เราอยู่ในโลกที่สิ่งที่เรียกว่า ‘ขนส่งสาธารณะ’ แพง จึงเป็นเรื่องทั่วไปที่เราต้องคิดว่า เราจะขึ้นรถไฟฟ้ามั้ยถ้ามันไม่คุ้ม ขนาดคนฐานะปานกลางยังแทบจ่ายค่าเดินทางในเมืองไม่ไหว และก็มีคนระดับฐานรากที่เลือกจะเดิน เดินจากแยกพระรามเก้าตรงแถวๆ ฟอร์จูนเพื่อไปทำงานในตึกสูงย่านธุรกิจที่หรูหรา นั่งรถใต้ดินไม่ไหวเพราะแพง รถเมล์ก็ไม่ได้เพราะรถติดสาหัส
ยุคหนึ่งเรามีรถเมล์ฟรี ฟังดูเป็นการสงเคราะห์แบบงั้นๆ แต่เราก็เห็นคนที่เลือก-จำเป็นต้องนั่งรอเพื่อนั่งรถเมล์ฟรี ประหยัดค่ารถ 10-20 บาทต่อวันไปได้ ดินแดนที่บอกให้เราประหยัด แต่ไม่รู้จะประหยัดกว่านี้ยังไง เมื่อค่าเดินทางต่อวันอยู่ที่หนึ่งร้อยบาทต่อค่าแรงสามร้อย มีงบใช้วันละห้าร้อย แต่ขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงานเที่ยวละ 30 จะซื้อเหมาวันรายเดือนก็ใช่จะจ่ายไหวกันหรือคุ้มค่ากันทุกคน
อะไรคือความหมายของขนส่งสาธารณะ
ที่สาธารณะชนเข้าไม่ถึง
อะ ไม่เป็นไร ในความหมายและเป้าหมายของขนส่งสาธารณะ ส่วนหนึ่งมันคือการบริการประชาชนเนอะ การจัดหาให้อย่างเหมาะสมและทั่วถึงเป็นสิ่งที่รัฐและเมืองเมืองหนึ่งควรกระทำ การมีขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้เป็นการลงทุนที่กำไรกระจายตัวลงไป ทั้งกับประชาชนและในที่สุดผลดีก็จะกลับมาสู่เมืองและภาครัฐเองในท้ายที่สุด
ในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกที่ก้าวหน้ามากๆ โดยส่วนใหญ่เมืองที่ดีๆ ก็ค่อนข้างอุดหนุนสนับสนุนพวกสวัสดิการพื้นฐานให้ราคาถูก เข้าถึงได้ มีพวกบัตรพิเศษ เช่นนักเรียน ผู้สูงอายุ หรือผู้มีรายได้เข้าถึงได้อยู่แล้ว แต่กระแสจากทั่วโลกในตอนนี้มีเมืองหลักร้อยเมืองที่พยายามทำให้ขนส่งสาธารณะของตัวเองขึ้นได้ฟรีแบบ 100% โดดขึ้นโดดลงได้ไม่จำกัด
คงมีแต่บ้านเราที่พอจะให้บริการอะไรฟรีจากรัฐก็จะรู้สึกว่าจะเคยตัว แต่ในหลายเมืองมองว่าการให้ขนส่งสาธารณะฟรีเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบเมืองๆ อย่างสำคัญ ในระยะหลังคือว่าด้วยเรื่องมลพิษ ลดการใช้รถและความแออัดของเมืองลง นอกจากเชิงสิ่งแวดล้อมแล้วยังมองประโยชน์ทางสังคม กระจายโอกาสผ่านการเดินทาง ลดความเหลื่อมล้ำให้สังคม
ลักซ์เซ็มเบิร์ก รวยก็จริงแต่มีเรื่องอื่นที่คำนึง
จริงๆ ความพยายามเปิดให้ขนส่งสาธารณะใช้ได้ฟรีไม่ใช่เป็นแนวคิดใหม่ หลายเมืองเช่นพวกเมืองเล็กๆ ทดลองทำ แต่ส่วนใหญ่เป็นระดับเมือง หรืออาจจะจำกัดอยู่ที่ว่าให้พลเมืองของตนใช้งานได้ฟรี แต่ถ้าพูดถึงการทดลองให้ใช้ในระดับประเทศ แล้วฟรีแบบ 100% กับทุกคนทั้งพลเมืองและนักท่องเที่ยว ก็ต้องที่ลักเซ็มเบิร์ก
ลักเซ็มเบิร์กเปิดให้ให้ขนส่งสาธารณะฟรีในเดือนมีนาคม ค.ศ.2020 แม้ว่าประเทศนี้จะอยู่ในข่ายว่า เอ้อ ประเทศเขารวย เป็นประเทศเล็กๆ ที่มี GPD อันดับหนึ่งของสหภาพยุโรปแต่รวยก็จริงแต่ทางลักเซ็มเบิร์กก็มีวิธีคิดความคุ้มค่าอยู่เบื้องหลังการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สร้างความฮือฮา
คือแม้ว่าจะเป็นประเทศกลุ่มยุโรป แต่ลักเซ็มเบิร์กก็เจอปัญหาคล้ายๆ บ้านเรา คือเมืองหลวงของลักเซ็มเบิร์กประสบปัญหาการจราจรอย่างสาหัส คนส่วนใหญ่ต้องใช้รถส่วนตัวเพื่อเข้าไปมาทำงานย่านธุรกิจและย่านกลางเมือง รถเยอะ มลพิษก็เยอะ พื้นที่ก็น้อย รถก็ติด มีตัวเลขการถือครองและพึ่งพารถยนต์ มีรายงานในปี ค.ศ.2016 ว่าลักเซ็มเบิร์กมีการครอบครองรถที่ 662 คันต่อประชากร 1000 คน ในปี ค.ศ.2017 ต่อมามีรายงานว่าคนลักเซ็มเบิร์กใช้เวลาเฉลี่ย 33 ชั่วโมงต่อปี แย่กว่าเมืองที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเช่นโคเปนเฮเกนละเฮลซิงกิ (แต่ประชากรหนาแน่นกว่ามาก) ที่เจอกับรถติดราว 24 ชั่วโมงต่อปี
ด้านหนึ่งทางลักเซ็มเบิร์กบอกว่า ไหนๆ ประเทศก็เศรษฐกิจดีแล้ว ก็อยากให้ประชาชนได้มีผลประโยชน์จากตรงนี้ด้วย และถ้ามองเชิงต้นทุนของขนส่งสาธารณะของลักเซ็มเบิร์ก ประเทศลักเซ็มเบิร์กมีต้นทุนของขนส่งมวลชนทั้งระบบอยู่ที่ราว 500 ล้านยูโรต่อวัน แต่รายได้จากการจำหน่ายตั๋วอยู่ที่ราว 40 ล้านยูโร ซึ่งถ้านับเป็นสัดส่วนนับว่าอยู่ที่ราว 10% หรือต่ำกว่าซึ่งรัฐมองว่าเป็นการสูญเสียผลกำไรที่เล็กน้อย
ผลของขนส่งฟรี…ที่ก็ยังดีอยู่
ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอะไรที่มีแต่ข้อดี การเปิดขนส่งสาธารณะฟรียังไงก็เป็นการลงทุน และมีข้อวิจารณ์ว่าในที่สุดมาตรการดังกล่าวไม่ได้ช่วยเรื่องปริมาณรถยนต์ของลักเซ็มเบิร์ก เพราะในที่สุดแล้วคนก็ยังซื้อรถเพราะราคาพลังงานน้ำมันยังมีราคาถูกและรายได้ต่อหัวที่สูง ผลที่ได้อาจจะย้อนกลับคือคนที่ขึ้นขนส่งฟรีคือคนที่เคยเดินและใช้จักรยาน จากที่เคยเดินทางสั้นๆ ก็ขึ้นขนส่งสาธารณะฟรีแทน
แต่ที่แน่ๆ คือการเปิดขนส่งสาธารณะฟรีส่งผลกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเสี่ยงภาวะยากจน มีเสียงสัมภาษณ์ว่าจากมาตราการขนส่งสาธารณะฟรีทำให้การเดินทางของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยสะดวกมากขึ้น บางคนประหยัดได้ถึงเกือบสองพันยูโรต่อปี สามารถขึ้นลงรถได้ และมีอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น
ในแง่ของกลุ่มผู้ใช้จักรยานและการเดินเท้า ขนส่งสาธารณะอาจนำไปสู่การขยายระยะทางการเดินทาง มีการขึ้นลงรถสลับเดินเท้าและจักรยาน ทำให้ขยายเข้าสู่โอกาสใหม่ๆ ในการใช้ชีวิตได้
อีกด้านมีคนบอกว่าถ้าเปิดใช้ให้ฟรี ก็อาจจะเกิดการเดินทางแบบฟุ่มเฟือยมากขึ้น ใช้โดยไม่จำเป็น
ความพยายามของปารีส และกระแสอื่นๆ
นอกจากลักเซ็มเบิร์กแล้ว ก็ยังมีหลายเมืองหลายประเทศที่พยายามปรับให้ขนส่งสาธารณะเข้าถึงได้ ปารีสถือเป็นเมืองใหญ่ที่พยายามค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปสู่ทั้งเมืองสีเขียว และเป็นเมืองที่ดีกับผู้คน ซึ่งการพัฒนาและกระตุ้นขนส่งสาธารณะจึงเป็นหัวใจหลักของชอม เอลิเซ่กลางสวนตามแนวทางของนายกเทศมนตรีหญิง แอนน์ ไฮดาลโก (Anne Hidalgo)
ความเคลื่อนไหวสำคัญที่ทั่วโลกจับตาในแง่การดำเนินไปสู่ปารีสในอุดมคติใหม่ คือการที่กรุงปารีสเปิดให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีใช้ขนส่งสาธารณะในปารีสและปริมณฑลได้ฟรี ซึ่งประกาศเริ่มในช่วงเดือนกันยายน ปี ค.ศ.2020 คือเป็นช่วงที่เด็กๆ กลับไปเรียนพอดี
ประเด็นสำคัญของปารีสคือความพยายามเปลี่ยนให้คนปารีสหันมาใช้ขนส่งสาธารณะและการเดินมากขึ้นเพื่อให้เมืองสอดคล้องไปกับแนวคิดเมืองสีเขียว การเปิดให้เยาวชนใช้ขนส่งสาธารณะฟรีนอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาส ลดรายจ่ายของครัวเรือนแล้ว หัวใจสำคัญคือการปลูกฝังให้เยาวชนคุ้นเคยกับการใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะด้วย
นอกจากปารีสแล้ว เมือง Dunkirk เป็นอีกเมืองที่ทดลองให้ใช้ขนส่งสาธารณะก่อนเขาก่อนใคร คือเมือง Dunkirk เขตเมืองทางตอนเหนือของฝรั่งเศสที่มีประชากร (ในตอนนั้น) ราวสองแสนคน ที่ดันเคิร์กคือทดลองเปิดให้ใช้รถเมล์ฟรีทั้งระบบตั้งแต่ปี ค.ศ.2018 คือถือว่าเป็นเขตเมืองใหญ่ที่เปิดทดลองขนส่งสาธารณะฟรี ผลของความฟรีค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจคือมีการใช้รถเมล์มากขึ้นถึง 50% หลายเมืองใหญ่ก็ใช้กรณีนี้เป็นกรณีศึกษาในการปรับปรุงและลดราคาขนส่งสาธารณะของตัวเองในเวลาต่อมา
การเปิดให้ฟรีไปเลยก็นำไปสู่ข้อถกเถียงและผล ที่จริงๆ ก็น่าจะนับว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐที่เหมาะสม และเป็นการลงทุนที่ก็น่าพิจารณา นอกจากการเปิดฟรีไปเลย ก็มีหลายๆ ประเทศที่ค่อยๆ ทำ เช่น จริงๆ ปารีสก็ค่อยๆ เพิ่มเพดานอายุของประชากรที่จะได้ขึ้นรถฟรี จาก 11 ขวบ ขึ้นไปจนถึงเยาวชน หรือที่กรุงโรมก็มีการเปิดระบบขวดพลาสติกไปแลกตั๋วรถใต้ดินเพื่อลดขยะให้กับเมือง คือที่โรมจะมีระบบตั๋วและตู้คืนขวด ทุกๆ ขวดหนึ่งใบจะมีมูลค่า 5-cent ราคาตั๋วเดินทางไม่จำกัดเที่ยว 1 ชั่วโมงของรถราคาอยู่ที่ 1.5 ยูโร ดังนั้นถ้าไม่มีตัง เราเก็บขวดไป 30 ขวด ก็จะเดินทางโดยรถใต้ดินในโรมได้
ประเด็นเรื่องขนส่งสาธารณะก็เลยมีความเกี่ยวข้องที่ต้องพิจารณามากกว่าแค่เรื่องมูลค่าและการลงทุน มีผลต่อต้นทุนอื่นๆ สัมพันธ์กับภาพรวมทุกด้านของเมือง ทั้งต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ถ้าขนส่งดีอาจนำไปสู่ประเด็นเรื่องมลภาวะและภาวะโลกร้อน เป็นบริการที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตพื้นฐานของประชาชน นำไปสู่การเข้าถึงโอกาสที่โดยรวมแล้ว ขนส่งสาธารณะเป็นความรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ที่ดีในระดับพื้นฐาน
อ้างอิงข้อมูลจาก