“ทำไมชาวต่างชาติเยอะ”
ความเห็นเชิงตั้งคำถามจากผู้คนที่ไปชมคอนเสิร์ตโคลด์เพลย์ (Coldplay) วงดนตรีสัญชาติอังกฤษ เมื่อวันที่ 3 และ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และยังมีประเด็นเช่น ลักกี้แฟน (Lucky Fan) ที่ถูกเลือกขึ้นเวทีล้วนเป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น
ทำให้ตลอดช่วงนั้นการมาเยือนประเทศไทยอีกครั้งของวงดนตรีระดับแนวหน้าของโลก ถูกพูดถึงในหลายด้านที่ไม่ใช่เพียงการชื่นชมการแสดงอันยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องสัดส่วนของชาวต่างชาติที่ดูเหมือนจะมีเยอะจนผิดหูผิดตา
ดังนั้น The MATTER จึงขอรับหน้าที่ค้นหาเหตุผลว่า ทำไมชาวต่างประเทศถึงมารวมตัวกันที่คอนเสิร์ตที่ไทยมากขึ้น และปรากฏการณ์นี้มีอะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นตามมาบ้าง?
เสียงจากเพจดนตรี : กฎเกณฑ์ที่คุมไม่อยู่ในคอนเสิร์ต
เราได้พูดคุยกับเพจที่มีการพูดถึง คอนเสิร์ต Coldplay ประมาณ 4 เพจ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เพจ Coldplay Thailand Fanpage โดยทั้งหมดระบุคล้ายๆ กันว่า ประเด็นที่ลูกเพจไม่พอใจในคอนเสิร์ตมีอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ ความน้อยใจของคนไทยที่รู้สึกเหมือนเป็นคนกลุ่มน้อยในคอนเสิร์ต และพฤติกรรมที่ชาวต่างชาติหลายคนไม่ค่อยเคารพกฎเช่น สูบกัญชา ระหว่างดูคอนเสิร์ต ทำให้คนเอนจอยกับคอนเสิร์ตน้อยลง ซึ่งพวกเขาเห็นเจ้าหน้าที่ควรเข้มงวดมากกว่านี้ ด้วยการสื่อสารอย่างจริงจังว่าการใช้สิ่งเหล่านี้ในพื้นที่สาธารณะนั้นผิดกฎหมายของประเทศไทย
“คิดว่าจริงๆ แล้วผู้คนติดใจเรื่องการเมนชั่นถึงประเทศอื่นบ่อยๆ มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ความผิดของชาวต่างชาติ แต่ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการให้คนไทยมีสิทธิเข้าถึงมากกว่า ผู้จัดทุกเจ้าควรแก้ปัญหาตรงนี้ให้ได้ ส่วนเรื่องศิลปินอาจจะต้องวานผู้จัดกระซิบบอกนิดหนึ่งว่า อะไรเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในประเทศที่เยี่ยมเยือน”
ส่วนตัวคิดว่าการมาดูคอนเสิร์ตของคนต่างชาติถือว่าเป็นเรื่องปกติ เหมือนที่เราก็ไปดูคอนเสิร์ตและเฟสติวัลที่ต่างประเทศ แต่อยากให้คนต่างชาติที่มาชมเคารพกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ของการชมคอนเสิร์ตที่ทางผู้จัดกำหนดขึ้นด้วย เพื่อไม่สร้างความเดือดร้อนหรือความรำคาญให้กับผู้อื่น
ต่างชาติเยอะ = ไทยกำลังก้าวสู่ ‘ศูนย์กลาง’ การจัดคอนเสิร์ต?
เมื่อปี 2023 Margeting Oops ระบุว่า ช่วงปี 2022 ประเทศไทยมีการจัดคอนเสิร์ต เฟสติวัล และแฟนมิตติ้ง รวมทั้งสิ้น 210 งาน เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ราว 22% และปี 2023 ก็มีเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนครึ่งปีแรกของปี 2024 มีการประกาศจัดงานอย่างเป็นทางการไปแล้วอย่างน้อย 40 งาน
อย่างไรก็ตาม ศิลปินเบอร์ใหญ่ เช่น เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) เลือกจัดคอนเสิร์ตสุดยิ่งใหญ่ที่สิงคโปร์เท่านั้น แม้แต่ Coldplay ก็ยังจัดคอนเสิร์ตที่นั่นถึง 6 รอบด้วยกัน
เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ประเทศโดยรอบสิงคโปร์อย่าง ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีฐานแฟนคลับและมีกำลังซื้อมากกว่า ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านเรา ซึ่งก็คือ พม่า ลาว และกัมพูชา โดยข้อมูลจาก IMF ปี 2023 ระบุว่า ในกลุ่มประเทศอาเซียน สิงคโปร์มี GDP หรือ รายได้ต่อหัวมากที่สุด รองลงมาคือ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
รวมทั้งสิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่พร้อมในการจัดคอนเสิร์ตที่สุด โดย TIME ชี้ว่า สิงคโปร์มีฮอลล์จัดคอนเสิร์ตที่ได้มาตรฐานระดับโลก ระบบขนส่งมีคุณภาพ และรัฐบาลยังเป็นสปอนเซอร์ในการจัดคอนเสิร์ตเองอีกด้วย เพราะต้องการผลักดันให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการจัดคอนเสิร์ต ส่งผลให้หลังจากนี้ศิลปินไม่ว่าจะเบอร์ไหน คงไม่พลาดที่จะต้องมาเยือนประเทศนี้อย่างแน่นอน
แม้ว่าไทยยังไม่ถือเป็นแนวหน้าในการดึงดูดศิลปินเท่ากับสิงคโปร์ แต่ Traveloka แพลตฟอร์มสำหรับจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรม เปิดเผยสถิติการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 จำนวนการจองเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า และโรงแรมในกรุงเทพฯ ยังมียอดการจองเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ถึงแม้ตัวเลขนี้จะไม่ได้บอกว่า ยอดการจองเพิ่มขึ้นจะเป็นผลของคอนเสิร์ต แต่ก็หมายความว่าไทยก็เป็นหนึ่งในปลายทางการท่องเที่ยว ที่ชาวต่างชาตินิยมเช่นกัน
สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเผยสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1-31 มกราคม 2024 ว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 3,035,296 คน หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 42% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนถึง 508,563 คน ตามมาด้วยมาเลเซีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และอินเดีย
ดังนั้น Traveloka จึงเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดคอนเสิร์ต (Music Destination) เพราะตัวเลขการเข้ามาของนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไทยทำได้ เราจะได้รับรับเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากตลาดการท่องเที่ยวเชิงดนตรี ที่จะสร้างมูลค่าให้กับทั่วโลกถึง 11.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4 แสนล้านบาท) ภายในปี 2575
เงื่อนไขด้านนโยบายก็ส่งผลต่อการจัดคอนเสิร์ต?
ยกตัวอย่างประเทศจีน ที่ในปัจจุบันมีนโยบายจัดระเบียบอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งไม่ได้สร้างผลกระทบเฉพาะกับศิลปินและดาราของจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวงการ K-Pop ของเกาหลี และศิลปินชาติตะวันตก เนื่องด้วยสาเหตุทางการเมืองและความมั่นคง
หากย้อนไปเมื่อปี 2015 บอน โจวี (Bon Jovi) วงดนตรีสัญชาติอเมริกัน ก็มีความต้องการเข้าไปแสดงที่จีน ถึงขนาดเสนอว่าจะโคฟเวอร์เพลงรักชื่อดังของจีนในคอนเสิร์ต ทว่าหลังจากนั้นผู้จัดงานของจีนประกาศยกเลิกการแสดงของวงดังกล่าว โดยไม่มีระบุสาเหตุที่แน่ชัด แต่ผู้คนในโซเชียลคาดการณ์ว่าอาจเกิดจากวิดีโอเพลง We Weren’t Born to Follow ของ บอน โจวี ที่มีภาพการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989
และยังมีศิลปินอีกมากมายที่ถูกให้ยกเลิกการแสดง รวมถึงถูกแบนอีกด้วย เช่น Maroon 5 วงดนตรีสัญชาติอเมริกัน หรือ Björk นักร้องหญิงชาวไอซ์แลนด์ที่ถูกขนาดถูกแบน เนื่องจากเธอประกาศสนับสนุนทิเบตระหว่างการแสดงที่เซี่ยงไฮ้ รวมถึง จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) ก็ถูกห้ามไม่ให้เข้าประเทศในปี 2017 ด้วยเหตุผลที่ว่า มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในขณะที่อาศัยอยู่ต่างประเทศและระหว่างการแสดงในประเทศจีน
ทั้งนี้ CNN ระบุว่า นักวิชาการหลายคนสรุปว่า การปกครองของผู้นําจีน สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศิลปินต่างชาติไม่สามารถเข้าไปจัดการแสดงที่จีนได้ เนื่องด้วยมาตรการมากมาย ทั้งการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด เช่น วีซ่า การขอใบอนุญาต และการต้องขออนุมัติอย่างเป็นทางการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสําคัญในกระบวนการตัดสินใจของศิลปิน และผู้จัดเป็นอย่างมากกว่า มันจะคุ้มค่าหรือไม่
ไทยกำลังเป็นตัวเลือกที่ดียิ่งขึ้น?
อาจพูดได้ว่าตอนนี้เราก็เป็นที่หมายปองของศิลปินอยู่นะ ซึ่งหลายคนอาจจะเริ่มสังเกตเห็นตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว จากคอนเสิร์ต Harry Style หรือ Arctic Monkeys แต่การแสดงของ Coldplay ถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ผู้คนรู้สึกได้จริงๆ ว่าชาวต่างชาติเดินทางมาชมคอนเสิร์ตที่ไทยเยอะเป็นประวัติการณ์
ทว่าแท้จริงแล้ว สัญญาณดังกล่าวเริ่มมีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จากคอนเสิร์ตของ เจย์ โจว (Jay Chou) ศิลปินระดับไอคอนิกของวงการเพลงจีน ที่มาเปิดคอนเสิร์ต Jay Chou Carnival World Tour 2023 ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 และ 9 ธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา โดยกรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า ผู้ที่รับชมคอนเสิร์ตดังกล่าว มากกว่า 90% เป็นแฟนคลับชาวจีนและเป็นชาวเอเชียที่มาจากประเทศที่สื่อสารภาษาจีนได้ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์
และรายงานข่าวจาก Trip.com แพลตฟอร์มท่องเที่ยวสัญชาติจีน ชี้ว่า ช่วงที่คอนเสิร์ตดังกล่าวจัดขึ้นในจีน ยอดการจองตั๋วคอนเสิร์ตและโรงแรมพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ จนเมืองเทียนจินหรือหนึ่งในสถานที่จัดคอนเสิร์ตของเจย์ โจว ทำรายได้จากการบริโภคไปราว 15,000 ล้านบาท
พอศิลปินระดับไอคอนิกของวงการเพลงจีนประกาศว่า กรุงเทพฯ จะเป็นอีกทีหนึ่งที่ที่เขาจะมาแสดงคอนเสิร์ต Trip.com ก็เผยว่า ยอดการค้นหาโรงแรมในกรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 8-14 กันยายน 2023 เพิ่มขึ้นถึง 175% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนคอนเสิร์ตประกาศ ขณะที่ยอดการค้นหาตั๋วเครื่องบินเพิ่มขึ้นถึง 213% ยิ่งไปกว่านั้น ยอดการจองโรงแรมในกรุงเทพฯ วันที่ 9 ธันวาคม (ซึ่งเป็นวันจัดคอนเสิร์ต) เพิ่มขึ้น 129%
อย่างไรก็ดี แพลตฟอร์มท่องเที่ยวในจีนหลายเจ้าก็มีการเสนอแพ็กเกจในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับที่ทำในจีน สำหรับผู้ต้องการมาชมคอนเสิร์ตเจย์ โจว ในประเทศไทยเช่นกัน และแพ็กเกจเหล่านี้ก็ถูกทำเรื่อยมากับคอนเสิร์ตอื่นๆ อีกด้วย ทำให้ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เราจะพบเห็นนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีนที่คอนเสิร์ตในไทยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวต่างชาติเดินทางมาที่ไทยมากขึ้น ก็สืบเนื่องมาจากคอนเสิร์ตของเจย์ โจว อีกนั่นเอง ที่ช่วยลดความกังวลที่ชาวจีนมีต่อไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความปลอดภัย
ที่ผ่านมาชาวจีนยังคงกังวลปัญหาความปลอดภัยในประเทศไทย แต่หลังจากได้พูดคุยกับชาวจีนที่ไปดูคอนเสิร์ตเจย์ โจว พบว่า ชาวจีนมองว่าการเดินทางมาท่องเที่ยวและชมคอนเสิร์ตนั้นไม่เป็นอันตรายอย่างที่คิด หยีว์ ผิง ผู้จัดการด้านผลิตภัณฑ์ฯ จาก ซ่างไห่ ว่าน กั๋ว บริษัทส่งแพ็กเกจท่องเที่ยวรายใหญ่ในประเทศจีน ระบุ
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ส่งเสริมปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือ มาตรการการยกเว้นวีซ่า (Free Visa) ที่รัฐบาลไทยประกาศบังคับใช้ให้แก่ จีน ไต้หวัน อินเดีย และคาซัคสถาน ตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งช่วยให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เดินทางเข้าประเทศไทยได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น และ Traveloka ยังเสริมว่า ประเทศไทยยังมีสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบ เช่น ร้านอาหาร และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมายให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินต่อ หลังจากใช้เวลาไปกับคอนเสิร์ตเสร็จ
อ้างอิงจาก