ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รศ.นพ. กำจร ตติยกวี บอกว่าเฮ้ยแกอยากจะปรับระบบเอ็นท์กลับมาว่ะ เพราะว่าไม่อยากให้คนต้องไปสอบวิ่งรอกกันหลายๆ ที่ มันแพงอะ แล้วก็ให้เด็กเรียนจนจบม.หก จริงๆ ด้วย ไม่ต้องไปวิ่งเต้นกัน เลยบอกว่า เออ จะเปลี่ยนเป็นใช้ระบบรับตรงกลาง 2 ครั้ง สอบแล้วเอาคะแนนไปยื่น 4 อันดับ ก็คือคล้ายๆ เอนท์อย่างเดิมนั่นแหละ แต่จะสอบคล้ายๆ ระบบใหม่คือสามัญ 9 วิชา GAT PAT และบอกว่าจะไม่ให้มหาลัยรับตรงเองด้วย โอ้วก๊อดซ์ ไม่รู้ดีหรือไม่ดีอะ เอาจริงๆ
ทีนี้ The MATTER ก็เลยไปถามบุคคลต่างๆ ที่อยู่ร่วมสมรภูมิเอ็นทรานซ์ระบบเก่า (ตอนนู้น) ว่ามีประสบการณ์แบบไหนกันบ้าง ใครมีประสบการณ์อะไรมันๆ ก็มาร่วมแชร์ให้น้องสมัยนี้ได้อ่านกันนะ
“ตอนนั้นสอบโควต้าภาคเหนือเข้า มช. ครับ
ตอนที่ตื่นเต้นที่สุดคือการประกาศรายชื่อ เป็นปีแรกๆ ที่ประกาศด้วยวิธีทันสมัยมากคือประกาศทางทีวี โดยจะมีรายชื่อค่อยๆ เลื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมกับมีพิธีกรมาอ่าน ก็ต้องนั่งดูนั่งลุ้นตั้งแต่หัวค่ำว่ามีชื่อเราไหม ถ้ามีชื่อ ก็ต้องรีบกวาดตาดูให้เร็วว่าติดคณะอะไร มันจะขึ้นเป็นรหัส เพราะถ้าพลาดแล้วก็พลาดเลย เป็นการลุ้นครั้งใหญ่ในชีวิต ต้องนั่งตาไม่กระพริบเป็นชั่วโมงๆ พอรู้ผลแล้วอยู่ติดบ้านไม่ได้ ต้องขับรถออกมาในเมือง ตอนนั้นอยู่ลำปาง ที่หอนาฬิกากลางเมืองนี่ เพื่อนๆ ออกมากันเต็มโดยไม่ได้นัดกัน รู้สึกโคตรอบอุ่น ทั้งที่อากาศหนาวจัด เพื่อนที่ได้ก็ดีใจ ที่ไม่ได้ก็ออกมาให้เพื่อนปลอบ ตอนนั้นรู้สึกอยากเอ็นท์ฯ ใหม่ แต่ต้องสละสิทธิ์โควต้า เลยไม่ได้เอ็นท์ฯ มาสอบอีกทีอีกปีนึง สอบติด แต่ก็ตัดสินใจเรียนที่เดิมให้จบๆ ไปครับ”
โตมร ศุขปรีชา
“การเอ็นท์เหมือนคำพิพากษาชีวิตค่ะ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าชีวิตมีทางเลือกอะไรบ้างถ้าไม่เข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ ไม่รู้จักอาชีพอะไรเลยนอกจาก ครู หมอ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก รู้จักอาชีพแค่นี้ และถูกสอนมาว่ามหาลัยเอกชนแพงและคุณภาพสู้มหาลัยรัฐไม่ได้ ชีวิต ม. ปลาย มีความนอยด์ ไม่กล้าดูข่าวสอบเอนทรานซ์ เหมือนจะเป็นลม แล้วเครียดตลอดเวลาว่า ถ้าเอ็นท์ ไม่ติดจะเอายังไงกับชีวิต จะอธิบายกับพ่อแม่ยังไง กลัวมาก นอยด์ขั้นสุดมาก
การรอผลเอ็นทรานซ์สร้างความตื่นเต้นเท่ากับการลุ้นผลตรวจฉี่ว่าท้องหรือไม่ท้อง”
คำ ผกา
“เอ็นทรานซ์คือจุดสูงสุดของชีวิตวัยรุ่น เหมือนทุกเม็ดข้าวที่เรากินตั้งแต่เกิด ทุกหยาดน้ำนมแม่ ทุกหยาดเหงื่อของพ่อก็ปูทางมาเพื่อสิ่งนี้ มันคือความคาดหวังใหญ่หลวงของวงศ์ตระกูล ที่พ่อแม่จะเอาไปอวดญาติได้ในวันเชงเม้งถ้าเราทำสำเร็จ
มันคือความกดดันที่สุดตั้งแต่เกิดมา เหมือนศึกพิสูจน์คุณค่าและความกตัญญูอะไรแบบนั้น แต่ตอนนั้นมีสอบเทียบ ก็เลยสอบตั้งแต่ ม.สี่ เลือกคณะสะเปะสปะไปหมด สัตวะ ถาปัด วิศวะ สอบแทบทุกวิชา พอ ม.ห้าก็สอบอีกหน ก็เครียดมาก กดดันมาก สิ่งที่ต่างจากระบบใหม่น่าจะเป็นการที่เอนทรานซ์มันชี้ชะตากันแค่วันสอบ ไม่มีเก็บคะแนนหรือสะสมเกรดอะไรมาก่อน
ทุกคนฟิตซ้อมมาเต็มที่เพื่อมาลงสนามวันเดียวกัน คือโอลิมปิกว่ากดดันแล้วยังสี่ปีครั้ง แต่นี่ 16-17 ปีมีครั้งเดียว มึงพลาดไม่ได้ มึงตื่นสายเข้าห้องสอบช้านี่ต้องเอามีดคว้านท้องตัวเองเลย แต่ทั้งหมดที่พูดมาก็คือความรู้สึกตอนที่เราจะเอ็นท์ฯ ที่จริงแล้วการสอบเข้าได้หรือไม่ได้ก็ไม่ใช่ตัวชี้ชะตาชีวิตเราทั้งหมด แต่ระบบ ความคาดหวัง ค่านิยมต่างๆ ของสังคมมันกดลงบนไหล่เด็กๆ มัธยมแบบเราๆ ให้รู้สึกแบบนั้น”
สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม)
“เราเองอยู่ในระบบสอบเอ็นท์เหมือนกัน ตอนนั้นก็เครียดพอสมควร (เป็นระบบที่สอบสองครั้งเอาคะแนนครั้งดีสุด) จำได้ว่าตื่นมาแล้วจำตารางสอบผิด เลยลืมไปสอบฟิสิกส์ครั้งแรก ร้องไห้แบบโอ้วเหมือนโลกจะแตก แหลกสลายลงไปกับตา เหลือเพียงใจที่ว่างเปล่า กับชั้นคนเดียวเท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็ผ่านมาได้ด้วยดีเพราะสอบรอบสองแล้วคะแนนโอเค
ก็เปรียบเทียบตัวเองกับน้องสาวที่อายุห่างกัน 11 ปีนะ เห็นว่าน้องสาวนี่ต้องวิ่งรอกสอบขึ้นเหนือลงใต้เลย พ่อแม่ก็ต้องไปเฝ้าด้วย ก็มีค่าใช้จ่ายสูง ตอนที่เขาบอกว่าจะปรับมาเป็นแบบนี้ ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหาพวกนี้ เขาบอกว่าอยากให้เด็กเครียดน้อยลง เพราะมันสอบกระจายๆ ซึ่งก็ไม่เห็นว่าน้องสาวจะเครียดน้อยไปกว่ารุ่นเราเลยอะ กลับเป็นความเครียดหน่วงๆ ไปทั้งปีซะอีก
เครียดครั้งเดียวจบก็ดีเหมือนกันนะ อันนี้ส่วนตัว”
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
“ช่วงเอ็นท์สับสนกับชีวิตอยู่ไม่รู้จะเลือกคณะอะไรดี เลยกะว่าทำให้ดีที่สุดไปก่อน คะแนนถึงคณะไหนก็เอาอันนั้นแหละ ตอนนั้นสอบสองที ครั้งแรกเครียดอยู่ จัดตารางแต่ละวันเป๊ะๆ อ่านหนังสือทำโจทย์ เข้าคอร์สตะลุยเอ็นท์ฯ มีสอบพรีเทสที่ไหนก็ไปลอง เน้นอ่านเลขกับฟิสิกส์ที่ตัวเองไม่ถนัด แล้วไอ้สองวิชานี้ก็ออกมาคะแนนน้อยสุดอยู่ คะแนนครั้งแรกออกมาเทียบดูแล้วน่าจะติดหลายคณะ รอบสองเลยเบาใจ ฟิตอ่านแต่เลขกับฟิสิกส์ไปเลยเน้นๆ กะว่าคะแนนขึ้นชัวร์ แต่สุดท้ายได้น้อยกว่าเดิมอีก เลยรู้ว่าอย่าไปเรียนมันเลยคณะที่ต้องใช้วิชาพวกนี้ วันที่ต้องเลือกคณะยังคงสับสน เขาให้ตัดเลขรหัสคณะมาแปะ 4 อันดับ คิดอยู่สองวันคิดไม่ออก สุดท้ายพ่อบอก “มาเดี๋ยวจับฉลากให้” เลยได้เรียนเศรษฐศาสตร์ ขอบคุณพ่อถึงทุกวันนี้
เอ็นทรานซ์สอนให้รู้ว่าอะไรไม่ใช่ฝืนไปก็เท่านั้น ที่เหลือปล่อยให้เป็นเรื่องดวงดาวไปค่ะ “
ภัทชา ด้วงกลัด
“ตอนเอ็นทรานท์แทบไม่กลัวเลย (ไม่ได้อวดเก่งนะ.. เออ.. จะอวดนั้นล่ะ)
เพราะคะแนน GPA เกรดเฉลี่ยสูงมาก อันดับ 2 ของโรงเรียน ทำเกรดได้ 3.85 ได้ทุกเทอมช่วง ม.ปลาย ตอนสอบเอ็นฯ ก็ทำคะแนนได้ดี
ลองไปคำนวนผลสอบ มีโอกาสติด 80% ทุกเว็บ
เลยเลือก มธ.ที่เดียว (ไม่ลองคอร์สติวด้วย) ตอนนั้นคิดว่า “ข้าแน่สุดๆ”
แต่จบมาทำงานจริง ล้มเหลวเชี่ยๆ ทำงานไม่ได้เรื่อง เฟลไปเลย เราดันเป็นคนที่ถูกบ่มเพาะด้วยระบบการศึกษาที่เป็นภาพมายา ชีวิตทำงานจริงไม่เหมือนเรียนหนังสือเลย ไม่มีใครมานั่งให้เกรดมึง มึงล้มแล้วไม่มีสอบซ่อมให้ การเรียนที่ผ่านมาเหมือนนั่งเล่นขายของเลย
ใครเรียนไม่เก่ง ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่นๆ นะ โลกแห่งการทำงานมีระบบที่ซับซ้อนกว่าการศึกษานัก พวกเรียนเก่งก็อย่าลำพองใจ คนอื่นที่ขวนขวายมากกว่าจะคว้าชิ้นปลามันไปหมด
การเรียนไม่ได้กำหนดความสำเร็จของชีวิตเพียงอย่างเดียว”
ธเนศ รัตนกุล
“นี่ตอนจบเอ็นท์ปีสุดท้าย ไม่ได้ไปสอบเพราะจดหมายมาไม่ถึงบ้าน (และเป็นคนเสร่อ) รู้อีกที อ้าวสอบแล้วอ่อ งี้ พอดีมีแผนบางอย่าง เลยลองสอบปีต่อมาเป็นแอดมิชชั่นรุ่นแรก ปัญหาเกิดทันทีเพราะว่าเกรดมีผลเยอะขึ้นมาก และนี่เกรดมาประมาณ 2.x เหมือนทุกคนสตาร์ทมา 30% (คือพวกมึง 4.0กันเยอะมาก นี่เป็นทีมเด็กเกรดห่วยเพราะเบื่อนะเรียน ทำชีท ขี้เกียจก็ยอมรับ) ส่วนเราติดลบไปบานเลย สรุปสอบออกมาได้คะแนนสูงใช้ได้เลยเกลี่ยติด ม.เกษตร ส่วนตัวคิดว่าเอ็นทรานซ์มันก็ดีมั้งเหมือนให้โอกาสใหม่ บางคนมันเรียนได้เกรดห่วยคือมันจะได้มีโอกาสมาฟิต ลงสนามเดียวกัน แต่อีกทีการสอบมันก็ไม่ใช่ทุกอย่างอยู่ดีเนอะ”
วณัฐย์ พุฒนาค
“เลือกคณะคะแนนต่ำไว้สามอันดับแรก…เสือกสอบได้คะแนนสูง
พอจะติดคณะที่เลือกขำๆ ไว้สองอันดับหลังซะงั้น แล้วสุดท้ายก็ได้โควต้า”
ปรีดิ์ปณต นัยนะแพทย์
“คือเรา…ไม่ได้เอ็นท์…
บนกับพระไว้ด้วยนะว่าขอให้ติด แต่ไม่ได้เอ็นท์
แต่จำได้ว่ามันเหมือนเป็นการสอบที่ใหญ่มาก ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน สอบแค่สองครั้งก็รู้ผล ยอมรับตรงๆ ว่างงๆ นิดหน่อยตรงที่พอมันเป็น O-Net, A-Net แล้วมันทำให้ชีวิตง่ายขึ้นจริงเหรอ ทำไมไม่ใช้แบบเดิมที่ตรงไปตรงมาอย่างที่เคยมี”
ณัฐชนน มหาอิทธิดล