยากาศแห่งความเร่งรีบตลอดเวลา ไม่ได้หมายความว่าต้องเปลี่ยนองค์กรหรือวิธีการทำงานไปสู่ความสโลว์ไลฟ์ เพราะบางครั้งความเร่งรีบก็ยังจำเป็นต่อการทำงานของเราอยู่ ดังนั้นทางออกที่ยั่งยืนมากกว่าจึงเป็นการ ‘ลด’ ความรีบที่ ‘ไม่จำเป็น’ เช่น เปลี่ยนจากการส่งอีเมลนอกเวลางานมาเป็นการตั้งค่าให้ส่งในเวลางานของวัดถัดไป หรือทดบางเรื่องที่ไม่เร่งด่วนไว้พูดคุยในการประชุมครั้งถัดไป แทนการนัดประชุมด่วนบ่อยๆ อีกวิธีหนึ่งคือ การจัดลำดับความสำคัญโดยแยกแยะระหว่าง ‘เรื่องสำคัญที่รอได้’ กับ ‘เรื่องสำคัญที่เร่งด่วน’ เพราะบางครั้ง ความสำคัญของงานอาจไม่ได้หมายถึงความเร่งด่วนของงานนั้นๆ เสมอไป
ส่วนในมุมของคนทำงาน สิ่งสำคัญคือการสร้างและสื่อสารขอบเขต (boundary) ด้านเวลาของเรา อย่างการอธิบายว่าไม่สามารถทำได้ในตอนนี้เพราะอยู่ในช่วงวันหยุดหรืออยู่นอกเวลางาน เพราะการตอบกลับและพร้อมทำงานด่วนทุกๆ ครั้ง อาจทำให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าเราเต็มใจและพร้อมทำงานด่วนตลอดเวลาจนปัญหาเหล่านี้จะไม่ได้รับการแก้ไข และในระยะยาวอาจหวนกลับมาส่งผลกระทบทั้งต่อเราและองค์กรได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เพราะสุดท้ายแล้ว การก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว อาจไม่ใช่ก้าวที่มั่นคงและไม่ได้หมายถึงความสำเร็จเสมอไป..
อ้างอิงจาก