“มนุษย์เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เป็น creation of self ที่เรียนรู้กันไปเรื่อยๆ”
ประโยคจาก อิม-พชร สูงเด่น หญิงสาววัย 31 ปีที่ทำงานอยู่ในภาคประชาสังคมมานาน ก่อนจะกระโดดออกไปเข้าร่วม Erasmus Mundus โครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนไปเที่ยวไปทั่วทวีปยุโรป อันถือเป็นประสบการณ์สุดล้ำค่า ที่ทำให้เธอได้ทำความเข้าใจกับคำว่า ‘การศึกษา’ ใหม่อีกครั้ง พร้อมกับบทบันทึกที่ออกมาในรูปแบบหนังสือเรื่อง ‘ERASMUS GENERATION เผ่าพันธุ์แห่งการเรียนรู้’
ยิ่งกว่านั้น การเปิดประสบการณ์สู่โลกกว้างแห่งความหลากหลายนี้ ก็ทำให้เธอได้กลับมาเรียนรู้ตัวตนของตัวเองมากขึ้นไปด้วย เราจึงอยากชวนทุกคนมาเรียนรู้ประสบการณ์และตัวตนของเราเอง ไปพร้อมๆ กับเธอกัน
ตอนนี้ทำอะไรอยู่
บทบาทหลักคือเป็นรองบรรณาธิการบริหารของ a day BULLETIN แล้วก็รับงานแปลด้วย หลักๆ คืออะไรก็ตามที่ใครให้เขียนก็พร้อมจะเขียน คือเราเป็นคนชอบเขียน แต่ก็เพิ่งมีปีนี้ที่มีผลงานออกมาเป็นเล่มจริงจัง แต่ก่อนทำงานอยู่ฝั่ง NGO หรือภาคประชาสังคมมาก่อน
แล้วรู้จักทุนอีราสมุส มุนดุส (Erasmus Mundus) ได้ยังไง
จริงๆ ก็เป็นชื่อที่ได้ยินอยู่เรื่อยๆ แล้วเราบังเอิญไปอ่านหนังสือที่เล่าถึงคนที่ไปเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษ ซึ่งตอนนั้นเขาก็อายุประมาณ 30 แล้ว แล้วหลังจากนั้นมาก็มีความรู้สึกว่า อยากไปเรียนต่อ เหมือนมันเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวตลอดเวลา แล้วเรารู้สึกว่า คนที่อยากไปเรียนต่อมักจะเอะอะก็เสิร์ชหาทุนนู่นทุนนี่ไปเรื่อย แล้วทุนอีราสมุส เราว่าคนที่สนใจเรื่องทุน ชื่อนี้ก็น่าจะเป็นชื่อที่เริ่มคุ้นเคย หรือเคยได้ยิน
แต่มาเริ่มรู้จักจริงๆ ก็ตอนแนะแนว ที่มีครูพูดชื่อนี้มา เขาไม่ได้มาพูดจริงจังว่ามันคืออะไร แต่สิ่งที่สะดุดหูขึ้นมานอกจากชื่อที่ฟังไม่คุ้น ก็คือการที่ทุนนี้บอกว่า เราสามารถเดินทางไปได้หลายที่ ไม่ใช่ว่าคุณไปอังกฤษแล้วต้องอยู่มหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยนึง มันคือการเดินทาง เปลี่ยนแคมปัสไปเรื่อยๆ ก็เลยสนใจ
ถือเป็นทุนที่อยากได้เป็นอันดับแรกๆ
นี่เป็นทุนที่เราอยากได้เป็นอันดับหนึ่ง เพราะมันมีคาแรคเตอร์ชัดเจนว่า เดินทางไปได้หลายที่ แต่จริงๆ ก็มีทุนอื่นที่เรามองนะ แต่อีกอย่างที่เป็นคาแรคเตอร์ที่เราสนใจมากก็คือ เป็นทุนเต็ม ไม่ใช่จ่ายแค่ค่าเทอม แต่ว่าค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ด้วย
จุดนี้เป็น pain ของเรา เมื่อตอนปี 3-4 เราได้ทุนไปเรียนปริญญาตรีที่อเมริกา แล้วอันนั้นมันบอกว่า เป็นทุน แต่พอเราไปเรียนจริงๆ แล้วเพิ่งเข้าใจความทรมาณว่า ค่ากิน ค่าที่อยู่ เราต้องจ่ายเอง มันทำให้เราต้องเรียนไปด้วย หาอะไรทำงานไปด้วย แล้วมันก็มีข้อจำกัดว่าทำงานได้ไม่เกินเท่านี้ชั่วโมง ซึ่งกึ่งนึงมันก็ต้องขอพ่อแม่ซัพพอร์ทบ้างอยู่ดี แล้วมันก็เกิดคำถามว่า ถ้าพ่อแม่ไม่สามารถซัพพอร์ทรายเดือนให้เราได้ล่ะ เราจะทำยังไง
ฉะนั้น ทุนมันก็เลยเป็นเหมือนอะไรที่จะให้โอกาสนะ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องการคนที่มีพรีวิลเลจบางอย่าง มีต้นทุนที่ดีแล้วอยู่ดี แล้วมันก็กลายเป็นว่า คนที่ต้นทุนดีแล้ว ก็จะต้นทุนดีต่อไปเรื่อยๆ อีก เลยเป็นสิ่งที่เราตั้งคำถามกับทุนที่จ่ายค่าเทอมอย่างเดียวตลอดเวลา ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ดีนะ คือเขาก็เหมาะกับคนบางคน แต่รู้สึกว่า ด้วยปัจจัยของเรา แล้วก็ด้วยสิ่งที่เราเจอมาตอนปริญญาตรี เราเชื่อว่า ทุนที่มันเรียกว่าให้โอกาสจริงๆ มันควรจะเป็นทุนที่ครอบคลุมทั้งหมด นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้อีราสมุสเป็นความฝันอันสูงสุดแต่ไหนแต่ไร
เราต้องมีพรีวิลเลจอะไรด้วยรึเปล่า ถึงจะได้รับเลือกให้ได้ทุนนี้
เราว่าพรีวิลเลจของแต่ละทุน ดูได้จาก requirement เช่น ค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากค่าเทอมต้องจ่ายเอง การที่คุณจะสามารถเรียนต่อได้หรือไม่ได้ ก็แปลว่าคุณต้องมีค่าใช้จ่าย นี่ก็เป็นพรีวิลเลจอย่างหนึ่ง อันที่สอง เช่น พวกค่าสอบ TOFEL TOEIC หรือ IELTS หรืออะไรก็แล้วแต่ มันดูเหมือนเป็น requirement ทั่วไป แต่ถ้าไปเจาะดูในรายละเอียด การสอบแต่ละอัน อย่างต่ำก็ประมาณ 8,000-10,000 กว่าบาท ซึ่งมันก็มีราคาประมาณนึง แล้วนี่เป็นแค่ก้าวแรก แล้วคุณต้องลงทุนขนาดนั้น ซึ่งคุณก็ไม่รู้ว่าต้องสอบกี่ครั้ง เพื่อที่จะได้คะแนนตามที่เขาต้องการ ถามว่ามันก็มีต้นทุนที่เราก็มีอยู่ในการที่จะจ่ายค่าสอบพวกนี้ได้ หรือต้นทุนทางด้านภาษาอังกฤษที่ทำให้เราไม่ต้องสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ต้องมองตัวเองว่า การได้ภาษาอังกฤษของเรา มันก็ไม่ได้เป็นพรีวิลเลจมาแต่ไหนแต่ไร เพราะเราก็มาจากโรงเรียนรัฐตอนอยู่มัธยม แล้วปีหนึ่งปีสองก็อยู่มหาลัยรัฐ แต่ว่าเราก็รู้ว่าตัวเองต้องการไปสู่จุดนั้น
แต่ถ้ามองโดยทั่วไป เราว่าใช่ requirement บางอย่างของทุน ต้องมีภาษาอังกฤษ สอบ IELTS ก็ต้องอยู่กรุงเทพฯ ซะส่วนใหญ่ นอกจากไปอยู่เมืองใหญ่ๆ ก็เป็นพรีวิลเลจบางอย่างในการที่จะเข้าถึงทุนเหมือนกัน
คำว่าทุนการศึกษา คืออะไร และควรเป็นยังไง
ถ้าตรงตัวมันก็คือ Financial support การให้แหล่งทรัพยากรบางอย่างเพื่อไปศึกษาต่อ แต่คำถามว่า ควรเป็นยังไง เราว่าอันนี้สำคัญ เราเคยทำงานที่เชียงใหม่แล้วตอนนั้นก็เคยคุยว่า เฮ้ย มันมีทุนมากมายหลากหลายนะ ตอนแรกเราคิดว่า การที่คนไม่เข้าถึงทุนในต่างจังหวัด คือเขาไม่รู้ แต่มันกลายเป็นว่า พอไปอยู่ในพื้นที่จริงๆ ไปลิสต์มาเลยว่ามันมี 1-10 มีทุนอะไรบ้าง ทุนสวีเดน ทุนญี่ปุ่น ทุนอังกฤษ ทุนกพ. สุดท้ายมันก็ยังจะติดตรงเรื่องของ requirement อยู่ดีว่า เออใช่ แต่การจะไปสอบตรงนั้นได้ มันไม่ง่ายเลยนะ หรือแม้กระทั่งต้องจบจากมหาวิทยาลัยประมาณไหน
แต่ที่เป็นอุปสรรคอีกขั้นที่ไม่ได้ระบุไว้ใน requirement ที่เราตกใจก็คือ ความเชื่อในตัวเอง คือมีคนพูดออกมาว่า “แต่หนูมาจากต่างจังหวัดนะพี่ หนูจะได้เหรอ” ซึ่งมันเป็นคำที่เราไม่เคยนึกเลย คือก็เป็นพรีวิลเลจอย่างหนึ่งที่เราอยู่กรุงเทพ แล้วเราไม่เคยมีปราการด้านนี้ที่เราต้องข้ามไป คือเราไม่เคยคิดว่าเรามาจากไหน เรารู้ว่ามันมีโจทย์ยากในเชิงคะแนนที่เราต้องข้ามไปให้ได้ แต่เราไม่เคยคิดว่า เออว่ะ เราต้องไปเปรียบเทียบกับแบบเด็กต่างจังหวัดอื่น หรือแม้กระทั่งเด็กในกรุงเทพฯ เราก็ไม่รู้ว่ามันมี ranking ของการเปรียบเทียบตัวเองว่าฉันมาจากมหาลัยนี้ แล้วจะไปสู้มหาลัยนี้ได้หรือเปล่า
ฉะนั้น ทุนมันควรเป็นแบบไหน สิ่งที่เราชื่นชมอีราสมุสมากคือการให้ทุนจำนวนเต็ม แต่ถ้าให้รื้อถึงที่สุด เราว่าเรื่องคะแนนก็เป็นสิ่งที่เราอยากให้ทุนลดปราการด่านนี้ไปเหมือนกัน เพราะว่ามันก็มีหลายคนที่คะแนนไม่ดี แต่เขามีจุดเด่นด้านอื่น อย่างตัวบ่งชี้ด้านการศึกษา เรื่อง GPA ตอนนี้ก็คุยกันแล้วว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่ได้บอกว่าเด็กคนนั้นมีสติปัญญารอบด้านยังไง คือมันกำหนดแค่ด้านเดียว
นึกถึงประโยคในหนังสือ ที่เล่าถึงเกณฑ์การเลือกที่ฝึกงานด้วยการวัดคะแนน ซึ่งกลายเป็นดีเบทในห้องเรียนทุนนี้ อยากรู้ว่า ถ้าไม่ให้วัดด้วยคะแนน จะมีวิธีการประเมินผลยังไง
จริงๆ มันก็เป็นเรื่องใหญ่นะ คือเราเข้าใจว่าที่เขาต้องทำแบบนั้นก็เพื่อความง่าย คืออะไรที่มีปริมาณเยอะๆ แล้วถ้าเราจะวัด ก็ต้องหาอะไรมาจับ แต่ถ้ากลับไปที่ที่มาของคำว่า education มันมาพร้อมอุตสาหกรรม แต่ตอนนี้มันไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ mass education อีกต่อไปแล้ว เราเชื่อในห้องเรียนขนาดเล็ก ฉะนั้น มันไม่จำเป็นจะต้องมีไม้บรรทัดเดียว แล้วพอห้องเรียนเล็กแบบนี้ มันไม่จำเป็นต้องมีไม้บรรทัดก็ได้ ไม้บรรทัดยืดหยุ่นได้ คุณสร้างความกว้างของมิลลิเมตร หรือเซนติเมตรของคุณเองได้
ซึ่งตอนนั้นที่เป็นประเด็นมากในคลาส เพราะว่าขนาดก็เล็กอยู่แล้ว ในห้องมีอยู่ 19 คน แล้วมันย้อนแย้งตรงที่ในห้องเรียนก็ดีเบทกันเรื่อง ตัวบ่งชี้ที่มันไม่ควรใช้หลัก one size fits all อยู่แล้ว แต่วันที่จะต้องไปเลือกสถานฝึกงาน อยู่ดีๆ ครูก็บอกว่า อ๋อ จับเลือกให้ตาม ranking ซึ่ง ranking ที่ครูจับเลือก ก็มาจากตอนที่คุณสอบเข้ามา ทุกคนก็เลยโกลาหลว่า คุณเอาคนทั่วโลกมาจัดอยู่บนไม้บรรทัดเดียวกันได้ยังไง แล้วตอนนั้นที่สอบเข้า มันก็สอบเข้าด้วยการสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นเชิงคุณภาพ คุณมาวัดได้ยังไง ว่าใครดีหรือไม่ดีกว่ากัน
ฉะนั้น ถ้าถามว่า แล้วมันควรเป็นยังไง เราเชื่อในการพูดคุยว่า แต่ละอัน โจทย์ของใคร เป็นเรื่องอะไร เหมือนที่พูดไปว่า มีเพื่อนคนนึงชื่อราเชล ที่พูดประเด็นนี้ว่า ด้วยความที่ห้องเรียนมันเล็ก เราสามารถคุยกันได้ว่า นี่คือโจทย์ของฉัน บอกความตั้งใจไปให้ทุกคนรู้ว่า ฉันมีความตั้งใจที่จะเข้าองค์กรนี้ บางคนมาทุนนี้เพื่อมองว่ามันเป็นประตูที่พาเข้าไปสู่องค์กรนี้ด้วยซ้ำ แต่พอไม่มองเห็นด้วยกัน ต่างคนก็ต่างแย่งกันโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งที่จริงๆ มันแก้ได้
ก่อนจะได้ทุน สิ่งที่คิดว่ายากที่สุด ในการได้ทุนนี้คืออะไร
เราว่าโจทย์แต่ละคนคงต่างกันออกไป โจทย์ของเราคือ ตอนนั้นเราเริ่มทำงานแล้ว มันมีคำพูดของคนทำงานสักระยะว่า พอทำงานไป การเรียนต่อมันจะเริ่มออกห่างไปเรื่อยๆ แล้ว เพราะยิ่งรู้จักตัวเองมาก ยิ่งเข้าไปอยู่ในงาน ในพื้นที่มาก ทำให้รู้สึกว่า จะไปเรียนต่อดีไหมนะ งานกำลังไปได้ดี ถ้าหายไปอีก 2 ปี จะเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างจะยังอยู่หรือเปล่า จริงๆ ตอนนั้นที่เราได้ เราได้เป็นทุนสำรอง แล้วเราไม่แน่ใจว่าเราจะได้หรือไม่ได้ด้วยซ้ำ จนเราลืมไปแล้ว แล้วพอเขาตอบรับเรากลับมาอีกครั้ง เรากลับบอกหัวหน้าที่ทำงานด้วยซ้ำว่า เราคงไม่ไปแล้ว เราคงเลือกที่จะทำงานต่อ จนหัวหน้าบอกว่า ทำงานมีเวลาให้อีกตั้ง 30-40 ปี ทุนนี้มันแค่ 2 ปี ทำตรงนี้ให้เต็มที่ไปก่อน ก็เลยเป็นตัวปลดล็อกเรา
แต่เราว่าทุกคนน่าจะมีโจทย์ต่างกัน requirement อาจจะเป็นโจทย์ยากของบางคน หรือจริงๆ คนนึงที่เราเขียนถึงคือคนที่เขาได้ทุนนี้ก่อนเรา เราได้สำรอง แล้วอยู่ดีๆ ก็มีผู้หญิงส่งอีเมล์มาหาเราว่า เขาตัดสินใจสละทุนนี้ เพราะว่าพ่อเขาป่วย มันก็เป็น dilemma ที่เขาต้องเลือก ซึ่งเราก็ตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นตัวเราเอง ทุนมันก็มีระยะเวลาสั้นเหมือนกัน แล้วก็มีความไม่รู้จะกลับมาเมื่อไหร่เหมือนกัน พอๆ กับชีวิตคนในครอบครัว ถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะเลือกอะไรวะ เราก็คงเอ๋อเหมือนกัน ฉะนั้น แต่ละคนก็มีโจทย์ของแต่ละคนไป
ยากไหมกับการที่เราทิ้งช่วงจากห้องเรียนไปนาน แล้วต้องกลับมาเริ่มใหม่
ยาก ทั้งที่ถ้าพูดกันตามตรง เราก็เป็นคนที่อ่านหนังสืออะไรพวกนี้อยู่เรื่อยอยู่แล้ว แต่พอไปจริงๆ มันก็มีศัพท์ technical term บางอย่างที่มันแบบ อะไรวะ สิ่งที่ยากอีกอย่างคือ ห้องเรียนมันเป็นพื้นที่วิชาการ มันเป็นพื้นที่ทฤษฎี แล้วพอเราห่างจากปริญญาตรี แล้วไปทำงาน 5-6 ปี เราไปเจอภาคปฏิบัติมาแล้ว พอกลับมาเจอภาคทฤษฎีอีกครั้ง มันตั้งคำถามกับทุกอย่างในสิ่งที่คุยกัน คุยแล้วไง คำว่าแล้วไงวะ มันโผล่มาตลอด แล้วไงต่อ ทำไงดี คุยถึงปัญหา แล้วก็ไม่มีทางแก้ แล้วการที่ไม่แก้ เราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือเปล่า เหมือนเรื่อง ตัวบ่งชี้ที่คุยแล้วสุดท้ายในห้องเรียนก็เป็นคนผลิตสิ่งนั้นที่เป็นปัญหาซ้ำเอง แล้วยังไงต่อ
คำว่าแล้วยังไงต่อ เป็นปัญหาของเราเยอะมากในตอนที่เราเรียน โดยเฉพาะถ้ามันมีข่าวบ้านเมือง ที่มีความโกลาหล แล้วเราอยู่นอกประเทศ มันจะมีความรู้สึกว่า ที่เราเรียนอยู่มันเพื่อความเจริญก้าวหน้าของตัวเอง หรือว่ายังไงวะ มันเหมือนกับการตัดขาดจากทุกอย่างเพื่อการเติบโตของตัวเองคนเดียวเลย ซึ่งเท่าที่คุยมา มีน้องที่ได้ทุนอีราสมุนในช่วงนี้ เจอกับภาวะนี้อยู่เหมือนกัน เขาก็ตั้งคำถามว่า เขาไปเรียนต่อแล้วเขารู้สึกไร้คุณค่า ตอนที่เขาใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ คือในกึ่งนึงมันก็มีความแบบ หูย ดีนะ เดินทางอยู่ในยุโรป อิสระ ท่องเที่ยวได้ ได้เรียนด้วย แต่อีกใจนึงเราก็รู้สึกว่า ฉันทำอะไรไม่ได้เลย เหมือนเป็นอัมพาต
แต่อันนี้เราว่า มันเป็นโจทย์ที่ทุกคนต้องตอบตัวเองว่า ไม่รู้สิ ณ จุดนึงคุณก็ทำตรงหน้าของคุณให้ดีก่อน แล้วเมื่อคุณกลับมา คุณจะทำอะไร นั่นเป็นอีกโจทย์นึง นั่นเป็นอีกเหตุผลนึงที่เราจะแบบกร่นด่าตัวเองตลอดเวลาตอนอยู่ในที่นั้น แล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี
ตอนอยู่ในห้องเรียน มีอะไรที่กลัวไหม
ตอนเรียนปริญญาตรี เราต้องเตรียมตัวในการดีเบทในคลาส ซึ่งใช้เวลามานานพอสมควรแล้ว แต่พอกลับเข้าไปเรียนอีกที ความเป็นยูโรเปียนหรือเพื่อนที่มาจากชาติอื่น เขาเป็นธรรมชาติของเขา ในขณะที่เราต้องเตรียมตัวว่า วันนี้จะเข้าคลาส เราต้องอ่าน ต้องเตรียมข้อมูล ต้องตั้งสติว่า วันนี้จะไม่กลัว นึกอะไรออกจะยกมือขึ้นเลย แต่เขาเป็นธรรมชาติมาก ไม่ยกมือด้วยซ้ำ พูดไปเลย อันนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ไม่รู้ว่ากลัวหรือไม่ชิน แล้วเราต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติในการที่จะคิดไปด้วย มีส่วนร่วมไปด้วย
คือถ้านั่งเฉยๆ เลย เขาก็ไม่มานั่งจิ้มในคลาสหรอก แต่มันมีคำพูดนึงในคลาสที่พูดกันว่า การที่เขาเลือกคุณมาอยู่ตรงนั้น เขาเลือกคุณเพราะว่าคุณมีความหลากหลายบางอย่างที่คุณจะไปเสริมในคลาส แล้วเราก็คิดว่า ส่วนหนึ่งที่เราได้ เพราะว่าเราเป็นคนเดียวที่ represent เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาก็ต้องการบริบทและความเห็นของเราที่มาจากภูมิภาคนี้ไปเสริมคลาส ฉะนั้น การนั่งเฉยๆ ของเรา มันอาจจะเป็นสิทธิของเราในการเงียบ เป็น the right to remain silence แต่มันก็ไม่ได้ช่วยส่งเสริมอะไรเพื่อนในคลาส มันเหมือนเราไปเอาอย่างเดียว ได้ฟังเพื่อนคนนั้น คนนี้ โอ้ยคนนั้นดีจังเลย บทสนทนาสนุก แต่คุณไม่ได้ contribute อะไรให้คนอื่นเลย เราว่าคำพูดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าทำให้เรากล้าขึ้น เราไม่ได้พูดเพื่อบอกว่า ฉันรู้ ฉันเก่ง หรือนั่งตรวจสอบตัวเองว่านี่คิดถูกไหม คิดถูกหรือผิด มันเริ่มที่จะช่างแม่งตัวเองไป เพราะนี่มันคือสิ่งที่เกิดขึ้น นี่คือความรู้สึก มันคือบริบทของบ้านเรา
แต่ก็ต้อง FYI เพื่อนตลอดเวลาที่พูดเรื่องนี้ว่า เราเป็น the only Thai student นะ ในไทยก็มีความหลากหลาย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีความหลากหลาย เราไม่อยากให้การที่เราพูดเรื่องนี้แล้วแปลว่า ทั้งภูมิภาคหรือประเทศก็เชื่อในสิ่งนี้
แต่อันนี้เป็นข้อดีที่หลายคนมาจากภูมิหลังสังคมมนุษย์ มันจะตระหนักกันตลอดว่า ฉันมาจากที่ไหน แล้วเวลาพูดก็จะพยายามบอกว่า FYI ฉันมาจากบริบทแบบนี้นะ ฉันถึงพูดแบบนี้
แปลว่ามันมีเรื่องของวัฒนธรรมและตัวบุคคลผสมไปด้วยกัน
มาก เราว่าก็ทุกๆ การเรียนก็น่าจะเป็นแบบนั้น วัฒนธรรมบางอย่างมันอาจจะดูเหมือนตัวบุคคล เช่น ถ้าเราเข้าไปตอนแรกแล้วเราเงียบ เพื่อนอาจจะมองว่า คนนี้เป็น introvert ซึ่งมันดูเป็นเรื่องตัวบุคคล แต่ว่ามันไม่ใช่ความบังเอิญว่า ไปที่ไหน คนเอเชียก็เงียบกันหมดเลย ถ้ามันเป็นแบบนั้น แปลว่าต้องเป็นเรื่องของภูมิหลังหรือวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเขามาหรือเปล่า ซึ่งเราว่าในพื้นที่นั้นมันก็แบบเป็นการต่อสู้กันระหว่างตัวเราเองกับภูมิหลังตลอดเวลา ฉะนั้น การรู้ตัวว่านี่ไม่ใช่ตัวฉัน นี่คือวัฒนธรรมบางอย่างที่เราแบกมา แล้วถ้าเราไม่ชอบ เราจะต้องทะลายมันออกไปให้ได้
ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่ชอบการเงียบของวัฒนธรรม ฉะนั้น เราไม่ควรจะ represent ความเงียบนี้ในคลาสเราด้วยเหมือนกัน เพราะไม่งั้นเราก็จะเคยชิน แล้วความชินมันง่าย ชินกับความเงียบ เงียบแล้วก็สบายดี นั่งฟังอย่างเดียว แต่เราไม่ชอบวัฒนธรรมนี้ของตัวเราเอง ฉะนั้นคุณก็ไม่ควรจะไป represent สิ่งนั้นอีก เลยเหมือนกับเป็นการต่อสู้กับตัวเอง และสิ่งที่เราเคยชินที่เราถูกหล่อหลอมมา
ถ้าเราเรียนในมหาวิทยาลัยแบบตอนปริญญาตรี ทุกคนมีท่าทีคล้ายๆ กัน บางทีมันมองไม่เห็น ทุกอย่างมันปกติ ดูเหมือนปลาชนิดเดียวกันในโหลแก้วเดียว แต่พอมันไปที่อื่นแล้วเราได้เห็นว่ามันมีปลาที่ว่ายเร็ว มีปลาที่กินทุกอย่างเลย แล้วก็ปลาที่ไม่กินอะไรเลย ว่ายไปว่ายมา มันยิ่งทำให้เห็นตัวเองชัดขึ้น เห็นทั้งในส่วนที่ชอบและไม่ชอบ พอไม่ชอบก็จะไม่ทำ เลยเป็นสิ่งที่ชอบมากในการเจอความหลากหลายในคลาส
พอเจอความหลากหลายเยอะๆ มีอะไรที่ช็อคไหม
ขอยกตัวอย่างกับรูมเมทตัวเองละกัน รูมเมทบังเอิญเป็นคนที่อยู่โปรแกรมเดียวกันด้วย มันก็เป็นคู่สร้างคู่สมอาจารย์ก็ชอบจับคู่ให้กัน คนก็มองว่า โอ้ยดีจังเลย ทำงานกับรูมเมททำงานง่าย แต่รูมเมทเรา เป็นลูกครึ่งเอธิโอเปียกับออสเตรเลีย ซึ่งก็มีความตรงไปตรงมาทั้งสองชาติ แล้วมันมีครั้งนึงที่ต้องทำงานแล้วคิดเห็นไม่ตรงกัน แล้วเราในช่วงแรกก็เป็นประเภทว่า เห็นไม่ตรงก็เงียบ ในขณะที่เขาก็พูดไป แล้วเขาก็เป็นคนชอบพูดเสียงดัง ชอบขึ้นเสียง มีอะไรเถียงตลอดเวลา
มันก็เป็นอย่างนี้ตลอดการเตรียมตัวพรีเซนต์งานนั้น ตึงเครียดาจนคืนสุดท้ายก่อนพรีเซนต์ จู่ๆ เขาก็ทุบโต๊ะ ปัง ขึ้นเสียงว่า เธอเป็นอะไรทำไมไม่พูด แล้วเราก็ตกใจ ถ้าเป็นวันอื่นเราก็คงช่างมัน ไปห้องสมุด แต่อันนี้หนีไม่ได้ เราเลยต้องพูดว่า เราไม่ชอบที่เขาพูดเสียงดังและขึ้นเสียงแบบนี้ แล้วมีอะไรก็เอาตัวเองขึ้นมาก่อน แต่ว่ามันเป็นจุดนั้นที่เพิ่งได้คุยกันจริงๆ จังๆ ว่า เขาบอกว่าที่เขาต้องคุยแบบนั้นเพราะวัฒนธรรมเขา ถ้ามีอะไรแล้วพูดไม่ออกมา คุณจะไม่ถูกได้ยินเลย มันเป็นสองวัฒนธรรมที่ถูกกดขี่มาทั้งคู่ ฉะนั้นการขึ้นเสียงของเขาที่ต้องพูดเสียงให้ดัง มีอะไรต้องรีบพูด ต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจน มันก็เพื่อการเอาตัวรอดในวัฒนธรรมของเขา ในขณะเดียวกัน เราเองก็ถูกหล่อหลอมมากับสิ่งที่บอกว่า เรารักสงบ การเงียบแล้วดี สุภาพ โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า เหล่านี้คือสิ่งที่เราเคยถูกบอกว่าดี แล้วมันคือความแคลชกันระหว่างสองวัฒนธรรมที่ต่างกันมาก
สุดท้ายมันไม่ได้มีคำตอบ A หรือ B ว่าอย่างไหนดีกว่ากัน แต่พอมันถูกกระแทกกันตรงๆ แล้วมันแบบ อ๋อ ที่เขาต้องเป็นแบบนั้น เพราะเขามาจากแบบนั้นว่ะ แล้วเขาเองก็เริ่ม อ๋อ ที่เราเป็นแบบนี้ เพราะอะไร แต่มันจะไม่เกิดความเข้าใจตรงนี้เลย ถ้าเราไม่ยอมปะทะกันตรงนั้น เราจะไม่มีวันได้ของขวัญจากความขัดแย้งนั้นเลย
นอกจากความแตกต่างแล้ว มีความเหมือนอะไรที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากทุนนี้ไหม
ขอเล่าถึงเพื่อนอินเดียคนนึงที่เหมือนอยู่ดีๆ ก็สนิทกันได้ง่ายมาก ทั้งๆ ที่แตกต่างกัน ดูเป็นความบังเอิญที่คนสองคนมาสนิทกัน แต่พอมาคุยกันจริงๆ เราก็รู้สึกว่า มันก็คือเรื่องของวัฒนธรรม เหมือนมาเจอคนที่มาจากวัฒนธรรมที่ไม่ได้ต่างกันมาก ให้ความสำคัญกับครอบครัว สังคม ให้พื้นที่คนอื่นก่อน ไม่ข่มคนอื่น ความเหมือนมันดึงดูดเข้าหากัน
แล้วในห้องเรียนหลายครั้ง เรารู้สึกว่า คลาสมันถูกโดมิเนทด้วยความคิดคนขาว เพราะว่าคนขาวส่วนใหญ่เขาผลิตความรู้ ทฤษฎีหลายอย่างมัน in favour กับฝั่งเขา แล้วมันง่ายกับการที่เขาจะออกความเห็น แล้วเราก็เคยคุยกับคนอินเดียคนนี้ ก็หันมามองหน้าแต่ยังไม่ได้พูดอะไร แต่เก็ทฟีลกันแล้ว พอไปกินข้าวเขาก็บอกว่า รู้สึกเหมือนเป็นผงขมิ้นบนข้าวขาว คือเป็นคนเหลืองสองคนในคลาส เราก็เออ ใช่ว่ะ
ความเหมือนกันมันช่วยดึงดูดคนที่พร้อมจะซัพพอร์ทกันได้ ซึ่งมันก็มีพลังอีกแบบ พลังที่เรารู้สึกว่า เราไม่ได้เคว้งเกินไป บางทีถ้าเราเป็นคนเหลืองคนเดียว เราอาจจะเผลอตัดสินตัวเองไปตลอดเวลาที่เราอยู่ในคลาสนั้นก็ได้ว่า ทำไมฉันถึงต่างจากคนอื่น แต่พอมันมีทั้งความต่างให้เราได้เรียนรู้ตัวเอง และมีเพื่อนที่สะท้อนตัวเองเหมือนกันว่า เออ เรามาจากวัฒนธรรมแบบนี้ แล้วมันโอเค คุณไม่ได้ผิด ฉะนั้น พอมันอยู่ร่วมกันสองคน มันก็เริ่มมีน้ำหนักที่จะดีเบทกับคนอื่น
ถ้าเป็นเราคนเดียว เราอาจจะคิดว่า เฮ้ย คิดมากหรือเปล่า ซึ่งมันเจ็บปวดนะกับการที่เราถูกกดอยู่ แต่เขากลับมองว่า เอะอะ เอาละ ไอนี่มีประเด็นนั้นนี้ตลอดเวลา คือถ้าเราเป็นอยู่คนเดียว มันอาจจะถูกมองแบบนั้นได้ แต่พอมันมีสอง argument ขึ้นมาสนับสนุน แล้วคนนึงที่มาจากไทย คนนึงมาจากอินเดีย ซึ่งเป็นเอเชียเหมือนกัน พูดในสิ่งเดียวกัน เห็นในสิ่งเดียวกัน แปลว่า argument มันเข้มแข็งขึ้น คนก็จะแบบ อ๋อ โอเค แล้วคลาสก็จะเริ่มจูนมาหาตรงกลางว่า เฮ้ย อย่างลืมนะว่าคุณมีชาติอื่นอยู่ด้วย
สิ่งที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้คืออะไร
คำว่าเรียนรู้ของภาษาไทยมันดูก้ำกึ่งกับคำว่าการศึกษา ดูเป็น synonym ของกันและกัน แล้วเราก็จะใช้คำว่า education มาโดยตลอด แต่ถ้าไปดูรากมันจริงๆ education มันคือ the process of receiving information มันคือกระบวนการของการรับข้อมูลมา รับคือคุณ passive คุณรอ คุณไม่ต้องทำอะไร ให้มาก็รับไป แต่ว่า learning มันคือ process ของการให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือความรู้ผ่านประสบการณ์ หรือว่าผ่านการทำความเข้าใจอะไรบางอย่าง ซึ่งมันต่างกัน
ฉะนั้น learning มันมีเซนส์ของความกระตือรือร้นว่าคุณต้องเข้าไปทำ คุณต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับความขัดแย้งอะไรบางอย่างนะ เราเลยคิดว่า ความสำคัญของการเรียนรู้คือการตื่นตัว รู้สึกว่าคุณต้องเล่นบทบาทอะไรบางอย่าง และต้องตื่นตัว ไม่ปล่อยให้มันเป็นเรื่องปกติ
อย่างช่วงนี้เราเห็นคลิปที่ครูตีเด็ก แล้วเด็กคนอื่นในห้องก็มองเพื่อนถูกตีมือ ซึ่งเราจำได้ว่า ตอนเด็กเราก็มองเพื่อนถูกตีว่ะ แต่เราไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวง ก็ครูตีเพื่อนก็ตามนั้น แต่พอตอนนี้ มันไม่ใช่ ครูตีได้ยังไง แต่ตอนนั้นเราไม่ตื่น ไม่รู้ว่านี่คือความผิดปกติ ฉะนั้น ตื่นแรกคือการรับรู้ว่าอันนี้ ไม่ใช่
ตื่นที่สองคือ มันไม่ใช่แค่เรื่องที่เราไม่พอใจ แล้วพูดไม่ได้ ตื่นที่สองคือ ต้องทำอะไรบางอย่าง แล้วคุณจะทำยังไงกับมัน คุณต้องพูดสิ เหมือนกับเรากับเพื่อนอินเดียที่รู้สึกถึงความ white dominate ในคลาส แล้วก็ไม่ออกมาพูดอะไร ทุกคนก็ไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่ามันมีมุมนี้อยู่ ฉะนั้น เราว่าทั้งหมดมันเป็นการ learning หมดเลย เราต้องเป็นผู้เล่นนึงในการที่ไปเล่นกับมัน ไม่ใช่ผู้ถูกเขียนบท เขาบอกมาแบบนี้
คิดว่าห้องเรียนของไทย เป็นแบบไหน
เราอายุ 31 เราก็ไม่รู้แล้วว่ามันเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน ตอนนี้เด็กก็มีความตื่นมากขึ้นเยอะแล้ว แต่ถ้ามองย้อนกลับไปตอนนั้น ก็เหมือนกับที่บอกเรื่องครูตี เราจำได้ว่า วิธีการตีของครูคือต้องคลานเข่าให้ครูตี หนึ่งคือคุณคลานเข่าไปหาครู ถ้าเราไม่ตื่น ไม่คิดว่า ทำไมฉันต้องคลานเข่าไปหาให้ครูตีวะ เราจะไม่หยุด แต่ตอนนั้นมันไม่รู้จริงๆ เพราะเราก็คิดว่าการคลานเข่าคือสุภาพ แล้วเราจำโมเมนต์ที่ครูง้างมือสุดขีด ง้างเพื่อจะฟาดลงมาให้แรงที่สุด ถ้าคิดตอนนี้มันเป็นภาพที่ประสาทมาก มันผิดปกติขั้นสุด แต่ตอนนั้นเราแบมือเพื่อที่จะรับการฟาดนั้น รับฟาดเสร็จก็ไหว้ด้วย ขอบคุณครูที่ตี
ถ้าทั้งระบบไม่เคยสอนให้เด็กคิด มันไม่มีทางที่จะตื่นได้ แล้วคุณจะเป็นมนุษย์ได้ยังไง ถ้าคุณยังคิดไม่ได้เลย ดังนั้น เราต้องคิดให้ได้ แล้วพูดออกมา แม้ว่าเราจะดูเป็นสัตว์ปะหลาดในห้องเรียนนั้นก็ตาม
พอมองกลับมา คิดว่าปัญหาหลักๆ ของการศึกษาไทยคืออะไร
เรื่องการคิดแหละ แม้กระทั่งกับตัวเราเอง ที่บอกว่า พอเรากลับเข้าห้องเรียนอีกครั้ง เราต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ ที่จะไปทันเพื่อนในคลาสที่เขาถูกหล่อหลอมให้เป็น thinker หรือเป็นคนที่สื่อสารได้ ดีเบทได้ critical thinking ได้โดยอัตโนมัติ ทั้งอเมริกัน ยุโรป แอฟริกัน ทุกคนพร้อมจะกระโจนเข้าไปในโจทย์ที่ครูถาม แล้วเรากลับเป็นคนที่ต้องพยายามเยอะมาก แต่เราก็ยังช้าที่สุดในห้อง ขณะที่เพื่อนชาติอื่นหลายคนเขาพร้อมที่จะพูด เขาคิดได้ทันทีว่าสิ่งนี้คือความคิดของเขา
ซึ่งจุดนี้สำคัญนะ คุณต้องไม่ตัดสินความคิดตัวเองก่อนว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่เราไม่ถูกสอนให้คิด แล้วเราก็กลายเป็นไม่เชื่อในความคิดของตัวเองด้วย จะตัดสินใจความคิดของตัวเองตลอดเวลาด้วยว่า จนสุดท้ายตัดสินไปตัดสินมาไม่ได้พูดอะไรเลย ประเด็นก็เคลื่อนกันไปแล้ว แล้วตัวเองก็ตัดสินตัวเองในหัวแบบนั้น แต่สำหรับเขาคือ เขาไม่ตัดสินตัวเอง เขายอมรับในอิสรภาพของการคิด ถ้าถามว่าพื้นฐานของการคิดคืออะไร ก็อาจจะเป็นอิสรภาพว่าฉันคิดได้ที่มันต้องมาก่อน
เป็นเพราะวัฒนธรรมที่ทำให้เราคิดแบบนั้น?
คนอาจจะคิดว่าเราพูดถึงวัฒนธรรมเยอะนะ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นแบบนั้นมากจริงๆ ในสิ่งที่หล่อหลอมเรามา กลับไปเรื่องการคิด มันมีคำว่าถูกผิด มีชุดศีลธรรมอยู่ค่อนข้างเยอะ แล้วชุดศีลธรรมมันก็เป็นฟิลเตอร์อยู่ในหัวเราค่อนข้างเยอะ โดยที่เราไม่รู้ตัว เราจำได้ว่าตอนเด็กๆ พอเรามีเสียงก้าวร้าวที่เราไม่พอใจครู เรายังบอกตัวเองว่า เฮ้ย ไม่ได้สิ ทำไมหยาบคาย
หรืออย่างที่ผู้หญิงสมัยนี้พูดเรื่องเซ็กซ์ได้เปิดเผย แต่ในยุคเรา ถ้าผู้หญิงคิดเรื่องเซ็กซ์ขึ้นมาก็ฟิลเตอร์ตัวเองว่า เฮ้ย ทำไมเป็นผู้หญิงกร้านโลกแบบนี้ เราก็ต้องรีบระงับความคิดตัวเองทันที ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ทุกคนเป็นอย่างนี้เหมือนกัน คือถ้ามันเป็นแค่เราคนเดียว เรามีความคิดแปลกๆ คนเดียว อาจจะเป็นเรื่องของปัจเจก แต่ทุกคนมันเป็นเหมือนกันหมด เพราะว่าทุกคนมีฟิลเตอร์เชิงศีลธรรมเยอะมาก ดีไม่ดี ถูกผิด ใช่ไม่ใช่ จนเสรีภาพที่จะคิดขั้นพื้นฐานก็ไม่มี ความกล้าที่จะคิดขั้นต่อไปก็ไม่มี ยังไม่ถึงขั้นที่จะพูดหรือทำอะไรต่อนะ
แล้วความน่ากลัวที่สุด มันไม่ใช่แค่เราเบรกตัวเอง แต่เราว่าถ้าเราคิดอย่างนี้ เราก็จะยิ่งไปตัดสินคนอื่น เพราะว่าถ้าเราตัดสินตัวเองแบบนั้นได้ ถ้าคนอื่นทำแบบนั้น เราจะยิ่งโคตรตัดสินเลยว่า โห ทำไมคิดอะไรอย่างนั้นวะ ฉะนั้นการปลดปล่อยความคิด จริงๆ มันไม่ใช่แค่ปลดปล่อยตัวเอง แต่คุณปลดปล่อยคนอื่นไปด้วย เพราะว่าถ้าคุณคิดอะไรบ้าๆ แบบเพี้ยนสุดโต่งได้ พอคนอื่นพูดมา คุณก็จะบอกว่า It’s ok เราก็คิด ก็บ้าเหมือนกัน
อยากให้เล่าถึง thesis ที่ทำในทุนนี้หน่อย
ตอนแรกๆ เราลังเลมาก เลยทำโพลในเฟซบุ๊ก เพื่อผสมความสนใจของเรากับประเด็นที่ควรจะพูดถึง สุดท้ายได้เรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเราอยากกลับไปเรื่องการนิยามคำว่าเรียนรู้ใหม่ นิยามการศึกษาใหม่ที่เราเชื่อมาตลอดว่ามันต้องเป็น education เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราสนใจมากว่ามันจะเปลี่ยนไปสู่ learning ได้ยังไง ซึ่งไม่ใช่แค่ในวัยเรียน แต่คนเรามัน learning ไปตลอดชีวิต เรารู้สึกว่าอันนั้นคือโจทย์ของเรา
จริงๆ มันมีคำนึงในภาษาเยอรมันที่เรียนว่า ‘Bildung’ ซึ่งแปลว่า creation of self หรือการก่อร่างสร้างตัวคนหนึ่งคนขึ้นมา ฉะนั้น ถ้ามันเป็น creation of self มันไม่มีที่สิ้นสุดอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดหรอก life long learning เพราะว่าถ้ากลับมารากนี้ คุณวิวัฒนาการตัวเองไปจนตายอยู่แล้ว
เราไปเก็บข้อมูลที่สิงคโปร์ ซึ่งเขาจะพูดในเชิงว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตมันดีต่อเศรษฐกิจยังไง แต่เราว่าในเชิงความเป็นมนุษย์หนึ่งคน learning sense มันทำให้คุณคิดตลอด คุณพัฒนาตัวเองได้ตลอด แล้วคุณไม่จำกัดตัวเองว่าฉันเคยเป็นสิ่งนี้มา และถ้าเรารู้สึกว่าเราเปลี่ยนแปลงได้ เวลาเราเห็นคนอื่นเปลี่ยน เราก็จะไม่ตกใจ เพราะว่ามันเป็นเรื่องปกติ มนุษย์เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เป็น creation of self ซึ่งมันไปเรื่อยๆ
เงื่อนไขของอีราสมุสระบุว่า เราจะไปเลือกเก็บข้อมูลที่ไหนก็ได้ แล้วเราเลือกทำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะในคลาสเราไม่เคยเรียน case study ที่มาจากภูมิภาคนี้เลย เวลาเราอยู่ในโลกเรา เราจะคิดว่า โลกเราเป็นเรื่องสำคัญ แต่จริงๆ แล้ว เราจะเห็นความสำคัญของภูมิภาคเรา เมื่อเราไปเปิดหนังสือเรียนต่างประเทศแล้วเราพบว่า อ้าว case study ของประเทศเราอยู่ไหน ไม่มี แล้วการที่คุณไม่มีพื้นที่ใน knowledge ของโลก ก็ไม่ต่างกับการที่คุณไม่มีตัวตนในพื้นที่โลกเหมือนกัน
เราต้องไปสู่จุดนั้นก่อนหรือเปล่า ถึงจะได้มีความรู้สึกว่า เราก็เป็นประชากรโลก
เราว่า ณ จุดนี้ ข้อมูลที่มันมีล้นหลาม เด็กรุ่นนี้ก็มีความเป็นประชากรโลกสูงแล้วนะ เป็นข้อดีที่ไม่สามารถจำกัดการเข้าถึงข้อมูลบางอย่างในประเทศได้ ทำให้เราแสวงหา ออกนอกกะลาตัวเองตลอดเวลา
แต่ประสบการณ์เชิงตรงก็มีความสำคัญอยู่ มีคนบอกว่า ตอนนี้เดินทางไปเรียนนอกประเทศไม่ได้ เราก็เรียนออนไลน์ได้นะ โอกาสดีที่ถ้าคุณไม่สามารถ afford ในการเรียนต่างประเทศได้ก็เรียนจากที่บ้านได้ แต่เราเชื่อว่าประสบการณ์บางอย่างมันต้องเป็นประสบการณ์มือหนึ่ง ต้องไปสัมผัสจริงๆ ถึงจะรู้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทั้งหมดทั้งมวลจริงๆ
แล้วก็การที่ต้องไปเผชิญหน้ากับความจริงว่าไม่เคยมีประเทศไหนสนใจภูมิภาคเราเลย ก็เป็นสิ่งที่ต้องไปกระแทกให้เห็นต่อหน้าต่อตาจริงๆ ว่าคุณอยู่ตรงไหนในพื้นที่โลกนี้ แล้วมันเป็นกึ่งหนึ่งมันเหมือนทำให้ตัวตนสลายนะ เพราะมันทำให้เห็นว่า เรามีโจทย์ issue ของเรา แต่โลกก็มีโจทย์ issue ของโลก ที่ก็ใหญ่สำคัญเหมือนกัน อย่าอยู่แค่กรอบของเรา
ในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้ความเป็นเราชัดเจนขึ้น เมื่อต้องไปอยู่ท่ามกลางความหลากหลายของคนอื่น
ถามว่า จะต้องไปสู่จุดนั้นไหม ถึงจะเห็น เราว่าถ้ามีโอกาสได้ โดยเฉพาะหนึ่งในเหตุผลที่อยากเขียนเรื่องนี้มากๆ เพราะว่า มันเป็นทุนที่มันเอื้อให้กับคนที่ไม่มีโอกาสจริงๆ เพราะมันจัดเต็ม ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ไปลองซักครั้ง แล้วพอคุณกลับมาใช้ชีวิตที่เหลือได้เปลี่ยนไปเลย คุณจะไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอีกแล้ว แล้วก็ยอมรับเรื่องความหลากหลาย ไม่ใช่แค่ความหลากหลายในประเทศ แต่เมื่อคุณเจอความหลากหลายที่มันสุดขีดขนาดนั้นแล้ว ที่บอกว่า ความหลากหลายมันสวยงาม คุณจะเห็นว่า อ๋อ มันสร้างสรรค์จริงๆ
มองเห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำว่ายังไงบ้าง
จริงๆ มันก็หลายเลเยอร์มาก อย่างช่วงนึง เราคิดว่าการที่ให้เด็กเก่งมาอยู่กับเด็กเก่ง ที่เราเรียกว่า GIFTED program มันจะทำให้เด็กยิ่งเก่งขึ้น แล้วเราก็จะยิ่งสามารถดึงเด็กกลุ่มนี้มาเพื่อการเติบโต ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจต่อไป มันเหมือนกับคุณแค่คัดครีมเพื่อไปเสิร์ฟฟันเฟืองอุตสาหกรรมบางอย่าง แต่เด็กที่เหลือล่ะ เราเคยอยู่ GIFTED program ซึ่งตอนนั้นก็เป็นพรีวิลเลจของเราอย่างหนึ่ง ที่ตอนนั้นเราได้ครูดีๆ มาฟูมฟักเต็มที่ ได้เรียนล่วงหน้าไปก่อนเพื่อน แต่มันไม่เคยเห็นเลยว่า แล้วเพื่อนที่เหลือล่ะ มันก็ห่างกันไปเรื่อยๆ อันนี้คืออยู่ในโรงเรียนเดียวกันนะ
ความเหลื่อมล้ำนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของความรู้นะ แต่เรื่องของการนับถือตัวเองด้วย เพราะครูก็ชอบยกยอปอปั้นเด็กกลุ่มนี้ เอาไปติดภาพหน้าโรงเรียน ความมั่นใจก็สุดโต่งเลย แต่เด็กกลุ่มหนึ่งที่อยู่ห้องท้ายๆ คุณว่าเขาจะมีความมั่นใจแบบไหน
เราว่าเราเป็นคนที่อยู่โลกสองใบมาตลอด ตอน ม.1 เราอยู่ห้อง 14 ซึ่งเป็นห้องสุดท้าย เราอยู่ในห้องที่ครูทรีตเหมือนกับว่า เด็กโง่สุด ความปล่อยปละละเลยต่างๆ นานา แต่ในขณะเดียวกัน พอเข้าม.ปลาย เราก็ดันถูกถีบมาอยู่ห้อง GIFTED ด้วยการที่เราก็ขวนขวาย ที่จะไปสู่จุดนั้นให้ได้ มันก็เลยเห็นว่ามีความแบบสุดโต่งกันระหว่างการทรีตของครูจริงๆ ที่ส่งผลต่อการนับถือตัวเอง ไม่ใช่แค่เรื่องคะแนนนะ ตอนอยู่ห้อง 14 เราคิดว่า เราโง่ เราไม่เก่ง พอเรามาอยู่ห้อง GIFTED ความมั่นใจเรามาเต็มเลย เชื่อว่าเราทำได้ เอาจริงๆ เราไปสอบทุน เราไม่มีคำถามอีกแล้วว่า เรามาจากที่นี่ เราจะทำได้เหรอ เพราะว่าเราถูกเติมเต็มความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมเลยว่า เราทำได้
อีกเรื่องคือ เราเติบโตจากคลองเตยระยะหนึ่ง แล้วได้ไปเรียนโรงเรียนดีๆ ซึ่งพ่อพาเราย้อนกลับไปดูคลองเตยตลอด แล้วจะพูดว่า ถ้าเรายังไม่ออกมา จะได้เรียนโรงเรียนวัด ซึ่งสภาพโรงเรียนไม่เทียบเท่ากับที่เราอยู่ ยังไม่พูดถึงสภาพแวดล้อมนอกห้องเรียน และความสนใจของครูที่แตกต่างกันอีกนะ เราว่ารากของปัญหาคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้พ่อแม่กลุ่มหนึ่งสามารถ afford การศึกษาแบบนึงได้ แล้วพ่อแม่อีกกลุ่มหนึ่งไม่สามารถ afford การศึกษาที่ดีได้ แล้วมันก็จะยิ่งห่างกันไปเรื่อยๆ อย่างนี้
จากที่อ่านในหนังสือ มีท่อนนึงที่บอกว่า เราไม่สามารถหาสิ่งที่ดีที่สุดในการศึกษาได้ การศึกษาที่ดี ไม่ได้ตายตัวขนาดนั้น หมายถึงอะไร
คำว่าดีหรือไม่ดีของแต่ละคนมันก็หลากหลาย เช่น คนที่ไปในคลาสมันก็มีคนที่ไปเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ห้องเรียนไม่ต้องอะไรกับมันมาก เขามีโจทย์ว่า มาเรียนรู้ประสบการณ์ช่วงที่ได้เดินทาง กับเพื่อนอินเดียก็เป็นนักวิชาการที่เรียนโทมาสองใบ เพื่อนอีกคนนึงก็เรียนจบแล้ว ตั้งใจเลยว่าจะไปต่อปริญญาเอก เขาก็มุ่งมั่นมากว่าจะเป็นสายวิชาการ แต่คุณจะพูดได้เหรอว่าใครดีกว่าใคร ทำไมคนนั้นไม่เรียน ทำไมคนนั้นเนิร์ดไป โจทย์ของแต่ละคนมันต่างกัน
สิ่งที่ทำได้คืออะไร เราว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นแค่ open space ที่รองรับทุกคนให้ได้ ก็สิ่งนึงในอีราสมุสที่มันเป็นทางเลือกให้เราเองว่า คุณไปถึงแล้ว คุณจัดการเองนะ คุณจะเลือก you only live once หรือคุณจะเลือกแบบ ฉันมีเส้นทางของฉันที่ต้องเดิน ซึ่งเราว่าไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา ถ้าคุณเห็นแบบนี้ มันไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องไปตัดสินใครเลยว่าโจทย์ของใครดีที่สุด
อีกเรื่องหนึ่งที่อ่านจากหนังสือแล้วสนใจ คือคำว่า ‘การพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงผลที่ไม่ตั้งใจ’ อยากให้เล่าถึงเรื่องนี้ให้ฟังหน่อย
ภาษาอังกฤษใช้คำว่า unintended consequence ซึ่งเราว่ามันก็เป็นโจทย์ของสังคมตอนนี้ด้วย เท่าที่เห็นนะ ไม่เคยมีใครตัดสินใจทำอะไรด้วย bad intention อันนี้บางคนอาจจะคิดว่าโลกสวย แต่ถ้าพูดจริงๆ คือ ทุกคนมีเหตุผลในการตัดสินใจที่จะทำในสิ่งนั้นของตัวเอง อาจจะไม่ใช่เพื่อผลดีของมนุษยชาติ แต่เขาตัดสินใจแล้วว่า มันเป็นผลดีกับอะไรสักอย่างหนึ่ง เขาถึงทำสิ่งนั้น
มันมีหนังสือชื่อ The Challenge for Africa เขียนโดย Wangari Maathai ที่เล่าเรื่องของ Africa’s dependency syndrome ที่อธิบายว่า แอฟริกาเป็นทวีปที่อยู่ภายใต้คำว่าพัฒนามาโดยตลอด คำถามคือ ทำไมเขาถึงไม่สามารถหลุดจากบ่วงนี้ได้ซักที ทั้งๆ ที่ทุกประเทศก็ระดมทุนให้ความช่วยเหลือไปที่แอฟริกามากมาย แต่มันกลายเป็นว่า มีความคิดบางอย่างของคนที่เขารู้สึกว่า ยังไงเขาก็จะได้รับ ฉะนั้นมันไม่มีความจะเป็นที่จะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรเอง หรือด้วยความที่เขาจะทำอะไรปุ๊บ ต่างประเทศจะเข้ามาแทรกแซงตลอด มันก็กลายเป็นว่า ฉันคิดอะไรเองไม่ได้เลย ทั้งที่เขาก็มีบริบทของตัวเองที่ต้องจัดการ อันนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างของผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจจากความปราถนาดีของเรา ซึ่งเราจำเป็นต้องตระหนักให้รอบด้านว่า คนอื่นเขาก็มีทางเลือกของเขาเหมือนกัน
ผลที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจ มีผลกับด้านการศึกษาในสังคมไทยยังไงบ้าง
เยอะมากเลย อย่างการศึกษาที่กระทรวงฯ ออกมา ถ้าพูดอย่างถึงที่สุด เขาไม่ได้ออกหลักสูตรมาด้วยเจตนาไม่ดี แต่เขาแค่ไม่ตระหนักให้รอบด้าน ซึ่งด้วยความที่คุณทำหน้าที่ตรงนั้น คุณมีหน้าที่ที่จะตระหนักให้มันรอบด้าน คือเราไม่ได้เห็นใจเพื่อให้ปล่อยเลยตามเลย เราเรียกร้องความรับผิดชอบจากคุณเหมือนกัน เพราะว่ายิ่งคุณมีอำนาจเยอะในการกำหนดอะไรเมื่อไหร่ คุณยิ่งต้องรับผิดชอบและมองให้รอบด้านมากขึ้นเท่านั้น
อย่างเรื่อง GIFTED เราว่าก็เป็นเจตนาดีของเขา ที่ต้องการจะบ่มเพาะเด็กกลุ่มหนึ่งให้เติบโตไปได้ดี แต่เขาไม่ได้มองให้รอบด้านว่า เมื่อ A เกิด B มันจะเกิด ส่งผลอะไรบ้าง เราว่าเขามองในเรื่องของการจัดการ ทำระบบ standardize ให้เท่ากัน ซึ่งมันง่ายต่อการจัดการดี แต่การที่คุณมองไม่รอบด้าน มันทำให้เกิด consequence ออกมาอีกเป็นพวง
สุดท้าย learning มันไม่ควรจะเป็น mass education อีกแล้ว ครั้งนึงมันอาจจะเป็น mass education ในช่วงแบบศตวรรษที่ 17 ช่วงอุตสาหกรรมที่ทุกคนต้องผลิตให้เร็ว ผลิตให้ไว้ ผลิตให้เท่ากัน ต้องคิดเหมือนกัน เพราะตอนนั้นเป็นเรื่องเครื่องจักร แต่ตอนนี้เรามาถึงศตวรรษที่ 21 แล้ว แต่คุณยังใช้กระบวนทัศน์เดิมในการจัดการการศึกษาของคน มันผิดนะ เราแค่เคยชินกับรูปแบบนี้ แต่ตอนนี้มันต้องไม่เป็นแบบนั้นแล้ว มันต้อง customized มันต้องเป็น learning ของเขา ต้องปล่อยให้เป็นพื้นที่ในการสร้างตัวตนของเขาเอง
ดังนั้น ถ้าคุณจะกลับไปมองแค่การจัดการง่าย เป็นสิ่งที่ทำให้คุณจัดการ มันก็ผิดตั้งแต่แรก เพราะโจทย์มันไม่ใช่เพื่อการจัดการ โจทย์มันเพื่อการเรียนรู้และเติบโตของคนคนนึง
ก่อนหน้านี้พูดไว้ว่า มันมีสิ่งที่เราต้องทำตอนกลับมา สิ่งนั้นคืออะไร แล้วมันตรงกับสิ่งที่ได้ทำจริงๆ ไหม
จริงๆ ก็เป็นการเปลี่ยนไปเยอะเลยนะ ก่อนหน้านั้นเราคิดว่า เราเป็นคนที่มีโจทย์ทางสังคมนู่นนี่นั่นเยอะ ไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตาม กึ่งหนึ่งก็ดูเหมือนดี แต่อีกกึ่งหนึ่งมันก็เป็นโลกที่เราแบกไว้โดยที่ไม่มีใครรู้ แล้วมันก็ไม่จำเป็น ทำให้เราเคลื่อนที่ไม่ได้ ต่อให้เราตั้งคำถามกับโลกพัฒนา แต่เราก็รู้สึกว่ายากที่เราจะย้ายมาอยู่วงการอื่น เพราะเรารู้สึกว่าเราก็จำกัดตัวเองไปแล้วว่าเราเป็นอะไร แต่เราว่าด้วยทุนนี้ ทำให้เราไม่สนแล้วว่าเราจะอยู่ในวงการไหน ถูกเรียกว่าอะไรก็ตาม ถามว่าเรากลับมาทำอะไร เราก็แค่รู้สึกว่า ถ้าตอนนี้เราทำอันนั้นได้ เราจะทำ
กับอีกเรื่องหนึ่งคือ เราเคารพตัวเองมากขึ้นด้วยว่า มันเป็นสิ่งที่เราอยากทำ โดยไม่ต้องมานั่งตัดสินว่าถูกผิด หรืออะไร ตอนนี้มันคือยอมรับความรู้สึกตัวเองว่านี่คืออิสระที่เราจะทำ แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยว่าเราจะอยู่ในพื้นที่นี้ได้อีกนานแค่ไหน เราไม่รู้ว่าเราจะอยู่ในวงสื่อนานแค่ไหน แต่ถ้าตอนนี้เราอยู่ เราก็ทำ แล้วคิดว่ามันคงจะเป็นแบบนี้ตลอดชีวิต ตอนวัย 20 เราอาจจะคิดว่า มันต้องมี end goal อะไรบางอย่าง มีแบบ dream career มี passion บางอย่างที่เราปักหมุด แต่พอมาตอนนี้ก็รู้สึกว่า เราก็ไม่รู้ว่ามันใช่จุดนั้นหรือเปล่า แล้วเราก็คงไม่รู้ไปจนถึง 40 50 60 ซึ่งเราว่าจริงๆ ก็ดีแล้ว ก็แค่ปล่อยมันไป แล้วก็พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ทำใดๆ ก็ตามที่มันอยู่ตรงหน้า ตามที่เราเลือกแล้วด้วยว่าฉันจะทำในสิ่งนี้
ในหนังสือมีเขียนเอาไว้ว่า “พอเราขึ้นเครื่องบินไป กลับมาอีกครั้ง เราจะกลายเป็นอีกคนนึง” ตอนนี้คิดว่าตัวเองเป็นยังไงบ้าง
มองว่า ตอนที่เราไปมันมีโจทย์เยอะมาก มันมีไดอารี่ของเราที่เราจะเขียนประโยคนึงเสมอว่า The greatest benefit of education is for the benefit of mankind ก็คือ ประโยชน์ที่สูงสุดของการศึกษา ก็คือผลประโยชน์ของมนุษยชาติ โจทย์ยิ่งใหญ่มาก แล้วเราก็ปักหมุด ช่วงเทอมแรกเราเลยมีความคิดว่า มาทำอะไรอยู่ที่นี่ ทำไมเราไม่ทำงาน ทำไมไม่ contribute บางอย่าง เหมือนด่าตัวเองตลอดเวลาด้วยความไม่จำเป็น
แต่พออยู่ไปซักพัก ในห้องเรียนก็ปลดล็อกเชิงความคิดทุกอย่าง ทำให้เราปลดล็อกกับตัวเองด้วยว่า คุณเองก็มีพื้นที่ของคุณเหมือนกัน การที่เรากล้าเปล่งเสียงในคลาสมากขึ้น มันก็ทำให้เรากล้ายอมรับในเสียงและความคิดของเราว่า มันควรมีพื้นที่ของมัน ไม่ผิดที่เราจะคิดแบบนี้ โอเคที่เราจะคิดต่าง และเราจะคิดแบบนั้นคนเดียวก็ได้ มันไม่จำเป็นว่าต้องเหมือนใครในห้อง แล้วมันก็กลายเป็นการปลดล็อกตัวเองไปเรื่อยๆ จนตอนนี้เราไม่ต้องแบกโจทย์อะไรอีกแล้ว เรารู้สึกว่า ถ้าเราจะทำแล้วมีประโยชน์กับใครได้ ดี ดีมากเลย ขอบคุณตัวเองและโอกาสที่มันเข้ามา แต่ถ้ามันจะไม่เกิดอะไร ก็บอกตัวเองว่าจะทำอยู่ดี
เหมือนตอนแรกที่เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา พี่ บก.ถามว่า จะเขียนไปทำไม เราก็บอกว่า เราอยากโปรโมททุน นั่นคือโจทย์ตอนแรก แต่พอเขียนไป ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะโปรโมทหรือไม่ ถามว่าเราจะยังเขียนเล่มนี้อยู่ไหม เราก็จะเขียนอยู่ดี แม้ว่ามันจะเพื่อตัวเราเองก็ตาม เราก็จะทำ ถามว่ามันเปลี่ยนไปเป็นยังไงไหม ก็ไม่ต้องแบกโลกอะไรมากขึ้น แต่เราก็รับรู้ว่าเราอยู่ท่ามกลางโลก แล้วมันก็เบา ฉันมีพื้นที่ของฉัน แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่ฉันก็ไม่ใช่จักรวาล คนอื่นก็มีพื้นที่ของเขา
อันนี้คือสิ่งที่เราตกผลึกมาจากโครงการนี้?
น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นจากโครงการนี้ เพราะถ้ามองย้อนกลับไป สมมติเราไม่ได้ไป เราคงยังอยู่ในภาคประชาสังคมต่อ ซึ่งจริงๆ ต้องขอบคุณหัวหน้าคนนั้นที่บอกว่า มีเวลาทำงานเท่าไหร่ก็ได้ แล้วเราว่ามันคงหลอนเราไปตลอดชีวิตว่า ถ้าวันนึงเราอายุ 40 แล้วสมมติว่าเราผิดหวังกับงาน แล้วทำไมเราตัดสินใจที่จะไม่รับโอกาสที่เข้ามาวะ เราว่าความรู้สึกเสียดายคงเป็นสิ่งที่หลอนเราไปตลอดชีวิต คือถ้างานประสบความสำเร็จก็ว่าไปนะ แต่ต่อให้ประสบความสำเร็จ มันก็จะยังมีความสงสัยว่า ถ้าเราไป มันจะเป็นยังไง แต่ถ้ามันผิดหวัง เราจะโคตรดิ่งเลยนะว่าเราเลือกอะไรอยู่ ก็อาจจะเป็นอีกอันนึงที่เรารู้สึกว่า ทำอะไรก็ได้ที่มันจะไม่เหลือพื้นที่ให้กับความเสียดายอีกต่อไปแล้ว
เอาจริงๆ โจทย์นึงที่ยากตอนเขียนเล่มนี้คือ การเล่าเรื่องตัวเองมันไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ต่อให้เราไม่ได้เล่าเรื่องส่วนตัวมาก แต่เราเพิ่งรู้ว่า การเอาตัวเองขึ้นเป็นประธานของประโยคว่า ‘ฉัน’ มันไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้นนะ เหมือนการเปลือยตัวเองให้คนอื่นดูถึงความคิดของเรา
แต่ถ้าถามว่า เราจะเสียดายไหม ถ้าไม่ทำหนังสือเล่มนี้ เราว่าเราก็จะมีคำถามนี้ไปตลอดชีวิตว่า ทำไมถึงไม่ทำ ในตอนที่รู้สึกว่า ฉันจะต้องเขียนมันออกไป ฉะนั้น ก็ยอมรับตัวเอง ที่มันจะไม่เหลือพื้นที่กับความเสียดาย น่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้จากทุนนี้
ตอนนี้ไม่มีอะไรที่เสียดายกับหนังสือเล่มนี้แล้ว
ก็ใช่ แต่จริงๆ อาจจะมีอีก คือเราก็ไม่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้หนาหรือบาง แต่ว่าช่วงเวลาสองปีจริงๆ มีเรื่องเยอะแยะมากๆ คือในเล่มนี้ ฉากสิงคโปร์แทบไม่มีเลย ตัดไปเยอะ เพราะต้องเลือกว่าจะเอาเรื่องไหนมาใส่ เรื่องความสัมพันธ์ เพื่อน ครู การเก็บข้อมูล หรือกระทั่งทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในคลาส ถ้าจะเสียดายก็มีบางเรื่องที่เราอยากจะเล่า แต่พื้นที่มันไม่พอ
แต่ถ้าถามว่า ตอนตายจะรู้สึกเสียดายอะไรกับหนังสือเล่มนี้ไหม เราคิดว่า เราโอเคกับหนังสือเล่มนี้แล้วนะ