ถ้าใครติดตามพฤติกรรมของบุคคลสำคัญในรัฐบาล คสช. ก็คงจะพอรู้ว่า บรรดานายพลทั้งหลายต่างมีทัศนคติในทางลบ หรือพูดง่ายๆ คือ ‘ไม่ค่อยไว้ใจ’ การสื่อสารบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยครั้งหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกับบอกว่า การเสพข่าวบนโซเชียลมีเดียอย่างเดียวถือเป็น ‘อันตรายของทั้งโลก!’
ดังนั้น การที่ที่ประชุม สนช. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ฉบับใหม่ ด้วยมติเอกฉันท์ 168 เสียง จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร
แม้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายๆ ว่าร่างกฎหมายนี้มีปัญหาหลายจุด ทั้งกำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูล หรือ กบว.ออนไลน์ขึ้นมาปิดเว็บไซต์ที่มองว่า ‘ผิดศีลธรรม’ ได้ แม้ไม่ผิดกฎหมาย (มาตรา 20/1 ที่ต่อมาถูกแก้ไขให้เป็นมาตรา 20(4)) หรือการกำหนดให้ผู้บริการต้องลบข้อมูลที่มีคนมาแจ้งว่าอาจผิดกฎหมายภายใน 3 วันนับแต่ได้รับแจ้ง ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเซ็นเซอร์ข้อมูลโดยปริยาย เพราะผู้ให้บริการกลัวความผิด (มาตรา 15) ฯลฯ
และแม้ภาคเอกชนจะแสดงความห่วงใยว่าร่างกฎหมายนี้อาจกระทบกับการทำธุรกิจ แต่ถ้าดูคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีการยกคำว่า ‘ความสงบเรียบร้อย’ และ ‘ความมั่นคงของชาติ’ มาสนับสนุน พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ก็ชัดเจนว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับเหตุผลใดเป็นลำดับต้นๆ
หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ ช่วงต้นปี 2558 ครม. เคยมีมติเห็นชอบชุดกฎหมายที่อ้างว่าจะช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจดิจิทัล จำนวน 8 ฉบับ แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นชุดกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์เสียมากกว่า เนื่องจากมีร่างกฎหมายบางส่วนที่ ‘อนุญาตให้รัฐค้น ยึด อายัด ขอ เข้าถึง และดักรับข้อมูลได้ โดยไม่มีกลไกการพิจารณาตรวจสอบใดๆ จากหน่วยงานตุลาการที่เชื่อถือได้’ อันถือเป็นการคุกคามสิทธิในการแสดงออก และละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล
ขณะที่ในเดือนสิงหาคม 2558 ก็ยังปรากฏข่าว พล.อ.ประยุทธ์สั่งการในที่ประชุมให้กระทรวงไอซีทีในขณะนั้น ไปพิจารณาเรื่องการจัดตั้ง single gateway ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นำไปสู่การออกมาต่อต้านและล่ารายชื่อคัดค้านอย่างรวดเร็ว จนรัฐบาล คสช. ต้องยอมล่าถอยในเวลาต่อมา แต่ก็เป็นเพียงการถอยชั่วคราวเท่านั้น
เพราะรัฐบาลใช้วิธีกระจายผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ที่อยู่ในชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และทยอยส่งมาให้ สนช. พิจารณาทีละฉบับ ที่ผ่านความเห็นชอบจากไปแล้ว มี 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี ขึ้นมาแทนกระทรวงไอซีที) และ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. โดยมีร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ฯ เป็นฉบับล่าสุด
ส่วนร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….หรือ พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ แม้ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ในวาระแรกไปแล้ว แต่ยังอยู่ในการพิจารณาชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญ
เหลืออีก 4 ฉบับ ที่ยังไม่ได้ส่งมาให้ สนช. พิจารณา แต่ก็มีสัญญาณจากทางรัฐบาล คสช. ว่าภายในเดือนมีนาคม 2560 ทุกฉบับจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาซึ่ง คสช.แต่งตั้งมาให้ออกกฎหมายนี้
ซึ่งโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้ระบุว่า มีร่างกฎหมายที่น่าเป็นห่วงที่สุด 2 ฉบับ ได้แก่
ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ที่จะให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ โดยไม่ต้องมีหมายศาล เพื่อคุ้มครองป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ต่อความมั่นคงของประเทศ
ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งควรจะเป็นกฎหมายที่มาคุ้มครองประชาชนให้มากขึ้น แต่ฉบับล่าสุดที่เห็นกลับมีหลักการให้การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน เพียงแค่แจ้งให้ทราบก็พอ
(ส่วนอีก 2 ฉบับได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. มีเนื้อหาไม่ค่อยน่าเป็นห่วงนัก)
แม้ภาครัฐจะออกมาปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ รวมถึงร่างกฎหมายอื่นๆ ที่เตรียมส่งให้ สนช. พิจารณา จะไม่มีฉบับใดพูดถึงเรื่อง single gateway เลย แต่ iLaw ก็มองว่า “หากร่างกฎหมายทุกฉบับที่จะเพิ่มอำนาจให้รัฐเข้ามาควบคุมการสื่อสารของประชาชนผ่านการพิจารณาและประกาศใช้ทั้งหมดได้ แม้ว่า รัฐไทยจะไม่สามารถลงทุนสร้าง single gateway ในทางกายภาพได้ แต่รัฐก็จะมีอำนาจควบคุมทั้งข้อมูลและเนื้อหาได้ทุกแง่มุมตามที่ต้องการ ซึ่งให้ผลลัพธ์ไม่ต่างอะไรกับการสร้างทางเข้าออกของข้อมูลให้เป็นทางเดียวนั่นเอง”
ก่อนหน้านี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ต หรือ Thai Netizen Network ได้จัดทำแผนผังว่าด้วยความพยายามควบคุมการสื่อสารในโลกออนไลน์ของรัฐบาลชุดนี้ หรือ ‘ผังล้มเน็ต’ โดยจะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปี 7 เดือนที่ผ่านมา คสช. ได้ออกประกาศหรือคำสั่งนับสิบฉบับ ในการควบคุมการไหลเวียนของข่าวสารในโลกออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งห้ามการนำเสนอข้อมูลแบบใด ตั้งคณะทำงานขั้นมาสอดส่อง หรือสั่งปิดบางสื่อที่ขัดกับประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว
นับแต่ คสช.ยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เหตุผลเรื่อง ‘ความสงบเรียบร้อย’ และ ‘ความมั่นคงของชาติ’ ถูกนำไปใช้กับแทบจะทุกเรื่อง
แต่ในขณะที่โลกออฟไลน์ คสช.มีเครื่องมือมากมายในการจัดการให้เป็นไปตามที่ต้องการ โดยเฉพาะการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในโลกออนไลน์ คสช.กลับรับรู้ถึงข้อจำกัดของตัวเอง ในการคอนโทรลให้ทุกอย่างเป็นไปแนวทางที่ตัวเองอยากให้เป็น
การออก พ.ร.บ.คอมพ์ฯ จึงถือเป็นก้าวแรกๆ ในการสร้างเครื่องมือที่จะทำให้เกิด ‘โลกไซเบอร์ในอุดมคติ’ ของ คสช. ขึ้นมา
แม้จะมีคำถามว่า โลกไซเบอร์ในอุดมคติดังกล่าว เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ ต้องการ และได้รับประโยชน์ จริงๆ หรือไม่ก็ตาม