รับถุงพลาสติกไหมคะ?
จากถุงพลาสติก กลายมาเป็นถุงผ้า กาละมัง ถังซักผ้า กระเป๋าสัตว์เลี้ยง ไปจนถึงรถมอเตอร์ไซด์ สารพัดสิ่งของที่ถูกงัดออกมาใช้เป็นภาชนะใส่ของแทนที่ถุงพลาสติก หลังจากเปิดปีมาด้วยแคมเปญบอกลาถุงหิ้วพลาสติกตามห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ ที่ต้องการลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
แต่การลดใช้ถุงพลาสติก ช่วยลดโลกร้อนได้จริงไหม? หรือจริงๆ แล้ว นโยบายนี้เป็นการผลักภาระไปให้ผู้บริโภคเหมือนที่ใครหลายคนว่ากันแน่?
The MATTER ขอชวนทุกคนมาหาคำตอบ ร่วมกับ เปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจ ‘ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ เพื่อช่วยกันหาคำตอบ และทำความเข้าใจเรื่องของ Single-use plastic ในสังคมไทย
ช่วยเล่าที่มาของเพจ ‘ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ ให้ฟังหน่อย
ต้องเล่าก่อนว่า ผมอยู่ในธุรกิจรับซื้อของเก่ามาตั้งแต่เกิด พ่อแม่ทำธุรกิจรับซื้อของเก่า ก็คุ้นชินอยู่แล้ว แต่จริงๆ ไม่ชอบนะ ผมเป็นภูมิแพ้ด้วย แพ้ฝุ่น เป็นไซนัส เลยพยายามจะหนี พอเรียนจบวิศวะฯ คอม แล้วก็ทำงานที่อื่น แต่เห็นที่บ้านก็ลำบาก ผมก็เลยกลับมาช่วย
พอต้องกลับมาทำ ก็พยายามมองหาข้อดีของธุรกิจนี้ แล้วก็มองว่าธุรกิจรีไซเคิลเป็นธุรกิจที่ช่วยโลกโดยธรรมชาติ คุณหากำไรได้จากการช่วยโลก เลยรู้สึกดี แล้วก็กลับมาศึกษาแบบลึกๆ แต่ผมรู้สึกว่า คนอื่นเขาเข้าใจเหมือนกับเรา เรื่องขยะเป็นเรื่องเบสิกธุรกิจรีไซเคิล ก็เป็นตัวตอบโจทย์ตรงนี้ ผมเลยอยากให้ทุกคนที่ผลิตขยะ เข้าใจการแยกขยะในเชิงรีไซเคิลด้วย
ช่วงนี้ กระแสคำว่า Single-use plastic กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมาก มันคืออะไรกันแน่?
ในนิยามของผม Single-use plastic คือของอะไรก็ได้ที่หมดอายุการใช้งานอย่างรวดเร็ว มีประโยชน์แค่แปปเดียว เช่น ถุงพลาสติก โดยเฉลี่ยแล้วทั่วโลก เราใช้เวลากับถุงพลาสติกแค่ 12 นาที ก็คือมันมีประโยชน์แค่ 12 นาทีเท่านั้น แต่เราต้องไปดูว่า กว่าที่มันจะเป็นพลาสติก และปลายทางกว่าจะย่อยสลาย มันยืนยาวมากเลยนะ แต่ช่วงเวลาที่เราใช้งานกลับสั้นนิดเดียว เพราะฉะนั้น ของที่ใช้ได้ในช่วงสั้นๆ แค่หลักนาที แล้วก็ทิ้งไปอย่างรวดเร็วเนี่ยแหละ ที่เรียกว่า Single-use plastic
แล้วทำไมมันถึงใช้งานได้แค่หลักนาที ทั้งที่อยู่ได้เป็นร้อยปี?
เพราะราคาถูก ต้นทุนการใช้งานมันถูกมากๆ แล้วก็ถูกเอามาใช้งานเรื่อยๆ เขาก็ไม่ได้สนใจว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร เลยกลายเป็น Single-use กันมาจนถึงทุกวันนี้
อาจจะเทียบได้ว่า มีขั้นที่ 1 2 3 แล้วขั้นที่ 1 กับ 2 ของพลาสติก มันสะดวกกับเรา แต่พอถึงขั้นที่ 3 มันก็พ้นเราไปแล้ว
พลาสติกมีจุดเด่นที่กลายเป็นจุดด้อยอีกอย่าง คือ ความเบา และมีความหลากหลายในตัวเอง ทำให้เวลาใช้แล้ว คุณลักษณะของมันคือ หายได้ง่าย หลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อมง่าย และเวลาการจัดเก็บ หรือแยกชนิดค่อนข้างแยกชนิดกันยาก
ต้องมองว่า พลาสติก 1 เกรด คือวัสดุ 1 อย่างเลย เหมือนกับผลไม้ เป็นผลไม้เหมือนกันแต่ชนิดไม่เหมือนกัน น้ำส้มปั่นกับน้ำส้มได้ แต่ปั่นกับแตงโมไม่ได้ แต่ความยากคือ พลาสติกมันหน้าตาเหมือนกันไง เป็นกลมๆ เหมือนกัน ทำให้มันแยกเกรดยาก พอแยกเกรดไม่ได้ปุ๊บ ก็เอาไปใช้ต่อไม่ได้ หรือเอากลับมารีไซเคิลได้ยากขึ้น เลยเป็นปัญหา
อย่างแก้วน้ำพลาสติกในท้องตลาดปัจจุบัน มีอยู่ 6 เกรดที่แตกต่างกัน ซึ่งเราไม่เคยสังเกต ทำให้กลายเป็น Single-use โดยสมบูรณ์แบบ ใช้ครั้งเดียวแล้วหมดประโยชน์แล้วก็เอาไปทำอะไรต่อไม่ได้เลย
สถานการณ์ของการใช้ Single-use plastic ในไทยตอนนี้ เป็นอย่างไรบ้าง?
เราใช้ Single-use plastic กันเยอะมาก โดยเฉพาะพวกถุงพลาสติก จริงๆ ต้องบอกว่าทั้งโลกก็ใช้กันอยู่ แต่ประเทศเรายังไม่มีมาตรการใดๆ มารองรับ ถ้าเป็นอเมริกา หรือแถบยุโรป เขามีมาตรการอยู่แล้ว ไม่เก็บภาษี ก็เก็บค่าถุง หรือไม่ก็จำกัดความหนาของถุง มีหลายวิธี แต่คนไทยคือฟรีสไตล์มาตั้งนานแล้ว ทำให้ทุกอย่างเต็มไปด้วย Single-use plastic หมด แก้วก็มีถุง บางทีก็ใส่ถุงซ้อนสองถุง เลยทำให้ขยะที่เกิดจาก Single-use plastic มีเยอะมาก
ถ้ารวมพวกพลาสติกหุ้มสินค้าด้วยจะยิ่งเยอะ เพราะไม่มีสินค้าไหนที่ไม่มีพลาสติกหุ้ม ข้อดีของพลาสติกคือ สามารถเลือกเกรดได้ อันนี้กันแตก อันนี้กันอากาศ อันนี้มีความเหนียว อันนี้มีความกรอบ มันเลือกได้ ทำให้มันหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นพลาสติกจะอยู่ในทุกๆ อย่างอยู่แล้ว ในสินค้าทุกอย่าง แล้วก็จำเป็นด้วยเพราะถ้าเราไปกินขนมแล้ว ไม่มีชั้นที่กันอากาศ ก็จะเหม็นหืน
แล้วถุงขนมเรียกว่าเป็น Single-use plastic ด้วยไหม?
ถ้าตามนิยามของผม ถือว่าไม่ เพราะว่าตั้งแต่กระบวนการผลิต มันใช้ประโยชน์ได้นานกว่าจะกลายไปเป็นขยะ คือใช้ประโยชน์ในการรักษาความสดใหม่ของอาหาร อาจจะเป็นปี หรือ 2 ปี ก็คืออายุของการใช้ประโยชน์ของมันถึง 2 ปี แต่ถ้าเราเทียบกับถุงพลาสติก หรือหลอด ตอนเราผลิตขึ้นมา ก็ยังนิ่งๆ ไม่มีประโยชน์อะไร พอเอามาใช้ปุ๊ป แล้วก็ทิ้งอย่างรวดเร็ว อันนี้ถือว่าเป็น Single-use plastic ขนานแท้
เราสามารถทำให้ Single-use plastic เป็นของที่ใช้ได้นานขึ้นหรือเปล่า?
Single-use plastic เกิดมาเพื่อใช้แปปเดียวอยู่แล้ว แต่การกำจัดหรือนำไปใช้ประโยชน์ต่อสำคัญกว่า เช่น เราแจกถุงแล้วจะให้ใช้ถุงพลาสติกนั้นไปตลอดชีวิต มันเป็นไปไม่ได้ เพราะถุงบาง ใช้ปุ๊บ เดี๋ยวก็ขาดแล้ว เพราะฉะนั้น อยู่ที่ว่าพอมันหมดประโยชน์แล้ว เราจะทำอย่างไรต่อ จะเอาไปรีไซเคิล หรือจะเอาไปทำพลังงาน อันนี้ก็ต้องไปคิดต่อ แล้วก็อยู่ที่การรวบรวมและคัดแยกต่อหลังจากนั้นด้วย ว่าเราทำได้หรือเปล่า ถ้ารวบรวมและคัดแยกได้ มันมีประโยชน์แน่นอน
ผลกระทบจากการใช้ Single-use plastic มีอะไรบ้าง?
ผลกระทบหลักๆ เลยก็คือ เป็นขยะที่ไม่ย่อยสลาย และหลุดไปอยู่ตามที่ต่างๆ ซึ่งปลายทางคือ ทะเล เพราะจุดที่ต่ำที่สุดในโลกก็คือทะเล ไม่ว่าจะขยะจากบนดอย บนภูเขา ก็จะไหลไปสู่ทะเล แล้วพอไปถึงทะเลปุ๊บ มันไม่มีที่ไปแล้ว ก็จะเริ่มกองกันเป็นแพขยะบ้าง แตกตัวเป็นไมโครพลาสติกบ้าง จนส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำไปเรื่อยๆ
ตรงกันข้าม ในแง่เศรษฐกิจ Single-use plastic ไม่ได้ส่งผลเสียอะไร แต่ช่วยส่งเสริมทางเศรษฐกิจด้วยซ้ำ เพราะเราวัดความเติบโตด้านเศรษฐกิจด้วย GDP (Gross domestic product) ยิ่งผลิตเยอะ ก็แปลว่ายิ่งเติบโตได้เยอะ เพราะฉะนั้น Single-use plastic จะตอบโจทย์มาก เพราะยิ่งผลิตของ ผลิตซ้ำมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเติบโต
กลับกัน การแบน Single-use plastic อาจเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้วยซ้ำ สมมติเราไปเซเว่นแล้วลืมเอาถุงมา ต้องซื้อถุงใส่ เราอาจจะรู้สึกว่า งั้นไม่ซื้อดีกว่า พอไม่สะดวก ทำให้คนก็อาจจะบริโภคน้อยลงไปด้วย
ทำไมเราถึงต้องลดการใช้ถุงพลาสติก?
เพราะเราใช้กันเยอะ และถ้าไปดูตัวเลขข้อมูลของบ่อขยะ ถุงพลาสติกจะเป็นอันดับหนึ่งเสมอ เพราะเวลาเราทิ้ง สมมติมีเศษผัก เศษอาหาร ก็ย่อยสลายไป แต่จะเหลือถุงพลาสติกอยู่ เขาเลยมองว่า ถ้าเราลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้ ขยะก็จะเหลือน้อยลงมากๆ เป็นหลักหลายตันต่อวัน ตอนนี้ นโยบายที่ลดถุงพลาสติกแค่ถุงของห้างสรรพสินค้าอย่างเดียว เพราะควบคุมได้ง่าย มีอยู่ไม่กี่เจ้า เขาก็เลยทำแบบนี้ขึ้นมา
การลดใช้ถุงพลาสติกจะช่วยลดปริมาณขยะลงจริงๆ ต้องดูสถิติตัวเลขยืนยันอีกที แต่ตามหลักทฤษฎีแล้ว ถ้าไม่แจก ก็ลดแน่นอนอยู่แล้ว
บางที่เปลี่ยนจากแจกถุงพลาสติก ไปเป็นถุงผ้า หรือถุงกระดาษแทน สรุปแล้ว แบบไหนดีที่สุด?
เหมือนกับว่า แต่ละห้างจะซื้อใจลูกค้าด้วยวิธีไหน บางเจ้าก็ยังแอบแจกแบบลับๆ ด้วยการเปลี่ยนสีถุง บางเจ้าก็ไม่แจก แต่มีถุงขายให้คนที่ยังไม่รู้ซื้อไปใช้ บางเจ้าก็ให้ยืมถุง เลยเป็นกลยุทธ์ของเขาว่าทำอย่างไรให้ลูกค้าไม่ด่า ซึ่งเป็นกลยุทธ์นะครับ ยังไม่มีวิธีไหนที่พิสูจน์ว่าดี
พอไม่มีกฎหมายควบคุม ต่างคนก็ต่างคิดแคมเปญออกมาเอง ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าแบบไหนจะเวิร์คที่สุด แต่ที่แน่ๆ ถ้าเกิดมีคนแตกแถว เช่น ในกลุ่มห้างร้านที่ทำ MOU ร่วมกัน มีคนแตกแถวด้วยการแอบแจกถุงพลาสติก ระหว่างร้านที่แอบแจกกับร้านที่ไม่แอบแจกเลย คนก็ไปร้านที่แอบแจกกันอยู่แล้ว แล้วพอร้านที่ไม่ได้แจก เห็นว่าลูกค้าไปอีกร้านนึง เขาก็จะเริ่มแจกบ้าง เพื่อดึงกลุ่มลูกค้ากลับมา กลายเป็นว่า ทุกร้านแอบแจกกันหมด แล้ว MOU ก็จะล่มได้
ตอนนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นของแคมเปญว่า ถ้าฉันไม่แจก จะทำอย่างไรเพื่อดึงลูกค้าให้อยู่ ซึ่งก็ยังไม่รู้ผลเหมือนกัน สุดท้ายมันอาจจะล่มไปเลย หรือเราอาจจะหาวิธีที่เวิร์คเจอก็ได้
ถ้าในแง่ของผู้ผลิต ต้นทุนในการผลิตถุงกระดาษจะเพิ่มขึ้นเยอะ จะเห็นได้ว่า พวกห้างร้านเขาจะไม่ค่อยแจกถุงกระดาษเพราะว่ามันแพงกว่า ส่วนอีกอย่างที่ห้างก็แจกเหมือนกัน คือ ถุงสปันบอนด์ ซึ่งก้ำกึ่งระหว่าง Single-use กับ Multi-use เพราะไม่ค่อยทน ใช้งานได้ประมาณปีสองปีก็จะเริ่มเปื่อย แตกตัวเป็นละออง ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม แต่ข้อดีก็คือ ราคาถูก
ถุงกระดาษอาจจะราคาแพง แต่ถือว่ารักษ์โลกจริงไหม?
จริงๆ แล้วถุงพลาสติกเกิดขึ้นมาเพื่อแทนที่ถุงกระดาษ เพราะกระดาษทำมาจากต้นไม้ แล้วการผลิตถุงกระดาษก็ใช้พลังงานมากกว่าถุงพลาสติกหลายเท่า แต่ข้อดีของถุงกระดาษ คือ ต่อให้กลายเป็นขยะที่ใช้แล้วทิ้งเลย ก็อยู่ได้ไม่เกินปี โดนแดดโดนฝนซักสองรอบก็ย่อยสลายแล้ว
มันไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์หรอก ถุงกระดาษจะไม่เป็นขยะ เราไม่สามารถไปเฟ้นหาตามบ่อขยะแล้วเจอถุงกระดาษได้หรอก เพราะมันย่อยสลายได้ ส่วนข้อดีของถุงพลาสติกคือ ราคาถูก ใช้พลังงานน้อย และอยู่ได้นาน
แต่ถ้าถามผมว่าแบบไหนดีที่สุด ผมว่า การออกกฎหมายให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าถุง เหมือนอย่างที่หลายๆ ประเทศทำ อันนี้พิสูจน์กันมาแล้วว่าลดปริมาณการใช้ถุงได้ดีที่สุด โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ประกาศออกมาเลยว่า ถุงนี้เป็นสินค้าอย่างหนึ่ง ถ้าคุณจะซื้อก็คิดเงินไปด้วย เอาบาร์โค้ดยิงไปด้วย แล้วคนก็จะมองว่า ฉันไม่เสียเงินหรอก อันนี้น่าจะเวิร์คสุดในทางปฏิบัติ แต่ที่ไทยเป็นแบบลองทำแคมเปญของใครของมัน
กับอีกแบบนึงที่ชอบคือ การให้เช่าถุง คือ ถ้าไปซื้อถุงรอบแรก ซึ่งจะเป็นถุงหนาๆ ถ้าใช้ไปเรื่อยๆ แล้วมันขาด ก็เอามาเปลี่ยน นี่คือวิธีการแก้ปัญหาแบบไม่ให้มันกลายเป็นขยะ คือต้องซื้อถุงนะ แต่เอามาเปลี่ยนได้
มีคนบอกว่า ถ้าไม่มีถุงพลาสติกแล้วจะเอาอะไรไปใส่ขยะ?
จริงๆ ถุงหิ้วก็ไม่ได้มีขนาดเป็นถุงขยะนะครับ ถังขยะเล็กๆ ตามออฟฟิศ ถูกออกแบบมาให้พอดีกับถุงร้านสะดวกซื้อ ซึ่งถังขยะเล็กๆ แบบนั้นใส่ขวด 2 ใบก็เต็มแล้ว ถังขยะจริงๆ ควรมีขนาด 30 ลิตร เราควรจะทำถุง 30 ลิตร เพื่อเวลาใส่ขยะจะได้คุ้ม แต่พอเป็นถุงเล็กๆ จะกลายเป็นว่า ขยะของบ้านเราจะเป็นขยะแบบถุงเซเว่นอ่ะ มัดรวมถุงทีละนิดๆ มันสิ้นเปลือง
ผมเสนอว่า ถ้าไม่รู้จะเอาถุงอะไรใส่ขยะ ก็ให้ร้านขายถุงขยะไปเลย ขนาดแบบพอดีถัง เหมือนถุงดำเลยก็ได้ ให้เขาถือไปแบบถุงดำเลย แต่เขาต้องซื้อนะ แบบนี้ก็จะครบลูปดี
ตอนนี้ การลดแจกถุงเป็นโครงการตามห้างร้านใหญ่ๆ แต่ในอนาคตจะมีการขยับไปลดการใช้ถุงในตลาดด้วย คิดว่าจะทำได้จริงไหม?
ผมคิดว่า ตลาดน่าจะยากมาก เพราะไม่มีใครตรวจสอบ จนสุดท้ายก็ลดการใช้ถุงไม่ได้ วิธีแก้คือ ควรออกกฎหมายให้ใช้ถุงเกรดเดียวกัน เช่น ถุงแกงให้ใช้เกรดนี้เหมือนกันทุกร้าน พอทุกที่ใช้พลาสติกเกรดเดียวกัน การเอาไปคัดแยกหรือรวบรวมต่อก็ง่ายขึ้น เพราะพลาสติกต้องเป็นเกรดเดียวกันถึงจะรีไซเคิล หรือเอาไปทำประโยชน์อื่นๆ ได้
แล้วราคามันจะสูงไหม? เพราะหลายคนก็อยากใช้วัสดุดีๆ เหมือนกัน แต่เจอปัญหาว่าราคาแพงเกินไป จนต้องเพิ่มต้นทุน
ใช่ ราคาจะสูงขึ้น แล้วถ้าให้ใช้พลาสติกเกรดนี้อย่างเดียว เกรดอื่นๆ ก็ตายหมดเลย ขณะเดียวกันก็มีอีกแนวทางนึงที่บอกว่า ควรใช้ได้ทุกเกรดแหละ แต่คุณต้องเสีย LCA (Life Cycle Assessment) ก็คือ ยืดอายุความรับผิดชอบของผู้ผลิต ปกติความรับผิดชอบของผู้ผลิตคือ หลังจากผู้บริโภคจบ ก็หมดความรับผิดชอบแล้ว ถูกไหม แต่อันนี้คือ ต้องยืดไปถึงช่วงหลังการทิ้งด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ผลิตก็มีหน้าที่รับผิดชอบหลังการทิ้งด้วย สิ่งนี้จะทำให้เขาเลือกวัสดุได้ดีขึ้น แล้วก็ไม่เป็นการกีดกันทางการค้าด้วย
มีหลายคนมองว่า การงดแจกถุงพลาสติก เป็นการผลักภาระไปให้ผู้บริโภค?
การงดแจกถุงพลาสติกเป็นภาระอยู่แล้ว เพราะขยะเป็นภาระให้ตัวของมันเอง ปกติแล้ว ภาระตัวนี้จะถูกผลักไปเรื่อยๆ เหมือนเรามีขยะอยู่ในมือ เราก็ต้องหาที่ทิ้งให้มันใช่ไหม พอเราทิ้งไปแล้ว ขยะก็ไปภาระของอีกสถานที่ เป็นภาระของแม่บ้านที่ต้องเอาขยะไปส่งต่อให้คนเก็บขยะ คนเก็บขยะก็เอาไปไว้ที่บ่อขยะ กลายเป็นภาระต่อที่บ่อขยะ ซึ่งถ้าวันนึงมันหลุดรอด หรือถูกเผาไหม้ไป ก็กลายเป็นภาระต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม การบอกว่า ‘งดการแจกถุงพลาสติก’ มันเป็นเหมือน ความรับผิดชอบเบื้องต้นของผู้บริโภคก่อนที่จะกลายมาเป็นภาระในภายหลัง ถามว่าเป็นภาระไหม เป็นอยู่แล้ว
คำถามคือ เราจะให้มันเป็นภาระตอนนี้ ซึ่งเป็นภาระที่เราจัดการได้ หรือจะรอให้กลายเป็นภาระที่ต้องมารับเคราะห์ในภายหลัง
นอกจากถุงพลาสติกแล้ว มันยังมีถุงอื่นๆ อีก เราจะแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง?
มันเป็นขั้นตอนอย่างนี้ ขั้นแรก ลดการใช้สิ่งที่มีการใช้เยอะเกินไปก่อน เช่น ถุงพลาสติก ลดได้ก็ลด แต่ถ้าอันไหนจำเป็นต้องใช้ ก็ใช้ได้ แล้วดูว่ารีไซเคิลได้ไหม ถ้าได้ก็เอาไปรีไซเคิลก่อน เหลือที่จำเป็นต้องใช้แล้วรีไซเคิลไม่ได้ เช่น ถุงแกง เพราะมันเปื้อนอาหาร ก่อนจะเอาไปทำต่อ ต้องล้างก่อน แต่ถามว่าใครจะมานั่งล้างถุงแกงตลอด เพราะฉะนั้นถ้าลดการใช้ไม่ได้ รีไซเคิลก็ไม่ได้ด้วย ก็ต้องมาหาวิธีต่อว่าเราจะทำอย่างไรต่อดี
จริงๆ ก็มีหลายวิธี เช่น เปลี่ยนชนิดของถุงให้เป็นวัสดุจากธรรมชาติแบบที่ย่อยสลายได้ พอย่อยสลายได้ปุ๊บ เราเอาไปลงบ่อ มันก็จะย่อยสลายได้ หรือเราบอกว่า ถุงย่อยสลายได้ราคามันแพง ถ้าเป็นถุงพลาสติกอื่นๆ เราเอาไปเผาไหม? เหมือนที่ญี่ปุ่นบอกว่า พลาสติกทุกอย่างเราเอาไปเผาเลย ไม่ต้องแยก เสียเวลา
เราต้องจัดระบบ มองเป็นอย่างนี้ก็ได้ ให้ทุกคนพกกล่องได้ไหม ก็ยาก เป็นไปไม่ได้แล้วใครจะมานั่งพกกล่องทุกวัน รีไซเคิลได้ไหม เป็นไปไม่ได้แล้ว จะให้ใครมานั่งล้างทุกวัน โอเค งั้นก็ต้องทิ้งใช่ไหม ทิ้งจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไรให้ดีที่สุด คือถ้าวางแผนอย่างนี้ เห็นปลายทางปุ๊ปเราจะรู้เลยว่าต้องทำอย่างไร
แต่การเผาก็ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ใช่เหรอ?
การเผาทุกชนิดทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่แล้ว เราหายใจก็เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่น่าเป็นห่วงเท่าก๊าซพิษ การเผาที่ดีจะมีอุณหภูมิที่ไม่ทำให้เกิดสารพิษ ซึ่งเวลาเผาก็ต้องมีโรงงานที่ได้มาตรฐานด้วย แล้วค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างสูง เราเสียภาษีตรงนี้เยอะขึ้น
ตอนนี้ เราเสียค่าทิ้งขยะเดือนละ 20 บาท เทียบกับอเมริกา เขาเสียเดือนละประมาณ 500-600 บาท เพราะระบบของเขาคือ ต้องเผาแบบสะอาด เลยคิดราคาเท่านี้ ก็ต้องย้อนกลับมาถามว่า เราจะทำแบบนั้นได้ไหม
คิดว่า การลดใช้ถุงพลาสติก เพียงพอต่อการแก้ปัญหาต่างๆ ไหม?
ไม่พออยู่แล้ว แต่เป็นการเริ่มต้นที่ดี หลายคนบอกว่า เฮ้ย การลดถุงพลาสติกมันยากนะ แต่จริงๆ มันเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดในบรรดาทุกอย่าง บางทีเราซื้อน้ำแค่ขวดเดียว ก็แค่ระหว่างมือถือขวดน้ำ กับใช้นิ้วหิ้วถุง แค่นั้นเอง เพราะงั้น เราเริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุดก่อน ถูกต้องแล้ว แต่ถามว่าแก้ปัญหาได้พอไหม ไม่พออยู่แล้ว แต่ก็ต้องเริ่มจากของง่ายก่อน
พวกเราฟรีสไตล์กันมาตลอด ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับขยะ จ่ายค่าทิ้งก็น้อย ทิ้งที่ไหนก็ได้ และพอเราเริ่มปรับตัว ก็จะมีเรื่องอื่นๆ ตามมาอีก ซึ่งก็ต้องฝากภาครัฐว่า ควรวางให้ดีว่า สเต็ปที่ 2 แล้วสเต็ป 3 ควรจะเป็นอะไรต่อ แต่ไม่ควรเน้นเป็นชิ้นนะ อย่างปีนี้ลดใช้ถุง ปีหน้าลดใช้หลอด ปีต่อไป ลดใช้โฟมดีกว่า แบบนี้ไม่จบไม่สิ้นแน่ เพราะอย่างตอนนี้ พอเราแบนถุงพลาสติก ถุงผ้าสปันบอนด์ก็มาแทนละ แต่ถึงอย่างนั้น การลดใช้ถุงพลาสติกควรจะเป็นการเริ่มต้นปรับตัวที่ดี และควรมีกฎหมายจริงจัง ให้เป็นมาตรฐานของประเทศด้วย
แล้วถ้าคุณสามารถออกนโยบายอะไรเกี่ยวกับ Single-use plastic ได้ อยากออกกฎหมายอะไร?
ผมอยากออกนโยบายบรรจุภัณฑ์ ก็คือ กำหนดมาตรฐานของการใช้บรรจุภัณฑ์ ซึ่งประเทศเรายังไม่มีกฎหมายรองรับ ใครจะใช้อย่างไรก็ได้ ฟรีสไตล์ ถ้าเรามีกฎหมายจะสามารถกำหนดได้ว่า ของแต่ละของต้องใช้บรรจุภัณฑ์เกรดไหน หรือใช้ให้เหมือนกันหมดเลยก็ได้
ถ้าไม่ใช่ พรบ.บรรจุภัณฑ์ ก็กฎหมายเกี่ยวกับขยะ ตอนนี้เรื่องเกี่ยวกับขยะ เขาผลักไปให้การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการเอง หมู่บ้านไหนมีผู้นำดี ผู้นำที่ zero-waste ก็จะเป็นหมู่บ้านที่ zero-waste แต่ประเทศไทยมี 75,000 หมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านคนนี้เก่ง คุมลูกบ้านได้ แต่อีกหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านคนนี้ไม่ทำแล้ว คือควรมีนโยบายให้เป็นแกนหลักแล้วให้เขาไปปฏิบัติตามมากกว่า
เช่น กำหนดว่า ประเทศไทยจะเอาพลาสติกมาทำถนน มาลาดยางมะตอย เพราะเรามีถนนลูกรังเยอะ อันนี้สมมตินะ แกนมันก็คือ การเอาพลาสติกมาลาดยางมะตอย พอมันมีแกนหลักปุ๊บ ทุกคนก็จะมองเห็นแล้วว่า ทิศทางมันจะไปทางไหน
ตอนนี้แกนหลักของเราคือ ถังขยะแยกเป็น 4 ถัง เขียว น้ำเงิน เหลือง ฟ้า นี่คือแกนหลักที่กรมควบคุมมลพิษประกาศมา แล้วทุกคนทำตาม แต่มันไม่จบไง เพราะว่าขยะมี 4 ถัง แต่ดันมีรถเก็บขยะคันเดียว มันควรจะมีแกนหลัก เช่น เราจะแยกขยะตามวัน ขยะวันจันทร์ รีไซเคิลทั้งประเทศ รถขยะที่วิ่งวันจันทร์ คือขยะรีไซเคิลนะ ถ้าใครเอาขยะที่ไม่รีไซเคิลมาตั้งไว้วันจันทร์ก็อาจจะหามาตรการมาดูแลอีกที แล้วแต่เลย เป็นนโยบายที่ต้องมีแกนหลักก่อน ซึ่งถ้าผมมีอำนาจ ก็จะทำแบบนี้
คิดว่านโยบายของ Single-use plastic ของประเทศไหนที่สนใจ หรือรู้สึกว้าวบ้าง?
ที่ว้าว ซึ่งไม่ใช่ว้าวแบบชื่นชมนะ คือประเทศเคนย่า เขาปรับเงิน 1.2 ล้านบาท สำหรับใครก็ตามที่ผลิตหรือนำเข้าพลาสติก ใครนำเข้าไม่ได้เลย ถ้าเราบินไปประเทศนั้น ก็จะมีการตรวจ ใครมีถุงพลาสติก ต้องทิ้งไว้ ห้ามนำเข้าประเทศ
มันเป็นนโยบายที่ใช้ได้ในระดับประเทศของเขานะ คือเพราะประเทศเขายังไม่ได้เจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจมาก ก็เป็นผลดีนะ เพราะเขาไม่ต้องการให้เริ่มต้นเลย เป็นเหมือนประเทศอื่นๆ ที่หยุดไม่อยู่แล้ว แต่ถ้าจะเอามาใช้กับประเทศเราก็ไม่เวิร์ก เพราะการเติบโตทางเศรฐกิจเราเลยจุดนั้นไปแล้ว
นโยบายที่ว่าดี และนำมาใช้ได้ คือการเก็บภาษีค่าถุงพลาสติก คล้ายๆ กับว่า คุณจะซื้อถุงพลาสติก แล้วเงินตรงนี้ ไม่ต้องให้บริษัทที่ผลิตถุงนะ แต่เอาเข้ากองทุน เหมือนกองทุนน้ำมัน แต่นี่เป็นกองทุนสิ่งแวดล้อม
ถ้าสมมติขอพรวิเศษได้ให้มาช่วยแก้ปัญหานี้ คุณอยากขออะไร?
ผมอยากให้มีวัสดุพิเศษที่มีคุณภาพหลากหลายเหมือนพลาสติก เพราะพลาสติกทำได้ตั้งแต่ถุงหิ้ว จนพาขึ้นยานอวกาศได้ มันพิเศษถึงขนาดนั้นเลย แต่ดันไม่ย่อยสลายและเป็นมลพิษ แตกตัวมาเป็นไมโครพลาสติกอีก ผมอยากให้มีวัสดุที่มีคุณสมบัติแบบนี้ด้วย แล้วแค่เอาไปฝังมันก็ย่อยสลายไป แต่ความจริงมันเป็นไปไม่ได้ ตอนนี้เขาก็พัฒนากันอยู่นะว่าจะทำอย่างไรให้มีคุณภาพดี และย่อยสลายตามธรรมชาติได้ด้วย ซึ่งก็ยังพัฒนากันอยู่
ถ้าพลาสติกในประเทศเราเยอะ ทำไมถึงเอามารีไซเคิลไม่ได้?
เพราะเราเอามาคัดแยกไม่ถูกต้อง มันต้องแยกเป็นเกรดอย่างที่บอก แต่ละเกรดต้องมาแยกเป็นชนิดอีก หนึ่งเกรดอาจจะต้องแยกเป็นแบบฟิล์มกับแบบชิ้นด้วย คือพลาสติกมีหลากหลายชนิดมากถึงขั้นที่ว่า บางที เกรดเดียวกัน ก็รีไซเคิลด้วยกันไม่ได้ เพราะความหนืด ความเหนียวไม่เท่ากัน เลยกลายเป็นว่า ทำอะไรไม่ได้ มันเลยไม่มีมูลค่า เพราะเป็นขยะ
ถ้าเราอยากแก้ปัญหาเรื่องของการแยกขยะ จะทำอย่างไร?
ถ้าประเทศพัฒนาแล้วเขาก็จะเอาไปเผาทำพลังงาน คือเผาแบบไม่ต้องแยกเกรด แต่ก็อย่างที่บอกว่า เทคโนโลยีมันต้องดีพอ และต้องควบคุมให้ได้ ประชาชนก็ต้องแยกขยะเป็น เพราะถ้าเกิดเราแยกไม่เป็น เช่น เราเอาถุงแกงที่มีคราบแกงกะทิ ซึ่งมัดอยู่ในพลาสติกอีกที เราไปโรงเผา ก็ต้องไปเผาเอาแกงออกก่อน ถูกไหม ต้องเสียน้ำมันเตาออกไปเผา เพื่อไล่ความเค็มก่อน ถึงจะเหลือพลาสติก ก็จะกลายเป็นว่า เปลืองพลังงาน
การแยกขยะในไทยมันยาก เพราะเราไม่มีไกด์ไลน์ที่ชัดเจนเหมือนประเทศอื่นๆ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าไกด์ไลน์ของเราจะเอาไปทำอะไร อย่างที่ประเทศเขาแยกได้ดี ไม่ใช่ว่าเขาแยกเก่ง แล้วเขาก็ไม่ได้แยกดีกว่าประเทศไทย ประเทศไทยอาจจะแยกเก่งกว่า เพราะเราแยกจนขายได้ แต่ประเทศอื่นเขาแยกแล้วเอาไปเผา หรือแยกแล้วเอาให้ประเทศโลกที่ 3 ไปแยกต่ออีกทีนึง เขายังไม่แยกถึงขั้นประเทศไทยที่แยกขวดพลาสติกใสออกเป็นหลายประเภท แต่ละแบบมีราคาต่างกัน เราแยกเก่งกว่านะ เพียงแต่เราแยกเฉพาะอันที่มีราคา และพึ่งพาธุรกิจรีไซเคิลในการแยก เลยกลายเป็นปัญหา
แล้วเราจะเริ่มลดขยะแบบง่ายๆ ได้อย่างไรบ้าง?
ต้องลองดูว่า วันนึงเราใช้ขยะอะไรเยอะที่สุด แล้วมันใช้อะไรแทนได้บ้าง การลดขยะ คือไม่สร้างมันขึ้นมาตั้งแต่ต้นทาง เช่น ใช้ถุงเยอะ เราก็พกถุงผ้าได้ ใช้แก้วเยอะ เราก็พกแก้วได้ หรือเราชอบซื้อน้ำ เราก็พกกระติก แค่นั้นก็คือการลดแล้ว ผมชอบพูดว่า ถ้าคุณไม่เคยเริ่ม เอาแค่อย่างเดียวพอ ลองอย่างเดียวก่อน ลองดูซักอาทิตย์นึงก็ได้ แล้วคุณจะรู้ว่ามันไม่ได้ยาก
เวลาเราคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม เราชอบคิดเป็น Ideal ว่า เราต้องกรีนตั้งแต่หัวจรดเท้า แต่ความจริงไม่ใช่ เขาเรียกว่า โอกาสเหมาะ ลดได้ก็ลด เหมือนเห็นแก้วน้ำ ก็คิดว่ายกดื่มก็ได้ ไม่ต้องใช้หลอด แบบนี้ดีกว่าจะมาบอกว่า ‘เราต้องรักษ์โลก 100%’ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ต้องรับทุกอย่างในโลกที่เป็นขยะ เราช่วยได้ก็ช่วย ชิ้นสองชิ้นก็ช่วย
เราไม่ต้องการ คนหนึ่งคนที่เป็น Zero-waste guy ไม่ได้ต้องการคนที่ทุกอย่างกรีนไปหมด แต่เราต้องการคนเป็นล้านที่ลดการใช้พลาสติกแค่ชิ้นเดียว แบบนี้คุ้มกว่าเยอะเลย จริงไหม?