‘กรุงเทพฯ’ ศูนย์กลางของประเทศไทยที่ชาวเมืองไม่เคยได้นิ่งนอนใจในวันที่ฝนตกหนักสักวัน
แม้ว่าเหล่านักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญจะบอกว่า กรุงเทพฯ นั้นปลอดภัยหายห่วง แต่ฝนที่ยังตกลงมาอย่างไม่หยุดหย่อนได้ย้ำเตือนให้เราต้องเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้
พื้นที่ที่มักจะรองรับปริมาณน้ำฝนเยอะเป็นอันดับต้นๆ ในช่วงนี้ และเกิดเหตุน้ำท่วมระบายไม่ทันอยู่เป็นประจำคือ ‘แจ้งวัฒนะ’ จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนในการสัญจรทั้งหลายนี้เขาอยู่กันอย่างไร
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวถึงประสบการณ์ที่พวกเขาเคยประสบบนถนนแจ้งวัฒนะ ที่ไม่ว่าฝนจะตกทีไรน้ำจะต้องท่วมทุกที และเสียงของประชาชนที่อยากส่งไปถึงผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการให้เร่งแก้ไข รวมไปถึงการพูดถึงอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้ปัญหานี้ยังดำเนินต่อไป
ศูนย์(รวมการติดต่อ)ราชการ ที่ประชาชนต้องฝ่าน้ำท่วม
คนแรกที่เราได้พูดคุยด้วยคือ ‘ปอนด์’ วัย 31 ปี ที่เคยทำงานอยู่ละแวกแจ้งวัฒนะอยู่ราวๆ 5 ปี และใช้ถนนเส้นนี้ในการสัญจรอยู่เสมอ
“ทุกครั้งที่ฝนตก น้ำจะท่วมสูง สูงในที่นี้คือเกินครึ่งล้อมอเตอร์ไซค์ แล้วตอนนั้นเราขับมอเตอร์ไซค์ก็ต้องไปวิ่งอยู่เลนริมที่น้ำมันท่วมต่ำที่สุด ซึ่งก็ต้องวิ่งเลนเดียวกับรถที่หนีน้ำด้วยทำให้น้ำมันสาดเข้ามา และมอเตอร์ไซค์เราดับที่ถนนเส้นนี้บ่อยมาก” ปอนด์เริ่มเล่าและบอกต่อว่า ปกติถ้ามันไม่ไหวจริงๆ ก็จะจอดรถรอแต่บางครั้งก็ยอมฝ่าไป แต่พอรถดับก็ต้องเข็นลุยไปจนถึงจุดที่ไม่ท่วม ซึ่งก็อยู่ไกลเช่นกัน” ปอนด์เล่า
“เคยคุยกับคนที่อาศัยในละแวกนั้นที่เขาไปร้องเรียนเทศบาลนะแต่ไม่รู้ผลเป็นยังไง เพราะมันก็คนละเขตการจัดการกัน (นนทบุรี)” ปอนด์กล่าวและเสริมว่าอยากให้รัฐและหน่วยงานของทั้ง 2 จังหวัดพูดคุยกันอย่างจริงจังถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
“อยากให้ทั้งทางสำนักงานเขตและทางเทศบาลคุยกันให้ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างไรแบบจริงจัง เพราะว่าพื้นที่ตรงนั้นมันเป็นแอ่ง มันท่วมโซนนั้นไปทั้งหมดเลย และโซนแจ้งวัฒนะมันเต็มไปด้วยหน่วยงานรัฐ ทั้งศาล ทั้งศูนย์ราชการ” ปอนด์กล่าว
“มันมีสถานที่ราชการเยอะ มันไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมสถานที่เหล่านั้นอยู่แล้ว เพราะเป็นที่ที่ประชาชนต้องเดินทางไป-มา ที่สำคัญคือประชาชนในละแวกนั้นก็เยอะ การปล่อยให้เขาสัญจรลำบากมันจึงเป็นปัญหา” ปอนด์กล่าว
“นี่แค่คนที่มาทำงานละแวกนั้นเฉยๆ นะ ไม่ใช่คนที่อาศัย ถ้าคนที่อาศัยต้องเจออะไรแบบนี้ตลอด โคตรน่าเศร้า” — ปอนด์
คนต่อมาที่เราพูดคุยด้วยคือ ‘แตงโม’ ข้าราชการ วัย 35 ปี ที่อาศัยอยู่ในเมืองทอง และทำงานที่แจ้งวัฒนะ โดยจะต้องสัญจรผ่านเส้นทางนี้ทุกวัน
เธอเล่าย้อนกลับไปในปี 2565 ที่ผ่านมาโดยปกติแล้วเธอจะขับรถส่วนตัวไป-กลับที่ทำงานกับบ้านทุกวัน จนกระทั่งเหตุการณ์ในวันที่ 3 ของเดือนตุลาคม เธอบอกว่าวันนั้นเป็นวันแรกที่เธอไม่สามารถขับรถกลับบ้านได้
“วันนั้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ไม่สามารถขับรถกลับบ้านเองได้ และตอนนั้นรถไฟฟ้าสายสีชมพูยังไม่เปิดใช้ เลยต้องติดรถเพื่อนที่เป็นรถสูง ใช้เวลาออกจากที่ทำงาน 16:35 น. จำได้ว่าต้องลุ้นมากว่าจะไปทางไหนดี ตรงไหนน้ำท่วมสูง ตรงไหนท่วมน้อย” ข้าราชการวัย 35 ปีเล่าถึงประสบการณ์ที่จำไม่ลืมของเธอ
“ต้องลุ้นว่ารถจะดับไหม เพราะระหว่างทางเจอทั้งรถดับและรถควันขึ้นตลอดทาง กว่าจะถึงบ้านในเมืองทองก็ปาเข้าไป 20:26 น. ซึ่งมันเกือบ 4 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่ปกติจะใช้เวลาในการขับรถประมาณ 30 นาทีก็ถึงบ้านแล้ว เลยเป็นเหตุการณ์ที่ยังจำฝังใจจนถึงทุกวันนี้” — แตงโม
เราถามถึงสิ่งที่อยากให้ภาครัฐช่วยเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งแตงโมบอกว่า เป็นไปได้อยากให้มีการลอกท่ออยู่เป็นประจำ ก่อนหน้าฝนเพื่อที่อย่างน้อยจะได้ระบายน้ำได้อย่างดี และก็อยากให้รัฐมีช่องทางสื่อสารกับประชาชน อาจจะมีการแจ้งเตือนประชาชนแบบ Real-time ผ่านทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น เพื่อสื่อสารกับประชาชนล่วงหน้าให้วางแผนการเดินทาง
การจัดการขยะและระบบระบายน้ำ
‘ต้นกล้า’ นักเขียนวัย 27 ปี ที่อยู่อาศัยในซอยแจ้งวัฒนะปากเกร็ด 19 ตรงข้ามกับห้างดังย่านแจ้งวัฒนะมาตั้งแต่ปี 2558 เล่าว่า
“อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เรียนมหาลัยตั้งแต่ปี 58-59 เคยเจอน้ำท่วมหนักๆ อยู่ 2-3 ครั้ง ครั้งแรกคือตอนเรียนอยู่ปีหนึ่ง เจอน้ำท่วมขึ้นมาถึงหน้าบ้านซึ่งน้อยมากที่จะเจอแบบนี้ จำได้ว่าตอนนั่งรถตู้กลับบ้าน คนขับต้องจอดเลนขวาสุดเพราะเข้าไปจอดตรงป้ายไม่ได้”
เราถามต้นกล้าถึงความยากลำบากที่เขาเผชิญในการใช้เส้นทางแจ้งวัฒนะเพื่อสัญจรทั้งในวันธรรมดาและวันที่น้ำท่วม
“ถามว่ากระทบชีวิตเราไหม ก็ประมาณนึง แจ้งวัฒนะมันคือย่านที่รถไม่เคยโล่งอยู่แล้ว แล้วยิ่งทำถนนตลอดๆ ยิ่งทำให้เราลำบาก” — ต้นกล้า
ต้นกล้ามองว่า หนึ่งในปัญหาหลักๆ ที่ทำให้น้ำท่วมถนนแจ้งวัฒนะคือ ‘การทิ้งขยะ’ เนื่องจากประชาชนและผู้ประกอบการก็มักจะทิ้งขยะ หรือเศษอาหารลงท่อ ทำให้เป็นไขไปอุดตันการระบายน้ำ
“คนทั่วไปที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่ก็เหมือนกันซึ่งมันควรเป็นที่เป็นทาง หรืออย่างน้อยคุณรับผิดชอบของเสียเหล่านั้นด้วยตัวเองได้ถ้ายังอยากค้าขาย ซึ่งรัฐควรออกกฎง่ายๆ เรื่องบริเวณขาย, การกำจัดของเสียหรือเศษอาหาร” ต้นกล้ากล่าว
สิ่งที่ต้นกล้าพูดมีจุดที่น่าสนใจคือ การเทเศษอาหารทิ้งลงท่อระบายน้ำ หรือการทิ้งขยะลงถนน ย้อนกลับไปในปี 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เคยพูดไว้ในไลฟ์ขณะลงพื้นที่สำรวจน้ำท่วมขังไว้ว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้น้ำระบายได้ยากคือขยะถุงพลาสติก ที่ไหลมาอุดตันทางน้ำ ทำให้น้ำเอ่อล้น “อย่าลืมว่าแค่ถุงพลาสติกใบเดียวของเราก็อาจทำให้น้ำท่วมได้”
‘ขยะล้นเมือง’ รวมถึงขยะในคูคลองกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ สถิติจากสำนักการระบายน้ำกรุงเทพฯ เปิดเผยข้อมูลขยะที่เก็บในคลองกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2558 – 2562 รวมกว่า 387,261 ตัน ซึ่งมันเกิดจากการทิ้งขยะไม่ลงถังหรือเลือกที่จะทิ้งขยะลงคูคลองโดยตรง
นอกจากปัญหาขยะ คือ ‘ระบบการจัดการ’
ความท้าทายการจัดการน้ำท่วมขังที่ย่านแจ้งวัฒนะ ไม่ได้มีเพียงแค่คือการเป็นพื้นที่ที่คาบเกี่ยวกับทั้งกรุงเทพมหานคร และนนทบุรี ที่ต้องมีการ ‘บูรณาการของส่วนราชการ’ แต่ยังรวมถึง การก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ส่งผลต่อการจราจรในช่วงเวลาปกติอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังมีปัจจัยจากการเติบโตของพื้นที่ ที่มีทั้งสถานที่ราชการขนาดใหญ่ สถานประกอบการ หมู่บ้านจัดสรร และห้างสรรพสินค้า
อวิรุทธ์ สุขสมอรรถ TEAM GROUP เคยอธิบายผ่านบทความในประชาชาติธุรกิจ เอาไว้ว่า ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการจัดการน้ำท่วมขังในย่านแจ้งวัฒนะ คือการพัฒนาพื้นที่ที่ทำให้ผิวดินสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ไม่สอดคล้องกับระดับท้องของท่อระบายน้ำเดิม ทำให้การระบายเป็นไปได้ยาก
“คูน้ำเดิมถูกแทนที่ด้วยท่อระบายน้ำ และพื้นที่ที่อยู่ในซอยแยกเป็นที่ต่ำกว่าถนนแจ้งวัฒนะ มีท่อระบายน้ำจากซอยแยกลงสู่ถนนแจ้งวัฒนะ ท่อระบายส่วนใหญ่ก่อสร้างไว้นานแล้ว เมื่อรวมกับปัญหาการทรุดตัวของดิน ทำให้ระดับท้องท่อระบายน้ำไม่สอดคล้องกับระบบระบายน้ำริมถนนหลัก การไหลของน้ำจึงทำได้ยากขึ้น” อวิรุทธ์ อธิบายผ่านบทความในประชาชาติธุรกิจ
อวิรุทธ์ เสนอด้วยว่า แนวทางแก้ไขเรื่องนี้ อาจจะเป็นการสร้างเส้นท่อรับน้ำจากระบบท่อระบายน้ำสองข้างถนนเป็นระยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ ก็ยังต้องการระบบและเครือข่ายการจัดการที่แข็งแรง แม้ว่า ‘น้ำท่วม’ จะมาจากหลายปัจจัย แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็ยังต้องการการแก้ปัญหาจากทุกฝ่ายเพื่อให้เมืองเติบโตต่อไปพร้อมๆ กัน